21 กุมภาพันธ์ 2017
จอร์เจีย
ศาลยุโรปรับรองสิทธิในการนับถือศาสนาของพยานพระยะโฮวาในจอร์เจีย
เสรีภาพในการนับถือศาสนาที่พยานพระยะโฮวาในจอร์เจียมีในทุกวันนี้แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน ตอนนี้พยานฯได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และรัฐบาลยอมให้พวกเขานมัสการพระเจ้าได้อย่างเสรี ซึ่งแตกต่างจากสภาพการณ์ในช่วงปี 1999 ถึงปี 2003 ที่รัฐบาลปล่อยให้พวกคลั่งลัทธิทำร้ายพยานฯอย่างโหดร้ายและไม่ยอมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
การที่พยานฯถูกข่มเหงทำให้พวกเขาต้องยื่นคำร้องหลายคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (ECHR) หนึ่งในคำร้องเหล่านี้คือคดีของทซาร์ทซีดเซและบุคคลอื่น ๆ ยื่นฟ้องรัฐบาลจอร์เจีย คำร้องนี้พูดถึงสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจอร์เจียในช่วงปี 2000 และปี 2001 ที่มีการก่อความรุนแรงจากฝูงชน การขัดขวางการประชุมทางศาสนา การทำลายทรัพย์สิน และการถูกตำรวจทำร้ายร่างกายและด่าทอ
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2017 ศาล ECHR ได้ตัดสินคดีทซาร์ทซีดเซว่า พยานฯถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ศาล ECHR เห็นว่าตำรวจจอร์เจียไม่ได้เข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องผู้เสียหาย หรือไม่ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์เหล่านี้โดยตรง นอกจากนี้ ศาลต่าง ๆ ในจอร์เจียและผู้พิพากษาก็ยังไม่ยอมยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพยานฯโดยพิจารณาข้อเท็จจริงแค่ผิวเผินและตัดสินอย่างมีอคติ
คำตัดสินครั้งที่ 3 ที่ประณามการข่มเหงซึ่งรัฐบาลมีส่วนสนับสนุน
นี่เป็นคำตัดสินครั้งที่ 3 ที่ศาล ECHR มีต่อจอร์เจีย ซึ่งศาลได้เรียกสภาพการณ์นี้ว่าเป็น “ความรุนแรงทางศาสนาทั่วประเทศที่มีต่อพยานพระยะโฮวา” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1999 ถึงปี 2003 ในการตัดสินทั้ง 3 ครั้ง ศาล ECHR เห็นว่าจอร์เจียได้ละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเนื่องจากไม่ได้ให้เสรีภาพทางศาสนากับพยานพระยะโฮวาและปฏิบัติกับพวกเขาอย่างมีอคติ
ศาล ECHR พูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจอร์เจียตอนนั้นดังนี้ “การที่เจ้าหน้าที่ของจอร์เจียมีส่วนร่วมโดยตรงในการทำร้ายพยานพระยะโฮวา หรือโดยการยินยอมและทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับการกระทำที่ผิดกฎหมายของคนใดคนหนึ่งเท่ากับเป็นการสร้างบรรยากาศให้ทำผิดได้โดยไม่ต้องรับโทษ ซึ่งในที่สุดจึงเป็นเหมือนการส่งเสริมให้มีการทำร้ายพยานพระยะโฮวาทั่วประเทศ”
ศาล ECHR เห็นชอบด้วยกับหลักนิติธรรมและเสรีภาพทางศาสนา
ในเหตุการณ์การทำร้าย 3 ครั้งที่ศาล ECHR พิจารณาในคดีทซาร์ทซีดเซ ผู้เสียหายได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเนื่องจากการกระทำของตำรวจหรือการสมรู้ร่วมคิดของตำรวจ
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2000 ในเมืองกูตาอิซิ ตำรวจจับตัวนาย ดซามูคอฟไปที่สถานีตำรวจ ตำรวจยึดหนังสือเกี่ยวกับศาสนาที่อยู่ในกระเป๋า แล้วพูดดูถูกและทุบตีเขา และวันถัดมา เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งทำร้ายนายกาบูเนีย โดยชกเขาที่ท้องและฉีกหนังสือเกี่ยวกับศาสนาที่อยู่ในกระเป๋า
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2000 ในเมืองมาร์เนอูลิ ตำรวจเข้าขัดขวางการประชุมและยึดหนังสือทางศาสนา ตำรวจเอาตัวนายมีคีร์ตูมอฟและนายอาลีเอฟไปที่สถานีตำรวจ นายมีคีร์ตูมอฟกำลังบรรยายเรื่องทางศาสนา ส่วนนายอาลีเอฟเป็นเจ้าของบ้านที่ให้จัดการประชุม จากนั้น ตำรวจก็ลากตัวนายมีคีร์ตูมอฟเข้าไปในรถแล้วขับพาเขาออกไปนอกเมืองและสั่งไม่ให้กลับเข้ามาอีก ตำรวจยังสั่งห้ามนายอาลีเอฟไม่ให้จัดการประชุมทางศาสนาของพยานพระยะโฮวาที่บ้านอีกด้วย
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2001 ในเมืองรุสตาวี พวกคลั่งลัทธิของออร์โทด็อกซ์ยกพวกมาที่บ้านของนายโกเกลาชวีลีขณะที่มีการประชุมทางศาสนากันอยู่ แล้วพูดจาเหยียดหยามและไล่คนที่เข้าร่วมประชุมออกไป ฝูงชนยึดหนังสือทางศาสนาแล้วในวันรุ่งขึ้นก็เผาต่อหน้าผู้คนที่ตลาดแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกล ตำรวจไม่ยอมเข้าไปแทรกแซงเพื่อช่วยผู้เสียหาย
ในแต่ละกรณี ผู้เสียหายขอให้ศาลจอร์เจียช่วย แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด ศาล ECHR ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้พิพากษาจอร์เจียเข้าข้างตำรวจ และไม่ได้ตั้งใจตรวจสอบพยานหลักฐานของผู้เสียหาย ศาล ECHR ได้พูดถึงผู้พิพากษาในจอร์เจียตอนที่พวกเขาพิจารณาคดีเหล่านี้ว่าพวกเขามีทัศนะดังนี้
ในการฟังความข้างเดียวและการพิจารณาคดีอย่างผิวเผิน ประกอบกับหลับหูหลับตาเชื่อเจ้าหน้าที่บังคับคดี อีกทั้งปฏิเสธไม่ดูหลักฐานของคำร้องสำหรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ศาล ECHR เห็นว่าไม่สามารถมองเป็นอย่างอื่นได้นอกจากเป็นการรู้เห็นเป็นใจของคณะผู้พิพากษาที่ปล่อยให้มีการกระทำที่รุนแรงต่อผู้ยื่นคำร้อง
ศาล ECHR เห็นว่าสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องร้องตามมาตรา 9 (เสรีภาพทางศาสนา) และมาตรา 14 (การเลือกปฏิบัติ) ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถูกละเมิด จึงตัดสินให้รัฐบาลจอร์เจียชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งหมด 11,000 ยูโร (414,400 บาท) และอีก 10,000 ยูโร (376,670 บาท) สำหรับค่าดำเนินการทางกฎหมาย
คำตัดสินนี้จะส่งผลไปถึงรัสเซียและอาเซอร์ไบจานไหม?
ในตอนที่สรุปความเห็น ศาล ECHR กล่าวย้ำจุดยืนที่เคยตัดสินในคดีของกลาดินีและเบกเฮลูรีจากจอร์เจีย และคดีของคุซเนตซอฟและครุปโคจากรัสเซีย รัฐบาลจอร์เจียได้นำคำตัดสินที่มีก่อนหน้านี้ไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป พยานพระยะโฮวาในจอร์เจียรู้สึกขอบคุณที่ตอนนี้พวกเขาได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ทำให้พวกเขามีเสรีภาพและความปลอดภัยในการประชุมทางศาสนาและในการพูดถึงความเชื่อของตน
นายอังเดร การ์บอนโน ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีส่วนร่วมในการไต่สวนคดีในจอร์เจียและมีส่วนในการเตรียมการยื่นคำร้องต่อศาล ECHR ให้ความเห็นว่า “จากคำตัดสินที่ยอดเยี่ยมในครั้งนี้ ศาล ECHR แสดงอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้กับการกระทำของรัฐบาลที่ใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมการจำกัดเสรีภาพทางศาสนาของพลเมือง พยานพระยะโฮวาดีใจที่รัฐบาลจอร์เจียปฏิบัติตามคำตัดสินเหล่านี้ ทำให้พวกเขามีเสรีภาพในการนับถือศาสนา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของสภายุโรป อย่างเช่นรัสเซียจะให้ความสำคัญ”
คำตัดสินล่าสุดจากศาล ECHR นี้ปกป้องเสรีภาพอันมีค่าที่จะประชุมและพูดถึงความเชื่อทางศาสนากับคนอื่นได้อย่างอิสระ พยานพระยะโฮวาทั่วโลกหวังว่า คำตัดสินที่หนักแน่นจากศาล ECHR นี้จะส่งผลกับการตัดสินคำร้องที่มีต่อรัสเซียและอาเซอร์ไบจานในประเด็นเดียวกันซึ่งกำลังรอการพิจารณาอยู่