20 พฤศจิกายน 2020
ยูเครน
ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปตัดสินให้พยานพระยะโฮวาในยูเครนชนะคดี
ศาลตำหนิยูเครนที่ไม่จัดการกับคนที่ข่มเหงพี่น้องของเรา
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2020 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (ECHR) ประกาศคำตัดสิน 3 คดีที่เกี่ยวข้องกับพยานพระยะโฮวาในยูเครน ซึ่งเป็นคดีระหว่างซากุบเนียและตาบัชโควา กับ ยูเครน, คดีระหว่างมีโกเรียนูและเพื่อน ๆ กับ ยูเครน และคดีระหว่างคอร์นีโลวา กับ ยูเครน คดีเหล่านี้ถูกส่งมาที่ศาลในปี 2014 และ 2015 ทุกคดีเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ไม่ลงโทษคนที่ใช้ความรุนแรงกับพยานพระยะโฮวา ECHR ประกาศว่าเจ้าหน้าที่ของยูเครนไม่ได้ปกป้องสิทธิ์ของพี่น้องอย่างเต็มที่ และสั่งให้จ่ายเงินชดเชยให้คนที่ตกเป็นเหยื่อรวมทั้งหมด 14,700 ยูโร (ประมาณ 530,000 บาท)
คดีระหว่างซากุบเนียและตาบัชโควา กับ ยูเครน วันที่ 20 เมษายน 2009 ตอนที่พี่น้องหญิง 2 คนคือ ซากุบเนียและตาบัชโควา กำลังเดินประกาศตามบ้านในหมู่บ้านนอวีลีนีอยู่ พอบาทหลวงของโบสถ์ทรีนิตีออร์โธดอกซ์ในหมู่บ้านที่ชื่อไมโคลา ลีเซนโคเห็นพี่น้องหญิง 2 คนบนถนน เขาก็เข้าไปทำร้ายพี่น้องหญิงอย่างโหดเหี้ยมโดยเอาไม้ตีหัวและหลังของพี่น้อง แต่บาทหลวงคนนี้ก็ไม่ได้รับโทษอะไรเลยถึงแม้เขาจะสารภาพว่าเขาทำจริงเพราะอยากจะ “ขู่” และทำให้พี่น้องหญิงของเรา “หยุดประกาศ”
คดีระหว่างมีโกเรียนูและเพื่อน ๆ กับ ยูเครน พยานพระยะโฮวา 21 คนและผู้สนใจอีกจำนวนหนึ่งมาประชุมเพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตของพระเยซูคริสต์ในวันที่ 5 เมษายน 2012 แต่จู่ ๆ ก็มีบาทหลวงออร์โธดอกซ์ชื่อเกรคูพาม็อบมาก่อกวนการประชุมของเรา พวกม็อบตะโกนด่าด้วยคำพูดหยาบคายและข่มขู่คนที่มาร่วมประชุมซึ่งมีทั้งเด็กและผู้หญิงสูงอายุ
ต่อมาบาทหลวงคนนั้นกับคนอื่น ๆ ที่สนับสนุนเขายังคงก่อกวนและทำร้ายพยานพระยะโฮวาต่อไป พวกเขาทำร้ายร่างกายพี่น้อง เผารถ ปาระเบิดใส่บ้านตอนที่พี่น้องกำลังนอนหลับ หลังจากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ พี่น้องได้ไปแจ้งความและเอาหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ บางเหตุการณ์มีหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอตอนที่พวกเขาก่อเหตุด้วย แต่ตำรวจไม่ยอมรับว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความขัดแย้งทางศาสนา และอ้างว่าภาพที่เห็นในวีดีโอไม่สามารถระบุชัดว่าเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวงหรือม็อบที่ก่อเหตุไม่มีใครถูกลงโทษเลย
คดีระหว่างคอร์นีโลวา กับ ยูเครน วันที่ 7 มีนาคม 2013 ที่เมืองโนซิฟคา ระหว่างที่พี่น้องหญิง 2 คนคือคอร์นีโลวากับเซอร์ดุกกำลังเชิญเพื่อนบ้านไปร่วมการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการเสียชีวิตของพระเยซูก็มีผู้ชายคนหนึ่งตะโกนด่าด้วยคำหยาบคายและพูดใส่ร้ายศาสนาของเธอ แล้วผู้ชายคนนี้เข้าไปชกหน้าพี่น้องหญิงอย่างแรงจนทำให้สมองเธอได้รับความกระทบกระเทือนถึงขั้นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 11 วัน ตำรวจไม่ยอมรับว่าชนวนเหตุครั้งนี้เกิดจากความขัดแย้งทางศาสนา แต่บอกว่าเป็น “ความขัดแย้งส่วนตัว” ศาลแค่สั่งให้ผู้ก่อเหตุจ่ายค่าเสียหายจำนวนเล็กน้อยให้กับพี่น้อง
ตัวแทนจากสำนักงานสาขายูเครนเข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ระดับประเทศ และนานาชาติเกี่ยวกับการข่มเหงที่เกิดขึ้น หลังจากที่พยายามทำทั้งหมดนี้แล้ว ในปี 2014 พี่น้องได้ส่งเรื่องไปยัง ECHR ที่จริง 1 ปีก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ของ ECHR เริ่มเก็บบันทึกรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้งเนื่องจากศาสนาในยูเครน ในรายงานปี 2013 ของผู้ตรวจการของรัฐสภายูเครน บอกว่า “เนื่องจากตำรวจไม่ได้จัดการกับคดีอาชญากรรมที่มีเหตุจูงใจจากความเกลียดชังทางศาสนาอย่างเด็ดขาด ทำให้อาชญากรได้ใจและยังคงก่อเหตุต่อไปเรื่อย ๆ” คล้ายกัน ในรายงานเกี่ยวกับยูเครนปี 2013 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ บอกว่ารายงานนี้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ซึ่งรวมถึงคนที่ข่มเหงพยานพระยะโฮวาด้วย คนที่ก่ออาชญากรรมแบบนี้ไม่ได้รับโทษหนักเหมือนอาชญากรรมประเภทอื่น ๆ คณะกรรมการสรุปว่ารัฐบาลยูเครนควร “พยายามมากขึ้นเพื่อดำเนินคดีอย่างทั่วถึงกับคนที่ก่ออาชญากรรมที่มีมูลเหตุจากความเกลียดชัง . . . และให้พวกเขาได้รับโทษที่เหมาะสม รวมถึงจ่ายค่าเสียหายให้ผู้ถูกกระทำอย่างสมเหตุสมผลด้วย”
ไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลยูเครนเริ่มลงมือจัดการเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถึงแม้พยานพระยะโฮวาในประเทศนี้จะมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่เราหวังว่าคำตัดสินทั้ง 3 คดีของ ECHR จะทำให้เจ้าหน้าที่ในยูเครนและประเทศอื่น ๆ บังคับใช้กฎหมายและปกป้องเสรีภาพทางศาสนาของพี่น้องชายหญิงของเรา เรารอคอยเวลาที่พระยะโฮวาจะทำให้การข่มเหงผู้นมัสการพระเจ้ายุติลง เพราะ “แนวทางทั้งหมดของพระองค์ยุติธรรม”—เฉลยธรรมบัญญัติ 32:4