ตอบสนองความต้องการภาษามือควิเบก
ทางด้านตะวันออกของประเทศแคนาดาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ภาษาฝรั่งเศส คนหูหนวกส่วนใหญ่ที่นั่นใช้ภาษามือควิเบก (LSQ) a เนื่องจากมีจำนวนคนหูหนวกแค่ 6,000 คน สิ่งพิมพ์ในภาษามือควิเบกจึงมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามเพื่อช่วยคนหูหนวกที่นั่นให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิล เมื่อไม่นานมานี้พยานพระยะโฮวาพยายามอย่างมากเพื่อทำสิ่งพิมพ์ที่มีคุณภาพในภาษามือควิเบกสำหรับแจกจ่าย
เพื่อจะเข้าใจว่าทำไมความพยายามในการแปลภาษามือนี้ถึงมีความหมายมาก ขอให้ดูเรื่องราวชีวิตของมาร์เซล เขาเกิดในปี 1941 ที่ควิเบก ประเทศแคนาดา 2 ปีต่อมาเขาติดเชื้อที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบและสูญเสียการได้ยิน เขาบอกว่า “ตอนอายุ 9 ขวบ ผมเริ่มเข้าโรงเรียนสำหรับคนหูหนวกและเริ่มเรียนภาษามือควิเบก ถึงแม้จะมีหนังสือที่สอนภาษามือพื้นฐานอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีสิ่งพิมพ์ในภาษามือเลย”
ทำไมถึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะผลิตสิ่งพิมพ์ในภาษามือควิเบก? มาร์เซลบอกว่า “คนหูหนวกอยากได้รับข้อมูลในภาษาที่พวกเขาเข้าใจจริง ๆ แทนที่ต้องพยายามทำความเข้าใจภาษาที่พวกเขาไม่รู้เรื่อง เนื่องจากไม่มีสิ่งพิมพ์ในภาษามือควิเบก เราเลยต้องอาศัยภาษาพูดของคนหูดี และนั่นทำให้เราไม่เข้าใจอะไรหลายอย่าง!”
เพื่อตอบสนองความต้องการของมาร์เซลและคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือควิเบก พยานพระยะโฮวาได้ออกสิ่งพิมพ์ภาษามือควิเบกครั้งแรกในปี 2005 และไม่นานมานี้ พวกเขาได้ขยายสำนักงานแปลในมอนทรีออล รัฐควิเบก สำนักงานนี้มีคนที่ทำงานประจำ 7 คน และมีมากกว่า 12 คนที่อาสาสมัครมาช่วยในบางครั้ง มีการแบ่งทีมแปลออกเป็น 3 ทีม และใช้พี่น้องท้องถิ่นที่เชี่ยวชาญ 2 คนเพื่อทำวีดีโอในภาษามือควิเบก
คนหูหนวกที่ใช้ภาษามือควิเบกรู้สึกขอบคุณอย่างมากกับสิ่งพิมพ์ที่มีคุณภาพที่พยานพระยะโฮวาได้ทำขึ้น สเตฟาน ฌาคส์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของสมาคม des Sourds de l’Estrie b บอกว่า “ผมเห็นว่าพวกเขาทำสิ่งพิมพ์ออกมาได้เป็นอย่างดี การแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางก็ทำได้ชัดเจนและดูดีมาก นอกจากนั้น ผมยังรู้สึกประทับใจที่คนในวีดีโอแต่งตัวเรียบร้อยด้วย”
วารสารหอสังเกตการณ์ ที่พยานพระยะโฮวาทั่วโลกใช้ศึกษาทุกสัปดาห์ในการประชุม ตอนนี้มีในภาษามือควิเบกสำหรับพยานพระยะโฮวา 220 คน รวมถึงประชาคมและกลุ่มต่าง ๆ ที่ใช้ภาษามือ 7 แห่งในควิเบก c นอกจากนั้น พยานพระยะโฮวายังคงทำวีดีโอออนไลน์ในภาษามือควิเบกต่อไป รวมถึงเพลงต่าง ๆ ที่อาศัยเนื้อหาในคัมภีร์ไบเบิล
มาร์เซลที่พูดถึงก่อนหน้านี้รู้สึกตื่นเต้นที่จะมีสิ่งพิมพ์ในภาษามือควิเบกมากขึ้น เขาพูดถึงสิ่งพิมพ์ที่พยานพระยะโฮวาผลิตออกมาว่า “มันเป็นเหมือนของขวัญที่มีวีดีโอต่าง ๆ ให้ดูในภาษามือควิเบกผ่านเว็บไซต์ JW.ORG เมื่อผมได้ดูเรื่องต่าง ๆ ในภาษาของผมเอง ผมรู้สึกมีความสุขมาก”
a LSQ (มาจากชื่อภาษาฝรั่งเศส Langue des signes québécoise) เป็นภาษามือที่มีเอกลักษณ์ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะบางอย่างเหมือนกับภาษามืออเมริกันที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง
b องค์กรเพื่อการกุศลสำหรับคนหูหนวกในควิเบก
c หอสังเกตการณ์ ฉบับศึกษาในภาษามือควิเบกเริ่มมีครั้งแรกในเดือนมกราคม 2017