วันสำเร็จการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดรุ่นที่ 136
หลังจากเรียนคัมภีร์ไบเบิลหลักสูตรเข้มข้นตลอด 5 เดือน นักเรียนโรงเรียนกิเลียดรุ่นที่ 136 ก็สำเร็จการศึกษาในวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2014 ในโรงเรียนนี้ผู้เผยแพร่ที่มีประสบการณ์ของพยานพระยะโฮวาได้เรียนรู้ที่จะทำให้งานรับใช้เกิดผลมากขึ้นและเสริมสร้างความเชื่อให้กับเพื่อนพยานฯด้วยกัน มีผู้เข้าร่วมในวันสำคัญนี้ทั้งหมด 11,548 คน ซึ่งเข้าร่วมการประชุมที่ศูนย์การศึกษาของพยานพระยะโฮวาในแพตเทอร์สัน นิวยอร์กและรวมถึงคนที่ชมการถ่ายทอดสัญญาณภาพผ่านทางวีดีโอในแคนาดา จาเมกา เปอร์โตริโก และสหรัฐ
“ให้พวกคุณคิดแบบเดียวกับพระคริสต์” เดวิด สเปลน สมาชิกคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาและประธานการประชุม ได้เริ่มคำบรรยายเปิดการประชุมที่น่าจดจำนี้โดยใช้ข้อคัมภีร์จากฟีลิปปี 2:5-7 ที่ว่า “ให้พวกคุณคิดแบบเดียวกับพระคริสต์เยซู” ตอนที่อยู่บนโลก พระเยซูไม่ได้ห่วงเรื่องตำแหน่ง แต่ทุ่มเทตัวทำงานให้พระเจ้าด้วยความถ่อม
ตัวอย่างเช่น พระเยซูปฏิเสธการล่อใจจากซาตานในแต่ละครั้งด้วยการพูดว่า “พระคัมภีร์บอกไว้ว่า” ซึ่งเป็นการยกคำพูดของโมเสสที่พูดกับชาวอิสราเอลขึ้นมาพูด (มัทธิว 4:4, 7, 10; เฉลยธรรมบัญญัติ 6:13, 16; 8:3) ที่จริงในฐานะที่เป็นถึงลูกของพระเจ้า พระเยซูจะตอบอย่างไรก็ได้ แต่คำตอบของท่านทำให้เห็นว่าท่านเป็นคนถ่อม ท่านเห็นค่าสิ่งที่โมเสสทำ เช่นเดียวกัน เราก็ควรยอมรับความสามารถของคนอื่นและชมเชยพวกเขาอย่างใจกว้าง
พี่น้องสเปลนยังเน้นให้เห็นด้วยว่า พระเยซูมีทัศนะที่ดีอย่างไรในช่วงท้ายที่ท่านถูกทดสอบบนโลก พระเยซูพูดในคำอธิษฐานถึงพระเจ้าว่า “ผมได้ยกย่องพระองค์บนโลกนี้แล้ว และทำงานที่พระองค์มอบหมายให้ทำจนสำเร็จ พ่อครับ ตอนนี้ ขอให้ผมได้รับเกียรติที่จะอยู่เคียงข้างพระองค์ คือเกียรติที่ผมเคยมีตอนที่อยู่เคียงข้างพระองค์ก่อนจะมีโลกนี้” (ยอห์น 17:4, 5) พระเยซูไม่ได้ขอสิทธิพิเศษเพิ่ม ท่านขอพระยะโฮวาเพียงแค่ว่าเมื่อกลับไปสวรรค์แล้วก็ขอให้ท่านได้อยู่ตำแหน่งเดิม หรือ ‘ทำงานเดิมที่เคยทำ’ เช่นเดียวกัน นักเรียนที่จบจากกิเลียดควรเลียนแบบพระเยซูโดยการจดจ่ออยู่กับงานที่ทำไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ พอใจกับงานที่ได้ทำถึงแม้ว่าไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไรเพิ่มเมื่อกลับไปทำงานที่ได้รับมอบหมาย
“เสียสละอย่างที่ไม่รู้สึกเสียดาย” วิลเลียม มัลเลนฟอนต์ ผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการสอนของคณะกรรมการปกครองสนับสนุนนักเรียนให้เสียสละตัวเองเหมือนกับที่อัครสาวกเปาโลวางแบบอย่างไว้ แทนที่จะมองว่าเขาได้สละอะไรไปบ้างเพื่อทำงานของพระเจ้า เปาโลบอกว่า “ผมกำลังลืมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างหลังและโน้มตัวไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ผมกำลังมุ่งไปสู่เส้นชัย”—ฟีลิปปี 3:13, 14
โดยการเสียสละอย่างที่ไม่รู้สึกเสียดาย นักเรียนก็จะเลียนแบบผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน พี่น้องมัลเลนฟอนต์ได้ยกคำพูดของคลาร่า เกอร์เบอร์ มอยเออร์ ซึ่งเริ่มรับใช้พระยะโฮวาตั้งแต่ยังเด็ก เธอเขียนว่า “ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ เมื่อมองย้อนกลับไปตลอดช่วง 80 ปีที่ได้รับใช้พระเจ้า ฉันไม่เสียดายเลย ถ้าให้เลือกอีกครั้งฉันก็จะเลือกใช้ชีวิตแบบเดิมนี้แหละ”
“ประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าร่วมกับทูตสวรรค์และได้เป็นเหมือนทูตสวรรค์” แกร์ริต เลิช สมาชิกคณะกรรมการปกครองช่วยนักเรียนให้เห็นค่าสิทธิพิเศษ 2 อย่างที่จะได้จากงานประกาศ อย่างแรกคือ เมื่อพวกเขาประกาศข่าวสารเกี่ยวกับข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า พวกเขาก็รับใช้เหมือนเป็นทูตสวรรค์ของพระองค์ เพราะคำภาษาฮีบรูและกรีกในคัมภีร์ไบเบิลที่แปลว่า “ทูตสวรรค์” อาจแปลได้ด้วยว่า “ผู้ส่งข่าว” และอย่างที่สอง นักเรียนได้ประกาศข่าวดีภายใต้การชี้นำจากทูตสวรรค์เหมือนกับสาวกฟิลิป—กิจการ 8:26-35
จากนั้น พี่น้องเลิชเล่าประสบการณ์บางเรื่องของพยานพระยะโฮวาในงานประกาศ ตัวอย่างเช่น พยานฯคนหนึ่งในเม็กซิโกชื่อกาบิโน ปกติจะเคาะประตูบ้านครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น แต่มีครั้งหนึ่งที่เขาเคาะ 4 ครั้ง ผู้ชายที่มาเปิดประตูเล่าให้กาบิโนฟังว่า เขากำลังจะฆ่าตัวตาย เขาบอกว่า “ตอนคุณเคาะประตูครั้งที่ 4 ผมเอาเชือกคล้องคอแล้ว แต่ก็เอาออกเพื่อมาเปิดประตู ขอบคุณที่ไม่หยุดเคาะ ไม่งั้นผมคงแขวนคอตายไปแล้ว”
ถึงแม้ว่าประสบการณ์เหล่านี้บางครั้งอาจเป็นเรื่องบังเอิญ แต่เรารู้ว่าหลายครั้งไม่ใช่อย่างนั้น นี่เป็นหลักฐานว่าทูตสวรรค์ของพระเจ้ากำลังชี้นำงานประกาศทั่วโลก—วิวรณ์ 14:6
“คนที่ได้รับเกียรติจะได้รับพร” ไมเคิล เบอร์เนตต์ ผู้สอนของโรงเรียนกิเลียดบรรยายในหัวข้อนี้โดยยกตัวอย่างของยาเบสซึ่งเป็นลูกหลานของยูดาห์ และเขา “ได้รับเกียรติมากกว่าพี่น้องของเขา” ยาเบสอธิษฐานถึงพระเจ้าว่า “ขอพระองค์อวยพรผม และให้เขตแดนของผมขยายออกไป ขอพระองค์ช่วยผมให้รอดจากภัยอันตราย”—1 พงศาวดาร 4:9, 10
นักเรียนสามารถเลียนแบบตัวอย่างของยาเบสคนที่ได้รับเกียรติโดยพูดเรื่องที่เฉพาะเจาะจงในคำอธิษฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอพระเจ้าให้ช่วยพวกเขาทำตามจุดประสงค์ของการฝึกอบรมในกิเลียด พวกเขายังสามารถขอพระองค์ให้ช่วยปกป้องพวกเขาจากภัยอันตรายด้วย นี่ไม่ได้หมายความว่าขอให้ปกป้องพวกเขาไม่ให้เจอกับภัยอันตรายอะไรเลย แต่โดยช่วยพวกเขาไม่ให้ทุกข์ใจเกินไปหรือเจอกับเรื่องเลวร้ายมากจนทนไม่ไหว พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของยาเบส และพระองค์ก็จะตอบคำอธิษฐานของนักเรียนกิเลียดด้วยเหมือนกัน
“ให้ไฟในตัวลุกอยู่เสมอ” มาร์ก นูแมร์ ผู้สอนของโรงเรียนกิเลียดและผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการสอน บรรยายโดยใช้ข้อคัมภีร์จาก 1 เธสะโลนิกา 5:16-19 เขายกตัวอย่างว่า เพื่อจะให้ไฟลุกอยู่ตลอด ก็ต้องมีเชื้อเพลิง ออกซิเจน และความร้อนรวมกัน และถ้านักเรียนอยากจะมีความกระตือรือร้นในงานรับใช้อยู่ตลอด ก็ต้องมี 3 สิ่งนี้
สิ่งแรกคือ “ให้มีความสุขเสมอ” (1 เธสะโลนิกา 5:16) ความสุขเปรียบเหมือนเชื้อเพลิงให้กับความกระตือรือร้น ซึ่งจะมีได้โดยคิดถึงพรที่ได้จากการได้เป็นที่ยอมรับของพระยะโฮวา สองคือ “อธิษฐานเป็นประจำ” (1 เธสะโลนิกา 5:17) การอธิษฐานเป็นเหมือนกับออกซิเจนที่ทำให้ไฟลุกโชน ดังนั้นเราไม่ควรอธิษฐานแบบรีบ ๆ แต่ควรใช้เวลาอธิษฐานระบายความรู้สึกที่มีกับพระยะโฮวา สามคือ “ขอบคุณพระเจ้าสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง” (1 เธสะโลนิกา 5:18) ความรู้สึกขอบคุณจะช่วยรักษาความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาและกับพี่น้องให้แน่นแฟ้น พี่น้องนูแมร์บอกว่า “รักษาความรู้สึกขอบคุณเอาไว้เสมอเพราะจะช่วยให้เรามองข้ามเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์”
“สรรเสริญพระยะโฮวาร่วมกับฟ้าเบื้องบน” แซม โรเบอร์สัน ผู้สอนในโรงเรียนงานรับใช้ กล่าวเริ่มต้นโดยพูดถึงข้อคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างก็สรรเสริญพระยะโฮวา (สดุดี 19:1; 89:37; 148:3) เขาบอกว่านักเรียนก็สามารถมีสิทธิพิเศษในการสรรเสริญพระยะโฮวาแบบนี้ได้เหมือนกัน แล้วเขาก็ให้นักเรียนดูการสาธิตการประกาศจากประสบการณ์จริงของนักเรียนเมื่อไม่นานมานี้ นักเรียนคนหนึ่งหยุดรถเพื่อให้ผู้ชายที่นั่งรถเข็นข้ามถนน ชายคนนี้ขอบคุณนักเรียนที่หยุดรถให้ และนักเรียนก็บอกว่า รู้สึกดีที่ได้ยินคำขอบคุณจากเขาด้วยเหมือนกัน แล้วทั้งสองคนก็เริ่มคุยกัน และชายที่นั่งรถเข็นก็ตอบรับคำเชิญที่ให้เรียนคัมภีร์ไบเบิลฟรี นักเรียนได้ไปสอนคัมภีร์ไบเบิลให้ชายที่นั่งรถเข็นอยู่นานหลายสัปดาห์ และในขณะเดียวกันก็มีโอกาสคุยเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับหลายคนที่มาเยี่ยมชายคนนี้ ในที่สุด นักเรียนคนนี้ก็มีนักศึกษาเพิ่มอีก 7 คนซึ่งเป็นผลจากการเริ่มการสนทนาในครั้งนั้นกับชายที่นั่งรถเข็นคนนี้
“เข้มแข็งขึ้นเมื่อได้รับการสอนจากพระเจ้า” โดนัลด์ กอร์ดอน ผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการพิมพ์สัมภาษณ์คู่สมรส 2 คู่ในชั้นเรียน พี่น้องชายคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์พูดถึงเอเฟซัส 3:16-20 ว่าเป็นข้อคัมภีร์ที่มีการเน้นตลอดในช่วงที่เรียน ข้อคัมภีร์นี้ช่วยทำให้นักเรียน “เข้มแข็ง” โดยการเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนและเป็นกันเอง รวมทั้งจำไว้เสมอว่าพระยะโฮวายังมีงานอีกมากมายให้พยานฯแต่ละคนทำ พี่น้องหญิงคนหนึ่งบอกว่า เธอรู้สึกเห็นค่าสิ่งที่ครูสอนในโรงเรียนกิเลียดคนหนึ่งพูด ที่เขาสนับสนุนนักเรียนให้เป็นเหมือนปลาตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในทะเลใหญ่ ไม่ใช่เหมือนปลาตัวใหญ่ที่ว่ายอยู่ในโถเล็กและไม่มีที่ให้เติบโต เธอบอกว่า “สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้คือถ้าฉันทำตัวให้เป็นผู้เล็กน้อยในองค์การของพระยะโฮวา พระองค์จะช่วยฉันให้ก้าวหน้ามากขึ้น”
“ขอพระยะโฮวาระลึกถึงคุณตามความดีที่คุณได้ทำ” มาร์ก แซนเดอร์สัน สมาชิกคณะกรรมการปกครอง เป็นผู้บรรยายคำบรรยายสำคัญของรายการนี้ หัวเรื่องคำบรรยายของเขายกมาจากคำอธิษฐานของเนหะมีย์ที่ว่า “พระเจ้าของผม ขอพระองค์ระลึกถึงผมตามความดีที่ผมได้ทำ” (เนหะมีย์ 5:19; 13:31) ที่เนหะมีย์พูดอย่างนี้ไม่ใช่เพราะกลัวว่าพระยะโฮวาจะลืมเขาและงานที่เขาได้ทำเพื่อพระองค์ แต่เขาขอพระเจ้าระลึกถึงเขาด้วยความรักและอวยพรเขา
เช่นเดียวกัน นักเรียนสามารถวางใจได้ว่าพระยะโฮวาจะระลึกถึงพวกเขาตามความดีที่พวกเขาได้ทำเหมือนกัน ถ้าพวกเขาเอาสิ่งที่ได้เรียนจากโรงเรียนกิเลียดไปใช้ เช่น พวกเขาควรให้ความรักสุดหัวใจที่มีต่อพระยะโฮวาเป็นแรงกระตุ้นหลักในการรับใช้พระองค์ (มาระโก 12:30) อับราฮัมรักพระยะโฮวาสุดหัวใจ และพระองค์ระลึกถึงเขาด้วยความรัก ถึงแม้อับราฮัมจะตายไปเป็นพันปีแล้ว พระองค์ก็พูดถึงเขาว่าเป็น “เพื่อนของเรา”—อิสยาห์ 41:8
จากนั้น พี่น้องแซนเดอร์สันเตือนให้นักเรียนอย่าลืมแสดงความรักต่อคนอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพี่น้องคริสเตียน (มาระโก 12:31) พวกเขาควรเป็นฝ่ายริเริ่มและยื่นมือเข้าช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือเหมือนกับชาวสะมาเรียที่ดีซึ่ง “รักคนที่ถูกปล้นเหมือนรักตัวเอง” (ลูกา 10:36) เพื่อให้เห็นชัดเจน เขายกเรื่องของนิโคลาส โควาลัค นักเรียนกิเลียดที่จบไปและเป็นผู้ดูแลภาค พี่น้องโควาลัคเป็นที่รู้จักว่าเป็นคนน่ารักและอบอุ่น ครั้งหนึ่งเขากระตุ้นผู้ดูแลหมวดกับภรรยาให้ขยันในงานรับใช้โดยพูดสำนวนว่า “เริ่มต้นงานรับใช้ของคุณให้เร็วในแต่วัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน แต่ละปี” หลังจากที่สังเกตภรรยาผู้ดูแลหมวดคนนี้อยู่สองสามวัน เขาก็พูดกับเธอว่า “ลืมสิ่งที่ผมพูดไปเถอะนะครับ คุณทำงานรับใช้หนักอยู่แล้ว เบาลงหน่อยก็ได้ คุณจะได้รับใช้พระยะโฮวาต่อ ๆ ไปได้” คำแนะนำที่เข้าอกเข้าใจและด้วยความรักนี้ช่วยพี่น้องหญิงให้ทำงานรับใช้เต็มเวลาต่อไปอีกหลายสิบปี
สุดท้าย พี่น้องแซนเดอร์สันสนับสนุนให้นักเรียนทำตามจุดประสงค์ของโรงเรียนกิเลียดคือให้สอนและฝึกคนอื่น (2 ทิโมธี 2:2) เมื่อนักเรียนทำงานที่ได้รับมอบหมาย พวกเขาจะช่วยส่งเสริมสังคมพี่น้อง พวกเขามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะระลึกถึงพวกเขาตามความดีที่พวกเขาได้ทำ—สดุดี 20:1-5
สรุป หลังจากนักเรียนได้รับประกาศนียบัตรแล้ว ตัวแทนนักเรียนคนหนึ่งขึ้นมาอ่านจดหมายแสดงความขอบคุณจากนักเรียนในชั้น จากนั้น นักเรียน 15 คนปิดรายการด้วยการร้องเพลงประสานเสียงจากเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาบทที่ 123 ชื่อว่า “ผู้บำรุงเลี้ยงเป็นของประทานในลักษณะมนุษย์”