ทำไมพยานพระยะโฮวาฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าต่างจากศาสนาอื่น?
เราทำตามที่คัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างเคร่งครัดในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมักเรียกกันว่า “อาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” หรืออาหารค่ำมื้อสุดท้าย หรือวันครบรอบการเสียชีวิตของพระเยซู (1 โครินธ์ 11:20, พระคัมภีร์ โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์) แต่ความเชื่อของกลุ่มศาสนาอื่น ๆ ในเรื่องการฉลองนี้ไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาไม่ได้ทำตามที่พระคัมภีร์บอก
จุดประสงค์
จุดประสงค์ของการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็เพื่อระลึกถึงพระเยซู และแสดงความขอบคุณที่ท่านยอมสละชีวิตเพื่อเรา (มัทธิว 20:28; 1 โครินธ์ 11:24) การฉลองนี้ไม่ใช่พิธีศักดิ์สิทธิ์ หรือการประกอบพิธีทางศาสนาที่จะทำให้ได้รับพรหรือได้รับการอภัยบาป a คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าเราจะได้รับการอภัยบาป ไม่ใช่โดยการประกอบพิธีทางศาสนา แต่โดยความเชื่อในพระเยซูเท่านั้น—โรม 3:25; 1 ยอห์น 2:1, 2
บ่อยแค่ไหน?
พระเยซูสั่งสาวกให้ฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ไม่ได้บอกว่าบ่อยแค่ไหน (ลูกา 22:19) บางคนรู้สึกว่าควรฉลองทุกเดือน ส่วนบางคนก็บอกว่าควรฉลองทุกสัปดาห์ ทุกวัน วันละหลายครั้ง หรือบ่อยแค่ไหนก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม แต่ต่อไปนี้เป็นปัจจัยบางอย่างที่ควรคำนึงถึง
พระเยซูตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าในวันปัสกาของชาวยิว แล้วท่านก็เสียชีวิตในวันเดียวกันนั้น (มัทธิว 26:1, 2) นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พระคัมภีร์เทียบให้เห็นว่า พระเยซูเป็นเหมือนลูกแกะปัสกาที่ถูกถวายเป็นเครื่องบูชา (1 โครินธ์ 5:7, 8) การฉลองปัสกาทำกันปีละครั้ง (อพยพ 12:1-6; เลวีนิติ 23:5) คริสเตียนในศตวรรษแรกก็ระลึกถึงพระเยซูปีละครั้งในวันครบรอบการเสียชีวิตของท่าน b และพยานพระยะโฮวาก็ทำตามแบบอย่างนี้ซึ่งมีบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล
วันและเวลา
แบบแผนที่พระเยซูวางไว้สำหรับการฉลองนี้ไม่เพียงช่วยให้รู้ว่าควรทำบ่อยแค่ไหน แต่ยังช่วยให้รู้วันเวลาที่ควรทำด้วย ท่านเริ่มการฉลองนี้หลังดวงอาทิตย์ตก ในวันที่ 14 เดือนนิสาน ค.ศ. 33 ตามปฏิทินจันทรคติที่ใช้ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล (มัทธิว 26:18-20, 26) เรายังคงฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าในวันนี้ของทุกปี ตามอย่างที่คริสเตียนในศตวรรษแรกทำกัน c
แม้วันที่ 14 เดือนนิสาน ค.ศ. 33 จะเป็นวันศุกร์ แต่ในปีต่อ ๆ มา วันครบรอบนี้ก็อาจเป็นวันอื่นของสัปดาห์ซึ่งไม่ใช่วันศุกร์เสมอไป และเพื่อเราจะรู้ว่าวันที่ 14 เดือนนิสานจะตรงกับวันที่เท่าไรของแต่ละปี เราก็ใช้วิธีนับวันแบบเดียวกับที่ใช้ในสมัยของพระเยซู ซึ่งไม่ใช่วิธีเดียวกับที่ชาวยิวในปัจจุบันใช้ในปฏิทินของพวกเขา d
ขนมปังและเหล้าองุ่น
ในการฉลองแบบใหม่นี้ พระเยซูใช้ขนมปังไม่ใส่เชื้อกับเหล้าองุ่นแดงที่เหลือจากการฉลองปัสกาในวันนั้น (มัทธิว 26:26-28) พวกเราจึงทำตามแบบอย่างที่พระเยซูวางไว้ โดยใช้ขนมปังที่ไม่ใส่เชื้อหรือไม่ใส่ส่วนผสมอื่นใดเลย และใช้เหล้าองุ่นแดงธรรมดา ๆ ไม่ใช่น้ำองุ่นหรือเหล้าองุ่นที่ทำให้มีรสหวาน เติมแอลกอฮอล์ หรือใส่เครื่องเทศ
บางนิกายใช้ขนมปังที่ใส่ยีสต์หรือเชื้อให้ฟูขึ้น แต่เชื้อที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงมักจะเป็นสัญลักษณ์ของบาปและความเสื่อมทราม (ลูกา 12:1; 1 โครินธ์ 5:6-8; กาลาเทีย 5:7-9) ดังนั้น ขนมปังที่ไม่มีเชื้อและไม่ใส่ส่วนผสมอย่างอื่นจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมกับร่างกายที่ไม่มีบาปของพระเยซู (1 เปโตร 2:22) อีกสิ่งหนึ่งที่มักจะทำกันซึ่งไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิลคือ การใช้น้ำองุ่นที่ไม่ได้บ่มแทนเหล้าองุ่น และสาเหตุที่บางคริสตจักรทำอย่างนี้ก็เพราะข้อห้ามที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ของพวกเขาเรื่องการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์—1 ทิโมธี 5:23
เป็นเครื่องหมาย ไม่ใช่เนื้อและเลือดจริง ๆ
ขนมปังไม่ใส่เชื้อและเหล้าองุ่นแดงที่ใช้ในวันครบรอบการเสียชีวิตของพระเยซู เป็นเครื่องหมายแทนร่างกายและเลือดของพระคริสต์ เครื่องหมายทั้ง 2 อย่างนี้ไม่ได้เปลี่ยนเป็นเนื้อและเลือดของพระเยซูอย่างอัศจรรย์เหมือนที่บางคนคิด ให้เรามาดูเหตุผลตามหลักพระคัมภีร์ด้วยกัน
ถ้าพระเยซูสั่งสาวกให้ดื่มเลือดของท่าน พระเยซูก็กำลังสั่งให้พวกเขาฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้าที่ให้งดเว้นจากเลือด (ปฐมกาล 9:4; กิจการ 15:28, 29) แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่พระเยซูจะสั่งให้คนอื่นฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด—ยอห์น 8:28, 29
พวกอัครสาวกคงไม่ได้ดื่มเลือดของพระเยซูจริง ๆ เพราะตอนที่พระเยซูพูด ท่านยังไม่ตายและเลือดของท่านก็ยังไม่ได้ไหลออก—มัทธิว 26:28
พระเยซูถวายตัวเองเป็นเครื่องบูชา “แค่ครั้งเดียวเพื่อกำจัดบาปตลอดไป” (ฮีบรู 9:25, 26) แต่ถ้าขนมปังและเหล้าองุ่นถูกเปลี่ยนเป็นเนื้อและเลือดของพระเยซูจริง ๆ ระหว่างการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็เท่ากับว่าพระเยซูต้องถวายตัวเองเป็นเครื่องบูชาทุกครั้งที่พวกเขากินขนมปังและเหล้าองุ่น
พระเยซูบอกว่า “ให้ทำอย่างนี้ต่อ ๆ ไปเพื่อระลึกถึงผม” ไม่ใช่ให้ “เอาผมมาถวายเป็นเครื่องบูชา”— 1 โครินธ์ 11:24
คนที่เชื่อเรื่องการแปรสารซึ่งบอกว่าขนมปังและเหล้าองุ่นกลายเป็นเนื้อและเลือดของพระเยซูจริง ๆ อาศัยหลักข้อเชื่อนี้ตามคำที่ใช้ในข้อคัมภีร์บางข้อ ตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับ มีคำพูดของพระเยซูที่พูดไว้เกี่ยวกับเหล้าองุ่นว่า “นี่เป็นโลหิตของเรา” (มัทธิว 26:28, ฉบับคาทอลิก) แต่คำพูดของพระเยซูก็อาจแปลได้ว่า “นี่หมายถึงเลือดของผม” e และในกรณีนี้ พระเยซูก็กำลังสอนโดยใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบอย่างที่ท่านมักจะทำบ่อย ๆ —มัทธิว 13:34, 35
ใครควรกินเครื่องหมายนี้?
เมื่อพยานพระยะโฮวาฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า มีแค่ไม่กี่คนที่กินขนมปังและเหล้าองุ่น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
โดยการหลั่งเลือดของพระเยซู ท่านได้ตั้ง “สัญญาใหม่” ซึ่งมาแทนที่สัญญาเดิมที่พระยะโฮวาพระเจ้าทำไว้กับชาติอิสราเอลโบราณ (ฮีบรู 8:10-13) คนที่อยู่ในสัญญาใหม่เท่านั้นที่จะกินเครื่องหมายนี้ในวันครบรอบการเสียชีวิตของพระเยซู ดังนั้น ไม่ใช่คริสเตียนทุกคนจะกินเครื่องหมายนี้ได้ จะมีก็แต่ “คนที่พระเจ้าเรียก” ด้วยวิธีพิเศษของพระองค์เท่านั้นที่กินได้ (ฮีบรู 9:15; ลูกา 22:20) คนเหล่านี้จะปกครองในสวรรค์ร่วมกับพระคริสต์ และคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า มีเพียง 144,000 คนเท่านั้นที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้—ลูกา 22:28-30; วิวรณ์ 5:9, 10; 14:1, 3
พวกเราไม่เหมือนกับ “แกะฝูงเล็ก” ซึ่งถูกเรียกให้ไปปกครองร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์ เรามีความหวังที่จะได้เป็นส่วนของ “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งมีโอกาสจะมีชีวิตตลอดไปบนโลก (ลูกา 12:32; วิวรณ์ 7:9, 10) พวกเราที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกจึงไม่กินเครื่องหมายในวันครบรอบการเสียชีวิตของพระเยซู แต่เราไปร่วมงานในวันนี้เพื่อแสดงความขอบคุณที่พระเยซูสละชีวิตเป็นค่าไถ่เพื่อเรา—1 ยอห์น 2:2
a หนังสือไซโคลพีเดีย ของแมกคลินทอกและสตรองก์ เล่มที่ 9 หน้า 212 บอกว่า “คำว่า พิธีศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ และคำภาษากรีก มิสทีʹรีออน ก็ไม่ได้ใช้กับการรับบัพติศมาหรือการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า หรือในการฉลองใด ๆ ที่เป็นเพียงเปลือกนอก”
b ดูหนังสือ The New Schaff-Herzog Encyclopedia of Religious Knowledge, เล่มที่ 4 หน้า 43-44, และหนังสือไซโคลพีเดีย ของแมกคลินทอกและสตรองก์ เล่มที่ 8 หน้า 836
c ดูหนังสือ The New Cambridge History of the Bible, เล่มที่ 1 หน้า 841
d ปฏิทินชาวยิวในปัจจุบันกำหนดวันเริ่มต้นเดือนนิสานโดยดูจากวันที่เกิดจันทร์ดับตามหลักดาราศาสตร์ ซึ่งในศตวรรษแรกไม่ได้ใช้วิธีนี้ แต่จะนับวันเริ่มต้นเดือนนิสานเมื่อเห็นจันทร์เสี้ยวแรกในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งวันหรือมากกว่านั้นหลังจากการเกิดจันทร์ดับตามหลักดาราศาสตร์ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่า ทำไมวันที่พยานพระยะโฮวาระลึกถึงการเสียชีวิตของพระเยซูจึงไม่ตรงกับวันที่ชาวยิวฉลองปัสกา
e ดูหนังสือ A New Translation of the Bible โดยเจมส์ มอฟฟัตต์; The New Testament—A Translation in the Language of the People โดยชาร์ลส์ บี. วิลเลียมส์; และ The Original New Testament โดยฮิวห์ เจ. ชอนฟิลด์