จดหมายเหตุของเรา
พยานพระยะโฮวาในนิวซีแลนด์—คริสเตียนที่ซื่อสัตย์และรักสันติ
วันที่ 21 ตุลาคม 1940 รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศว่าพยานพระยะโฮวาเป็นพวกล้มล้างรัฐบาลและเป็นอันตรายต่อประชาชน แม้การประกาศนี้ทำให้พยานพระยะโฮวาลำบากมาก แต่พวกเขาก็ไม่ท้อ เช่น พวกเขายังประชุมเพื่อนมัสการพระเจ้าต่อไปทั้ง ๆ ที่เสี่ยงต่อการถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นและจับกุม
แอนดี คลาร์กสามีซึ่งไม่ได้เป็นพยานฯของแมรีสังเกตว่าเธอตั้งใจเข้าร่วมประชุมต่อไปแม้จะเสี่ยงอันตราย แต่เขากลัวว่าภรรยาจะถูกจับตอนเข้าร่วมประชุม เขาเลยไปประชุมกับภรรยาซึ่งปกติแล้วเขาไม่เคยไป เขาบอกภรรยาว่า “ถ้าพวกเขาจะจับคุณ พวกเขาก็ต้องจับผมไปด้วย” ตั้งแต่นั้นแอนดีก็เข้าร่วมประชุมกับภรรยาเป็นประจำ ในที่สุด เขาก็รับบัพติศมาและเป็นพยานพระยะโฮวาด้วย ถึงแม้พยานพระยะโฮวาในนิวซีแลนด์หลายคนเจอการข่มเหงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พวกเขาก็เหมือนกับแมรีที่ตั้งใจภักดีต่อพระยะโฮวา
จับกุมมากขึ้นเรื่อย ๆ
วันหนึ่งตำรวจจับจอห์น เมอร์เรย์อายุ 78 ปีตอนที่เขากำลังประกาศตามบ้าน ศาลตัดสินว่าเขาเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรล้มล้างรัฐบาล มีพยานพระยะโฮวาหลายคนถูกจับมาขึ้นศาล บางคนถูกปรับและบางคนถูกศาลตัดสินจำคุกนานถึง 3 เดือน
พยานพระยะโฮวาปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ได้เรียนจากคัมภีร์ไบเบิล (อิสยาห์ 2:4) พวกเขาจึงถูกข่มเหงอย่างหนักในช่วงสงคราม แทนที่จะเป็นทหาร พยานฯ 80 คนถูกส่งตัวไปค่ายกักกันในช่วงสงคราม แม้พวกเขาเจอการข่มเหงอย่างหนักและสภาพอากาศที่หนาวมากในฤดูหนาว แต่พี่น้องเหล่านี้ก็ยังมีความสุขในการนมัสการพระยะโฮวาต่อไป
พยานพระยะโฮวาในค่ายกักกันจัดกิจกรรมที่เสริมความเชื่อทันที พวกเขาจัดการประชุมและประกาศกับนักโทษคนอื่น ๆ เป็นประจำ นอกจากนั้น ในค่ายกักกันบางแห่ง พยานฯถึงกับได้รับอนุญาตให้จัดการประชุมใหญ่โดยมีผู้คุมรักษาความปลอดภัย นักโทษบางคนเรียนความจริงในค่ายและรับบัพติศมาที่นั่น
บรูซลูกชายคนเล็กของแมรีกับแอนดีมองว่าช่วงเวลาที่อยู่ในค่ายกักกันเป็นโอกาสดีที่จะปรับปรุงการศึกษาส่วนตัวของเขา เขาเล่าว่า “ผมรู้สึกเหมือนไปโรงเรียนเลย เพราะผมมีโอกาสได้พูดคุยกับพี่น้องที่มีประสบการณ์มากกว่าและซึมซับความรู้ที่พวกเขามี”
ปี 1944 รัฐบาลได้พิจารณาการปล่อยตัวบางคนในค่ายกักกัน แต่เจ้าหน้าที่ทางทหารคัดค้านเพราะมั่นใจว่าถ้าพยานพระยะโฮวาถูกปล่อยตัวพวกเขาก็จะพูดเรื่องความเชื่อกับคนอื่นต่อไป รายงานหนึ่งบอกว่า “แม้การกักขังต่อไปอาจควบคุมคนเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง แต่การทำแบบนั้นก็เปลี่ยนพวกเขาไม่ได้”
ไม่เป็นภัยต่อสังคม
เนื่องจากมีการสั่งห้ามอย่างเปิดเผย บางคนก็เริ่มอยากรู้เกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา เมื่อเวลาผ่านไปหลายคนก็เข้าใจว่าพยานพระยะโฮวาไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม พวกเขามารู้ว่าพยานฯเป็นคริสเตียนที่รักสันติและไม่เป็นอันตราย ผลก็คือ จำนวนพยานฯในนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นจาก 320 คนในปี 1939 เป็น 536 คนในปี 1945
บางครั้ง เจ้าหน้าที่ที่มีเหตุผลยอมรับว่าการสั่งห้ามพยานพระยะโฮวาเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม ผู้พิพากษาคนหนึ่งได้ยกฟ้องพี่น้องของเรา หลังจากได้ฟังพยานในศาลให้การกล่าวหาพี่น้องที่ประกาศตามบ้าน เขาบอกว่า “ตามความคิดและเข้าใจในกฎหมาย ผมคิดว่าการให้คัมภีร์ไบเบิลกับคนอื่นไม่ใช่อาชญากรรม”
เมื่อสงครามจบลงการสั่งห้ามก็ถูกยกเลิก พยานพระยะโฮวาตั้งใจมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อช่วยเพื่อนบ้านให้เรียนรู้เกี่ยวกับรัฐบาลของพระเจ้า ในปี 1945 จดหมายจากสำนักงานสาขาถึงทุกประชาคมในนิวซีแลนด์บอกว่า “ให้เราพูดดี ๆ เป็นมิตรและใจดีกับทุกคน หลีกเลี่ยงการโต้เถียงและขัดแย้งกัน ขอจำไว้ว่าคนที่เราเจอเชื่อคำสอนในศาสนาของเขาและพยายามใช้ชีวิตตามนั้น. . . . ผู้คนจำนวนมากเป็นแกะของผู้เป็นนายที่เราต้องพามาหาพระยะโฮวาและรัฐบาลของพระองค์”
ทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวาในนิวซีแลนด์ยังคงประกาศข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลกับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว วันหนึ่ง ภายในไม่กี่ชั่วโมง พยานฯ 4 คนในเมืองตูรางีได้คุยกับนักท่องเที่ยว 67 คนที่มาจาก 17 ประเทศ
เห็นได้ชัดว่าผู้คนในนิวซีแลนด์ยอมรับว่าพยานพระยะโฮวาเป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์และรักสันติซึ่งนับถือความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลอย่างมาก ทุกปีมีหลายร้อยคนรับบัพติศมาเป็นพยานพระยะโฮวา ในปี 2019 มีพยานฯมากกว่า 14,000 คนรับใช้พระยะโฮวาอย่างมีความสุขในพื้นที่ทางใต้นี้
การประชุมเพื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลังจากที่ถูกสั่งห้ามในปี 1940
ห้องขังเดี่ยวนักโทษชายในค่ายกักกัน เกาะเหนือ ประเทศนิวซีแลนด์
ค่ายกักกันฮอตู เกาะเหนือ ประเทศนิวซีแลนด์
ในปี 1949 พยานฯที่ถูกกักขังเพราะรักษาความเป็นกลางมาประชุมกัน