จดหมายเหตุของเรา
พวกเขามีความเชื่อเข้มแข็งแม้จะอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง พื้นที่ส่วนใหญ่ในยุโรปได้รับความเสียหายหนัก แต่ก็มีเรื่องที่น่ายินดี พยานพระยะโฮวาและคนอื่น ๆ ถูกปล่อยตัวออกจากค่ายกักกันนาซี ถึงจะเป็นอย่างนั้น ชีวิตของพยานพระยะโฮวาก็ไม่ง่ายเลย พวกเขาขาดแคลนอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และสิ่งจำเป็นเหมือนกับคนอื่น ๆ พี่น้องคาริน ฮาร์ทุง บอกว่า “ตอนนั้นที่อยู่อาศัยหายากมาก หลายคนก็เลยให้ญาติมาอยู่ด้วย หรือไม่ก็ให้คนอื่นมาเช่าห้องของตัวเองแล้วอยู่ด้วยกัน” ช่วงหนึ่ง พี่น้องเกอร์ทรูด เพิทซิงเกอร์ ที่เคยอยู่ในค่ายกักกันนาน 7 ปีครึ่งต้องไปอยู่ในห้องเก็บเครื่องมือและต้องนอนบนเก้าอี้ a
มีการจัดเตรียมความช่วยเหลืออะไรบ้างให้กับพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม? และเราได้เรียนอะไรจากพี่น้องที่อยู่ในช่วงยุคหลังสงครามที่ยากลำบากนี้?
จัดเตรียมสิ่งจำเป็นให้กับพี่น้อง
องค์การของพระยะโฮวารีบให้ความช่วยเหลือพี่น้องของเราในยุโรปทันที พี่น้องนาธาน นอร์ และมิลตัน เฮนเชล จากสำนักงานใหญ่ไปเยี่ยมและพูดคุยกับพี่น้องเพื่อดูว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมปี 1945 พวกเขาไปที่ประเทศอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ พี่น้องนอร์บอกว่า “การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นความเสียหายจากสงครามเป็นครั้งแรก”
ตอนนั้น พี่น้องนอร์ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศเยอรมนี พี่น้องเอริค ฟรอสต์ที่ดูแลสำนักงานสาขาเยอรมนีเลยต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปเจอพี่น้องนอร์ b รายงานของเอริคบอกว่า “พี่น้องนอร์แนะนำเราหลายอย่างและสัญญาว่าจะส่งอาหารและเสื้อผ้ามาให้ หลังจากนั้นไม่นาน อาหารจำนวนมากก็ถูกส่งมาที่เยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นแป้ง น้ำมัน ข้าวโพดและอาหารอื่น ๆ และพี่น้องจากหลายประเทศก็ส่งเสื้อผ้า สูท ชุดชั้นใน และรองเท้ามาอีกหลายกล่อง” พี่น้องที่ได้รับความช่วยเหลือรู้สึกขอบคุณและตื้นตันมากจนน้ำตาซึม “สิ่งของบรรเทาทุกข์เหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งมาช่วยเหลือพวกเราแค่ครั้งเดียว แต่มีการส่งมาเรื่อย ๆ นานถึง 2 ปีครึ่ง!” c
พวกเขายึดมั่นกับความเชื่อต่อไป
พอสถานการณ์ชีวิตเริ่มดีขึ้นพี่น้องก็จดจ่ออยู่กับการรับใช้พระยะโฮวา อะไรช่วยพวกเขาให้ทำอย่างนั้นได้?
พวกเขาทำสิ่งที่เสริมความเชื่อเป็นประจำ (เอเฟซัส 5:15, 16) ในช่วงสงคราม สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลหายากมากและสิ่งที่พยานฯ ทำเป็นประจำก็ได้รับผลกระทบด้วย พอสงครามยุติลงพี่น้องก็กลับมาประชุมคริสเตียนและทำงานประกาศอีกครั้งเหมือนที่เคยทำ พี่น้องเยอร์เกน รุนเดล ที่อยู่ในออสเตรียเล่าว่า “ใบแจ้งข่าว d และผู้ดูแลเดินทางของพวกเราสนับสนุนให้เราทำกิจกรรมที่เสริมความเชื่อเป็นประจำ” เขาเล่าต่อว่า “พวกเราสนใจที่พระยะโฮวา พระเยซู การศึกษาส่วนตัวและงานรับใช้ ไม่มีอะไรมาทำให้เราไขว้เขวได้อย่างเช่นทีวี”
พี่น้องอูลรีเคอ โครลอป บอกว่า “ฉันจำได้ว่าฉันมีความสุขมากตอนที่ศึกษาเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้ง สามีของฉันเป็นตัวอย่างที่ดีมาก พอเราได้รับวารสารหอสังเกตการณ์เล่มใหม่ เขาก็จะทิ้งทุกอย่างแล้วศึกษาทันที” คารินที่พูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “ในช่วงสงคราม เราได้เห็นว่าทรัพย์สินที่เรามีสามารถหายไปได้ในพริบตา แต่ถึงสิ่งที่เสริมความเชื่อจะหายาก เราก็มีไม่ขาดพระยะโฮวาให้รางวัลผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์จริง ๆ”
พวกเขากลับไปทำงานประกาศอีกครั้ง (มัทธิว 28:19, 20) สงครามทำให้ประชาชนของพระยะโฮวาไม่มีอิสระที่จะทำงานประกาศและงานสอนอย่างเต็มที่ พี่น้องเฟรดเฮล์ม จำได้ว่าหลังสงครามยุติลง “ทุกคนก็รีบกลับไปประกาศทันที” พี่น้องอูลรีเคอ บอกว่า “พยานฯ กลุ่มแรกที่มาประกาศกับครอบครัวของสามีฉันยังใส่ชุดของนักโทษในค่ายกักกันอยู่เลย! เห็นชัดเลยว่าเขารีบประกาศทันที” พี่น้องเยอร์เกน บอกว่า “หลังสงคราม แทบทุกคนกระตือรือร้นกันมาก มีหนุ่มสาวหลายคนเริ่มรับใช้เต็มเวลา”
อูลรีเคอ บอกว่า “การอยู่ในเมืองที่โดนระเบิดมันไม่ง่ายเลย หลายคนต้องอยู่ในซากอาคารที่พังเสียหาย” แล้วพยานฯ หาพวกเขาเจอได้ยังไง? อูลรีเคอที่ครอบครัวเข้ามาในความจริงหลังสงครามเล่าว่า “เรามองหาแสงไฟจากตะเกียงหรือไม่ก็ควันที่ลอยขึ้นมาจากปล่องไฟ”
ให้กำลังใจกันและกัน (1 เธสะโลนิกา 5:11) ระหว่างที่เกิดสงครามพยานพระยะโฮวาหลายคนถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย แต่พอสงครามยุติลงพวกเขาก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องแย่ ๆ ที่เจอ พวกเขาพยายามให้กำลังใจกัน ที่จริง ความเชื่อที่ผ่านการทดสอบแล้วทำให้พวกเขามีความสุขมาก (ยากอบ 1:2, 3) พี่น้องโยฮันเนสที่ตอนนี้อยู่ในสหรัฐฯ เล่าว่า “ผู้ดูแลหมวดของเราเคยอยู่ในค่ายกักกัน เขาเล่าประสบการณ์หลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาช่วยเหลือพี่น้องยังไง พอได้ฟังประสบการณ์เหล่านี้ความเชื่อเราก็เข้มแข็งขึ้น”
พอสงครามโลกจบลง พี่น้องก็ยังรักษาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาต่อไปโดยทำสิ่งที่โยฮันเนสบอกไว้ นั่นก็คือคิดถึงตอนที่พระยะโฮวาช่วยพวกเขาตอนอยู่ในค่ายกักกัน และคิดถึงตอนที่ “พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของพวกเขา” อย่างที่บอกไว้ พยานพระยะโฮวาที่ถูกปล่อยตัวออกจากค่ายกักกันยังคงรักษากิจวัตรของคริสเตียน ซึ่งรวมถึงการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ เข้าร่วมการประชุมของคริสเตียน มีส่วนร่วมในงานประกาศ พี่น้องเอลิซาเบทที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ในเมืองนือเรมเบิร์ก ปี 1946 บอกว่า “พี่น้องชายหญิงที่ถูกปล่อยตัวยังดูผอมและไม่ค่อยมีแรง แต่ตอนที่พวกเขาเล่าประสบการณ์ พวกเขาดูกระตือรือร้นและเต็มไปด้วยพลังของพระเจ้า”—โรม 12:11
พวกเขาสนิทกับพี่น้องร่วมความเชื่อ (โรม 1:11, 12) ในช่วงสงครามพยานพระยะโฮวาไม่สามารถเจอกันและใช้เวลาด้วยกันได้อย่างอิสระเพราะมีการข่มเหงอย่างหนัก พี่น้องคารินเล่าว่า “พวกเขาแทบไม่เจอกันเลยเพราะไม่อยากให้พี่น้องร่วมความเชื่อถูกจับ” พอสงครามจบลงทุกอย่างก็เปลี่ยนไป พี่น้องเฟรดเฮล์ม บอกว่า “พวกพี่น้องกลับมาทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกันและพวกเขายังให้การประชุมและงานประกาศมาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกด้วย”
ในช่วงแรก ๆ หลังสงครามจบลง พี่น้องเดทริคที่เป็นผู้ดูแลในประเทศเยอรมนี บอกว่า “ตอนนั้นมีพยานฯ ไม่กี่คนที่มีรถยนต์ พวกเราเลยเดินไปประชุมด้วยกันเป็นกลุ่ม และการเดินไปด้วยกันเป็นประจำแบบนี้แหละทำให้พวกเราสนิทกันเหมือนเป็นครอบครัว”
บทเรียนสำหรับพวกเรา
ทุกวันนี้ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหลายคนต้องอดทนกับความยากลำบากที่เกิดจากภัยธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ สงคราม การข่มเหงและค่าครองชีพที่สูงขึ้น (2 ทิโมธี 3:1) แต่เราไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะอะไร? ตัวอย่างของพี่น้องทั้งชายและหญิงที่ซื่อสัตย์ในเยอรมนีที่อยู่ในช่วงการปกครองของนาซีทำให้เรามั่นใจว่าพระเจ้าจะคอยดูแลเราต่อไปในสมัยสุดท้ายที่ยากลำบากนี้ ดังนั้น ขอให้เราคิดเหมือนอัครสาวกเปาโลที่บอกว่า “เราจึงมีความกล้าและพูดได้ว่า ‘พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยเหลือผม ผมจะไม่กลัวอะไร มนุษย์จะทำอะไรผมได้?’”—ฮีบรู 13:6
a อ่านเรื่องราวชีวิตจริงของพี่น้องเพิทซิงเกอร์ได้ในบทความ “ให้การปกครองของพระเจ้าสำคัญที่สุดช่วงหลังสงครามโลกในเยอรมนี” (ภาษาอังกฤษ)
b อ่านเรื่องราวชีวิตจริงของพี่น้องฟรอสต์ได้ในบทความ “ความเชื่อในพระเจ้าช่วยให้อดทนกับการถูกสอบสวนที่ทารุณของพวกเผด็จการ” (ภาษาอังกฤษ)
c สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานบรรเทาทุกข์ของพยานฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูบทความ “พวกเขาให้สิ่งที่ดีที่สุด” และกรอบหน้า 211, 218 และ 219 ของหนังสือราชอาณาจักรของพระเจ้าปกครองแล้ว!
d ตอนนี้ประชาคมต่าง ๆ ใช้คู่มือประชุมชีวิตและงานรับใช้ของคริสเตียน