ชีวิตมาจากไหน?
คุณจะตอบอย่างไร?
ชีวิตเป็นผลงานของ . . .
ก. วิวัฒนาการ
ข. การสร้าง
บางคนอาจคิดว่าคนที่เชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์จะตอบว่า “วิวัฒนาการ” ส่วนคนที่เคร่งศาสนาก็จะตอบว่า “การสร้าง”
แต่ก็ไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป
ความจริงก็คือ คนที่มีการศึกษาจำนวนมากซึ่งรวมถึงนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องวิวัฒนาการ
ลองมาฟังคำพูดของเจอราร์ด ศาสตราจารย์ที่ศึกษาเกี่ยวกับแมลงซึ่งเคยเรียนเรื่องวิวัฒนาการในวิทยาลัย เขาเล่าว่า “ตอนทำข้อสอบ ผมก็ตอบตามที่อาจารย์อยากให้ตอบ แต่จริง ๆ แล้ว ผมไม่ได้เชื่ออย่างนั้น”
ทำไมแม้แต่บางคนที่เชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์ก็รู้สึกว่ายากที่จะยอมรับว่าชีวิตมาจากวิวัฒนาการ? เพื่อตอบคำถามนี้ ให้เราพิจารณา 2 คำถามที่นักวิจัยหลายคนอยากได้คำตอบ คือ (1) ชีวิตมาจากไหน? และ (2) สิ่งมีชีวิตพัฒนามาอย่างไร?
ชีวิตมาจากไหน?
คนทั่วไปคิดอย่างไร? บางคนคิดว่าชีวิตเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากสิ่งไม่มีชีวิต
ทำไมหลายคนไม่พอใจคำตอบที่ได้รับ? ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์รู้เรื่องโครงสร้างทางเคมีและโมเลกุลของชีวิตมากกว่าเมื่อก่อน แต่พวกเขาก็ยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วชีวิตมาจากไหน แม้แต่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่มีโครงสร้างแบบง่ายที่สุด เมื่อเทียบกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตแล้วก็ยังต่างกันอย่างลิบลับ
นักวิทยาศาสตร์ทำได้แค่เดาว่าโลกเป็นอย่างไรเมื่อหลายพันล้านปีก่อน พวกเขามีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องที่ว่าชีวิตมาจากไหน เช่น บางคนบอกว่าอาจมาจากภูเขาไฟหรือไม่ก็จากใต้ทะเลลึก บางคนเชื่อว่าส่วนประกอบแรกของชีวิตเกิดขึ้นที่ไหนสักแห่งในเอกภพและมาถึงโลกเราโดยฝังตัวอยู่ในอุกกาบาต แต่ความคิดเห็นเหล่านี้ก็ไม่ได้ตอบว่าชีวิตมาจากไหน พวกเขาเพียงแต่เดาว่าถ้าชีวิตไม่ได้เริ่มขึ้นบนโลกก็คงจะเริ่มขึ้นในอวกาศ
นักวิทยาศาสตร์เดากันว่ามีโมเลกุลบางชนิดเกิดก่อนดีเอ็นเออย่างกะทันหันจากสิ่งที่ไม่มีชีวิตและขยายพันธุ์ออกไป แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าเคยมีโมเลกุลแบบนั้นอยู่ และนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่สามารถสร้างโมเลกุลแบบนั้นในห้องทดลองได้
สิ่งมีชีวิตมีความพิเศษเฉพาะตัวในการเก็บข้อมูลและประมวลผลออกมา เซลล์ต่าง ๆ ถ่ายทอด วิเคราะห์ข้อมูล และทำตามคำสั่งที่อยู่ในรหัสพันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์บางคนเปรียบรหัสพันธุกรรมเหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่วนโครงสร้างทางเคมีของเซลล์เป็นเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ทฤษฎีวิวัฒนาการไม่สามารถอธิบายว่าข้อมูลในรหัสพันธุกรรมมาจากไหน
โปรตีนจำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ โปรตีนหนึ่งโมเลกุลประกอบด้วยกรดอะมิโนจำนวนมากที่เรียงต่อกันตามลำดับที่แน่นอน นอกจากนั้น โปรตีนจะต้องจับตัวกันเป็นโครงสร้างสามมิติจึงจะมีประโยชน์ต่อเซลล์ นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงสรุปว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่โปรตีนหนึ่งโมเลกุลจะเกิดขึ้นเอง นักฟิสิกส์ชื่อพอล เดวีส์เขียนว่า “เซลล์จะทำงานได้ก็ต้องอาศัยโปรตีนมากมายหลายชนิด จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่โปรตีนเหล่านั้นจะรวมตัวกันโดยบังเอิญ”
สรุป หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ทุกสาขาได้ค้นคว้ามานานหลายสิบปี พวกเขาพบว่าสิ่งมีชีวิตต้องเกิดจากสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ก่อนเสมอ
สิ่งมีชีวิตพัฒนามาอย่างไร?
คนทั่วไปคิดอย่างไร? สิ่งมีชีวิตแรกค่อย ๆ พัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ รวมทั้งมนุษย์ โดยการกลายพันธุ์แบบสุ่มและการคัดเลือกโดยธรรมชาติ
ทำไมหลายคนไม่พอใจคำตอบที่ได้รับ? เซลล์บางเซลล์ซับซ้อนกว่าเซลล์อื่น ๆ แหล่งอ้างอิงหนึ่งบอกว่าการที่เซลล์ธรรมดาจะพัฒนาเป็นเซลล์ที่มีความซับซ้อนเป็น “ปัญหาใหญ่ของทฤษฎีวิวัฒนาการ รองจากปัญหาเรื่องจุดเริ่มต้นของชีวิต”
นักวิทยาศาสตร์พบว่าแต่ละเซลล์มีโมเลกุลที่เป็นเหมือนเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพซึ่งประกอบด้วยโมเลกุลโปรตีนที่ทำงานอย่างซับซ้อน เช่น ลำเลียงสารอาหารและเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของเซลล์ และส่งคำสั่งไปยังทุกส่วนของเซลล์ ดังนั้น หลายคนจึงคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่การกลายพันธุ์แบบสุ่มและการคัดเลือกโดยธรรมชาติจะทำให้ส่วนประกอบที่ซับซ้อนทำงานประสานกันได้ดีขนาดนี้
มนุษย์และสัตว์เจริญเติบโตมาจากไข่ที่ปฏิสนธิ และเมื่อเป็นตัวอ่อนแล้ว เซลล์จะเพิ่มจำนวนขึ้นและมีรูปร่างแตกต่างกันตามหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ จากนั้นก็รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ทฤษฎีวิวัฒนาการบอกไม่ได้ว่าเซลล์ “รู้” ได้อย่างไรว่ามันจะพัฒนาเป็นอวัยวะอะไรและจะอยู่ส่วนไหนของร่างกาย
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์รู้ว่าการที่สัตว์ชนิดหนึ่งจะพัฒนาเป็นอีกชนิดหนึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในระดับโมเลกุล ในเมื่อนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถสร้างแม้แต่เซลล์ที่มีโครงสร้าง “ง่ายที่สุด” แล้วการกลายพันธุ์แบบสุ่มและการคัดเลือกโดยธรรมชาติจะทำให้สัตว์ชนิดต่าง ๆ เกิดขึ้นบนโลกได้อย่างไร นักชีวเคมีชื่อไมเคิล บีฮีพูดถึงโครงสร้างของสัตว์ว่า งานวิจัย “ทำให้เราเห็นความซับซ้อนที่น่าทึ่ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นเลยว่าความบังเอิญทำให้เกิดความน่าทึ่งนั้นได้ยังไง”
มนุษย์มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี รู้จักตัวเอง รู้จักคิด หาเหตุผล และมีคุณลักษณะที่ดี เช่น ความเอื้อเฟื้อ ความเสียสละ และรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด การกลายพันธุ์แบบสุ่มและการคัดเลือกโดยธรรมชาติอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมนุษย์ถึงมีคุณลักษณะที่ดีเหล่านี้
สรุป สำหรับคำถามที่ว่า ชีวิตมาจากไหน? และสิ่งมีชีวิตพัฒนามาอย่างไร? หลายคนยืนกรานว่าชีวิตมาจากวิวัฒนาการ แต่หลายคนยังไม่พอใจคำตอบนี้
คุ้มค่าที่จะหาคำตอบ
หลังจากพิจารณาหลักฐานแล้ว หลายคนสรุปว่าชีวิตต้องมาจากผู้ที่มีสติปัญญาสูงส่ง เช่น แอนโทนี ฟลูศาสตราจารย์ด้านปรัชญา ซึ่งเคยเชื่ออย่างสุดโต่งว่าไม่มีพระเจ้า แต่เมื่อได้เรียนเกี่ยวกับความซับซ้อนและความน่าทึ่งของชีวิต และกฎทางฟิสิกส์ของเอกภพ เขาก็เปลี่ยนความคิด เขายกเหตุผลจากปรัชญาโบราณที่ว่า “หลักฐานบอกอย่างไรเราก็ต้องเชื่อตามนั้น” สำหรับศาสตราจารย์ฟลูแล้ว หลักฐานบอกว่าต้องมีผู้สร้าง
เจอราร์ดที่พูดถึงตอนต้น ถึงเขาจะเรียนสูงและทำงานด้านการศึกษาเกี่ยวกับแมลง แต่เขาก็สรุปคล้าย ๆ กัน เขาบอกว่า “ผมไม่เห็นหลักฐานอะไรเลยที่พิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต ความเป็นระเบียบและความซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตทำให้ผมเชื่อว่าต้องมีผู้จัดระเบียบและผู้ออกแบบ”
ถ้าเราอยากรู้ว่าศิลปินเป็นคนอย่างไรก็ดูได้จากผลงานศิลปะของเขา เจอราร์ดก็เช่นเดียวกันเขาได้รู้ว่าผู้สร้างสิ่งมีชีวิตมีคุณลักษณะแบบไหนโดยดูจากสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ และจากการเรียนคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นหนังสือที่มาจากผู้สร้างสิ่งมีชีวิต (2 ทิโมธี 3:16) เจอราร์ดได้คำตอบที่น่าพอใจจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มนุษย์และวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริงในทุกวันนี้ เขามั่นใจด้วยว่าคัมภีร์ไบเบิลมาจากสติปัญญาที่สูงส่งกว่ามนุษย์
เช่นเดียวกับเจอราร์ด เป็นเรื่องคุ้มค่าที่จะหาคำตอบจากคัมภีร์ไบเบิล เราขอเชิญคุณให้หาคำตอบด้วยตัวเอง