จากปก
คุณยุ่งเกินไปไหม?
คุณรู้สึกยุ่งอยู่ตลอดเวลาไหม? ถ้าใช่ คุณไม่ใช่คนเดียวที่เป็นแบบนั้น นิตยสารวิเคราะห์การเมืองและเศรษฐกิจฉบับหนึ่ง (The Economist) บอกว่า “ไม่ว่าจะเป็นใคร จะอยู่ที่ไหน ทุกคนก็ยุ่งกันทั้งนั้น”
การสำรวจข้อมูลพนักงานประจำจาก 8 ประเทศในปี ค.ศ. 2015 พบว่า หลายคนมีปัญหาเรื่องการแบ่งเวลาให้กับงานและให้กับครอบครัว สาเหตุเกิดจากพวกเขามีภาระหน้าที่มากขึ้นทั้งที่บ้านและที่ทำงาน มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และต้องทำงานเยอะขึ้น ตัวอย่างเช่น พนักงานประจำในสหรัฐต้องทำงานโดยเฉลี่ยถึง 47 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเกือบ 1 ใน 5 บอกว่า พวกเขาต้องทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
การสำรวจข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งจากผู้คนใน 36 ประเทศบอกว่า มากกว่า 1 ใน 4 รู้สึกว่าแม้แต่ในช่วงที่ไปพักผ่อน พวกเขาก็ยังต้องรีบ! เด็ก ๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันถ้ามีตารางเวลาของกิจกรรมแน่นเกินไป
เมื่อเราอยากทำหลายอย่างทั้ง ๆ ที่มีเวลาไม่พอ ก็อาจทำให้เครียดและรู้สึกกดดัน แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้ชีวิตอย่างสมดุลมากขึ้น? ค่านิยม ทางเลือก และเป้าหมายของเรามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างไร? ก่อนอื่น ให้เรามาดูเหตุผล 4 อย่างที่บางคนทำงานจนยุ่งเกินไป
1 เพราะอยากให้ครอบครัวได้รับสิ่งดี ๆ
พ่อคนหนึ่งชื่อแกรีบอกว่า “ผมทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด ที่ผมทำงานหนักแบบนี้เพราะผมอยากให้ลูกมีสิ่งดี ๆ ที่ตอนเด็ก ๆ ผมไม่เคยมี” ถึงจะมีเจตนาดี แต่พ่อแม่ก็น่าจะลองคิดดูว่าอะไรสำคัญจริง ๆ การศึกษาค้นคว้าบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่ให้ความสำคัญกับเงินทองและคนที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงพบว่า คนที่ให้ความสำคัญกับเงินทองมีความสุขน้อยกว่า มีความพึงพอใจในชีวิตน้อยกว่า และมีสุขภาพแย่กว่า
บางครอบครัว พ่อแม่ก็จัดตารางกิจกรรมของลูกและของตัวเองจนแน่น เพราะอยากให้ลูกประสบความสำเร็จ หนังสือเกี่ยวกับครอบครัวเล่มหนึ่ง (Putting Family First) บอกว่า พ่อแม่ที่มีเจตนาดีเหล่านั้น “กำลังทำให้ครอบครัวไม่มีความสุข”
2 เพราะคิดว่า ‘ยิ่งมีเยอะก็ยิ่งดี’
บริษัทโฆษณาอยากให้เรารู้สึกว่า เรากำลังขาดอะไรไปบางอย่างถ้าเราไม่ซื้อสินค้ารุ่นล่าสุด นิตยสาร The Economist บอกว่า “สินค้ามากมายในท้องตลาดทำให้รู้สึกว่าเรามีเวลาไม่มากพอ” เพราะเรา “ต้องใช้เวลาเลือกว่าจะซื้ออะไร จะดูอะไร จะกินอะไร” ในเวลาที่มีจำกัด
ในปี ค.ศ. 1930 นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำคนหนึ่งคาดการณ์ไว้ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น แต่เขาคิดผิด! เอลิซาเบ็ธ โคลเบิร์ต นักเขียนจากนิตยสาร The New Yorker ให้ข้อสังเกตว่า “แทนที่จะได้เลิกงานเร็ว” ผู้คนต้องใช้เวลาทำงานหาเงินมากขึ้นเพราะพวกเขา “อยากได้ของใหม่ ๆ อยู่ตลอด”
3 เพราะอยากทำให้คนอื่นพอใจ
ลูกจ้างบางคนยอมทำงานจนดึกดื่นเพราะอยากให้นายจ้างพอใจ และเพื่อนร่วมงานก็อาจเขม่นถ้าใครทำงานน้อยกว่าคนอื่น และเนื่องจากเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน หลายคนเลยยอมทำงานมากขึ้นหรือพร้อมให้นายจ้างตามตัวตลอดเวลา
เช่นเดียวกัน พ่อแม่อาจรู้สึกว่าต้องเลียนแบบครอบครัวอื่น ๆ ที่มีกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ทำเหมือนเขา พ่อแม่อาจรู้สึกผิดที่ทำให้ลูก “ขาด” อะไรไปบางอย่าง
4 เพราะอยากประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ
ทิมจากสหรัฐบอกว่า “ผมชอบงานของผม และผมเต็มที่กับงานตลอดเวลา ผมอยากพิสูจน์ว่าผมทำได้”
หลายคนอาจรู้สึกแบบทิมว่าคุณค่าของคนขึ้นอยู่กับการทำงาน ผลเป็นอย่างไร? เอลิซาเบ็ธ โคลเบิร์ตที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “การยุ่งอยู่กับงานทำให้คุณได้รับการยอมรับมากขึ้น ยิ่งคุณยุ่งมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งรู้สึกว่าคุณเป็นคนสำคัญมากเท่านั้น”
เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างสมดุล
คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้เราเป็นคนขยันและทำงานหนัก (สุภาษิต 13:4) แต่ก็ต้องสมดุลด้วย เพราะในปัญญาจารย์ 4:6 บอกว่า “พักผ่อนสักเล็กน้อยดีกว่าเอาแต่ทำงานหนักและวิ่งไล่ตามลม”
การใช้ชีวิตอย่างสมดุลเป็นผลดีต่อร่างกายและจิตใจ แต่จะทำได้จริง ๆ หรือ? เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตไม่รีบเร่งเกินไป? ลองดูคำแนะนำ 4 อย่างต่อไปนี้
1 มีเป้าหมายและค่านิยมที่ชัดเจน
เป็นธรรมดาที่คนเราอยากมีความมั่นคงทางการเงิน แต่ต้องมีเท่าไรถึงจะพอ? อะไรที่เรียกว่าความสำเร็จ? รายได้หรือทรัพย์สินเป็นตัวชี้วัดไหม? ในทางกลับกัน ถ้าเราไปเที่ยวหรือพักผ่อนมากเกินไปก็อาจทำให้รู้สึกกดดันได้เพราะเราจะมีเวลาไม่พอที่จะทำสิ่งที่ควรทำ
ทิมที่พูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “ผมกับภรรยานั่งคุยกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่าชีวิตพวกเราเป็นยังไง แล้วเราก็ตัดสินใจทำชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น เราเขียนตารางว่าตอนนี้สถานการณ์ของครอบครัวเราเป็นยังไงและเรามีเป้าหมายอะไรในอนาคต เราคุยกันว่าสิ่งที่เราตัดสินใจไปแล้วส่งผลต่อชีวิตเรายังไงในตอนนี้ และเราต้องทำอะไรอีกบ้างเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายของเรา”
2 ไม่ตามกระแสของพวกนักช้อป
คัมภีร์ไบเบิลแนะนำให้เราควบคุม “ความต้องการที่เกิดจากตา” (1 ยอห์น 2:15-17) โฆษณากระตุ้นให้เกิดความต้องการแบบนั้น และบีบให้เราต้องทำงานมากขึ้น ให้เราใช้จ่ายเกินตัว หรือไปเที่ยวและทำกิจกรรมราคาแพง ก็จริงที่คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงโฆษณาทุกอย่างได้ แต่คุณควบคุมตัวเองได้ว่าคุณจะดูโฆษณาพวกนั้นเยอะแค่ไหน และคุณควรคิดให้ดีว่าจริง ๆ แล้วอะไรคือสิ่งจำเป็น
อีกอย่างคือ คบเพื่อนแบบไหนก็เป็นแบบนั้น ถ้าเพื่อนที่คุณคบเป็นพวกวัตถุนิยมหรือวัดความสำเร็จจากสิ่งของ ก็คงดีกว่าถ้าคุณจะมองหาเพื่อนที่รู้ว่าวัตถุสิ่งของไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คนที่คบกับคนฉลาดจะฉลาด”—สุภาษิต 13:20
3 ทำงานอย่างมีลิมิต
คุยกับเจ้านายว่า นอกจากงานแล้ว คุณยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญต่อคุณด้วย อย่ารู้สึกผิดถ้าคุณจะทำอย่าง
อื่นบ้างที่ไม่ใช่งาน หนังสือ Work to Live บอกว่า “คนที่แยกเรื่องงานกับเรื่องครอบครัวออกจากกันอย่างชัดเจนหรือลางานไปพักผ่อนบ้าง ได้ข้อสรุปว่า ถึงคุณจะไม่อยู่ที่ทำงาน โลกก็ไม่แตก”แกรีที่พูดถึงก่อนหน้านี้ตัดสินใจลดชั่วโมงทำงานลงเพราะเขาเห็นว่าเขาไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน เขาเล่าว่า “ผมคุยกับครอบครัวและตกลงกันว่าเราจะใช้ชีวิตให้พอเพียงมากขึ้น แล้วเราก็ค่อย ๆ ทำตามแผนการที่วางไว้ ผมยังไปคุยกับหัวหน้าด้วยว่าผมขอลดวันทำงาน และหัวหน้าก็อนุญาต”
4 ให้ครอบครัวมาก่อน
สามีและภรรยาต้องมีเวลาให้กัน และลูก ๆ ก็ต้องการเวลาจากพ่อแม่ด้วย ดังนั้น อย่าเอาครอบครัวคนอื่นที่ชอบทำกิจกรรมมาเปรียบเทียบกับครอบครัวของคุณ แกรีแนะนำว่า “หาเวลาที่ทุกคนจะได้พักผ่อนด้วยกัน และลืมเรื่องที่ไม่สำคัญไปบ้าง”
เมื่ออยู่กับครอบครัว อย่าให้ทีวี มือถือ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ มาทำให้คุณไม่สนใจกันและกัน กินข้าวด้วยกันทุกวันอย่างน้อยวันละมื้อ และให้ช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่ครอบครัวได้พูดคุยกัน เมื่อพ่อแม่ทำตามคำแนะนำง่าย ๆ นี้ ลูกจะมีความสุขมากขึ้นและเรียนได้ดีขึ้น
ขอคุณลองถามตัวเองว่า ‘ฉันอยากให้ชีวิตฉันเป็นยังไง? ฉันอยากให้ครอบครัวของฉันเป็นยังไง?’ ถ้าคุณอยากมีความสุขมากขึ้นและมีชีวิตที่มีความหมาย ขอให้จัดลำดับความสำคัญโดยทำตามคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิล