เงินและการเรียนสูงช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้จริง ๆ ไหม?
หลายคนคิดว่าคนที่รวยหรือเรียนสูง ๆ จะมีอนาคตที่ดี พวกเขาเชื่อว่าคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยจะช่วยครอบครัวได้เยอะ จะเป็นพนักงานที่ดีของบริษัท และจะช่วยสังคมให้ดีขึ้น พวกเขาอาจคิดว่าถ้าได้เรียนสูง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง พอจบออกมาก็จะได้งานที่เงินเดือนดีกว่า และถ้ามีเงินเยอะเขาก็จะมีความสุข
สิ่งที่หลายคนเลือก
จางเฉินจากจีนบอกว่า “ผมเชื่อว่าถ้าผมได้ไปมหาวิทยาลัย ได้ปริญญามาซักใบ ผมก็จะมีโอกาสได้ทำงานดี ๆ ที่เงินเดือนเยอะ แล้วชีวิตผมก็จะมีความสุขไม่ต้องจนแบบนี้อีกต่อไป”
หลายคนยังเชื่อด้วยว่าถ้ายิ่งได้ไปเรียนต่อต่างประเทศในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง พวกเขาก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น ก่อนโควิด-19 จะระบาดคนเลยไปเรียนต่อต่างประเทศมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รายงานจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปี 2012 บอกว่า “ในจำนวนคนที่ไปเรียนต่างประเทศมีถึง 52 เปอร์เซ็นต์มาจากทวีปเอเชีย”
เพื่อจะส่งลูกไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ พ่อแม่ต้องเสียสละหลายอย่าง ฉีเซียงจากไต้หวันเล่าว่า “ครอบครัวผมไม่ได้รวยอะไร แต่พ่อแม่ก็ส่งพวกเราสี่พี่น้องไปเรียนที่อเมริกา” การทำอย่างนี้ต้องใช้เงินมาก พ่อแม่ของเขาเลยเป็นหนี้ก้อนโตเหมือนกับอีกหลายครอบครัว
ผลเป็นยังไง?
การศึกษาอาจช่วยให้ชีวิตดีขึ้นในบางด้าน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ทุกคนได้สิ่งที่ต้องการเสมอไป เช่น หลังจากเป็นหนี้และลำบากมาหลายปี หลายคนก็ยังหางานที่ตัวเองต้องการไม่ได้ บทความที่เขียนโดยราเชล มุย ซึ่งลงในหนังสือพิมพ์ Business Times ของสิงคโปร์ บอกว่า “ดูเหมือนว่าบัณฑิตจบใหม่ตกงานมากขึ้นเรื่อย ๆ” เจียนเจี้ยในไต้หวันที่เรียนจบปริญญาเอกบอกว่า “หลายคนไม่มีทางเลือกและต้องยอมทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา”
ถึงบางคนจะได้งานตรงกับสาขาที่ตัวเองเรียนมา แต่ชีวิตก็ไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาหวังไว้ ตัวอย่างเช่น นิรันดร์จากประเทศไทยเคยไปเรียนที่อังกฤษ พอเรียนจบเขาก็กลับมาและได้งานตรงกับสาขาที่เรียน เขาบอกว่า “ถึงผมจะได้งานดีได้เงินเดือนเยอะแต่ผมก็ต้องทำงานหนักด้วย ในที่สุดตอนที่บริษัทต้องปรับลดพนักงาน ผมก็เป็นคนนึงที่ถูกขอให้ออก ผมเห็นแล้วว่าไม่มีงานไหนที่มั่นคงจริง ๆ”
แม้แต่คนที่ฐานะดีและมีชีวิตที่สะดวกสบายก็ยังต้องเจอปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ และพิษเศรษฐกิจด้วย คัตสึโทชิจากญี่ปุ่นบอกว่า “ผมหาเงินได้เยอะ แต่ในที่ทำงานก็ต้องเจอกับการแข่งขันสูง ความอิจฉาและการกลั่นแกล้ง” ส่วนแลมที่อยู่ในเวียดนามบอกว่า “ฉันสังเกตว่าหลายคนพยายามหางานที่รายได้ดีเพราะคิดว่าจะทำให้ชีวิตมั่นคง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะพวกเขาต้องเจอปัญหาสุขภาพ ความเครียด และถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าด้วยซ้ำ”
หลายคนรู้สึกเหมือนแฟรงคลินว่าชีวิตไม่ได้มีแค่การเรียนสูง ๆ หรือมีเงินเยอะ พวกเขาเลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการหาเงิน แต่พยายามเป็นคนดีและทำดีกับคนอื่น ๆ เพราะคิดว่าถ้าทำแบบนี้อนาคตของพวกเขาก็จะดี แต่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไหม? บทความถัดไปจะให้คำตอบ