บทความศึกษา 28
มั่นใจว่าสิ่งที่คุณเชื่อเป็นความจริง
“ให้ทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้จนมั่นใจแล้วต่อ ๆ ไป”—2 ทธ. 3:14
เพลง 56 เลือกเองว่าจะเดินในทางของความจริง
ใจความสำคัญ *
1. คำว่า “ความจริง” ที่เราพูดกันหมายถึงอะไร?
“คุณรู้จักความจริงยังไง?” “คุณโตในความจริงไหม?” “คุณอยู่ในความจริงมากี่ปีแล้ว?” คุณอาจเคยถามคนอื่นแบบนี้ หรือบางทีคนอื่นก็อาจถามคุณแบบนี้เหมือนกัน แต่คำว่า “ความจริง” ที่เราพูดกันนี้หมายถึงอะไร? ปกติแล้วพอพูดถึงคำนี้เราก็มักจะหมายถึงความเชื่อ การนมัสการ และการใช้ชีวิตของเรา คนที่อยู่ “ในความจริง” รู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไร แล้วเขาก็ใช้ชีวิตตามคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล นี่ทำให้เขาไม่เชื่อคำสอนของศาสนาเท็จ และมีชีวิตที่มีความสุขเท่าที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบจะมีได้ในตอนนี้—ยน. 8:32
2. จากยอห์น 13:34, 35 อะไรอาจทำให้คนเราสนใจความจริง?
2 อะไรทำให้คุณสนใจความจริง? อาจจะเป็นความประพฤติที่ดีของพยานฯ หรือคุณอาจจะประทับใจความรักของพวกเขา (1 ปต. 2:12) หลายคนที่มาการประชุมครั้งแรกอาจจะจำไม่ได้ว่าการประชุมพูดเรื่องอะไรบ้าง แต่พวกเขาประทับใจไม่ลืมเลยว่าพยานฯ รักกันมากขนาดไหน นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพระเยซูบอกว่าความรักที่พวกเขามีให้กันแสดงว่าพวกเขาเป็นสาวกแท้ของท่าน (อ่านยอห์น 13:34, 35) แต่ถ้าเราจะมีความเชื่อที่เข้มแข็ง เราต้องมีอะไรมากกว่านั้น
3. อาจเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณเชื่อพระเจ้าเพราะคุณประทับใจความรักระหว่างพี่น้องเท่านั้น?
3 ความเชื่อของเราไม่ควรมาจากการที่เราเห็นคนของพระเจ้ารักกันเท่านั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ลองคิดดูว่าถ้าพี่น้องที่เป็นผู้ดูแลหรือไพโอเนียร์ทำผิดร้ายแรง หรือมีพี่น้องบางคนมาทำให้คุณเสียใจ หรือคนที่ทรยศพระเจ้าบอกว่าสิ่งที่คุณเชื่อไม่เป็นความจริง ถ้าคุณเชื่อพระเจ้าเพราะประทับใจความรักในระหว่างพี่น้องเท่านั้น เป็นไปได้ไหมที่คุณจะเลิกรับใช้พระองค์? รม. 12:2
จุดสำคัญก็คือ ความเชื่อที่เข้มแข็งขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่คุณมีต่อพระยะโฮวา ถ้าคุณเชื่อพระเจ้าแค่เพราะสิ่งที่คนอื่นทำไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์ที่คุณมีกับพระองค์ ความเชื่อของคุณก็จะไม่เข้มแข็ง ถ้าคุณสร้างบ้าน คุณคงเลือกใช้วัสดุที่แข็งแรงทนทานใช่ไหม? เหมือนกันกับการสร้างความเชื่อ คุณคงไม่สร้างความเชื่อจากอารมณ์ความรู้สึกที่เหมือนกับวัสดุที่เปราะบางเท่านั้น แต่คุณจะสร้างความเชื่อจากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่เป็นเหมือนกับวัสดุที่แข็งแรงทนทานด้วย คุณต้องตรวจดูให้แน่ใจว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนความจริงเกี่ยวกับพระยะโฮวา—4. จากมัทธิว 13:3-6, 20, 21 บางคนเป็นอย่างไรเมื่อความเชื่อของเขาถูกทดสอบ?
4 พระเยซูบอกว่า บางคนรับความจริงเพราะ “ชอบ” หรือเพราะรู้สึกมีความสุข แต่พอเขาเจอการทดสอบ ความเชื่อของเขาก็ลดน้อยลง (อ่านมัทธิว 13:3-6, 20, 21) ทำไมบางคนถึงเป็นแบบนั้น? บางทีเขาอาจไม่ได้คิดว่าต้องเจอความลำบากเพราะติดตามพระเยซู (มธ. 16:24) หรือบางทีเขาอาจคิดว่าคนที่เป็นคริสเตียนจะได้พรจากพระเจ้าและไม่ต้องเจอปัญหาอะไรเลย แต่จริง ๆ แล้วในโลกทุกวันนี้ ยังไง ๆ เราก็ต้องเจอปัญหาแน่ ๆ ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และนั่นอาจทำให้ความสุขของเราลดน้อยลงได้—สด. 6:6; ปญจ. 9:11
5. อะไรแสดงว่าพี่น้องของเราส่วนใหญ่มั่นใจว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อเป็นความจริง?
5 พี่น้องส่วนใหญ่มั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อเป็นความจริง เรารู้ได้อย่างไร? ถึงจะมีใครทำผิดหรือทำให้พวกเขาเสียใจ พวกเขาก็ยังมั่นใจในสิ่งที่เชื่อไม่เปลี่ยนแปลง (สด. 119:165) ไม่ใช่แค่นั้น ทุกครั้งที่พวกเขาเจอปัญหาและการทดสอบ ความเชื่อของพวกเขาก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น (ยก. 1:2-4) คุณจะมีความเชื่อแบบนั้นได้อย่างไร?
“มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้า”
6. ความเชื่อของสาวกในศตวรรษแรกมาจากอะไร?
6 สาวกในศตวรรษแรกมีความเชื่อเพราะพวกเขามีความรู้ในพระคัมภีร์และคำสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็น “ความจริงที่ได้เรียนจากข่าวดี” (กท. 2:5) ความจริงนี้ก็คือคำสอนทุกอย่างที่คริสเตียนเชื่อซึ่งรวมถึงเรื่องค่าไถ่และการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซู อัครสาวกเปาโลมั่นใจว่าคำสอนเหล่านี้เป็นความจริง เรารู้ได้อย่างไร? เพราะเขา “ใช้ข้อคัมภีร์หลายข้อเพื่อพิสูจน์ว่าพระคริสต์ต้องทนทุกข์และฟื้นขึ้นจากตาย” (กจ. 17:2, 3) สาวกในศตวรรษแรกเต็มใจยอมรับคำสอนเหล่านี้และพวกเขาพึ่งพลังบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้เข้าใจพระคัมภีร์ และพวกเขาศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองเพื่อจะพิสูจน์ว่าคำสอนเหล่านี้มาจากพระคัมภีร์จริง ๆ (กจ. 17:11, 12; ฮบ. 5:14) ความเชื่อของพวกเขาไม่ได้มาจากอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น และพวกเขาไม่ได้รับใช้พระยะโฮวาแค่เพราะรู้สึกดีตอนที่ได้อยู่กับพี่น้อง แต่พวกเขามีความเชื่อเพราะมี “ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้า”—คส. 1:9, 10
7. ความเชื่อที่มาจากความจริงในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเราอย่างไร?
7 ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลไม่มีวันเปลี่ยนแปลง (สด. 119:160) ตัวอย่างเช่น ถึงจะมีพี่น้องบางคนทำผิดร้ายแรงหรือทำให้เราเสียใจ หรือเราอาจจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราต้องรู้คำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างดีและมั่นใจว่าคำสอนนั้นเป็นความจริง เหมือนกับสมอเรือที่ช่วยเรือไว้ตอนที่เจอพายุโหมกระหน่ำ ความเชื่อที่เข้มแข็ง ซึ่งมาจากความจริงในคัมภีร์ไบเบิลก็จะช่วยเราให้มั่นคงไม่หวั่นไหวเมื่อเจอการทดสอบ แต่คุณต้องทำอะไรเพื่อจะมั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่คุณเชื่อเป็นความจริง?
“มั่นใจ”
8. จาก 2 ทิโมธี 3:14, 15 อะไรทำให้ทิโมธีมั่นใจว่าสิ่งที่เขาเชื่อเป็นความจริง?
8 ทิโมธีมั่นใจว่าสิ่งที่เขาเชื่อเป็นความจริง อะไรช่วยให้เขามั่นใจแบบนั้น? (อ่าน 2 ทิโมธี 3:14, 15) แม่และยายของทิโมธีช่วยให้เขารู้จักคำสอนใน “พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” แต่ทิโมธีเองคงต้องใช้เวลาศึกษาคำสอนเหล่านี้ด้วย นี่ทำให้เขา “มั่นใจ” ว่าคำสอนเหล่านี้เป็นความจริง ต่อมาทั้งทิโมธี แม่ และยายของเขาก็ได้มารู้จักกับคริสเตียน เขาประทับใจความรักที่สาวกของพระเยซูมีให้กัน และนี่ทำให้เขาอยากคบหาและดูแลเอาใจใส่พี่น้องเหล่านี้ (ฟป. 2:19, 20) แต่ความเชื่อของเขาไม่ได้มาจากความรู้สึกที่เขามีต่อพี่น้อง ความเชื่อของเขามาจากคำสอนในพระคัมภีร์ที่เขามั่นใจว่าเป็นความจริง และนี่ทำให้เขาอยากสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น คุณก็เหมือนกัน คุณต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจนมั่นใจว่าคำสอนที่คุณเรียนเกี่ยวกับพระยะโฮวาเป็นความจริง
9. คำสอนพื้นฐาน 3 เรื่องอะไรที่คุณต้องศึกษาค้นคว้าจนมั่นใจ?
9 เพื่อจะมั่นใจว่าสิ่งที่คุณเชื่อเป็นความจริง คุณต้องศึกษาค้นคว้าคำสอนพื้นฐาน 3 เรื่องต่อไปนี้ (1) คุณต้องมั่นใจว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้สร้างทุกสิ่ง (อพย. 3:14, 15; ฮบ. 3:4; วว. 4:11) (2) คุณต้องมั่นใจว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่พระเจ้าดลใจให้เขียนขึ้นมาเพื่อมนุษย์ทุกคน (2 ทธ. 3:16, 17) (3) คุณต้องมั่นใจว่าพยานพระยะโฮวาเป็นกลุ่มคนของพระยะโฮวาที่กำลังนมัสการพระองค์โดยได้รับการชี้นำจากพระเยซู (อสย. 43:10-12; ยน. 14:6; กจ. 15:14) เพื่อคุณจะมั่นใจว่าคำสอน 3 เรื่องนี้เป็นความจริง คุณไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องคัมภีร์ไบเบิลทุกอย่างจนเป็นเหมือนห้องสมุดเดินได้ เป้าหมายในการศึกษาค้นคว้าของคุณน่าจะเป็นการ ใช้ “ความสามารถในการคิดหาเหตุผล” เพื่อจะมั่นใจว่าสิ่งที่คุณเชื่อเป็นความจริง—รม. 12:1
พร้อมช่วยคนอื่นให้มั่นใจ
10. นอกจากรู้ความจริงแล้ว เราต้องทำอะไรด้วย?
10 หลังจากที่คุณมั่นใจในคำสอนพื้นฐานเรื่องพระเจ้า คัมภีร์ไบเบิล และคนของพระเจ้าแล้ว คุณก็ต้องพร้อมที่จะใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นความจริงด้วย ทำไม? เพราะเราเป็นคริสเตียน เราเลยมีหน้าที่สอนความจริงให้กับคนที่อยากจะฟังเรา * (1 ทธ. 4:16) และเมื่อเราพยายามช่วยคนอื่นให้มั่นใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิล เราก็จะยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่เราเชื่อเป็นความจริง
11. เปาโลทำอย่างไรตอนที่เขาสอนคนอื่น? และเราจะเลียนแบบเขาได้อย่างไร?
11 ตอนที่อัครสาวกเปาโลสอนคนอื่น เขาจะ “พูดโน้มน้าวให้พวกเขาเชื่อเรื่องพระเยซูโดยอ้างจากกฎหมายของโมเสสและจากหนังสือของพวกผู้พยากรณ์” (กจ. 28:23) ตอนที่เราสอนความจริงให้กับคนอื่น เราจะเลียนแบบเปาโลได้อย่างไร? แค่เราสอนให้นักศึกษารู้เรื่องในคัมภีร์ไบเบิลยังไม่พอ เพื่อเขาจะสนิทกับพระยะโฮวาได้เราต้องสอนเขาให้รู้จักคิดหาเหตุผลเป็น เราอยากให้เขายอมรับความจริงในคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่เพราะเขาชอบเราแต่เพราะเขาศึกษาจนมั่นใจว่าสิ่งที่เขาเรียนเกี่ยวกับพระเจ้าเป็นความจริง
12-13. พ่อแม่จะช่วยลูกอย่างไรไม่ให้ออกจากความจริง?
12 คนที่เป็นพ่อแม่คงไม่มีใครอยากให้ลูกออกจากความจริง คุณอาจจะคิดว่าถ้าลูกมีเพื่อนดี ๆ ในประชาคมก็จะช่วยให้เขาก้าวหน้าและไม่ออกจากความจริง แต่แค่นั้นยังไม่พอ สิ่งสำคัญก็คือเขาต้องสนิทกับพระเจ้าและมั่นใจว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนเป็นความจริง
13 พ่อแม่ต้องสอนความจริงเรื่องพระเจ้าให้กับลูก เพื่อจะทำแบบนั้น พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเห็นว่าเขาเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ดี และเขาต้องคิดใคร่ครวญสิ่งที่เขาได้เรียน เมื่อเขาทำแบบนั้นเขาก็จะสอนลูกให้ทำแบบเดียวกันได้ เหมือนกับที่เขาสอนนักศึกษาให้รู้จักวิธีค้นคว้า เขาก็ต้องสอนลูกให้รู้จักวิธีใช้หนังสือ วีดีโอ และเครื่องมือต่าง ๆ เช่น คู่มือค้นคว้า ห้องสมุดออนไลน์ของวอชเทาเวอร์ แอป JW Library® พอทำอย่างนี้พ่อแม่ก็จะช่วยลูกให้รักพระยะโฮวาและมั่นใจว่าพระองค์ใช้ “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” เพื่อช่วยเราให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิล (มธ. 24:45-47) คนที่เป็นพ่อแม่ แค่คุณสอนคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลให้ลูกยังไม่พอ คุณต้องช่วยเขาให้มีความเชื่อที่เข้มแข็งโดยสอนเขาให้ เข้าใจ “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” ตามความสามารถและอายุของลูกแต่ละคน—1 คร. 2:10
ศึกษาคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล
14. ทำไมเราควรศึกษาคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล? (ดูกรอบ “ คุณอธิบายคำพยากรณ์เหล่านี้ได้ไหม?” ด้วย)
14 ส่วนหนึ่งที่สำคัญในคัมภีร์ไบเบิลก็คือคำพยากรณ์ คำพยากรณ์ต่าง ๆ ช่วยให้เรามีความเชื่อมากขึ้นในพระยะโฮวา คำพยากรณ์เรื่องไหนที่ทำให้คุณมีความเชื่อมากขึ้น? คุณอาจนึกถึงคำพยากรณ์เรื่อง “สมัยสุดท้าย” (2 ทธ. 3:1-5; มธ. 24:3, 7) แต่มีคำพยากรณ์เรื่องไหนอีกไหม? ตัวอย่างเช่น คุณอธิบายได้ไหมว่าคำพยากรณ์ในดาเนียลบท 2 และบท 11 เกิดขึ้นแล้วอย่างไรและกำลังเกิดขึ้นจริงในตอนนี้อย่างไร? * ถ้าความเชื่อของคุณมาจากความมั่นใจว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเป็นความจริงก็จะไม่มีอะไรมาทำลายความเชื่อของคุณได้ ให้เรามาดูตัวอย่างของพี่น้องเยอรมันที่ต้องเจอกับการกดขี่ข่มเหงอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงพวกเขาไม่สามารถเข้าใจคำพยากรณ์เรื่องสมัยสุดท้ายได้อย่างเต็มที่ แต่พวกเขาก็มีความเชื่อที่เข้มแข็งเพราะสิ่งที่พวกเขาเรียนในคัมภีร์ไบเบิล
15-17. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลช่วยพี่น้องของเราอย่างไรเมื่อถูกนาซีข่มเหง?
15 ตอนที่นาซีปกครองเยอรมนี พี่น้องของเราหลายพันคนถูกส่งไปที่ค่ายกักกัน ฮิตเลอร์กับไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์หัวหน้าหน่วยเอสเอสเกลียดพยานพระยะโฮวามาก พี่น้องหญิงคนหนึ่งเล่าว่าไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์เคยพูดกับพี่น้องหญิงกลุ่มหนึ่งในค่ายกักกันว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของพวกแกอาจจะปกครองในสวรรค์ แต่คนที่ปกครองโลกนี้คือพวกเรา เดี๋ยวแกก็จะรู้ว่าใครอยู่ได้นานกว่ากัน พวกเราหรือพวกแก!” อะไรช่วยคนของพระยะโฮวายังรักษาความซื่อสัตย์ไว้ได้?
16 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลรู้ว่ารัฐบาลของพระเจ้าปกครองแล้วตั้งแต่ปี 1914 พวกเขาเลยไม่แปลกใจที่ต้องเจอกับการข่มเหงหนักขนาดนี้ พวกเขามั่นใจว่าไม่มี
รัฐบาลไหนของมนุษย์ที่จะมาขัดขวางความตั้งใจของพระเจ้าได้ ฮิตเลอร์ต้องการตั้งรัฐบาลหนึ่งขึ้นมาเพื่อจะกำจัดการนมัสการแท้และล้มรัฐบาลของพระเจ้า แต่เขาไม่มีทางทำอย่างนั้นได้ คนของพระเจ้ารู้เรื่องนี้ดี พวกเขามั่นใจว่าไม่ว่าจะอย่างไรการปกครองของฮิตเลอร์ต้องถึงจุดจบอย่างแน่นอน17 แล้วสิ่งที่พี่น้องเชื่อมั่นมาตลอดก็เกิดขึ้นจริง ไม่นานการปกครองของนาซีก็ล่มสลาย และไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์ชายที่บอกว่า “คนที่ปกครองโลกนี้คือพวกเรา” ก็ต้องมาหนีตาย ตอนที่เขากำลังหนีอยู่ เขาก็มาเจอพี่น้องลุบเคซึ่งเคยเป็นนักโทษมาก่อน เขาจำได้ว่าคนนี้เป็นพยานพระยะโฮวา เขาก็เลยถามด้วยความอัปยศอดสูว่า “นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล บอกหน่อยได้ไหมว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป?” หลังจากนั้นพี่น้องลุบเคอธิบายว่าพยานพระยะโฮวารู้มาตั้งนานแล้วว่าการปกครองของนาซีจะล่มสลายและพยานพระยะโฮวาจะถูกปล่อย ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์คนที่เมื่อก่อนพูดอะไรไว้เยอะเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาตอนนี้กลับพูดอะไรไม่ออก และไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ฆ่าตัวตาย เรื่องนี้สอนอะไรเรา? การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและคำพยากรณ์จะทำให้เรามั่นใจและมีความเชื่อเข้มแข็งในพระเจ้าเมื่อเจอการทดสอบหรือการกดขี่ข่มเหง—2 ปต. 1:19-21
18. จากยอห์น 6:67, 68 ทำไมเราต้องมี “ความรู้ที่ถูกต้องและความเข้าใจที่ลึกซึ้ง” เหมือนที่บอกในฟีลิปปี 1:9?
18 ถ้าเราอยากพิสูจน์ว่าเราเป็นคริสเตียนแท้ เราต้องแสดงความรัก แต่เราก็ต้องมี “ความรู้ที่ถูกต้องและความเข้าใจลึกซึ้ง” ด้วย (ฟป. 1:9) ถ้าไม่อย่างนั้น เราอาจจะ “คล้อยตามคำสอนผิด ๆ และอุบายล่อลวงของมนุษย์” ซึ่งอาจจะมาจากคนที่ทรยศพระเจ้าด้วย (อฟ. 4:14) ถึงจะมีสาวกหลายคนที่เลิกติดตามพระเยซู แต่อัครสาวกเปโตรก็ยังพูดด้วยความมั่นใจว่าพระเยซูมี “คำสอนที่ให้ชีวิตตลอดไป” (อ่านยอห์น 6:67, 68) ถึงตอนนั้นเปโตรไม่ได้เข้าใจคำสอนของพระเยซูทุกอย่าง แต่เขาก็ยังภักดีและไม่ทิ้งท่านเพราะเขามั่นใจว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์ คุณก็เหมือนกัน คุณก็สามารถทำบางอย่างเพื่อจะมั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนเป็นความจริง ถ้าคุณทำอย่างนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณก็จะมีความเชื่อที่เข้มแข็งและคุณจะช่วยคนอื่นให้มีความเชื่อที่เข้มแข็งได้เหมือนกัน—2 ยน. 1, 2
เพลง 72 ทำให้ความจริงเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าเป็นที่รู้จัก
^ วรรค 5 บทความนี้จะช่วยให้เราเห็นว่าความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเป็นสิ่งสำคัญมาก และเราจะคุยกันด้วยว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะมั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่เราเชื่อเป็นความจริง
^ วรรค 10 เพื่อจะช่วยคนอื่นให้เห็นว่าทำไมคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลถึงเป็นความจริง ให้ดูบทความชุดที่ชื่อว่า “การสนทนากับเพื่อนบ้าน” ซึ่งอยู่ในหอสังเกตการณ์ ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2015 ในบทความชุดนี้มีหลายหัวเรื่อง เช่น “พระเยซูเป็นพระเจ้าไหม?” “ราชอาณาจักรของพระเจ้าเริ่มปกครองเมื่อไร?” “พระเจ้าทรงลงโทษมนุษย์ในไฟนรกไหม?”
^ วรรค 14 ดูข้อมูลเกี่ยวกับคำพยากรณ์เหล่านี้ที่หอสังเกตการณ์ 15 มิถุนายน 2012 และพฤษภาคม 2020