คำถามจากผู้อ่าน
ใครคือ “ผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคม” ที่พระเยซูพูดถึงในคืนสุดท้ายที่ท่านมีชีวิตอยู่? และทำไมมีการให้ตำแหน่งนี้กับพวกเขา?
ในคืนสุดท้ายที่พระเยซูมีชีวิตอยู่ ท่านสอนพวกอัครสาวกว่าอย่าไปอยากได้ตำแหน่งสูงหรือมีชื่อเสียง ท่านบอกพวกเขาว่า “กษัตริย์ในโลกนี้ชอบทำตัวเป็นนายเหนือประชาชน และคนที่มีอำนาจเหนือคนอื่นก็อยากให้คนมองเขาว่าเป็นผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคม พวกคุณต้องไม่เป็นอย่างนั้น”—ลูกา 22:25, 26
ใครคือ “ผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคม” ที่พระเยซูพูดถึง? ในข้อความจารึกตามที่ต่าง ๆ บนเหรียญ และในเอกสารโบราณทำให้เรารู้ว่าชาวกรีกและชาวโรมันมีธรรมเนียมที่จะยกตำแหน่งยูเออร์เจเตส หรือ “ผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคม” ให้กับคนที่มีชื่อเสียงและผู้ปกครองเพื่อยกย่องคนเหล่านั้น เพราะพวกเขาทำสิ่งดี ๆ บางอย่างให้สังคม
มีกษัตริย์หลายคนที่ได้ตำแหน่ง “ผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคม” กษัตริย์อียิปต์ที่มีตำแหน่งนี้คือ ปโตเลมีที่สาม ยูเออร์เจเตส (ปกครองประมาณปี 247-222 ก่อน ค.ศ.) และปโตเลมีที่แปด ยูเออร์เจเตสที่สอง (ปกครองประมาณปี 147-117 ก่อน ค.ศ.) ส่วนผู้ปกครองของโรมที่มีตำแหน่งนี้ก็คือจูเลียส ซีซาร์ (ปกครองปี 48-44 ก่อน ค.ศ.) เอากุสตุส (ปกครองปี 31 ก่อน ค.ศ.–14 ค.ศ.) แม้แต่เฮโรดมหาราช กษัตริย์แคว้นยูเดียก็ได้ตำแหน่งนี้ด้วย ในกรณีของเฮโรด เขาได้ตำแหน่งนี้เพราะในช่วงที่มีการขาดแคลนอาหาร เขานำเข้าข้าวสาลีจากประเทศอื่นมาให้ผู้คนและแจกจ่ายเสื้อผ้าให้กับคนยากจน
ตามที่นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลชาวเยอรมันที่ชื่ออะดอล์ฟ ไดส์มานน์บอกไว้ ตำแหน่งผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคมมีการใช้กันแพร่หลายมาก เขาบอกว่า “การมองหาตำแหน่งนี้ในคำจารึกต่าง ๆ มันไม่ยากเลย ใช้เวลารวบรวมแค่ไม่นานก็เจอเป็นร้อย”
ดังนั้น พระเยซูหมายความว่าอย่างไรเมื่อท่านบอกสาวกว่า “พวกคุณต้องไม่เป็นอย่างนั้น”? พระเยซูหมายความว่าท่านไม่อยากให้พวกสาวกมีจิตสาธารณะและไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไรไหม? ไม่เลย ดูเหมือนว่าสิ่งที่พระเยซูเป็นห่วงก็คือเจตนาที่อยู่เบื้องหลังความมีใจกว้างนี้
ในสมัยพระเยซู คนรวยชอบสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองโดยเป็นผู้สนับสนุนการแสดงและการแข่งขันในสนามกีฬา สร้างสวนสาธารณะและศาสนสถาน หรือสนับสนุนกิจกรรมทำนองนั้น แต่จุดประสงค์ที่พวกเขาทำแบบนั้นก็เพื่อจะให้คนอื่นยกย่องสรรเสริญ สร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง หรือเพื่อประชาชนจะได้ลงคะแนนเสียงให้พวกเขา แหล่งอ้างอิงหนึ่งบอกว่า “แม้ผู้บริจาคบางคนอาจเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการมีน้ำใจเอื้อเฟื้อจริง ๆ แต่ผู้บริจาคส่วนใหญ่ทำแบบนั้นเพราะหวังผลทางการเมือง” ความคิดที่ทะเยอทะยานและเห็นแก่ตัวแบบนั้นแหละที่พระเยซูเตือนพวกสาวก
หลายปีต่อมา อัครสาวกเปาโลก็เน้นความจริงสำคัญนี้เกี่ยวกับการให้ด้วยเจตนาที่ถูกต้อง เขาเขียนถึงเพื่อนร่วมความเชื่อในเมืองโครินธ์ว่า “ให้แต่ละคนทำตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ใช่ฝืนใจทำหรือทำอย่างเสียไม่ได้ เพราะพระเจ้ารักคนที่มีความสุขกับการให้”—2 โครินธ์ 9:7