บทความศึกษา 19
ความรักและความยุติธรรมช่วยปกป้องให้พ้นจากความชั่วร้าย
“พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าที่ชอบความชั่ว คนชั่วจะอยู่กับพระองค์ไม่ได้”—สด. 5:4
เพลง 142 ยึดมั่นกับความหวัง
ใจความสำคัญ *
1-3. (ก) ตามที่บอกไว้ในสดุดี 5:4-6 พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรกับความชั่ว? (ข) ทำไมเราถึงบอกว่าการทำร้ายเด็กทางเพศเป็นเรื่องที่ผิด “กฎหมายของพระคริสต์”?
พระยะโฮวาพระเจ้าเกลียดความชั่วทุกอย่าง (อ่านสดุดี 5:4-6) พระองค์ยิ่งต้องเกลียดการทำร้ายเด็กทางเพศซึ่งเป็นอาชญากรรมที่เลวร้ายและน่าขยะแขยง เนื่องจากเราเป็นพยานพระยะโฮวา เราจึงเลียนแบบพระองค์และเกลียดการทำร้ายเด็กทางเพศด้วย ถ้ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประชาคม เราจะไม่ปิดหูปิดตา จะไม่ปกป้องคนทำผิด แต่จะจัดการกับเรื่องนี้ทันที—รม. 12:9; ฮบ. 12:15, 16
2 การทำร้ายเด็กทางเพศทุกรูปแบบเป็นเรื่องที่ผิด “กฎหมายของพระคริสต์” (กท. 6:2) ทำไมถึงบอกแบบนั้น? จากที่ได้เรียนในบทความก่อน กฎหมายของพระคริสต์คือทุกสิ่งที่พระเยซูสอนทั้งคำพูดและการกระทำ กฎหมายนี้มีพื้นฐานมาจากความรักและส่งเสริมความยุติธรรม คริสเตียนแท้อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ พวกเขาจึงปฏิบัติกับเด็กในแบบที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและได้รับความรักจริง ๆ แต่การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวและเป็นเรื่องที่ผิดมาก มันทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยและรู้สึกว่าไม่มีใครรัก
3 น่าเศร้าที่การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก และปัญหานี้ส่งผลกับคริสเตียนแท้ด้วย เพราะอะไร? เพราะ “คนชั่ว” มีมากขึ้นและบางคนอาจถึงกับพยายามเข้ามาเป็นสมาชิกของประชาคมเพื่อฉวยโอกาสทำสิ่งที่ไม่ดี (2 ทธ. 3:13) นอกจากนั้น ยังมีบางคนในประชาคมปล่อยตัวเองให้ทำตามความต้องการผิด ๆ และทำร้ายเด็กทางเพศ เราจะดูกันว่า ทำไมการทำร้ายเด็กทางเพศเป็นความผิดร้ายแรง แล้วจะคุยกันว่าผู้ดูแลควรทำอย่างไรเมื่อมีบางคนในประชาคมทำผิดร้ายแรงซึ่งรวมถึงการทำร้ายเด็กทางเพศ และพ่อแม่จะปกป้องลูกของตัวเองได้อย่างไร *
ความผิดร้ายแรง
4-5. การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นการทำผิดต่อเหยื่ออย่างไร?
4 การทำร้ายเด็กทางเพศส่งผลเสียหายนานหลายปี มันส่งผลกับเด็กที่เป็นเหยื่อและทุกคนที่รักเขา เช่น คนในครอบครัวและพี่น้องในประชาคม การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก
5 การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นการทำผิดต่อเหยื่อ * มันเป็นการทำผิดที่สร้างความเจ็บปวดและความทุกข์ให้กับคนอื่น และอย่างที่เราจะได้เห็นในบทความถัดไป คนที่ทำร้ายเด็กทางเพศได้ทำลายเด็กคนหนึ่งอย่างเลวร้ายที่สุด เขาทำลายความไว้ใจของเด็ก และทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเด็ก เราต้องปกป้องเด็ก ๆ ไม่ให้เจอเรื่องชั่วร้ายแบบนี้ และคนที่เคยตกเป็นเหยื่อต้องได้รับการปลอบโยนและความช่วยเหลือ—1 ธส. 5:14
6-7. การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นการทำผิดต่อประชาคมคริสเตียนและทำผิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างไร?
6 การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นการทำผิดต่อประชาคมคริสเตียน ถ้าคนหนึ่งในประชาคมมีความผิดฐานทำร้ายเด็กทางเพศ นั่นทำให้ประชาคมคริสเตียนเสียชื่อเสียง (มธ. 5:16; 1 ปต. 2:12) มันไม่ยุติธรรมเลยสักนิดกับพี่น้องที่ซื่อสัตย์หลายล้านคนซึ่งกำลัง “ต่อสู้อย่างหนัก” เพื่อทำให้พระยะโฮวาได้รับการยกย่องสรรเสริญ (ยด. 3) เราไม่ยอมให้คนทำชั่วแบบนี้ซึ่งไม่กลับใจยังเป็นสมาชิกของประชาคม คนแบบนี้ทำให้ชื่อเสียงที่ดีของประชาคมเสียหาย
7 การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นการทำผิดกฎหมายบ้านเมือง คริสเตียนต้อง “เชื่อฟังคนที่มีอำนาจปกครอง” (รม. 13:1) เราเชื่อฟังคนที่มีอำนาจปกครองโดยทำตามกฎหมายของประเทศที่เราอยู่ ถ้ามีคนในประชาคมก่ออาชญากรรม เช่น ทำร้ายเด็กทางเพศ เขาก็ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง (เทียบกับกิจการ 25:8) แม้ผู้ดูแลไม่มีสิทธิ์ลงโทษตามกฎหมายกับคนที่ทำผิด แต่พวกเขาจะไม่ปกป้องคนที่ทำร้ายเด็กทางเพศไม่ให้รับโทษ (รม. 13:4) คนที่ทำผิดต้องเก็บเกี่ยวผลจากสิ่งที่เขาทำ—กท. 6:7
8. เมื่อมนุษย์ทำผิดต่อมนุษย์ด้วยกัน พระยะโฮวารู้สึกอย่างไร?
8 การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นการทำผิดต่อพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด (สด. 51:4) เมื่อคนหนึ่งทำผิดต่ออีกคนหนึ่ง เขาก็กำลังทำผิดต่อพระยะโฮวาด้วย ขอให้ดูตัวอย่างหนึ่งจากกฎหมายที่พระเจ้าให้กับชาวอิสราเอล กฎหมายนั้นบอกว่าถ้าคนหนึ่งขโมยหรือฉ้อโกงคนอื่น เขาก็ “ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา” (ลนต. 6:2-4) ดังนั้น ถ้าคนหนึ่งในประชาคมทำร้ายเด็กทางเพศซึ่งเป็นการทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเด็ก นั่นเท่ากับว่าเขาไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา เขากำลังทำลายชื่อเสียงของพระองค์อย่างมาก ดังนั้น เราต้องถือว่าการทำร้ายเด็กทางเพศเป็นการทำผิดที่น่ารังเกียจต่อพระเจ้า และเราต้องประณามการกระทำแบบนั้น
9. (ก) องค์การของพระยะโฮวาจัดเตรียมข้อมูลอะไรบ้างจากคัมภีร์ไบเบิลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา? (ข) ทำไมถึงมีการทบทวนเป็นระยะ ๆ เกี่ยวกับวิธีที่ประชาคมจะจัดการกับการทำร้ายเด็ก?
9 ตลอดหลายปีองค์การของพระยะโฮวามีข้อมูลที่อาศัยหลักการจากคัมภีร์ไบเบิลมากมายในเรื่องการทำร้ายเด็กทางเพศ เช่น หลายบทความในหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! มีคำแนะนำว่าคนที่เคยถูกทำร้ายทางเพศจะรับมือกับบาดแผลทางอารมณ์ได้อย่างไร คนอื่นจะช่วยและให้กำลังใจคนเหล่านั้นได้อย่างไร พ่อแม่จะปกป้องลูก ๆ ได้อย่างไร นอกจากนั้น องค์การของพระยะโฮวามีการอบรมและให้คำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลกับผู้ดูแลว่าควรทำอย่างไรกับคนที่ทำร้ายเด็กทางเพศ รวมทั้งยังทบทวนเป็นระยะ ๆ เกี่ยวกับวิธีที่ประชาคมจะจัดการกับการทำร้ายเด็กทางเพศ ทำไมถึงต้องทำแบบนี้? เพื่อทำให้แน่ใจว่าวิธีที่เราจัดการเรื่องนี้สอดคล้องกับกฎหมายของพระคริสต์
วิธีที่ผู้ดูแลจัดการกับการทำผิดร้ายแรง
10-12. (ก) เมื่อผู้ดูแลจัดการกับการทำผิดร้ายแรง พวกเขาต้องจำอะไรไว้? และพวกเขาควรสนใจเรื่องอะไรบ้าง? (ข) ตามที่บอกไว้ในยากอบ 5:14, 15 ผู้ดูแลพยายามทำอะไร?
10 เมื่อผู้ดูแลจัดการกับการทำผิดร้ายแรงไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม พวกเขาต้องจำไว้ว่ากฎหมายของพระคริสต์อยากให้พวกเขาเอาใจใส่ฝูงแกะด้วยความรัก รวมทั้งทำสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรมตามมาตรฐานของพระเจ้า ดังนั้น เมื่อผู้ดูแลได้รับรายงานว่ามีบางคนทำผิดร้ายแรง พวกเขาต้องคิดให้รอบคอบหลายเรื่อง สิ่งที่ผู้ดูแลต้องสนใจอันดับแรกคือการทำให้ชื่อของพระยะโฮวาได้รับการยกย่องสรรเสริญและปกป้องชื่อเสียงของพระองค์ (ลนต. 22:31, 32; มธ. 6:9) พวกเขายังต้องสนใจที่จะช่วยพี่น้องในประชาคมให้มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา และต้องช่วยพี่น้องที่ตกเป็นเหยื่อของการทำผิดร้ายแรงด้วย
11 นอกจากนั้น ถ้าผู้ทำผิดเป็นพี่น้องในประชาคม ผู้ดูแลต้องพยายามดูว่าคนที่ทำผิดร้ายแรงนั้นกลับใจจริง ๆ ไหม ถ้าเขากลับใจจริง ๆ ผู้ดูแลจะพยายามช่วยให้คนนั้นกลับมามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเหมือนเดิม (อ่านยากอบ 5:14, 15) คริสเตียนที่ทำผิดร้ายแรงเพราะปล่อยตัวเองให้ทำตามความต้องการผิด ๆ เป็นเหมือนคนป่วย นี่หมายความว่าสายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวามีปัญหา * ดังนั้น ผู้ดูแลจึงเป็นเหมือนหมอ พวกเขาจะพยายามทำให้ “คนป่วย [ในที่นี้คือคนทำผิด] หายดี” ผู้ดูแลจะให้คำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยคนนั้นกลับมามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเหมือนเดิม แต่เพื่อจะเป็นแบบนั้นได้ คนที่ทำผิดต้องกลับใจจริง ๆ—กจ. 3:19; 2 คร. 2:5-10
12 เห็นได้ชัดว่าผู้ดูแลมีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญมาก พวกเขารักพี่น้องในประชาคมเพราะพระเจ้ามอบหมายให้พวกเขาดูแลและปฏิบัติกับคนของพระองค์ด้วยความรักและความยุติธรรม (1 ปต. 5:1-3) พวกเขาอยากให้พี่น้องรู้สึกว่าประชาคมเป็นที่ที่ปลอดภัย ดังนั้น ถ้าพวกเขาได้รับรายงานเรื่องการทำผิดร้ายแรง เช่น การทำร้ายเด็กทางเพศ พวกเขาต้องจัดการกับปัญหานั้นทันที พวกเขาจะทำอย่างไร? ให้เรามาดูคำถามต้น ข้อ 13, 15 และ 17 ด้วยกัน
13-14. ผู้ดูแลต้องเชื่อฟังกฎหมายที่บอกให้แจ้งตำรวจเมื่อเด็กถูกทำร้ายทางเพศไหม? ขออธิบาย
13 ผู้ดูแลต้องเชื่อฟังกฎหมายที่บอกให้แจ้งตำรวจ เมื่อมีการทำร้ายเด็กทางเพศไหม? ใช่ ในประเทศที่มีกฎหมายนี้ ผู้ดูแลต้องทำตาม (รม. 13:1) กฎหมายนี้ไม่ขัดกับกฎหมายของพระเจ้า (กจ. 5:28, 29) ดังนั้น เมื่อผู้ดูแลได้ยินว่ามีการทำร้ายเด็กทางเพศ พวกเขาจะปรึกษากับสำนักงานสาขาทันทีเพื่อขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรเพื่อจะเชื่อฟังกฎหมายนี้
14 ผู้ดูแลจะบอกเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ พ่อแม่เด็ก และคนอื่นที่รู้เรื่องการทำร้ายเด็กทางเพศว่าพวกเขามีสิทธิ์แจ้งตำรวจ แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นพี่น้องในประชาคมและเรื่องนั้นรู้กันทั้งชุมชนล่ะ? พี่น้องที่แจ้งเรื่องการทำผิดควรรู้สึกว่าเขาทำให้พระยะโฮวาเสียชื่อเสียงไหม? ไม่เลย คนที่ทำผิดต่างหากคือคนที่ทำให้พระองค์เสียชื่อ
15-16. (ก) ตามที่บอกไว้ใน 1 ทิโมธี 5:19 ทำไมต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน ผู้ดูแลถึงจะตั้งคณะกรรมการตัดสินความได้? (ข) ผู้ดูแลจะทำอะไรเมื่อรู้ว่าคนหนึ่งในประชาคมทำร้ายเด็กทางเพศ?
15 ทำไมต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คนเพื่อผู้ดูแลจะพิสูจน์ว่ามีการทำผิดร้ายแรงจริง ๆ? เพราะนี่เป็นมาตรฐานเรื่องความยุติธรรมที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล เมื่อมีคนถูกกล่าวหาว่าทำผิดร้ายแรงและเขาบอกว่าไม่ได้ทำ ต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คนเพื่อยืนยันเรื่องที่เกิดขึ้น ผู้ดูแลถึงจะตั้งคณะกรรมการตัดสินความได้ (ฉธบ. 19:15; มธ. 18:16; อ่าน 1 ทิโมธี 5:19) นี่หมายความว่าเพื่อจะแจ้งตำรวจเรื่องการทำร้ายเด็กทางเพศต้องมีพยาน 2 คนก่อนไหม? ไม่ใช่ ไม่จำเป็นต้องมีพยาน 2 คนเมื่อผู้ดูแลหรือคนอื่นจะแจ้งตำรวจเรื่องการทำผิดกฎหมายบ้านเมือง
16 เมื่อผู้ดูแลรู้ว่ามีคนหนึ่งในประชาคมถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเด็กทางเพศ พวกเขาจะทำตามกฎหมายเกี่ยวกับการแจ้งความเรื่องการทำร้ายเด็ก แล้วจากนั้น พวกเขาจะตรวจสอบตามหลักคัมภีร์ไบเบิลเพื่อดูว่าจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการตัดสินความไหมโดยจะถามผู้ถูกกล่าวหาว่าทำจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเขาปฏิเสธ ผู้ดูแลจะถามคนอื่นที่รู้เรื่องนี้ ถ้ามีอย่างน้อย 2 คนคือคนที่กล่าวหาและพยานอีกคนหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทำร้ายเด็กคนนี้จริง หรือเคยทำร้ายเด็กคนอื่นมาก่อน ผู้ดูแลก็สามารถตั้งคณะกรรมการตัดสินความได้ * การมีพยานแค่คนเดียวไม่ได้หมายความว่าข้อกล่าวหาไม่เป็นความจริง ถึงไม่มีพยานอย่างน้อย 2 คนมายืนยันการทำผิด แต่ผู้ดูแลก็รู้ว่าผู้ถูกกล่าวหาคงทำบางอย่างที่เลวร้ายมาก ผู้ดูแลจะช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบและรู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น พวกเขาจะยังคงจับตาดูคนที่อาจทำร้ายเด็กทางเพศเพื่อปกป้องประชาคมให้พ้นจากอันตรายนี้—กจ. 20:28
17-18. หน้าที่ของคณะกรรมการตัดสินความคืออะไร?
17 หน้าที่ของคณะกรรมการตัดสินความคืออะไร? คำว่า “ตัดสินความ” ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะเป็นคนตัดสินว่าคนที่ทำร้ายเด็กทางเพศควรได้รับโทษตามกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่ ผู้ดูแลจะไม่เข้าแทรกแซง พวกเขาจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง (รม. 13:2-4; ทต. 3:1) แต่ผู้ดูแลจะตัดสินว่าคนที่ทำร้ายเด็กทางเพศสามารถอยู่ในประชาคมต่อไปได้ไหม
18 เมื่อผู้ดูแลทำหน้าที่ในคณะกรรมการตัดสินความ พวกเขาจะตัดสินเฉพาะเรื่องทางศาสนาเท่านั้น ผู้ดูแลจะใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อดูว่าคนที่ทำร้ายเด็กทางเพศกลับใจหรือไม่ ถ้าไม่กลับใจ เขาจะถูกตัดสัมพันธ์และจะมีการประกาศต่อประชาคมว่าคนนี้ไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวาอีกต่อไป (1 คร. 5:11-13) ถ้าคนที่ทำผิดกลับใจ เขาก็เป็นพี่น้องในประชาคมต่อไปได้ แต่ผู้ดูแลจะบอกเขาว่าเขาอาจไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ ในประชาคมหรืออาจไม่ได้เป็นผู้ดูแลและผู้ช่วยงานรับใช้นานหลายปีหรืออาจจะตลอดชีวิต และเนื่องจากผู้ดูแลเป็นห่วงความปลอดภัยของเด็ก ๆ พวกเขาอาจเตือนพ่อแม่คนอื่นเป็นการส่วนตัวว่าให้คอยสังเกตดูลูกของตัวเองเมื่อลูกอยู่ใกล้คนนั้น เมื่อผู้ดูแลเตือนพ่อแม่ พวกเขาต้องระวังที่จะไม่เปิดเผยว่าเด็กที่ถูกทำร้ายและครอบครัวของเขาเป็นใคร
วิธีปกป้องลูกของคุณ
19-22. พ่อแม่จะทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องลูก? (ดูภาพหน้าปก)
19 ใครมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องลูกเป็นอันดับแรก? พ่อแม่นั่นเอง * ลูกของคุณ “เป็นมรดกจากพระยะโฮวา” และเป็นของขวัญจากพระองค์ (สด. 127:3) พระยะโฮวามอบหมายหน้าที่ให้คุณปกป้องลูก มีอะไรบ้างที่คุณทำได้เพื่อปกป้องลูกจากการถูกทำร้ายทางเพศ?
20 อย่างแรก หาข้อมูลเกี่ยวกับการทำร้ายเด็กทางเพศ ให้ดูว่าคนแบบไหนทำร้ายเด็กทางเพศและพวกเขาใช้วิธีหลอกล่อแบบไหน ให้ระวังสถานการณ์หรือคนที่เป็นอันตราย (สภษ. 22:3; 24:3) จำไว้ว่าส่วนใหญ่แล้ว คนที่ทำร้ายเด็กทางเพศคือคนที่เด็กรู้จักและไว้ใจ
21 อย่างที่สอง พยายามสนิทกับลูก และทำให้ลูกรู้สึกว่าคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง (ฉธบ. 6:6, 7) นี่หมายถึงการเป็นผู้ฟังที่ดี (ยก. 1:19) จำไว้ว่าเด็กที่ถูกทำร้ายทางเพศส่วนใหญ่ไม่กล้าบอกใคร พวกเขาอาจกลัวว่าไม่มีใครเชื่อหรืออาจโดนคนที่ทำร้ายทางเพศขู่ว่าไม่ให้เอาเรื่องนี้ไปบอกคนอื่น ถ้าคุณรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก ให้ค่อย ๆ ถามลูก ไม่ว่าลูกจะพูดอะไรให้ตั้งใจฟังอย่างอดทน
22 อย่างที่สาม สอนลูก ให้สอนลูกเรื่องเพศอย่างที่เหมาะกับวัยของเขา สอนลูกว่าควรพูดอะไรและทำอย่างไรเมื่อมีบางคนพยายามแตะเนื้อต้องตัวลูกอย่างที่ไม่ควรทำ องค์การของพระยะโฮวามีข้อมูลหลายอย่างที่คุณสามารถใช้ได้เพื่อจะรู้วิธีปกป้องลูก (ดูกรอบ “ หาข้อมูลและสอนลูก”)
23. เราคิดอย่างไรกับการทำร้ายเด็กทางเพศ? บทความหน้าเราจะคุยกันเรื่องอะไร?
23 พวกเราพยานพระยะโฮวาถือว่าการทำร้ายเด็กทางเพศเป็นความผิดที่น่าขยะแขยงและเป็นอาชญากรรมที่ชั่วร้าย เนื่องจากเราอยู่ภายใต้กฎหมายของพระคริสต์ เราจะไม่ปกป้องคนที่ทำร้ายเด็กทางเพศ บทความหน้าจะดูว่า เราจะทำอะไรเพื่อช่วยคนที่เจ็บปวดเพราะเคยถูกทำร้ายทางเพศ
เพลง 103 ผู้ดูแลเป็นของขวัญจากพระเจ้า
^ วรรค 5 บทความนี้จะดูว่าเราจะปกป้องเด็ก ๆ จากการถูกทำร้ายทางเพศได้อย่างไร และเราจะได้เรียนว่าผู้ดูแลจะปกป้องประชาคมได้อย่างไร รวมทั้งพ่อแม่จะปกป้องลูกของตัวเองได้อย่างไร
^ วรรค 3 อธิบายคำศัพท์ การทำร้ายเด็กทางเพศ คือการที่ผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงใช้เด็กเพื่อสนองความต้องการทางเพศของตัวเอง นี่รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ การร่วมเพศทางปากหรือทางทวารหนัก การลูบคลำอวัยวะเพศ หน้าอก หรือก้นเด็ก และการทำผิดศีลธรรมแบบอื่น ๆ แม้ส่วนใหญ่เหยื่อจะเป็นเด็กผู้หญิง แต่เด็กผู้ชายหลายคนก็ถูกทำร้ายทางเพศด้วย และแม้คนที่ทำร้ายส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่ผู้หญิงบางคนก็ทำร้ายเด็กทางเพศด้วย
^ วรรค 5 อธิบายคำศัพท์ ในบทความนี้และบทความหน้า คำว่า “เหยื่อ” หมายถึงคนที่เคยถูกทำร้ายทางเพศตอนเป็นเด็ก เราใช้คำนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ เขารู้สึกเจ็บปวดและถูกฉวยโอกาส
^ วรรค 11 ถ้าคนหนึ่งทำผิดร้ายแรงเพราะสายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวามีปัญหา มันไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เขาทำ เขาต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา และพระยะโฮวาจะพิพากษาเขาจากสิ่งที่เขาทำ—รม. 14:12
^ วรรค 16 ผู้ดูแลจะไม่ขอให้เด็กพูดเรื่องนั้นต่อหน้าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเด็กทางเพศ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นที่เด็กไว้ใจและเต็มใจพูดอาจเล่าให้ผู้ดูแลฟังว่าเด็กบอกอะไร การทำแบบนี้จะทำให้เด็กไม่รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นไปอีก
^ วรรค 19 แม้ข้อมูลต่อไปนี้จัดเตรียมขึ้นสำหรับพ่อแม่ แต่ก็ใช้ได้กับผู้ที่ดูแลเด็กตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเด็กแทนพ่อแม่ด้วย