บทความศึกษา 4
พระยะโฮวาอวยพรที่เราพยายามเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์
“ให้ทำอย่างนี้ต่อ ๆ ไปเพื่อระลึกถึงผม”—ลก. 22:19
เพลง 19 อาหารมื้อเย็นของพระคริสต์
ใจความสำคัญ a
1-2. ทำไมเราไปประชุมอนุสรณ์ทุกปี?
เกือบ 2,000 ปีมาแล้ว พระเยซูสละชีวิตของท่านเพื่อพวกเราจะมีโอกาสที่จะได้ชีวิตตลอดไป ในคืนสุดท้ายที่พระเยซูมีชีวิตอยู่ ท่านได้สั่งพวกสาวกให้คิดถึงการเสียสละของท่านโดยใช้วิธีง่าย ๆ ที่มีแค่ขนมปังและเหล้าองุ่น—1 คร. 11:23-26
2 เราเชื่อฟังคำสั่งของพระเยซูเพราะว่าเรารักท่านมาก (ยน. 14:15) ทุกปีในช่วงการประชุมอนุสรณ์ เราจะแสดงว่าเราขอบคุณท่านโดยอธิษฐานและคิดใคร่ครวญว่าการตายของท่านมีความหมายกับเรายังไงบ้าง นอกจากนั้น เราอยากจะรับใช้มากขึ้นและชวนคนมากที่สุดให้เข้ามาร่วมการประชุมอนุสรณ์ และที่สำคัญ ตัวเราเองตั้งใจที่จะไม่ให้อะไรมาทำให้เราไม่ได้เข้าร่วมการประชุมนี้
3. เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
3 คนของพระยะโฮวาพยายามทำ 3 อย่างเพื่อจะคิดถึงการตายของพระเยซู (1) พวกเขาทำแบบเดียวกับที่พระเยซูทำ (2) พวกเขาชวนคนอื่นให้มาประชุมอนุสรณ์ (3) พวกเขาเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ถึงแม้จะเจออุปสรรค ให้เรามาดูด้วยกันในบทความนี้
ทำแบบเดียวกับที่พระเยซูทำ
4. การประชุมอนุสรณ์ช่วยให้เราได้คำตอบเรื่องอะไรบ้าง? และทำไมเราควรเห็นความสำคัญของความจริงเหล่านี้? (ลูกา 22:19, 20)
4 ทุกปีในวันประชุมอนุสรณ์ เราจะได้ฟังคำบรรยายที่ให้คำตอบที่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น เราได้เรียนรู้ว่าทำไมมนุษย์ถึงต้องมีค่าไถ่ การตายของคนคนเดียวจะไถ่บาปคนมากมายได้ยังไง ขนมปังและเหล้าองุ่นในการประชุมอนุสรณ์หมายถึงอะไรและใครบ้างที่จะกิน (อ่านลูกา 22:19, 20) และเรายังมีโอกาสคิดถึงสิ่งดี ๆ มากมายในอนาคตสำหรับทุกคนที่มีความหวังบนโลก (อสย. 35:5, 6; 65:17, 21-23) เราควรเห็นความสำคัญของความจริงเหล่านี้เพราะหลายพันล้านคนบนโลกไม่เข้าใจเรื่องนี้ และพวกเขาก็ไม่รู้ว่าค่าไถ่มีค่าขนาดไหนสำหรับพวกเขา นอกจากนั้น พวกเขาก็ไม่ได้จัดการประชุมอนุสรณ์เพื่อคิดถึงการตายของพระเยซูอย่างที่ท่านได้วางแบบอย่างไว้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
5. หลังจากที่อัครสาวกส่วนใหญ่ตายไปแล้ว ผู้คนทำตามแบบอย่างที่พระเยซูวางไว้ไหม? ขออธิบาย
5 ไม่นานหลังจากที่อัครสาวกส่วนใหญ่ตายไปแล้วก็เริ่มมีคริสเตียนปลอมในประชาคม (มธ. 13:24-27, 37-39) พวกเขา “พูดบิดเบือนความจริงเพื่อชักจูงพวกสาวกให้ติดตามพวกเขาไป” (กจ. 20:29, 30) คำสอน “บิดเบือน”อย่างหนึ่งของพวกเขาก็คือ พระเยซูไม่ได้ถูกถวายครั้งเดียวเพื่อรับบาปของคนมากมายอย่างที่คัมภีร์ไบเบิลสอนไว้ แต่พระเยซูต้องถูกถวายซ้ำแล้วซ้ำอีก (ฮบ. 9:27, 28) ทุกวันนี้มีหลายคนที่เชื่อแบบนี้ พวกเขาเลยเข้า “พิธีมิสซา” bที่โบสถ์คาทอลิกเป็นประจำ บางคนก็เข้าพิธีนั้นทุกวันด้วยซ้ำ ส่วนบางนิกายไม่ได้ทำพิธีเพื่อคิดถึงการตายของพระเยซูบ่อยขนาดนั้น แต่พวกเขาก็ไม่ได้เข้าใจจริง ๆ ว่าค่าไถ่ของพระเยซูหมายถึงอะไร แล้วก็มีบางคนที่สงสัยว่า ‘พระเยซูช่วยไถ่บาปให้ฉันได้จริง ๆ เหรอ?’ ทำไมพวกเขาถึงสงสัยแบบนี้? พวกเขาอาจไปฟังคนที่เชื่อว่าค่าไถ่ของพระเยซูไม่ได้ช่วยให้อภัยบาป แต่สาวกของพระเยซูล่ะ พวกเขาทำยังไง?
6. พอถึงปี 1872 กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้เข้าใจเรื่องอะไร?
6 ประมาณช่วงปี 1870 กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่นำโดยชาลส์ เทซ รัสเซลล์ได้ศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิลอย่างละเอียด พวกเขาอยากรู้ว่าค่าไถ่ของพระเยซูหมายถึงอะไรจริง ๆ และพวกเขาควรจัดการประชุมเพื่อคิดถึงการตายของท่านยังไง พอถึงปี 1872 พวกเขาก็ได้เข้าใจชัดเจนว่าพระเยซูสละชีวิตเป็นค่าไถ่เพื่อมนุษย์ทุกคน พอพวกเขาเข้าใจอย่างนั้น พวกเขาก็เลยประกาศกับคนอื่นด้วยโดยออกเป็นหนังสือ ลงบทความในหนังสือพิมพ์และในวารสาร หลังจากนั้น พวกเขาก็ทำเหมือนกับคริสเตียนยุคแรกทำก็คือจัดการประชุมเพื่อคิดถึงการตายของพระเยซูปีละแค่ครั้งเดียว
7. เราได้ประโยชน์ยังไงจากการค้นคว้าของกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล?
7 ทุกวันนี้เราได้ประโยชน์จากการศึกษาค้นคว้าของพี่น้องเหล่านี้ยังไง? เราได้รู้ความจริงเกี่ยวกับการสละชีวิตของพระเยซู และได้รู้ว่ามนุษย์ทุกคนได้ประโยชน์ยังไงจากค่าไถ่ของท่าน (1 ยน. 2:1, 2) เรายังได้เรียนว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดถึงความหวัง 2 อย่างสำหรับคนที่เชื่อฟังพระเจ้า คนกลุ่มหนึ่งจะมีชีวิตอมตะในสวรรค์และอีกหลายล้านคนจะมีชีวิตตลอดไปบนโลก เรายังรู้สึกสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นเมื่อได้รู้ว่าพระองค์รักเรามากขนาดไหน และตัวเราเองได้ประโยชน์ยังไงจากค่าไถ่ของพระเยซู (1 ปต. 3:18; 1 ยน. 4:9) ดังนั้น เราจะทำเหมือนกับพี่น้องในสมัยนั้น เราจะเชิญคนอื่นให้มาประชุมอนุสรณ์ซึ่งเป็นการประชุมอย่างที่พระเยซูได้วางแบบอย่างไว้
ชวนคนอื่นให้มาประชุมอนุสรณ์
8. คนของพระยะโฮวาทำอะไรบ้างเพื่อจะเชิญผู้คนให้มาประชุมอนุสรณ์? (ดูภาพ)
8 เป็นเวลานานมาแล้วที่คนของพระยะโฮวาชวนผู้คนมาประชุมอนุสรณ์ ในช่วงปี 1881 พี่น้องในสหรัฐได้รับเชิญให้มาประชุมอนุสรณ์ในบ้านส่วนตัวหลังหนึ่งที่เมืองแอลเลเกนี รัฐเพนซิลเวเนีย ต่อมาแต่ละประชาคมก็จัดการประชุมอนุสรณ์เอง ในเดือนมีนาคม 1940 มีคำแนะนำให้ผู้ประกาศทุกคนเชิญผู้คนในเขตที่สนใจให้มาร่วมการประชุมอนุสรณ์ ในปี 1960 เป็นครั้งแรกที่เบเธลได้พิมพ์ใบเชิญการประชุมอนุสรณ์ และตั้งแต่นั้นมาก็มีการพิมพ์ใบเชิญการประชุมอนุสรณ์หลายพันล้านใบเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน ทำไมเราต้องพยายามขนาดนั้นเพื่อจะเชิญคนอื่นให้มาประชุมอนุสรณ์?
9-10. ใครบ้างได้ประโยชน์จากการที่เราพยายามเชิญคนมาประชุมอนุสรณ์? (ยอห์น 3:16)
9 เหตุผลหนึ่งที่เราเชิญคนมาประชุมอนุสรณ์กับเราก็คือเราอยากให้คนที่เพิ่งมาครั้งแรกรู้ความจริงว่าพระยะโฮวากับพระเยซูทำอะไรเพื่อมนุษย์บ้าง (อ่านยอห์น 3:16) เราหวังว่าเมื่อพวกเขาได้ฟังเรื่องนี้ที่ การประชุม มันจะกระตุ้นให้พวกเขาอยากรู้มากขึ้นและเข้ามาเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวา นอกจากนั้น ยังมีคนอื่นได้ประโยชน์ด้วย
10 เรายังเชิญคนที่เลิกประกาศให้มาฟังคำบรรยายการประชุมอนุสรณ์ด้วยเพื่อจะช่วยให้พวกเขารู้ว่าพระยะโฮวายังคงรักพวกเขาไม่เปลี่ยนแปลง มีหลายคนยินดีมาตามคำเชิญของเรา แล้วเราก็ดีใจมากที่ได้เจอพวกเขา การประชุมอนุสรณ์จะทำให้พวกเขานึกถึงความสุขที่พวกเขาเคยรับใช้พระยะโฮวา ให้เรามาดูตัวอย่างของโมนิก้า c โมนิก้าถูกเชิญให้มาประชุมอนุสรณ์ เธอเลยกลับมาเป็นผู้ประกาศอีกครั้งในช่วงที่โควิด-19 ระบาด พอหลังการประชุมอนุสรณ์ในปี 2021 ผ่านไปเธอบอกว่า “การประชุมอนุสรณ์ครั้งนี้พิเศษมากเพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ฉันได้ประกาศให้คนอื่นฟังและเชิญพวกเขามาประชุมอนุสรณ์ ฉันพยายามชวนผู้คนให้มาประชุมอนุสรณ์ครั้งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพราะฉันเห็นค่าสิ่งที่พระยะโฮวากับพระเยซูทำเพื่อฉัน” (สด. 103:1-4) ไม่ว่าผู้คนจะสนใจหรือเปล่า แต่เราก็ยังคงขยันเชิญผู้คนต่อไปให้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์เพราะเรารู้ว่าพระยะโฮวาเห็นค่าที่เราทำแบบนั้น
11. พระยะโฮวาอวยพรเรายังไงเมื่อเราพยายามเชิญคนมาประชุมอนุสรณ์? (ฮักกัย 2:7)
11 พระยะโฮวาจะอวยพรเราเมื่อเราพยายามเชิญคนมาประชุมอนุสรณ์ ในปี 2021 ถึงแม้จะมีมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 แต่ก็มีผู้เข้าร่วมประชุมอนุสรณ์มากถึง 21,367,603 คน ซึ่งมากกว่าสองเท่าของพยานทั่วโลก แน่นอนว่าพระยะโฮวาไม่ได้สนใจแค่ตัวเลข แต่พระองค์สนใจที่มนุษย์แต่ละคน (ลก. 15:7; 1 ทธ. 2:3, 4) เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยให้เราเจอคนที่มีหัวใจดี—อ่านฮักกัย 2:7
เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ถึงแม้จะเจออุปสรรค
12. อะไรบ้างอาจทำให้เราเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ได้ยาก? (ดูภาพ)
12 พระเยซูบอกล่วงหน้าไว้ว่าในสมัยสุดท้ายเราต้องเจอปัญหาและความยากลำบากหลายอย่าง เช่น การต่อต้านจากครอบครัว การข่มเหง สงคราม โรคระบาด และอื่น ๆ (มธ. 10:36; มก. 13:9; ลก. 21:10, 11) บางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็เลยทำให้เราเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ได้ยาก แล้วพี่น้องของเราทำอะไรบ้างเพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้? และพระยะโฮวาช่วยพวกเขายังไง?
13. พระยะโฮวาอวยพรอาร์เจมยังไงที่เขากล้าและตั้งใจจะประชุมอนุสรณ์ให้ได้แม้จะอยู่ในคุก?
13 ติดคุก พี่น้องที่ติดคุกเพราะความเชื่อพยายามประชุมอนุสรณ์เท่าที่พวกเขาสามารถทำได้ ให้เรามาดูตัวอย่างของอาร์เจม เขาอยู่ในคุกที่มีขนาดแค่ 17 ตารางเมตรและมีนักโทษอยู่ในห้องขังนั้นอีก 3-4 คน แม้ว่าอาร์เจมจะติดคุกในช่วงการประชุมอนุสรณ์ปี 2020 แต่เขาก็สามารถหาไวน์กับขนมปังได้ อาร์เจมวางแผนว่าจะบรรยายอนุสรณ์ให้ตัวเองฟังด้วย แต่นักโทษที่อยู่ในห้องเดียวกับเขาสูบบุหรี่และชอบพูดคำหยาบ แล้วอาร์เจมจะทำยังไง? เขาขอให้นักโทษเหล่านั้นไม่พูดคำหยาบและหยุดสูบบุหรี่ประมาณ 1 ชั่วโมง อาร์เจมแปลกใจแต่ก็ดีใจมากที่พวกนักโทษยอมทำตามที่เขาขอ อาร์เจมบอกว่า “ผมบอกพวกเขาว่าจะเล่าเรื่องการประชุมอนุสรณ์ให้ฟัง” แม้ว่านักโทษเหล่านั้นบอกว่าไม่สนใจ แต่พอได้เห็นอาร์เจมจัด การประชุมอนุสรณ์และได้ฟังคำบรรยาย พวกเขาก็ถามเกี่ยวกับเรื่องนี้
14. พี่น้องพยายามทำอะไรเพื่อจะประชุมอนุสรณ์แม้จะมีการระบาดของโควิด-19?
14 โควิด-19 ระบาด ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 พยานพระยะโฮวาไม่สามารถไปประชุมอนุสรณ์แบบเจอหน้ากันได้ แต่นี่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเลิกประชุมอนุสรณ์ d ประชาคมต่าง ๆ ได้จัดให้มีการประชุมอนุสรณ์ทางออนไลน์ แล้วหลายล้านคนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตล่ะจะทำยังไง? บางประเทศมีการออกอากาศการบรรยายอนุสรณ์ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุ นอกจากนั้น สำนักงานสาขาต่าง ๆ ได้อัดคำบรรยายอนุสรณ์ไว้ล่วงหน้ามากกว่า 500 ภาษา และพี่น้องก็จะส่งให้กับพี่น้องมากมายที่อยู่ในเขตที่ห่างไกล
15. คุณได้เรียนอะไรจากประสบการณ์ของนักศึกษาที่ชื่อซู?
15 ครอบครัวต่อต้าน สำหรับบางคนปัญหาใหญ่ที่สุดที่อาจทำให้เขาไม่ได้ประชุมอนุสรณ์ก็คือการ ต่อต้านจากครอบครัว ให้เรามาดูตัวอย่างของนักศึกษาคนหนึ่งที่ชื่อซู ในปี 2021 หนึ่งวันก่อนการประชุมอนุสรณ์ ซูบอกกับผู้นำการศึกษาว่าเธอคงเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ไม่ได้เพราะครอบครัวต่อต้าน ผู้นำการศึกษาให้เธออ่านที่ลูกา 22:44 แล้วก็บอกเธอว่า เมื่อเราเจอความยากลำบาก เราควรทำตามตัวอย่างของพระเยซูโดยการอธิษฐานและไว้วางใจพระยะโฮวาสุดหัวใจ วันถัดมาซูเตรียมไวน์และขนมปังสำหรับการประชุมอนุสรณ์และดูการนมัสการตอนเช้าในเว็บไซต์ jw.org เย็นวันนั้นตอนที่เธออยู่คนเดียวในห้อง เธอฟังการประชุมอนุสรณ์ทางโทรศัพท์ หลังจากนั้นซูก็เขียนบอกผู้นำการศึกษาว่า “เมื่อวานเธอให้กำลังใจฉันมากจริง ๆ ฉันทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อจะเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ และพระยะโฮวาก็ช่วยในส่วนที่เหลือ ฉันขอบคุณพระยะโฮวามากจริง ๆ ฉันมีความสุขจนไม่รู้จะอธิบายยังไง” ถ้าคุณเจอสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ คุณคิดว่าพระยะโฮวาจะช่วยคุณได้ไหม?
16. ทำไมเรามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะอวยพรที่เราพยายามเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์? (โรม 8:31, 32)
16 พระยะโฮวาเห็นค่าที่เราพยายามเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์เพื่อคิดถึงการตายของพระเยซู เรามั่นใจได้ว่าพระองค์จะอวยพรที่เราเห็นค่าสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทำเพื่อเรา (อ่านโรม 8:31, 32) ดังนั้น ให้เราตั้งใจเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ปีนี้ให้ได้ และทำสิ่งที่เราทำได้เพื่อรับใช้มากขึ้นในช่วงการประชุมอนุสรณ์
เพลง 18 ขอบคุณที่มีค่าไถ่
a ในวันอังคารที่ 4 เมษายน 2023 หลายล้านคนทั่วโลกร่วมการประชุมอนุสรณ์เพื่อคิดถึงการตายของพระเยซู หลายคนเพิ่งมาครั้งแรก ส่วนบางคนที่เคยเลิกประกาศก็กลับมาประชุมอนุสรณ์อีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้มาหลายปี และยังมีอีกหลายคนที่ต้องเอาชนะอุปสรรคมากมายเพื่อจะเข้าร่วมการประชุมได้ ไม่ว่าชีวิตคุณจะเป็นยังไงคุณมั่นใจได้เลยว่าพระยะโฮวาจะดีใจมากที่คุณพยายามเข้าร่วมการประชุมนี้ให้ได้
b คนที่เข้าพิธีนั้นเชื่อว่าขนมปังและเหล้าองุ่นจะเปลี่ยนเป็นเนื้อกับเลือดของพระเยซูจริง ๆ และพวกเขาคิดว่าพระเยซูได้สละเนื้อและเลือดทุกครั้งที่พวกเขากิน
c บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ
d ดูบทความ “การประชุมอนุสรณ์ปี 2021” ในเว็บไซต์ jw.org ด้วย