เลอแฟฟร์ เดตาป—เขาอยากให้ประชาชนรู้จักถ้อยคำของพระเจ้า
เช้าวันอาทิตย์ของต้นทศวรรษ 1520 ชาวเมืองโมเมืองเล็ก ๆ ใกล้กรุงปารีสแทบไม่เชื่อหูตัวเองเมื่อได้ยินสิ่งที่อ่านในโบสถ์ พวกเขาได้ยินการอ่านหนังสือข่าวดีในภาษาของพวกเขาเอง นั่นคือภาษาฝรั่งเศสไม่ใช่ภาษาละติน
ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลที่อยู่เบื้องหลังงานนี้คือ ชากส์ เลอแฟฟร์ เดตาป (ภาษาละตินคือยาโคบัส ฟาเบอร์ สเตพูเลนซิส) ซึ่งต่อมาได้เขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิทว่า “คุณคิดไม่ถึงหรอกว่าพระเจ้ากำลังช่วยประชาชนคนธรรมดาให้เข้าใจถ้อยคำของพระองค์”
ในเวลานั้น คริสตจักรคาทอลิกกับนักเทววิทยาในกรุงปารีสต่อต้านการใช้คัมภีร์ไบเบิลในภาษาที่คนทั่วไปใช้กัน แล้วอะไรกระตุ้นเลอแฟฟร์ให้แปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาฝรั่งเศส? และเขาทำอย่างไรเพื่อช่วยประชาชนให้เข้าใจถ้อยคำของพระเจ้า?
ค้นหาความหมายที่แท้จริงของพระคัมภีร์
ก่อนที่เลอแฟฟร์จะมาเป็นผู้แปลคัมภีร์ไบเบิล เขาทุ่มเทศึกษาค้นคว้าความหมายดั้งเดิมของข้อเขียนทางปรัชญาและวิชาศาสนา เขาสังเกตว่าข้อความสมัยโบราณมักจะถูกเปลี่ยนแปลงเพราะแปลผิด เพื่อจะได้ความหมายที่แท้จริงของข้อเขียนโบราณ เขาจึงเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลฉบับมาตรฐานของคาทอลิกคือฉบับละตินวัลเกต อย่างละเอียด
เขาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจังจนทำให้ได้ข้อสรุปว่า “การศึกษาความจริงของพระเจ้าเท่านั้นทำให้พบ . . . ความสุขที่แท้จริง” ดังนั้น เลอแฟฟร์จึงเลิกศึกษาหลักปรัชญาแล้วทุ่มเทให้กับการแปลคัมภีร์ไบเบิล
ในปี ค.ศ. 1509 เลอแฟฟร์ตีพิมพ์การศึกษาเปรียบเทียบหนังสือสดุดีภาษาละติน 5 ฉบับแปล * รวมทั้งฉบับวัลเกต ที่เขาแก้ไขเอง ไม่เหมือนนักเทววิทยาในสมัยของเขา เขาพยายามค้นหา “ความหมายแท้” ของข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิล วิธีแปลพระคัมภีร์ของเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ไบเบิลและนักปฏิรูปคนอื่น ๆ—ดูกรอบ “ มาร์ติน ลูเทอร์ได้รับอิทธิพลอย่างไรจากเลอแฟฟร์”
เลอแฟฟร์เป็นคาทอลิกตั้งแต่เกิด เขามั่นใจว่าการปฏิรูปคริสตจักรจะเกิดขึ้นได้ถ้าประชาชนทั่วไปได้รับการสอนอย่างถูกต้องจากพระคัมภีร์เท่านั้น แต่คนทั่วไปจะได้ประโยชน์จากพระคัมภีร์ได้อย่างไรในเมื่อส่วนใหญ่เป็นภาษาละติน?
การแปลคัมภีร์ไบเบิลที่ทุกคนเข้าใจได้
เลอแฟฟร์รักคัมภีร์ไบเบิลมากจนอยากจะให้ประชาชนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สามารถหาคัมภีร์ไบเบิลอ่านได้ เพื่อจะเป็นอย่างนั้น ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1523 เขาจึงพิมพ์หนังสือข่าวดีเป็นภาษาฝรั่งเศสฉบับพกพา 2 ชุด ฉบับเล็กนี้ราคาแค่ครึ่งเดียวของฉบับมาตรฐานเท่านั้น ทำให้คนจนมีสิทธิ์ซื้อคัมภีร์ไบเบิลมาอ่านได้
ประชาชนสนใจตอบรับฉบับแปลนี้ทันที ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็อยากอ่านคำสอนของพระเยซูในภาษาของตัวเอง ทำให้ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 1,200 ฉบับขายหมดภายในไม่กี่เดือน
ยืนหยัดกล้าหาญเพื่อคัมภีร์ไบเบิล
ในคำนำของหนังสือข่าวดี เลอแฟฟร์อธิบายว่าเขาแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสเพื่อ “สมาชิกที่ต่ำต้อย” ของโบสถ์ “จะมั่นใจว่าคำสอนของพระคริสต์เป็นความจริงเหมือนกับที่ผู้อ่านภาษาละตินมั่นใจ” แต่ทำไมเลอแฟฟร์ต้องการช่วยประชาชนให้รู้จักคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลมากขนาดนั้น?
เลอแฟฟร์รู้ดีว่าคำสอนและปรัชญาของมนุษย์ส่งผลเสียต่อคริสตจักรคาทอลิกมากขนาดไหน (มาระโก 7:7; โคโลสี 2:8) และเขามั่นใจว่าถึงเวลาแล้วที่หนังสือข่าวดีจะต้องถูก “ประกาศไปทั่วโลกเพื่อผู้คนจะไม่ถูกหลักคำสอนของมนุษย์พาไปผิดทางอีก”
เลอแฟฟร์ยังพยายามเปิดโปงข้อโต้แย้งผิด ๆ ของคนที่ต่อต้านการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วย เขาตำหนิความหน้าซื่อใจคดของคนเหล่านั้นว่า “พวกเขาจะสอน [ประชาชน] ให้ทำตามสิ่งที่พระเยซูสอนได้อย่างไร ถ้าพวกเขาไม่เต็มใจให้ชาวบ้านธรรมดาเห็นและอ่านข่าวดีของพระเจ้าในภาษาของตัวเอง?”—โรม 10:14
ในที่สุด นักเทววิทยาในมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์กรุงปารีสพยายามจะหยุดเลอแฟฟร์ ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1523 พวกเขาต่อต้านคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาท้องถิ่นและหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิล พวกเขามองหนังสือเหล่านั้นว่าเป็น “ภัยต่อคริสตจักร” ถ้ากษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศสไม่เข้ามาช่วย เลอแฟฟร์คงถูกตัดสินว่าเป็นพวกนอกรีต
ผู้แปลที่ “เงียบ” ทำงานของเขาจนเสร็จ
เลอแฟฟร์ไม่ยอมให้การต่อต้านอย่างรุนแรงมาหยุดยั้งงานแปลคัมภีร์ไบเบิล ในปี ค.ศ. 1524 หลังจากแปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกเสร็จ (ที่เรียกกันว่าพันธสัญญาใหม่) เขาก็ออกหนังสือสดุดีภาษาฝรั่งเศส เพื่อผู้มีความเชื่อจะอธิษฐาน “ด้วยความเลื่อมใสและมีความเชื่อมากขึ้น”
พวกนักเทววิทยาที่วิทยาลัยซอร์บอนน์รีบตรวจสอบงานแปลของเลอแฟฟร์อย่างละเอียด แล้วก็สั่งให้เผาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกของเลอแฟฟร์ต่อหน้าสาธารณชน และประณามข้อเขียนอื่น ๆ ของเขาว่า “สนับสนุนคำสอนนอกรีตของลูเทอร์” เมื่อพวกเทววิทยาเรียกตัวเลอแฟฟร์มาให้การ เขาเลือกที่จะ “เงียบ” ต่อและหนีไปที่สตราสบูร์ก เขาแปลคัมภีร์ไบเบิลที่นั่นต่อไปอย่างระวังตัว แม้ว่าบางคนมองว่าเขาไม่มีความกล้า แต่เขาเชื่อว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับคนที่ไม่เห็นค่าความจริงในคัมภีร์ไบเบิลที่เป็นเหมือน “ไข่มุก”—มัทธิว 7:6
หลังจากลี้ภัยกลับมาได้เกือบ 1 ปี กษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 แต่งตั้งเลอแฟฟร์ให้เป็นครูส่วนตัวของชาลส์ลูกชายวัย 4 ขวบของกษัตริย์ งานนี้ทำให้เขามีเวลามากพอที่จะแปลคัมภีร์ไบเบิลให้เสร็จ ในปี ค.ศ. 1530 งานแปลคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์นอกฝรั่งเศส ในเมืองแอนท์เวิร์ป โดยการอนุมัติจากจักรพรรดิชาลส์ที่ 5 *
ความหวังอันยิ่งใหญ่จบลงด้วยความเสียใจ
เลอแฟฟร์หวังมาตลอดชีวิตว่าคริสตจักรจะเลิกทำตามธรรมเนียมของมนุษย์และกลับไปหาความรู้ที่บริสุทธิ์จากพระคัมภีร์ เขาเชื่อมั่นว่า “ที่จริง หน้าที่ที่ถูกต้องของคริสเตียนทุกคนคือต้องอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลส่วนตัว” นี่คือเหตุผลที่เขาพยายามอย่างมากเพื่อให้ทุกคนได้มีคัมภีร์ไบเบิล แม้จะผิดหวังที่คริสตจักรไม่เปลี่ยนแปลงอย่างที่เขาอยากให้เป็น แต่มรดกของเลอแฟฟร์ยังคงอยู่ เขาได้ช่วยประชาชนให้รู้จักถ้อยคำของพระเจ้า
^ วรรค 8 หนังสือ Fivefold Psalter รวบรวมข้อความจากหนังสือสดุดี 5 ฉบับแปล ข้อความของแต่ละฉบับแปลถูกเรียงเป็นคอลัมน์ และมีตารางชื่อตำแหน่งของพระเจ้า รวมถึงเททรากรัมมาทอนซึ่งเป็นอักษรฮีบรู 4 ตัวที่หมายถึงชื่อพระเจ้า
^ วรรค 21 อีก 5 ปีต่อมาคือในปี ค.ศ. 1535 ผู้แปลชาวฝรั่งเศสชื่อโอลีเวตองได้ออกคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลของเขาเองโดยอาศัยภาษาเดิม ช่วงที่โอลีเวตองแปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกเขาพึ่งงานของเลอแฟฟร์เป็นหลัก