จากปก | คัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาถึงเราได้อย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลรอดจากการย่อยสลาย
ปัจจัยเสี่ยง: พาไพรัสและแผ่นหนังเป็นวัสดุหลักที่ใช้เขียนและทำสำเนาคัมภีร์ไบเบิล * (2 ทิโมธี 4:13) วัสดุเหล่านี้ทำให้คัมภีร์ไบเบิลเสี่ยงต่อการถูกทำลายได้อย่างไร?
พาไพรัสฉีกขาดได้ง่าย เปลี่ยนสีได้ และบอบบาง ริชาร์ด พาคินสันกับสตีเฟน เควิร์ก นักอียิปต์วิทยาพูดถึงพาไพรัสว่า “แผ่นกระดาษจะค่อย ๆ ย่อยสลายไปเหลือแต่โครงเส้นใย แล้วสุดท้ายก็เป็นผุยผง เมื่ออยู่ในที่เก็บ ม้วนหนังสืออาจจะขึ้นราและเปื่อยยุ่ยเพราะความชื้น และเมื่อถูกฝังไว้ ม้วนหนังสือก็อาจถูกหนูหรือแมลงกัดกินโดยเฉพาะมดขาว” พาไพรัสบางชิ้น หลังจากถูกค้นพบแล้วก็จะมาเจอกับแสงแดดและความชื้นซึ่งเร่งให้เกิดการย่อยสลายเร็วขึ้น
แผ่นหนังอยู่ได้นานกว่าพาไพรัส แต่ก็ย่อยสลายได้ถ้าเก็บไว้ไม่ดีหรือถ้าเจออากาศร้อนหรือเย็นเกินไป รวมทั้งความชื้น หรือแสงสว่าง * แมลงชอบกินแผ่นหนังด้วย หนังสือ Everyday Writing in the Graeco-Roman East จึงบอกว่า “สำเนาเก่าแก่โบราณมักไม่ค่อยอยู่รอดจนถึงตอนนี้” ถ้าคัมภีร์ไบเบิลย่อยสลายไป ข่าวสารที่อยู่ในนั้นก็สูญหายไปด้วย
คัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาได้อย่างไร: กฎหมายชาวยิวบังคับกษัตริย์ทุกคนให้ ‘คัดลอกกฎหมายใส่ม้วนหนังสือเพื่อประโยชน์ของตัวเอง’ (เฉลยธรรมบัญญัติ 17:18) นอกจากนั้น ผู้คัดลอกที่ชำนาญได้ทำสำเนาพระคัมภีร์ไว้มากมาย จนพอถึงศตวรรษแรกของคริสต์ศักราช มีการพบสำเนาพระคัมภีร์ในที่ประชุมของชาวยิวทั่วอิสราเอลจนถึงมาซิโดเนีย (ลูกา 4:16, 17; กิจการ 17:11) สำเนาที่เก่าแก่มากของคัมภีร์ไบเบิลบางชิ้นอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างไร?
ฟิลิป ดับเบิลยู. คอมฟอร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่บอกว่า “เป็นที่รู้กันว่าชาวยิวจะเก็บม้วนหนังสือพระคัมภีร์ไว้ในไหหรือกระบอกดินเหนียวเพื่อเก็บรักษาไว้” คริสเตียนก็ทำตามธรรมเนียมนั้นเหมือนกัน ดังนั้น มีการค้นพบสำเนาของคัมภีร์ไบเบิลยุคแรก ๆ บางฉบับในกระบอกดินเหนียว รวมทั้งในห้องมืด ๆ และในถ้ำ และในที่ที่แห้งมาก ๆ
ผลก็คือ: ชิ้นส่วนสำเนาพระคัมภีร์หลายพันชิ้น บางชิ้นมีอายุมากกว่า 2,000 ปีอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีข้อความสมัยโบราณไหนที่มีสำเนาเหลืออยู่มากมายเท่ากับคัมภีร์ไบเบิล