ช่วย “คนต่างชาติ” ให้มา “นมัสการพระยะโฮวาอย่างมีความสุข”
“พระยะโฮวาปกป้องคนต่างชาติ”—สด. 146:9
1, 2. (ก) พี่น้องของเราบางคนต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง? (ข) มีคำถามอะไรเกิดขึ้น?
พี่น้องชายคนหนึ่งที่ชื่อลีจาเล่าว่า “ตอนที่มีสงครามกลางเมืองในบุรุนดี ครอบครัวของเราอยู่ที่การประชุมหมวด เราเห็นผู้คนยิงกันและวิ่งกันชุลมุนวุ่นวาย พ่อแม่และพวกเรา 11 พี่น้องหนีเอาชีวิตรอด ตอนนั้น พวกเรามีแค่เสื้อผ้าติดตัวเท่านั้น บางคนในครอบครัวเราหนีไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในมาลาวีได้ ที่นั่นอยู่ห่างออกไปกว่า 1,600 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือก็กระจัดกระจายกันไป”
2 ทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยมากกว่า 65 ล้านคนซึ่งถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ * คนเหล่านี้ต้องออกจากบ้านเกิดเนื่องจากสงครามและการถูกกดขี่ มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่เป็นพยานพระยะโฮวา พวกเขาหลายคนต้องสูญเสียคนที่รักและแทบทุกอย่างที่มี พี่น้องผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องเจอปัญหาอะไรอีก? เราจะช่วยพวกเขาให้รับใช้พระยะโฮวา และช่วยพวกเขาให้มีความสุขได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่ต้องเจอความยาก ลำบาก? (สด. 100:2) ส่วนผู้ลี้ภัยที่ยังไม่รู้จักพระยะโฮวาล่ะ อะไรเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เราจะช่วยพวกเขา?
ชีวิตของผู้ลี้ภัย
3. พระเยซูและสาวกหลายคนเคยเป็นผู้ลี้ภัยอย่างไร?
3 พระเยซูและพ่อแม่ของท่านต้องลี้ภัยไปอียิปต์หลังจากที่ทูตสวรรค์เตือนโยเซฟพ่อของพระเยซูว่ากษัตริย์เฮโรดอยากจะฆ่าพระเยซู พวกเขาต้องอยู่ที่อียิปต์จนเฮโรดเสียชีวิต (มธ. 2:13, 14, 19-21) หลายปีต่อมา สาวกของพระเยซูก็ “กระจัดกระจายไปทั่วแคว้นยูเดียและสะมาเรีย” เนื่องจากถูกข่มเหง (กจ. 8:1) พระเยซูรู้ว่าสาวกของท่านหลายคนจะถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิด ท่านบอกไว้ว่า “ถ้าผู้คนข่มเหงคุณในเมืองหนึ่ง ก็ให้หนีไปอีกเมืองหนึ่ง” (มธ. 10:23) การต้องย้ายออกจากบ้านเกิดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
4, 5. ผู้ลี้ภัยอาจต้องเจอกับอันตรายอะไรบ้างในช่วงที่ (ก) ลี้ภัยออกจากบ้านเกิด? (ข) อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย?
4 ช่วงที่ผู้ลี้ภัยหนีออกจากบ้านเกิดหรืออาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขาต้องเจอกับอันตรายหลายอย่าง กาดน้องชายของลีจาเล่าว่า “เราต้องเดินอยู่หลายอาทิตย์ ต้องผ่านซากศพเป็นร้อย ๆ ตอนนั้นผมอายุแค่ 12 ผมเดินจนเท้าบวมเป่ง ผมก็เลยบอกคนอื่น ๆ ในครอบครัวว่าไปกันก่อนเลยไม่ต้องรอ แต่พ่อผมไม่ยอมทิ้งผมไว้ให้พวกกบฏมาจับ พ่อแบกผมไปด้วย พวกเราต้องเอาชีวิตรอดเป็นวัน ๆ ไป เราอธิษฐานและวางใจพระยะโฮวา บางครั้งเราได้กินแค่มะม่วงจากต้นที่อยู่ข้างทางเท่านั้น”—ฟป. 4:12, 13
5 แทบทุกคนในครอบครัวของลีจาอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเป็นเวลานานหลายปี ที่นั่นก็ไม่ปลอดภัยเหมือนกัน ลีจาที่ตอนนี้เป็นผู้ดูแลหมวดเล่าว่า “คนส่วนใหญ่ที่นั่นไม่มีงานทำ เอาแต่นินทาคนอื่น เมาเหล้า เล่นการพนัน ขโมย และทำผิดศีลธรรมทางเพศ” เพื่อที่พยานพระยะโฮวาจะปกป้องตัวเองจากสิ่งไม่ดีเหล่านั้น พวกเขาต้องพยายามยุ่งอยู่กับกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียน (ฮบ. 6:11, 12; 10:24, 25) พวกเขาใช้เวลาอย่างฉลาดเพื่อจะยึดมั่นกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล และหลายคนเริ่มเป็นไพโอเนียร์ พวกเขาเตือนตัวเองว่าสักวันหนึ่งการใช้ชีวิตในค่ายลี้ภัยจะสิ้นสุดลงเหมือนที่การเดินทางในป่ากันดารของชาวอิสราเอลสิ้นสุดลง การคิดอย่างนี้ช่วยพวกเขามองในแง่บวกเสมอ—2 คร. 4:18
แสดงความรักกับผู้ลี้ภัย
6, 7. (ก) ความรักที่เรามีต่อพระเจ้ากระตุ้นเราให้ช่วยเหลือพี่น้องอย่างไร? (ข) ขอยกตัวอย่าง
6 ถ้าเรา “รักพระเจ้า” เราจะแสดงความรักต่อพี่น้องโดยเฉพาะตอนที่พวกเขาต้องเจอกับความยากลำบาก (อ่าน 1 ยอห์น 3:17, 18) ตัวอย่างเช่น ตอนที่มีการขาดแคลนอาหารในสมัยศตวรรษแรก พี่น้องในยูเดียต้องการความช่วยเหลือ ประชาคมจึงจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ไปช่วยเหลือพวกเขา (กจ. 11:28, 29) อัครสาวกเปาโลและเปโตรยังกระตุ้นให้คริสเตียนมีน้ำใจต้อนรับแขก (รม. 12:13; 1 ปต. 4:9) ถ้าคริสเตียนยังรักและต้อนรับพี่น้องที่มาจากที่อื่น พวกเขาก็ยิ่งต้องรักพี่น้องที่ตกอยู่ในอันตรายหรือกำลังถูกข่มเหงเพราะความเชื่อ *—อ่านสุภาษิต 3:27
7 เมื่อไม่นานมานี้ พยานพระยะโฮวาจำนวนมากถูกบังคับให้ย้ายออกจากบ้านเกิดเนื่องจากสงครามและการถูกกดขี่ในยูเครนตะวันออก น่าเศร้าที่พี่น้องของเราบางคนถูกฆ่า แต่พี่น้องส่วนใหญ่ที่ลี้ภัยได้รับการต้อนรับให้อยู่ที่บ้านของพี่น้องในส่วนอื่นของประเทศยูเครนและรัสเซีย พี่น้องในสองประเทศนี้รักษาความเป็นกลาง พวกเขา “ไม่ได้เป็นคนของโลก” และพวกเขาประกาศ “ข่าวดีเกี่ยวกับยน. 15:19; กจ. 8:4
คำสอนของพระเจ้า” ต่อ ๆ ไปอย่างกระตือรือร้น—ช่วยผู้ลี้ภัยให้มีความเชื่อมากขึ้น
8, 9. (ก) ผู้ลี้ภัยอาจต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง? (ข) ทำไมเราต้องช่วยเหลือพวกเขาด้วยความอดทน?
8 ผู้ลี้ภัยบางคนต้องย้ายไปอยู่ในส่วนอื่นของประเทศบ้านเกิด แต่ก็มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องย้ายไปอีกประเทศที่พวกเขาไม่รู้จักคุ้นเคย แม้รัฐบาลอาจจัดเตรียมอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัยให้กับผู้ลี้ภัย แต่พวกเขาก็ยังต้องเจอกับปัญหาหลายอย่างอยู่ดี ตัวอย่างเช่น ผู้ลี้ภัยที่ย้ายมาจากประเทศที่มีอากาศร้อน เมื่อเจอกับอากาศหนาวครั้งแรกอาจไม่รู้ว่าจะต้องแต่งตัวอย่างไร ส่วนผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ ซึ่งไม่เคยใช้เครื่องใช้ในบ้านที่ทันสมัยมาก่อนก็อาจต้องเรียนรู้วิธีใช้สิ่งเหล่านั้น
9 รัฐบาลบางประเทศมีโครงการช่วยผู้ลี้ภัยให้ปรับตัวกับชีวิตในประเทศใหม่ แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนผู้ลี้ภัยก็ต้องเริ่มดูแลตัวเอง นี่อาจเป็นเรื่องที่ยากมาก ลองคิดดูสิ พวกเขาต้องเรียนหลายอย่างในเวลาเดียวกัน พวกเขาต้องเรียนภาษาใหม่ วัฒนธรรมใหม่ และกฎหมายใหม่ เช่น การจ่ายเงินกับการจ่ายภาษี การให้ลูกเข้าโรงเรียน และการอบรมสั่งสอนลูก ๆ คุณจะช่วยพี่น้องผู้ลี้ภัยที่ต้องเจอปัญหาเหล่านั้นอย่างอดทนและด้วยความนับถือไหม?—ฟป. 2:3, 4
10. เราจะช่วยพี่น้องผู้ลี้ภัยให้มีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร? (ดูภาพแรก)
10 บางครั้ง พวกเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจอาจเป็นต้นเหตุให้พี่น้องผู้ลี้ภัยติดต่อกับประชาคมท้องถิ่นได้ยาก องค์กรทางภาครัฐบางแห่งอาจขู่ว่าจะหยุดให้ความช่วยเหลือพี่น้องหรือไม่อนุญาตให้อยู่ในประเทศนี้อีกต่อไปถ้าพวกเขาไม่ยอมทำงานบางอย่างซึ่งทำให้ไปประชุมไม่ได้ เนื่องจากพี่น้องผู้ลี้ภัยบางคนรู้สึกกลัวและไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยตัดสินใจทำงานนั้น ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องไปพบกับพี่น้องผู้ลี้ภัยทันทีที่พวกเขาเดินทางมาถึง พวกเขาต้องการความมั่นใจว่าเราเป็นห่วงเขาจริง ๆ การแสดงความห่วงใยและให้ความช่วยเหลือจะทำให้เขามีความเชื่อมากขึ้น—สภษ. 12:25; 17:17
ช่วยเหลือพี่น้องผู้ลี้ภัย
11. (ก) พี่น้องผู้ลี้ภัยจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเรื่องอะไรเป็นอันดับแรก? (ข) พี่น้องผู้ลี้ภัยจะแสดงความขอบคุณอย่างไร?
11 เราต้องช่วยให้พี่น้องผู้ลี้ภัยมีอาหารกิน มีเสื้อผ้าใส่ และมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่าง ๆ เป็นอันดับแรก * การให้ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ กับพวกเขา เช่น เนกไทสักเส้นก็มีความหมายสำหรับพวกเขามาก เมื่อพี่น้องผู้ลี้ภัยแสดงความขอบคุณและไม่เรียกร้องมากเกินไป พวกเขาก็ทำให้พี่น้องท้องถิ่นมีความสุขจากการให้ แน่นอน แม้พี่น้องผู้ลี้ภัยจะต้องพยายามดูแลตัวเองให้ได้ในที่สุด ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้พวกเขามีความนับถือตัวเองและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพี่น้องท้องถิ่น (2 ธส. 3:7-10) แต่ถึงอย่างนั้นพี่น้องผู้ลี้ภัยก็ยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ
12, 13. (ก) เราจะช่วยเหลือพี่น้องผู้ลี้ภัยได้อย่างไร? (ข) ขอยกตัวอย่าง
12 เราไม่ต้องมีเงินมากเพื่อจะช่วยพี่น้องผู้ลี้ภัย เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือเวลาและความรักจากเรา เช่น เราน่าจะช่วยให้พวกเขารู้วิธีใช้รถโดยสารสาธารณะ รู้วิธีซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพในราคาที่ไม่แพง คุณอาจช่วยพวกเขาให้รู้วิธีหาซื้ออุปกรณ์สำหรับทำงาน เช่น จักรเย็บผ้าหรือเครื่องตัดหญ้า และที่สำคัญที่สุด คุณน่า
จะช่วยพวกเขาให้มาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมใหม่ ถ้าทำได้คุณอาจไปรับพวกเขามาประชุม หรือคุณอาจอธิบายให้พวกเขาฟังว่าจะประกาศในเขตของประชาคมอย่างไรและทำงานรับใช้กับพวกเขา13 ตอนที่พี่น้องผู้ลี้ภัยที่เป็นวัยรุ่น 4 คนย้ายไปที่ประชาคมหนึ่ง ผู้ดูแลหลายคนคอยช่วยเหลือพวกเขา ผู้ดูแลสอนพวกเขาขับรถ พิมพ์จดหมาย สอนให้สมัครงาน และยังสอนวิธีจัดตารางเวลาเพื่อให้งานรับใช้พระยะโฮวาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต (กท. 6:10) ไม่นานพี่น้องทั้ง 4 คนนี้ก็เป็นไพโอเนียร์ พี่น้องเหล่านี้ก้าวหน้าและไม่เป็นส่วนของโลกซาตานได้เพราะพวกผู้ดูแลช่วยเหลือ และพวกเขาเองก็พยายามทำตามเป้าหมายในการรับใช้พระยะโฮวาด้วย
14. (ก) พี่น้องผู้ลี้ภัยต้องต่อสู้กับการล่อใจอะไร? (ข) ขอยกตัวอย่าง
14 พี่น้องผู้ลี้ภัยต้องต่อสู้กับการล่อใจเหมือนกับพี่น้องคริสเตียนทุกคน พวกเขาต้องต่อสู้กับแรงกดดันที่จะไม่ให้ทรัพย์สมบัติมาก่อนความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา * ลีจากับพี่น้องของเขาที่พูดถึงตอนต้นบทความจำได้ดีว่าพ่อของเขาสอนบทเรียนสำคัญเรื่องการมีความเชื่อแม้แต่ตอนที่กำลังหนี พวกเขาเล่าว่า “พ่อเอาของไม่จำเป็นของพวกเราในกระเป๋าทิ้งไปทีละอย่าง จนในที่สุด พ่อก็ยิ้มและยกกระเป๋าเปล่าขึ้นมา แล้วพูดว่า ‘เห็นไหมลูก ของที่เคยอยู่ในกระเป๋านี้มันไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลยสักอย่าง’”—อ่าน 1 ทิโมธี 6:8
ให้สิ่งที่พี่น้องผู้ลี้ภัยต้องการมากที่สุด
15, 16. (ก) เราจะช่วยพี่น้องของเราให้มีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร? (ข) เราจะปลอบโยนพวกเขาได้อย่างไร?
15 พี่น้องผู้ลี้ภัยไม่ได้ต้องการแค่อาหารและเสื้อผ้าเท่านั้น พวกเขาต้องการการปลอบโยนและกำลังใจจากคัมภีร์ไบเบิลด้วย (มธ. 4:4) ผู้ดูแลน่าจะช่วยพี่น้องผู้ลี้ภัยให้ได้รับหนังสือในภาษาของพวกเขา และช่วยติดต่อกับพี่น้องที่พูดภาษาของเขาได้ การทำอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะพี่น้องผู้ลี้ภัยหลายคนต้องทิ้งทุกอย่างที่เขาคุ้นเคย พวกเขาคงต้องคิดถึงครอบครัว สังคม และประชาคมที่นั่นแน่ ๆ พวกเขาต้องการความรักจากพระยะโฮวาและความเมตตาจากเพื่อนคริสเตียน ถ้าพี่น้องผู้ลี้ภัยไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้ พวกเขาก็อาจหันไปพึ่งคนอื่นที่ลี้ภัยมาจากประเทศเดียวกันซึ่งไม่ได้รับใช้พระยะโฮวา (1 คร. 15:33) ถ้าเราช่วยพี่น้องให้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม เราก็กำลังร่วมมือกับพระยะโฮวาในการ “ปกป้องคนต่างชาติ”—สด. 146:9
16 พระเยซูกับครอบครัวของท่านไม่สามารถกลับไปบ้านเกิดได้ตราบใดที่พวกคนที่กดขี่ยังมีอำนาจปกครอง พี่น้องผู้ลี้ภัยในทุกวันนี้ก็อาจอยู่ในสภาพอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ก็ยังมีพี่น้องผู้ลี้ภัยบางคนที่ไม่ต้องการกลับบ้านเกิด ลีจาเล่าว่าพ่อแม่หลายคนที่ได้เห็นคนในครอบครัวถูกข่มขืนและถูกฆ่าในบ้านเกิดของตัวเองก็ไม่อยากพาลูก ๆ กลับไปที่นั่นอีก ดังนั้น เพื่อช่วยพี่น้องของเรา เราต้อง “เห็นอกเห็นใจกัน รักกันแบบพี่น้อง เอ็นดูสงสารกัน และรู้จักถ่อมตัว” (1 ปต. 3:8) การกดขี่อาจทำให้พี่น้องผู้ลี้ภัยบางคนไม่อยากคบหากับคนอื่น พวกเขาอาจอายที่จะเล่าความทุกข์ที่เขาต้องเจอโดยเฉพาะตอนที่ลูก ๆ อยู่ด้วย ดังนั้น คุณอาจถามตัวเองว่า ‘ถ้าฉันต้องเจอกับเรื่องที่ทำให้เจ็บปวดแบบนี้ ฉันอยากจะให้คนอื่นทำกับฉันยังไง?’—มธ. 7:12
ตอนที่เราประกาศกับผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวา
17. การประกาศของเราช่วยให้ผู้ลี้ภัยรู้สึกดีขึ้นได้อย่างไร?
17 ผู้ลี้ภัยหลายคนในทุกวันนี้อพยพมาจากประเทศที่งานประกาศของเราถูกสั่งห้าม เป็นเพราะพยานพระยะโฮวากระตือรือร้นในงานประกาศ ผู้ลี้ภัยจำนวนมากก็เลยได้ยิน “ข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า” เป็นครั้งแรกในชีวิต (มธ. 13:19, 23) หลายคนที่ “มีภาระมาก” ได้รับการปลอบโยนและรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ไปประชุม พวกเขายอมรับทันทีว่า “พระเจ้าอยู่กับพวกคุณจริง ๆ”—มธ. 11:28-30; 1 คร. 14:25
18, 19. เราจะเป็นคนฉลาดตอนที่ประกาศกับผู้ลี้ภัยได้อย่างไร?
18 เราต้องเป็นคน “ฉลาด” ตอนที่ประกาศกับผู้ลี้ภัย (มธ. 10:16; สภษ. 22:3) เราต้องอดทนฟังตอนที่ผู้ลี้ภัยระบายความทุกข์และต้องไม่พูดเรื่องการเมือง เราควรทำตามคำแนะนำจากสำนักงานสาขาและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อจะไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากผู้ลี้ภัยมาจากศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา เราต้องเรียนรู้ที่จะนับถือความคิดและความรู้สึกของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ผู้คนในบางประเทศเคร่งครัดเรื่องการแต่งตัวของผู้หญิงมาก ดังนั้น ตอนที่เราประกาศกับพวกเขา ก็ดีกว่าที่เราจะแต่งตัวในแบบที่ไม่ทำให้พวกเขาไม่พอใจ
19 เราอยากช่วยคนที่ทนทุกข์ถึงแม้เขาไม่ได้รับใช้พระยะโฮวา เพราะถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็กำลังเลียนแบบชาวสะมาเรียในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซู (ลก. 10:33-37) วิธีที่ดีที่สุดที่เราจะช่วยคนอื่นก็คือการสอนเขาเรื่องข่าวดี ผู้ดูแลคนหนึ่งที่ช่วยผู้ลี้ภัยหลายคนบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะบอกเขาทันทีว่าเราเป็นพยานพระยะโฮวา เราควรบอกให้รู้ว่าจุดประสงค์หลักที่เรามาก็คือเพื่อจะช่วยเขาให้รู้เกี่ยวกับความหวังที่ยอดเยี่ยมในคัมภีร์ไบเบิล ไม่ใช่มาช่วยด้านวัตถุเงินทอง
ได้รับผลที่น่ายินดี
20, 21. (ก) อาจเกิดผลดีอะไรถ้าเราแสดงความรักแท้กับพี่น้องผู้ลี้ภัย? (ข) เราจะเรียนอะไรในบทความถัดไป?
20 ถ้าเราแสดงความรักแท้กับ “คนต่างชาติ” เราจะเห็นผลดีมากมาย พี่น้องหญิงคนหนึ่งเล่าเรื่องที่ครอบครัวของเธอต้องหนีการข่มเหงในเอริเทรีย หลังจากที่ลูก ๆ ของเธอ 4 คนต้องเดินทางข้ามทะเลทรายนาน 8 วัน ในที่สุด พวกเขาก็มาถึงซูดาน พี่น้องหญิงคนนั้นเล่าว่า “พี่น้องที่นั่นดูแลพวกลูก ๆ ของฉันเหมือนญาติสนิท พวกเขาทำอาหาร ให้เสื้อผ้า ที่พัก และช่วยเรื่องการเดินทาง จะมีใครอีกไหมในโลกนี้ที่จะต้อนรับคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านเพียงเพราะเรานมัสการพระเจ้าองค์เดียวกัน? จะมีก็แต่พยานพระยะโฮวาเท่านั้น”—อ่านยอห์น 13:35
21 แล้วเด็ก ๆ ที่ลี้ภัยมาพร้อมกับพ่อแม่ล่ะ? ในบทความถัดไป เราจะเรียนวิธีที่เราทุกคนสามารถช่วยพวกเขาให้รับใช้พระยะโฮวาอย่างมีความสุขได้
^ วรรค 2 ในบทความนี้ คำว่า “ผู้ลี้ภัย” คือคนที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิดเนื่องจากสงคราม การถูกกดขี่ และภัยธรรมชาติ พวกเขาอาจต้องไปอยู่ส่วนอื่นของประเทศหรือถึงกับย้ายไปอยู่ประเทศอื่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) บอกไว้ว่ามีผู้คนถึง 1 ใน 113 คนที่ถูกบังคับให้ย้ายออกจากบ้านเกิดของพวกเขา
^ วรรค 6 ดูบทความ “อย่าลืมแสดงน้ำใจต้อนรับคนจากชาติอื่น” ในหอสังเกตการณ์ ตุลาคม 2016 น. 8-12
^ วรรค 11 ทันทีที่พี่น้องผู้ลี้ภัยเดินทางมาถึง ผู้ดูแลควรทำตามคำแนะนำที่อยู่ในหนังสือรวบรวมเป็นองค์การเพื่อทำตามความประสงค์ของพระยะโฮวา บท 8 ข้อ 30 เพื่อที่ผู้ดูแลจะสามารถติดต่อประชาคมเดิมที่พี่น้องผู้ลี้ภัยย้ายมา ผู้ดูแลอาจเขียนจดหมายถึงสำนักงานสาขาของตนเองผ่านทางเว็บไซต์ jw.org และในเวลาเดียวกัน ผู้ดูแลต้องรู้จักใช้คำถามเพื่อจะรู้เกี่ยวกับประชาคมเดิมของพี่น้องผู้ลี้ภัยและรู้ว่างานรับใช้กับสภาพความเชื่อของเขาเป็นอย่างไร
^ วรรค 14 ดูบทความ “ไม่มีใครเป็นทาสของนายสองคนได้” และ “อย่ากลัวเลย พระยะโฮวาจะช่วยคุณ!” ในหอสังเกตการณ์ 15 เมษายน 2014 น. 17-26