จากปก | ทำไมต้องซื่อสัตย์?
ความไม่ซื่อสัตย์ส่งผลอย่างไรต่อตัวคุณ?
“หลายครั้งแค่ไม่ซื่อสัตย์นิดหน่อยก็ช่วยให้ปัญหาผ่านไปได้”—ซาแมนทา, แอฟริกาใต้
คุณเห็นด้วยกับคำพูดนี้ไหม? พวกเราก็เหมือนกับซาแมนทาที่ต้องเจอกับปัญหายุ่งยากไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง แต่เมื่อเห็นช่องหรือเห็นโอกาสงาม ๆ อยู่ตรงหน้า ท่าทีที่เราแสดงออกมาจะเป็นตัวชี้วัดว่าเราถือว่าอะไรสำคัญกว่า ตัวอย่างเช่น ถ้าเราคิดว่าเกียรติยศชื่อเสียงเป็นเรื่องใหญ่ เราอาจมองว่าจำเป็นต้องไม่ซื่อสัตย์เพื่อรักษาหน้าเอาไว้ แต่เมื่อความจริงปรากฏ ผลที่ตามมาก็มักจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ในแง่ใดบ้าง? ขอให้เรามาดูด้วยกัน
ความไม่ซื่อสัตย์ทำลายความไว้วางใจ
มิตรภาพถูกสร้างขึ้นบนความไว้วางใจ เมื่อคนสองคนมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน พวกเขาก็รู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย แต่ความไว้วางใจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน กว่าที่คนเราจะไว้ใจกันได้ก็ต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกัน พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา และไม่เป็นคนเอาแต่ได้ แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจก็อาจพังทลายเพราะความไม่ซื่อสัตย์แค่ครั้งเดียว และเมื่อหมดความไว้ใจกันแล้ว ก็ยากมากที่จะสร้างขึ้นใหม่
คุณเคยถูกคนที่คุณคิดว่าเป็นเพื่อนหลอกไหม? ถ้าเคย คุณรู้สึกอย่างไร? คุณคงเจ็บแน่ ๆ หรือถึงกับรู้สึกถูกหักหลังด้วยซ้ำ ไม่แปลกเลยที่คุณจะรู้สึกอย่างนั้น และแทบไม่ต้องสงสัยว่าความไม่ซื่อสัตย์ทำให้ความสัมพันธ์ที่มีค่ามากขาดสะบั้นได้
ความไม่ซื่อสัตย์แพร่เชื้อได้
ผลจากการศึกษาวิจัยของโรเบิร์ต อินเนส อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แสดงว่า “ที่จริง ความไม่ซื่อสัตย์ก็เหมือนกับโรคติดต่อ” ดังนั้น ความไม่ซื่อสัตย์อาจเปรียบได้กับไวรัส ยิ่งคุณติดต่อเกี่ยวข้องกับคนหลอกลวงมากเท่าไร คุณก็ยิ่งมีโอกาสที่จะ “ติดเชื้อ” ความไม่ซื่อสัตย์มากเท่านั้น
คุณจะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดกับดักและกลายเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ได้อย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลช่วยได้ ลองอ่านคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลสัก 2-3 ข้อ ที่เราจะพูดถึงในบทความถัดไปสิ