รักตั้งแต่แรกเห็นและตลอดไป!
รักตั้งแต่แรกเห็นและตลอดไป!
ดร. ซีซิลเลีย แม็คคาร์ตันแห่งวิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ ในนครนิวยอร์ก ให้ความเห็นว่า “ถ้าคุณเฝ้าดูทารกแรกเกิด เขาตื่นตัวและรับรู้สิ่งที่อยู่รอบตัวได้อย่างยอดเยี่ยม. เขาสนองตอบมารดาของเขา. เขาหันเข้าหาเสียง. และเขาจ้องดูหน้าแม่.” และแม่สบตากับลูกของเธอ. นั่นละ เป็นความรักตั้งแต่แรกเห็น—สำหรับทั้งสองฝ่าย!
ชั่วขณะแห่งการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างแม่กับทารก
เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถ้าการคลอดเป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ใช้ยาเพื่อระงับความรู้สึกของมารดาและทารก. การร้องไห้ของเขากระตุ้นการผลิตน้ำนมของมารดา. การสัมผัสผิวหนังของทารกกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนซึ่งลดการตกเลือดหลังคลอด. ทารกคลอดออกมาพร้อมด้วยโปรแกรมทางสมองเพื่อให้ได้ความมั่นใจในความผูกพันรักใคร่—การร้องไห้ การดูดนม การพูดอ้อแอ้ และหัวเราะกิ๊กกั๊ก ยิ้ม และขยับแขนขาอย่างลิงโลดเพื่อดึงดูดความสนใจของมารดา. การผูกพัน โดยเฉพาะกับมารดา ทำให้ทารกสามารถพัฒนาความรู้สึกในเรื่องความรักและห่วงใยและไว้วางใจ. ไม่ช้าพ่อก็เข้ามามีบทบาทสำคัญฐานะผู้สานสร้างความผูกพันต่อไป. สัมพันธภาพของเขากับลูก ขาดความสนิทใกล้ชิดอย่างของแม่ แต่ก็เสริมมิติสำคัญอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ เย้าแหย่ จี้ให้หัวเราะ หยอกล้อกันเบา ๆ ซึ่งทารกตอบรับด้วยการหัวเราะตื่นเต้นและดิ้นพลิกตามไป.ดร. ริชาร์ด เรสแท็ครายงานว่า สำหรับทารกแรกเกิดการอุ้มและกอดเขาไว้เหมือนกับการให้อาหารบำรุง. เขาบอกว่า “การสัมผัส” เป็นสิ่งจำเป็นแก่การเติบโตตามปกติของทารกไม่แพ้อาหารและออกซิเจน. แม่อ้าแขนออกโอบกอดทารกไว้ ช่วงนั้นขบวนการชีวภาพทางจิตใจหลายรูปแบบถูกทำให้ประสานกัน.” ภายใต้การปฏิบัติเช่นนี้ แม้กระทั่งสมองก็พัฒนารูปลักษณะ “ส่วนนูนและส่วนร่องต่างไปจากเดิม.”
ระวังอย่าแยกจากกัน
บางคนชี้ให้เห็นว่าถ้าการผูกพันกันระหว่างมารดากับทารกไม่มีขึ้นตอนคลอดแล้ว โศกนาฏกรรมจะเกิดขึ้นในวันหน้า. ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก. ด้วยความเป็นแม่ที่เปี่ยมความรักมีอีกตั้งหลายร้อยโอกาสที่จะอยู่ใกล้ชิดกันในสัปดาห์ต่อ ๆ ไปซึ่งทำให้การเชื่อมสัมพันธ์นั้นแน่นแฟ้นขึ้น. อย่างไรก็ดี การไม่มีความสนิทชิดใกล้ในลักษณะนั้นเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ผลอันน่าสพึงกลัวได้. ดร. เรสแท็คบอกเราว่า “แม้ว่าพวกเราทุกคนมีความต้องการกันและกันชั่วชีวิต ความจำเป็นเช่นนั้นมีสูงมากในขวบแรก. ลองเอาสิ่งเหล่านี้ออกไปจากทารก การเห็นแสงสว่าง, โอกาสจ้องหน้าคน, รับความยินดีที่เกิดจากการถูกอุ้ม, ถูกกอดรัด, ถูกกระซิบกล่อมข้างหู, เอาอกเอาใจ, ถูกสัมผัส,—ทารกจะไม่อาจทานทนกับการขาดสิ่งเหล่านั้น.”
ทารกร้องด้วยหลายสาเหตุ. ปกติแล้วเขาเรียกร้องความสนใจ. ถ้าเสียงร้องไม่มีการสนองรับสักพักหนึ่ง เขาอาจหยุดร้อง. เขารู้สึกว่าผู้เลี้ยงดูไม่ตอบ. เขาก็ร้องอีก. ถ้ายังไม่มีการสนอง เขารู้สึกถูกทอดทิ้ง รู้สึกไม่ปลอดภัย. เขาจะพยายามหนักขึ้นอีก. ถ้าเป็นอย่างนี้นานเข้าและถ้าเกิดขึ้นซ้ำหลายครั้งหลายหน ทารกรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง. ตอนแรกเขาจะโกรธ ถึงกับโกรธแค้นด้วยซ้ำ และในที่สุดก็ยอมแพ้. การแยกตัวก็เกิดขึ้น. ไม่ได้รับความรัก เขาไม่เรียนรู้การแสดงความรัก. สติรู้สึกผิดชอบด้อยพัฒนา. ไม่ไว้ใจใคร ไม่ห่วงใยใคร. กลายเป็นเด็กเจ้าปัญหา และในกรณีร้ายแรงสุดขีด มีบุคลิกแบบจิตวิปริต ไม่สามารถรู้สึกเสียใจต่อการประกอบอาชญากรรม.
ความรักเมื่อแรกเห็นยังไม่ยุติแค่นั้น. ต้องดำเนินตลอดไปหลังจากนั้น. มิใช่เพียงคำพูดแต่การกระทำด้วย. “อย่าให้เรารักเพียงแต่ถ้อยคำและลิ้นเท่านั้น แต่ให้เรารักด้วยการประพฤติและด้วยความจริง.” (1 โยฮัน 3:18) กอดและจูบให้มาก. ตั้งแต่วัยทารกเป็นต้นไป ก่อนที่จะสายเกินไป สั่งสอนอบรมในค่านิยมอันแท้จริงแห่งพระวจนะของพระเจ้าคือคัมภีร์ไบเบิล. และแล้วจะเป็นอย่างนั้นกับลูกของท่านเหมือนได้เป็นกับติโมเธียว: “ตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ [ทารก, ล.ม.] มา ท่านได้รู้จักคำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีฤทธิ์อาจให้ท่านได้ปัญญา.” (2 ติโมเธียว 3:15) ใช้เวลากับทารกทุกวันตลอดช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น. “ถ้อยคำเหล่านี้ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้ ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้ และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง หรือนอนลง และตื่นขึ้น.”—พระบัญญัติ 6:6, 7.
‘เราอาจร้องไห้ แต่แม่ทำเพื่อประโยชน์ดีที่สุด’
การตีสอนเป็นเรื่องไม่ค่อยน่าพอใจสำหรับหลาย
คน. อย่างไรก็ดี เมื่อใช้อย่างถูกต้อง นับเป็นส่วนสำคัญยิ่งแห่งความรักของบิดามารดา. เด็กหญิงเล็ก ๆ คนหนึ่งตระหนักเรื่องนี้. เธอทำการ์ดเพื่อมารดาของเธอมีจ่าหน้าดังนี้ “แด่คุณแม่ สุภาพสตรีผู้ประเสริฐ.” การ์ดใบนี้ระบายด้วยดินสอสี ภาพดวงอาทิตย์สีทอง นกโผบิน และดอกไม้แดง. ข้อความมีว่า “เพื่อคุณแม่เพราะพวกหนูทุกคนรักแม่. หนูต้องการแสดงความหยั่งรู้ค่าโดยทำการ์ดนี้ขึ้นมา. เมื่อหนูได้คะแนนสอบไม่ดี คุณแม่เซ็นชื่อรับทราบ. เมื่อหนูทำตัวไม่ดี คุณแม่ตีหนู. หนูอาจร้องไห้ แต่หนูทราบว่าคุณแม่ทำเพื่อประโยชน์ดีที่สุด. . . . หนูอยากบอกเพียงว่าหนูรักแม่มาก ๆ. ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่แม่ทำสำหรับหนู. ขอส่งความรักและส่งจูบ [ลงชื่อ] มิเชล.”มิเชลเห็นพ้องกับพระธรรมสุภาษิต 13:24 ที่ว่า “บุคคลผู้ไม่ยอมใช้ไม้เรียวก็เป็นผู้ที่ชังบุตรของตน แต่บุคคลผู้รักบุตรย่อมเฆี่ยนตีสั่งสอน.” การใช้ไม้เรียว หมายถึงอำนาจ อาจรวมถึงการตี แต่บ่อยครั้งไม่ใช่. เด็กต่างคนก็ต่างการประพฤติที่ไม่ดี จึงต้องใช้การลงโทษต่างกัน. การดุว่าด้วยใจกรุณาอาจเพียงพอ การดื้อรั้นอาจต้องใช้ยาขนานแรงกว่า: “คนที่เข้าใจเมื่อถูกว่ากล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ซึมซาบยิ่งกว่าคนโฉดเขลาที่ถูกโบยสักร้อยราย [ครั้ง ล.ม.].” (สุภาษิต 17:10) อีกข้อหนึ่งก็ใช้ได้คือ “ที่จะใช้วาจาว่ากล่าวทาส [หรือเด็ก] ย่อมไม่เป็นผล ด้วยว่าถึงเขาจะเข้าใจคำของเจ้าแล้ว เขาก็จะไม่ทำตาม.”—สุภาษิต 29:19.
ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “ว่ากล่าวตักเตือน” หมายถึง แนะนำสั่งสอน อบรม ลงโทษ—รวมทั้งเฆี่ยนตี ถ้าจำเป็นเพื่อแก้พฤติกรรม. เฮ็บราย 12:11 แสดงจุดมุ่งหมายไว้ว่า “การตีสอนทุกอย่างเมื่อกำลังถูกอยู่นั้นไม่เป็นการชื่นใจเลย แต่เป็นการเศร้าใจ แต่ภายหลังก็กระทำให้เกิดผลเป็นความสุขสำราญแก่บรรดาคนที่ต้องทนอยู่นั้น คือความชอบธรรมนั่นเอง.” บิดามารดาต้องไม่รุนแรงเกินไปในการว่ากล่าวตักเตือน. “ฝ่ายบิดา ก็อย่ายั่วบุตรของตนให้ขัดเคืองใจ เกรงว่าเขาจะท้อใจ.” (โกโลซาย 3:21) ทั้งไม่ปล่อยหละหลวมมากเกินไป: “ไม้เรียวที่ตีสอนทำให้เกิดปัญญา แต่เด็กที่ถูกละเลยนั้นเป็นเหตุกระทำให้มารดาของตนได้ความละอาย.” (สุภาษิต 29:15) การปล่อยตามใจก็เหมือนจะพูดว่า ‘จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ อย่ามากวนฉัน.’ แต่การว่า กล่าวตักเตือน ส่งเสียงว่า ‘ทำสิ่งที่ถูกต้อง ฉันห่วงเธอ.’
ยู. เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ท วันที่ 7 สิงหาคม 1989 พูดอย่างถูกต้องว่า “บิดามารดาซึ่งมิได้ลงโทษบุตรรุนแรง แต่ตั้งขอบเขตไว้อย่างมั่นคงและยึดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น มีทางเป็นไปได้มากกว่าที่จะสร้างเด็กซึ่งประสบความสำเร็จสูงและเข้ากันได้ดีกับคนอื่น ๆ.” บทความได้สรุปไว้ว่า “บางทีสาระสำคัญที่เด่นชัดที่สุดจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้นคือ การจัดให้มีรูปแบบของความรักและความไว้วางใจ และขอบเขตที่ยอมรับได้ภายในแต่ละครอบครัวนั้นแหละเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ หาใช่รายละเอียดทางวิชาการมากมายไม่. เป้าหมายที่แท้จริงของการว่ากล่าวตักเตือน (discipline เป็นคำที่มาจากรากศัพท์เดียวกันกับคำ disciple ในภาษาลาติน) มิใช่การลงโทษเด็กดื้อด้านแต่สั่งสอนและแนะแนวทางแล้วช่วยปลูกฝังการควบคุมจากภายใน.”
เขาได้ยินสิ่งที่คุณพูด เขาเลียนแบบสิ่งที่คุณทำ
บทความเรื่องการว่ากล่าวตักเตือนในหนังสือ เดอะ แอตแลนติก มันธ์ลี เริ่มเรื่องดังนี้ “จะคาดหมายให้เด็กประพฤติดีก็ต่อเมื่อพ่อแม่ดำเนินชีวิตตามค่านิยมที่ตนสอน.” บทความแสดงให้เห็นต่อไปถึงค่านิยมของการควบคุมที่ฝังลึกภายในดังนี้: “วัยรุ่นซึ่งมีความประพฤติดีมักจะมีบิดามารดาซึ่งมีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม และมีวินัยในตัวเอง—ซึ่งดำรงชีวิตสอดคล้องกับค่านิยมที่พวกเขาเชื่อ และสนับสนุนลูกให้ดำเนินตาม. ฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ เมื่อให้วัยรุ่นที่ดีคบค้ากับวัยรุ่นมีปัญหา พฤติกรรมของเด็กดีไม่ได้รับผลกระทบอย่างถาวร. พวกเขาได้ทำให้ค่านิยมของพ่อแม่เป็นลักษณะภายในอย่างเหนียวแน่น.” ปรากฏเป็นจริงดังที่พระธรรมสุภาษิตบอกไว้ว่า “จงฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น และเมื่อแก่ชราแล้ว เขาจะไม่เดินห่างจากทางนั้น.”—สุภาษิต 22:6.
บิดามารดาซึ่งพยายามจะปลูกฝังค่านิยมแท้จริงในบุตรของตน แต่พวกเขาเองไม่ดำเนินตามนั้น ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ. ลูกของเขา “ไม่สามารถรับค่านิยมนั้น
เข้าไว้เป็นลักษณะภายในได้.” การศึกษาวิจัยพิสูจน์ว่า “สิ่งที่ก่อผลแตกต่างกันคือบิดามารดาดำเนินชีวิตตามค่านิยมซึ่งเขาพยายามสอนลูกของตนอย่างใกล้ชิดจริง ๆ.”ปรากฏเป็นจริงอย่างที่ เจมส์ บอลด์วิน นักประพันธ์พูดไว้ว่า “เด็ก ๆ ไม่ค่อยจะฟังดี ๆ เมื่อผู้ใหญ่พูด แต่เลียนแบบผู้ใหญ่อย่างไม่ผิดพลาด.” ถ้าคุณรักลูก และอยากจะสอนค่านิยมอันแท้จริงแก่เขา จงใช้วิธีที่ดีที่สุด คุณเป็นตัวอย่างในการทำตามคำสอนของตนเอง. อย่าเป็นเหมือนอาลักษณ์และฟาริซายซึ่งพระเยซูตำหนิว่าหน้าซื่อใจคดที่ว่า “เหตุฉะนั้น ทุกสิ่งซึ่งเขาสั่งสอนพวกท่าน จงถือประพฤติตาม เว้นแต่การประพฤติของเขาอย่าได้ทำตามเลย. เพราะเขาเป็นแต่ผู้สั่งสอน แต่เขาเองหาทำตามไม่.” (มัดธาย 23:3) หรือเป็นเช่นผู้ที่อัครสาวกเปาโลกล่าวโทษด้วยคำถามว่า “เหตุฉะนั้น ท่านผู้สอนคนอื่นไม่สอนตัวเองหรือ? ท่านผู้ประกาศว่า ‘ไม่ควรลักทรัพย์’ ตัวท่านเองยังลักหรือ?”—โรม 2:21.
ปัจจุบันนี้ หลายคนถือว่าคัมภีร์ไบเบิลล้าสมัยและข้อแนะแนวใช้การไม่ได้. พระเยซูท้าทายทัศนะนั้นด้วยคำตรัสว่า “อย่างไรก็ตาม สติปัญญาถูกพิสูจน์ว่าชอบธรรมก็โดยลูก ๆ ของสติปัญญานั้น.” (ลูกา 7:35, ล.ม.) เรื่องราวของครอบครัวต่อไปนี้จากหลายประเทศ พิสูจน์ว่าคำตรัสนั้นจริง.
[รูปภาพหน้า 7]
ความผูกพันใกล้ชิดกับมารดาช่วยให้ทารกพัฒนาความสามารถทางอารมณ์ความรู้สึก
[รูปภาพหน้า 8]
เวลาที่บิดาให้กับลูกน้อยของตนเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน