อย่ามองข้ามเมื่อร่างกายเตือน
อย่ามองข้ามเมื่อร่างกายเตือน
โดยผู้เขียนตื่นเถิด ในไอร์แลนด์
สำหรับยูนาและรอนสามีของเธอประสบการณ์นั้นช่างน่ากลัวและปวดร้าว. คืนหนึ่งอันหนาวเย็นในเดือนมกราคม ยูนาหมดสติไป. รอนตามแพทย์มาตรวจ ซึ่งแพทย์คิดว่าปัญหาน่าจะเป็นความไม่สมดุลของฮอร์โมนซึ่งส่งผลกระทบรังไข่ของเธอและสั่งให้เธอไปโรงพยาบาล. รอนขับรถพาภรรยาของเขา—ผู้ซึ่งกำลังเสียเลือดและเจ็บปวดมาก—ข้ามผ่านภูเขาตามถนนที่มืดมิดและเป็นหลุมเป็นบ่อไปส่งโรงพยาบาลซึ่งอยู่ไกลออกไป 80 กิโลเมตร.
อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลนั้นไม่สามารถให้การรักษาโรคนี้ได้ ดังนั้น เธอจึงถูกย้ายไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่และทันสมัยกว่าซึ่งอยู่ไม่ไกล. ที่นั่นเธอได้รับการผ่าตัดอย่างประสบผลและคืนสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็ว.
รอนและยูนารู้สึกขอบคุณเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสำหรับความเชี่ยวชาญและการเอาใจใส่ซึ่งช่วยชีวิตยูนาไว้. ขณะพวกเขากำลังแสดงการขอบคุณต่อวิสัญญีแพทย์ วิสัญญีแพทย์ก็พูดขึ้นว่าเขายินดีเพียงไรเมื่อทุกสิ่งเรียบร้อยดี. แล้วเขาออกความคิดเห็นอันน่าสนใจว่า “โรคเฉพาะสตรีไม่กี่อย่างที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน. ส่วนใหญ่แล้วจะมีสัญญาณบอกให้รู้ล่วงหน้าเป็นเวลานาน.” เขาหมายความเช่นไร?
สัญญาณเตือนภัย
ยูนาอธิบายว่าเธอเคยมีปัญหาเมื่อสองปีก่อนหน้านี้. ระหว่างการมีประจำเดือน เลือดจะไหลออกมาเพียงเฉพาะเมื่อเธอทำงานหนัก ๆ บางอย่าง และส่วนใหญ่จะเป็นก้อนเลือด. เธอบอกว่า “ดิฉันควรไปหาคำแนะนำทางการแพทย์แต่ดิฉันไม่ได้ใส่ใจ คิดว่าบางทีดิฉันอาจกำลังเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือนก่อนปกติ. และแล้วในเดือนมกราคม ประจำเดือนของดิฉันก็หยุดหลังจากมาได้สองวัน และสามวันต่อมาก็เริ่มมาใหม่อย่างมากมายพร้อมทั้งเลือดก้อนใหญ่ ๆ. ดิฉันไม่กังวลอะไรมากนัก แต่พอวันที่สอง ดิฉันถึงกับต้องนอนพักเนื่องจากรู้สึกไม่สบายมาก. แต่เราก็ยังไม่ได้ตามแพทย์มา. นั่นเป็นคืนที่ดิฉันต้องถูกส่งไปโรงพยาบาลโดยด่วน.”
สิ่งที่เธอประสบนี้สามารถป้องกันไว้จากการตกเข้าสู่เหตุฉุกเฉินที่คุกคามได้ไหม? ยูนาคิดว่าบางทีอาจเป็นได้ ถ้าเธอรู้จักที่จะพิจารณาอาการของโรคและลงมือปฏิบัติโดยไม่รีรอ. น่าเสียดาย เธอกล่าวว่า “เช่นเดียวกับผู้หญิงหลายคน ดิฉันมักจะไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือน ไม่เอาใจใส่จริงจัง.” ที่จริงแล้ว อาการของยูนาเป็นลักษณะของโรคเกี่ยวกับรังไข่ซึ่งต้องเอาใจใส่ทันที.
แต่ละเดือนผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์จะมีสิ่งบ่งชี้ถึงสุขภาพโดยทั่ว ๆ ไปของเธอ: กรรมวิธีตามธรรมชาติแห่งการมีประจำเดือน. ความผิดปกติใดที่ผิดหูผิดตามาก ๆ ก็คือสัญญาณเตือนภัย. ในบางกรณีหากฝืนสัญญาณเตือน อาจหมายถึงผลต่างระหว่างการรักษาทางการแพทย์แบบธรรมดากับการผ่าตัด.
แล้วทำไมสัญญาณเหล่านี้จึงมักถูกเพิกเฉยหรือถือว่าไม่สำคัญ? ในหลายครอบครัว ภรรยาเป็นผู้วางแผนเรื่องโภชนาการของครอบครัว จัดการเรื่องการเยียวยา และคอยดูเรื่องสุขอนามัยของครอบครัว. ในการทำเช่นนั้น เธออาจละเลยปัญหาของเธอเอง. บางที เช่นในกรณีของยูนา เธอไม่แน่ใจเกี่ยวกับความหมายแห่งอาการทางร่างกายของเธอ. หรืออาจเป็นได้ว่างบประมาณสำหรับการเอาใจใส่สุขภาพมีจำกัด และเธอก็ให้ความ
สำคัญกับลูกและสามีของเธอก่อน โดยหวังว่าปัญหาของเธอจะหายไปเอง. เธออาจกลัว จึงเลือกเอาความไม่สบายของเธอในปัจจุบันแทนการรับบาดเจ็บในโรงพยาบาลตามที่นึกคิด. เธออาจเป็นมารดาที่ทำงานอาชีพด้วย ไม่สามารถหรือไม่ยอมจัดเวลาไว้สำหรับสวัสดิภาพของตัวเธอเอง.แพทย์กล่าวว่า ในหลายกรณีภรรยาถูกทิ้งไว้ให้ทรมานกับปัญหาสุขภาพของเธอตามลำพัง. บางทีสามีของเธออาจไม่ค่อยใส่ใจกับ “ปัญหาผู้หญิง.” อย่างไรก็ดี สามีผู้ซึ่งรักภรรยาของตนจะรับรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเพื่อสามารถปกป้องดูแลสวัสดิภาพของภรรยาได้. คัมภีร์ไบเบิลแนะนำผู้ชายว่า “ท่านทั้งหลายทุกคนจงต่างคนต่างรักภรรยาเหมือนรักตัวเอง.” (เอเฟโซ 5:28,33) เหตุฉะนั้น สามีและบิดามารดาสามารถช่วยภรรยาและลูกสาวของตนให้หลีกเลี่ยงจากภาวะฉุกเฉินที่ไม่จำเป็นได้อย่างไร?
สังเกตสัญญาณ
จงตื่นตัวต่อสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนภัย. ตัวอย่างเช่น เลือดไหลหรือสิ่งอื่นถูกขับออกอย่างผิดปกติ แม้ว่าไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรก็ควรจะเข้ารับการตรวจ. * เช่นเดียวกันถ้าเหนื่อยผิดปกติ เสียเลือดมาก และมีปัญหาในการปัสสาวะ. เหล่านี้อาจเป็นอาการของเนื้องอก ซึ่งง่ายต่อการรักษาถ้าตรวจพบแต่เนิ่น ๆ.
ที่ไม่ควรเพิกเฉยก็ได้แก่ การปวดหลังเรื้อรัง การรู้สึกเหมือนมีแรงดันในช่องคลอด หรือปัสสาวะไหลเมื่อออกแรง. สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณให้รู้ถึงสภาพที่อาจแก้ไขได้โดยการออกกำลังในขั้นต้นแต่อาจต้องทำการผ่าตัดถ้าปล่อยทิ้งไว้. *
นอกเหนือจากการตอบรับต่ออาการต่าง ๆ เช่นนั้นแล้ว สตรีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจทางการแพทย์เป็นประจำ โดยเน้นการตรวจเต้านม, ช่องท้องและอวัยวะเชิงกราน. ควรทำทุก ๆ สองปีหรือบ่อยครั้งเท่าที่จำเป็น โดยขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพครอบครัวและของตน.
ระหว่างช่วงเวลาพิเศษ
ควรจำสามขั้นในชีวิตของผู้หญิงเมื่อผู้ซึ่งรักเธอควรให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ: ช่วงที่เด็กสาวเริ่มมีประจำเดือน, ช่วงตั้งครรภ์และคลอดบุตร, ช่วงหมดประจำเดือน. ระหว่างแต่ละขั้นเหล่านี้อาจมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นซึ่งคำแนะนำหรือการรักษาทางการแพทย์สามารถป้องกันไว้จากภาวะฉุกเฉินได้.
ช่วงเริ่มมีประจำเดือน: เด็กสาวต้องการความรู้ทางสุขภาพเพื่อช่วยเธอเข้าใจการทำงานของร่างกายและทำให้การเริ่มมีประจำเดือนไม่เป็นเรื่องลึกลับน่ากลัว. บิดามารดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมารดา ควรสนทนาเรื่องนี้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมากับลูกสาวของตน. ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น เด็กสาวไม่ควรจะถูกทิ้งให้สงสัยอย่างเหนียมอายว่าเกิดอะไรผิดปกติขึ้นหรือรู้สึกว่าพวกเขาต้องอดทนกับประจำเดือนที่มาอย่างหนัก หรือการปวดอย่างรุนแรงในช่วงนั้นของเดือน. ถ้าบิดามารดาไม่สามารถช่วยได้ บางทีเพื่อนผู้หญิงที่อายุมากกว่าอาจชี้แนะในเรื่องคำแนะนำทางการแพทย์ที่เหมาะสม.
หญิงสาวจะทราบได้อย่างไรว่าประจำเดือนของเธอเป็นปกติ? ในบุคคลคนเดียวกันอาจมีความผันแปรอย่างมากทีเดียว. ประจำเดือนที่มาไม่สม่ำเสมอเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงหกเดือนแรกถึงหนึ่งปี (หรือแม้แต่สองปีในบางกรณี) หลังจากช่วงแรกเริ่มมีประจำเดือน และมักจะเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยทางฮอร์โมน. หลังจากช่วงปีแรก ๆ เหล่านี้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งเป็นคราวในเรื่องความยาวของรอบประจำเดือนหรือในลักษณะการไหลของเลือด นี้ก็ถือว่าปกติ. การเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนให้เข้ารับการตรวจทางการแพทย์.
ส่วนประกอบของการเรียนรู้เรื่องสุขภาพเกี่ยวข้องกับโภชนาการ. อาหารที่ไร้คุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเน้นเรื่องรสชาติมากกว่าการบำรุงร่างกาย และการ
เป็นห่วงเรื่องน้ำหนัก มักทำให้เด็กสาววัยรุ่นไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะ โดยเฉพาะแคลเซียมและเหล็ก. หญิงสาวที่วงจรการตกไข่ยังไม่สม่ำเสมอมักจะสูญเสียเลือดมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในระหว่างมีประจำเดือน จึงเพิ่มความต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น. ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะรับประทานให้สมดุลและหลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ได้ผ่านกรรมวิธีหลายอย่าง. บางครั้งอาจแนะนำให้มีการเสริมธาตุเหล็ก.ช่วงตั้งครรภ์และคลอดบุตร: สูติแพทย์แนะนำให้รับการตรวจแต่เนิ่น ๆ ก่อนคลอดสำหรับหญิงมีครรภ์. เขาอาจตรวจเลือดเพื่อดูว่าต้องเสริมธาตุเหล็กหรือกรดใบไม้ไหม. เนื่องจากหญิงมีครรภ์ง่ายมากกว่าที่จะตกเลือด การเอาใจใส่ต่อสัญญาณเตือนจึงยิ่งสำคัญมากขึ้น.
แม้ว่ามีเลือดไหลออกมาเพียงนิดเดียวระหว่างตั้งครรภ์ ก็จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจทางการแพทย์. สัญญาณอันตรายอื่น ๆ ช่วงนี้คือการเจ็บตะโพก มีเลือดปนในปัสสาวะ และรู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ. แต่ความผิดปกติ หรืออาการอื่นใดก็ควรรายงานให้สูติแพทย์ทราบเสียแต่เนิ่น ๆ. เมื่อเงินขาดมือ สามีก็มีความรับผิดชอบเป็นพิเศษเพื่อสุขภาพและชีวิตของผู้ซึ่งกลายมาเป็น “เนื้อเดียวกัน” ไม่ปล่อยให้ชีวิตของเธอล่องลอยไปสู่อันตราย.—มัดธาย 19:5,6; เอเฟโซ 5:25.
ช่วงหมดประจำเดือน: เมนโนพอซเป็นคำศัพท์ทางการแพทย์สำหรับการจบสิ้นรอบการมีประจำเดือนอย่างสมบูรณ์. ปกติช่วงนี้เป็นที่รู้กันว่าช่วงเปลี่ยนวัย หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิต และเป็นขั้นตอนตามธรรมชาติขั้นหนึ่งในชีวิตผู้หญิง. ในความหมายกว้างหมายถึงช่วงหลายเดือนหรือแม้แต่หลายปีก่อนและหลังเหตุการณ์ธรรมชาตินี้. ผู้หญิงหลายคนประสบกับอาการทางร่างกายอันน่าอึดอัดระหว่างช่วงนี้—เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และร้อนวูบวาบ—แต่อาการเหล่านี้จะหมดไป. ถ้าเลือดประจำเดือนไหลนานหรือมีมาก หรือมีประจำเดือนอีกภายหลังหกเดือนหรือมากกว่านั้นหลังจากดูเหมือนมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายในชีวิตแล้ว ควรไปพบแพทย์ในทันที.
จริงอยู่ ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้ากรณีฉุกเฉินทุกกรณีได้. “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า” ย่อมบังเกิดแก่เราทุกคน. (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) แต่ดังที่วิสัญญีแพทย์กล่าวกับยูนา: “โรคเฉพาะสตรีไม่กี่อย่าง ที่เกิดขึ้นฉับพลัน.” การศึกษาด้านสุขภาพมาอย่างดีและการตระหนักถึงกลไกของร่างกายอาจป้องกันผู้หญิงไว้จากภาวะฉุกเฉินเกี่ยวด้วยโรคของสตรีที่อาจเกิดขึ้นได้. เป็นการดีกว่าที่จะป้องกันกรณีฉุกเฉินแทนที่จะเพิกเฉยต่อคำเตือนจนกระทั่งต้องเผชิญกับช่วงวิกฤติ. ดังนั้น ภรรยาและสามี พึงเอาใจใส่สัญญาณเตือนภัยของร่างกาย!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 13 ในบางกรณี แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งเหล่านี้อาจเป็นอาการของมะเร็งคอมดลูก ซึ่งในกรณีส่วนมากแล้วรักษาให้หายได้ถ้าตรวจพบแต่เนิ่น ๆ.
^ วรรค 14 มดลูกยื่นออกมาจากช่องคลอดหรือที่เรียกกันว่ามดลูกย้อย.
[รูปภาพหน้า 30]
สามีที่เห็นอกเห็นใจสามารถช่วยภรรยาของเขาให้เอาใจใส่ต่อคำเตือนของร่างกายของเธอ.