การเติบโตอย่างมหัศจรรย์
การเติบโตอย่างมหัศจรรย์
พยานพระยะโฮวาไม่เคยเป็นภัยคุกคามต่อพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของประเทศต่าง ๆ ที่พวกเขาอาศัยอยู่ และเรื่องนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน. เมื่อกล่าวถึงการประชุมภาคในฤดูร้อนนี้แห่งหนึ่งที่สหภาพโซเวียต หนังสือพิมพ์ชื่อกราสโนยาสกี คอมโซโมเลทส์ ให้ข้อสังเกตว่า: “ในที่สุด พวกนักทฤษฎีของประเทศเราก็เข้าใจว่า คนของพระยะโฮวาไม่เป็นภัยคุกคามเลยต่อกฎหมายและระเบียบของสาธารณชน.”
ในทำนองคล้ายกัน หนังสือพิมพ์ของโซเวียตชื่อวอสต็อคโน–ซิบิร์สกายา ปราฟดา รายงานว่า: “เนื่องจากองค์การของพยานพระยะโฮวาเป็นองค์การทางศาสนาที่เข้มงวดกวดขัน พวกเขาไม่เข้าร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองและไม่สนับสนุนสมาชิกของเขาให้ช่วยเหลือกลุ่มการเมืองใด ๆ แต่พวกเขาสนับสนุนอำนาจของคัมภีร์ไบเบิลและผู้ประพันธ์พระคัมภีร์ พระยะโฮวาพระเจ้า.”
การเติบโตในปีแรก ๆ
พยานพระยะโฮวาดำเนินงานในทวีปยุโรปตะวันออกมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว. เมื่อปลายทศวรรษปี 1930 มีพวกพยานฯ อยู่แล้วในโรมาเนียกว่าสองพันคน, ในโปแลนด์หนึ่งพันคน, และหลายร้อยคนในเชโกสโลวะเกียและฮังการี, และหลายสิบคนในยูโกสลาเวีย. ถึงแม้จะมีเพียงจำนวนน้อยนิดในสหภาพโซเวียต สิ่งนี้ก็ได้พลิกโฉมในฉับพลัน.
ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องราวเกี่ยวกับโซเวียต วอลเตอร์ โคลาร์ซ กล่าวไว้ในหนังสือของเขาชื่อรีลิจัน อิน เดอะ โซเวียต ยูเนียน (ศาสนาในสหภาพโซเวียต) ว่า พยานฯ คนอื่น ๆ เข้าไปยังรัสเซีย “โดยทางดินแดนต่าง ๆ ซึ่งถูกผนวกเข้าไว้ในอาณัติของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1939–1940 ที่ซึ่งมีพยานพระยะโฮวากลุ่มเล็ก ๆ แต่แข็งขันมากทีเดียว.” ด้วยเหตุนี้เอง พยานฯ ซึ่งอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกของโปแลนด์, เชโกสโลวะเกีย, และ โรมาเนีย จึงพบว่าตนเองถูกโยกย้ายเข้าไปอยู่ในสหภาพโซเวียตเพราะการผนวกดินแดนนั้น เพียงชั่วข้ามคืน!
อีกวิธีหนึ่งที่แปลกประหลาดซึ่งพวกพยานพระยะโฮวาถูกนำเข้าสู่สหภาพโซเวียตก็คือโดยทางค่ายกักกันของเยอรมนี. เป็นไปอย่างไรกัน? นั่นก็คือ ในระหว่างสงครามโลกที่สอง พวกนักโทษชาวรัสเซียได้อยู่ในค่ายกักกันดังกล่าวร่วมกับพวกพยานฯ ชาวเยอรมันหลายพันคน. พวกพยานฯ ชาวเยอรมันเหล่านั้นถูกจับโยนเข้าค่ายกักกันเพราะพวกเขารักษาความเป็นกลางแบบคริสเตียนไว้อย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ (โยฮัน 17:16; 18:36) พวกเขายินยอมจะทนทรมานและเสียชีวิตแทนที่จะละเมิดกฎหมายของพระเจ้าโดยการเข้าร่วมในกองทัพของฮิตเลอร์แล้วกลายเป็นผู้มีความผิดฐานฆ่าเพื่อนคริสเตียนด้วยกันในประเทศอื่น ๆ หรือฆ่าใครก็ตามเนื่องด้วยเรื่องนั้น.—1 โยฮัน 3:10–12.
เพราะฉะนั้น ดังที่โคลาร์ซเขียนว่า “ถึงแม้ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อที่ค่ายกักกันของเยอรมันได้เป็นร่องทางหนึ่งที่ข่าวสารของพยานพระยะโฮวามาถึงรัสเซีย. ข่าวสารถูกนำไปถึงที่นั่นโดยนักโทษชาวรัสเซียในเยอรมนีซึ่งเคยยกย่องนับถือความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวมั่นคงของพวก ‘พยานฯ’ และอาจได้พบว่าหลัก
เทววิทยาของพวกเขาเป็นที่น่าดึงดูดใจเนื่องด้วยเหตุนั้นเอง.” ในค่ายกักกันสตรีที่ราเฟนสบูร์กแห่งเดียว มีรายงานว่ามีเยาวชนชาวรัสเซียจำนวนมากได้รับเอาข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลที่พยานพระยะโฮวาได้ประกาศ.หลังสงคราม พวกนักโทษจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกซึ่งมาเป็นพยานพระยะโฮวาได้กลับสู่ประเทศบ้านเกิดของตน. ที่นั่น พวกเขาได้สั่งสอนว่าการปกครองโดยราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นความหวังเพียงหนึ่งเดียวสำหรับสันติภาพถาวร. ด้วยเหตุนั้น จำนวนพยานฯ ในยุโรปตะวันออกจึงเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต. ภายในเดือนเมษายน 1946 มีพยานฯ กว่าสี่พันคนทำการประกาศอยู่ในสหภาพโซเวียต และจำนวนนี้ได้เพิ่มเป็นสองเท่าอย่างรวดเร็ว. ในเดือนกันยายน 1946 พยานฯ ในโรมาเนียได้จัดการประชุมใหญ่ขึ้นในกรุงบูคาเรสต์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 15,000 คน.
หลังจากนั้นไม่นานเท่าไร สงครามเย็นก็เริ่มขึ้น และสิ่งนี้ปิดกั้นการเดินทางและการติดต่อสื่อสารระหว่างยุโรปตะวันออกกับตะวันตก. ยิ่งกว่านั้น พวกผู้มีอำนาจด้านการปกครองรุ่นใหม่ ๆ ได้เริ่มต่อต้านพยานพระยะโฮวา. น่าเสียดาย พวกเขามองดูพวกพยานฯ ว่าเป็นภัยคุกคาม และพวกพยานฯ หลายคนจึงถูกจำคุก. แม้จะเป็นเช่นนั้น ในปี 1951 ในเชโกสโลวะเกียมีพยานฯ ที่เอาการเอางานถึง 3,705 คน; ในฮังการีมี 2,583 คน; ยูโกสลาเวียมี 617 คน; และในโปแลนด์มีกว่า 15,000 คน.
ถูกต่อต้าน แต่ยังเติบโตต่อไป
ในปี 1967 เมาริซ ฮินดัส เขียนเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาในหนังสือของเขาชื่อเดอะ เครมลินส์ ฮิวมัน ดิเลมมา. สิ่งที่เขากล่าวไว้นั้นหมายถึงพยานฯ ในสหภาพโซเวียตและในส่วนอื่น ๆ ของยุโรปตะวันออกด้วย. “แม้ว่าพวกเขาดำเนินการกันอย่างลับ ๆ พวกเขาก็ถูกล่าจนพบและถูกตัดสินให้ขังลืม. แต่ไม่มีอะไรหยุดยั้งพวกเขาได้. เมื่อถูกขัดขวางในที่หนึ่ง พวกเขาก็ไปโผล่ในอีกที่หนึ่ง . . . พวกเขาปรากฏว่าไม่อาจกวาดล้างทำลายได้ เช่นเดียวกับพวกตำรวจโซเวียต.”
ระหว่างฤดูใบไม้ผลิปี 1951 พยานพระยะโฮวาในสหภาพโซเวียตได้รับการโจมตีอย่างรุนแรง. พวกเขากว่าเจ็ดพันคนตามสาธารณรัฐต่าง ๆ ของโซเวียตที่อยู่ในเขตยุโรปถูกจับและส่งไปยังค่ายคุมขังซึ่งอยู่ในที่ไกลลิบลับของประเทศ รวมทั้งที่ไซบีเรียและวอร์กุตาซึ่งอยู่ห่างไกลทางทิศเหนือ. ผลเป็นอย่างไร?
“นั่นไม่ใช่จุดจบของพวก ‘พยานฯ’ ในรัสเซีย” โคลาร์ซบอก “แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นบทใหม่แห่งกิจกรรมของพวกเขาในการเปลี่ยนความเชื่อถือ. พวกเขากระทั่งได้พยายามจะโฆษณาความเชื่อของตนเมื่อรถจอดตามสถานีต่าง ๆ ตามรายทางที่มุ่งสู่แดนเนรเทศ. ด้วยการเนรเทศพวกเขา รัฐบาลโซเวียตได้ทำสิ่งซึ่งไม่มีอะไรอาจจะดีไปกว่านี้แล้วในการเผยแพร่ความเชื่อของพวกเขาอย่างกว้างขวาง. จากการถูกแยกอยู่ในหมู่บ้านอันโดดเดี่ยวของเขา พวก ‘พยานฯ’ ถูกนำสู่โลกที่กว้างใหญ่ แม้ว่านั่นจะเป็นเพียงโลกที่น่ากลัวแห่งค่ายกักกันและค่ายการใช้แรงงานหนักก็ตาม.”
ภายในและภายนอกเรือนจำ
ชนคริสเตียนในศตวรรษแรกประกาศสั่งสอนต่อ ๆ ไปเมื่อถูกกดขี่ข่มเหงฉันใด พยานพระยะโฮวาก็กระทำในสหภาพโซเวียตฉันนั้น. (กิจการ 5:42) เฮเลน เซลมินา ชาวแลตเวียซึ่งถูกจำคุกด้วยข้อกล่าวหาอาชญากรรมกล่าวว่า ในส่วนของค่ายคุมขังปอตมาที่เธอถูกคุมขังไว้ตั้งแต่ปี 1962 ถึง 1966 นั้น มีนักโทษประมาณ 350 คน. เธอบอกว่า “ประมาณครึ่งหนึ่งของพวกเขาเป็นพยานพระยะโฮวา.” ในหนังสือที่เธอเขียนชื่อวีเมน อิน โซเวียต พริซันส์ เซลมินาเขียนถึงสิ่งที่เธอได้เห็นในค่ายนั้นว่า:
“หนังสือจากบรุคลินมาถึงเป็นประจำ ในสภาพที่ดีและด้วยปริมาณมากโดยร่องทางที่ไม่เป็นทางการและมีการจัดแบบแผนอย่างดี . . . ไม่มีใครอาจเข้าใจได้ว่าหนังสือที่ถูกห้ามสามารถผ่านเข้ามาสู่ดินแดนแห่งลวดหนามและซึ่งมีการจำกัดในการติดต่อกันระหว่างผู้
คนนี้ได้อย่างไรกัน—และมาจากสหรัฐเสียด้วย! พยานพระยะโฮวาหลายคนได้รับโทษให้ทำงานหนักถึงสิบปีเพียงเพราะมีวารสารวอชเทาเวอร์ ไม่กี่ฉบับในอพาร์ตเมนท์ของเขา. เนื่องจากผู้คนถูกจับเพราะมีหนังสือต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ในครอบครอง จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าพวกเจ้าหน้าที่บริหารจะรู้สึกกระวนกระวายและเดือดดาลเพียงไรต่อการที่มีหนังสือเช่นนั้นอยู่ในค่าย.”ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ไม่มีอะไรอาจยับยั้งการแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณนั้นได้! เซลมินาเขียนว่า: “ไม่มีใครค้นพบวิธีที่ [วอชเทาเวอร์ ] เข้ามาในค่าย. ทั้ง ๆ ที่ หลังจากการตัดสินลงโทษ นักโทษทุกคนถูกถอดเสื้อผ้าออกหมดและค้นทั่วตัว. เมื่อถึงค่าย นักโทษทุกคนก็ถูกค้นอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง ค้นจนตะเข็บสุดท้าย. กระเป๋าเสื้อผ้าถูกค้นดูว่ามีสองชั้นหรือไม่. ไม่มีการยอมให้คนแปลกหน้าเข้าไปในค่ายหากไม่มีเหตุอันควร. เมื่อนักโทษถูกปล่อยออกนอกบริเวณค่ายเพื่อทำงานในทุ่ง พวกเขาถูกรายล้อมด้วยผู้คุมถืออาวุธและไม่อนุญาตให้คนใด ๆ เข้าใกล้. มีการตรวจค้นตัวนักโทษทุกคนอย่างถี่ถ้วนเมื่อพวกเขากลับเข้าค่ายในตอนเย็น. แต่ถึงแม้จะมีการควบคุมเช่นนี้ก็ตาม หนังสือจากบรุคลินก็ยังไปถึงผู้อ่านอยู่ดี.”
ในเวลาเดียวกัน คริสเตียนที่เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ภายนอกค่ายคุมขังของโซเวียตยังคงรุดหน้าต่อไปในกิจกรรมการประกาศและสั่งสอนอย่างเปิดเผย. เรื่องนี้ปรากฏชัดโดยสิ่งพิมพ์และภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่มีการผลิตขึ้นเพื่อพยายามตอบโต้ขัดขวางงานสั่งสอนของพวกเขา. ยกตัวอย่าง ในปี 1978 หนังสือความจริงเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา ถูกจัดพิมพ์ขึ้น ดังที่มีอธิบายไว้ในคำนำของหนังสือนี้ เพื่อจุดประสงค์ในการ “ดำเนินการให้การศึกษาด้านอเทววิทยาในท่ามกลางผู้ติดตามกลุ่มศาสนานี้.”
นอกจากนี้ นักประพันธ์ วี. วี. โคนิก ชี้ว่าพยานพระยะโฮวาจัดให้มีคำบรรยายสาธารณะเกือบเป็นประจำ ณ งานศพและงานสมรส. เขาเขียนว่า “เพื่อเป็นตัวอย่าง ในเดือนสิงหาคม 1973 ในหมู่บ้านกราสนายา พอลยานา แขวงกราสโนดาร์สกี มีการสมรสของสมาชิกสองคนขององค์การนี้ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน. ผู้สั่งสอนหกคนให้คำบรรยายแก่พวกเขา และมีการถ่ายทอดการพูดของพวกเขาโดยทางลำโพงสองตัว. จากนั้นมีการแสดงละครเพื่อแสดงให้เห็นวิธีที่พวกพยานพระยะโฮวาดำเนินการสนทนากับผู้คนที่นับถือศาสนาอื่น ๆ และกับพวกนักอเทวนิยม.”
ถูกแล้ว แม้จะมีการสั่งห้ามงานของพวกเขา พยานพระยะโฮวาทั่วยุโรปตะวันออกก็ยังประกาศสั่งสอนข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าต่อไปอย่างกระตือรือร้นด้วยความเชื่อฟังต่อพระบัญชาเชิงพยากรณ์ของพระคริสต์. (มัดธาย 24:14) ในที่สุด เมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 1989 พยานพระยะโฮวาก็ได้เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายในโปแลนด์และฮังการี เดือนเมษายน 1990 ในโรมาเนีย, เดือนมีนาคม 1991 ในสหภาพโซเวียต, และบัลแกเรียในเดือนกรกฎาคม 1991. และการงานของพวกเขาก็ดำเนินไปโดยปราศจากการขัดขวางใด ๆ ในเชโกสโลวะเกียด้วย.
ผู้เข้าร่วมการประชุมภาคที่มีความสุข
ด้วยความเป็นมาเหล่านี้ คุณคงเข้าใจดีขึ้นว่าทำไมตัวแทนหลายหมื่นคนที่ไปยังการประชุมภาคในยุโรปตะวันออกจึงชื่นชมยินดี—พวกเขาร้องไห้, สวมกอด, ปรบมือ, และโบกมือไปมาให้แก่กันและกันข้ามฟากสนามกีฬา.
บูดาเปสต์, ปราก, และ ซาเกร็บ ถูกกำหนดให้เป็นที่สำหรับ “การประชุมนานาชาติ” และได้มีการจัดเตรียมเป็นพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ตัวแทนหลายหมื่นคนจากประเทศอื่น ๆ. ได้จัดการประชุมภาคขึ้น ณ เจ็ดเมืองในสหภาพโซเวียต โดยมีผู้เข้าร่วม 74,252 คน; ในโปแลนด์มีผู้เข้าร่วมการประชุมภาค 12 แห่งรวมแล้วมี 131,554 คน; และมี 34,808 คนเข้าร่วมการประชุมภาค 8 แห่งในโรมาเนีย. ถึงแม้พยานฯ ไม่อาจจัดการประชุมภาคขึ้นในบัลแกเรียได้ พยานฯ ประมาณสามร้อยคนจากประเทศนี้ก็ได้ข้ามชายแดนมายังเมืองเธสซาโลนิกา ประเทศกรีซ ที่ซึ่งพวกเขาได้ชื่นชมกับรายการต่าง ๆ ในภาษาของเขาเอง.
การที่พยานฯ ในยุโรปตะวันออกจะจัดเตรียมการและต้อนรับบรรดาตัวแทนหลายหมื่นคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย. ลองคิดดูก็แล้วกัน ในสหภาพโซเวียต ไม่เคยมีการจัดการประชุมต่าง ๆ เช่นนั้นมาก่อนเลย! และการรับรองแขกหลายหมื่นคน ที่พยานฯ ในบูดาเปสต์และปรากได้ทำ เป็นโครงการที่ใหญ่โตแทบไม่น่าเชื่อ. นอกจากนั้น ลองนึกภาพการจัดการประชุมภาคในซาเกร็บขณะที่ภัยสงครามกลางเมืองคุกคามอยู่และเสียงระเบิดก็ได้ยินแต่ไกล!
แน่ใจได้เลยว่าคุณคงรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้อ่านรายงานต่อไปเกี่ยวกับการประชุมภาคเหล่านั้น.
[แผนที่หน้า 13]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
สถานที่การประชุมนานาชาติสามแห่ง และสถานที่การประชุมใหญ่เจ็ดแห่งในสหภาพโซเวียต
สหภาพโซเวียต
แตลลิน
คีเอฟ
ลวอฟ
เซอร์นอฟต์ซี
โอเดสสา
โปแลนด์
เยอรมนี
เชโกสโลวะเกีย
ปราก
ออสเตรีย
ฮังการี
บูดาเปสต์
โรมาเนีย
ยูโกสลาเวีย
ซาเกร็บ
บัลแกเรีย
แอลเบเนีย
อิตาลี
กรีซ
ตุรกี
[แผนที่]
สหภาพโซเวียต
อัลมา-อาตา
ยูซอลยี-ซิบิร์สกอย