ตอนที่ 1 ขุดถึงรากของความกังวลเรื่องเงิน
การเฟื่องฟูและตกต่ำของโลกแห่งการค้า
ตอนที่ 1 ขุดถึงรากของความกังวลเรื่องเงิน
องค์ประกอบทางศาสนาและการเมืองแห่งสังคมมนุษย์นั้นมีรกรากย้อนไปถึงสมัยของนิมโรดซึ่งหลายพันปีล่วงมาแล้วเป็นผู้ก่อตั้งกรุงบาบูโลน. ทั้งนี้เป็นจริงเช่นกันกับองค์ประกอบทางโลกธุรกิจและการพาณิชย์ แม้อาจจะเป็นที่รู้กันน้อยกว่าองค์ประกอบทั้งสองข้างต้น.—เยเนซิศ 10:8-12.
พระผู้สร้างมนุษยชาติซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิจะกำหนดมาตรฐานของความดีและความชั่ว ย่อมไม่ยากที่จะจัดตั้งระบบเศรษฐกิจเที่ยงธรรมซึ่งมีขีดความสามารถสนองความต้องการแก่ครอบครัวขนาดใหญ่ของมนุษย์ที่พระองค์คำนึงล่วงหน้าไว้แล้ว. แต่เมื่อมนุษย์คู่แรกได้ปฏิเสธการชี้นำของพระเจ้า และถูกขับออกจากอุทยาน มนุษย์ก็อยู่ตามลำพังตนเอง. (เยเนซิศ 3:1-24) ปราศจากการนำของพระเจ้า มนุษย์ได้พัฒนาศาสนาตามแบบของตนเอง และตั้งการปกครองตามระบอบของตนเอง. และไม่ช้าก็ปรากฏว่าจำเป็นต้องมีระบบจัดการครัวเรือนเพื่อจัดหาสิ่งจำเป็นด้านวัตถุสำหรับครอบครัวที่ขยายใหญ่ขึ้น พวกเขาเริ่มจัดให้มีสิ่งที่เราเรียกว่าระบบเศรษฐกิจ. ทั้งนี้ก็เช่นกัน ดำเนินอย่างเอกเทศปราศจากการนำทางของพระผู้เป็นเจ้า.
ดูเหมือนว่าเมื่อมาถึงยุคของนิมโรด (ประมาณปี 2270 ก่อนสากลศักราช) หลักพื้นฐานของระบบดังกล่าวก็เข้าที่แล้วเป็นส่วนใหญ่. หนังสือเดอะ คอลลินส์ แอทลาส ออฟ เวิลด์ ฮิสตอรี ให้คำอธิบายว่า “นับตั้งแต่ช่วงพันปีที่สามเป็นต้นมา เมโสโปเตเมีย [บาบูโลน] ได้ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มที่มีพลังของนักธุรกิจในรูปบริษัท. พวกเขามีคลังเก็บสินค้า เก็งกำไร ใช้สินค้าหลากชนิดแทนเงินตรา และใช้แท่งโลหะ เฉพาะอย่างยิ่งทำด้วยเงิน แกะสลักตามขนาดและน้ำหนักเฉพาะ และบางครั้งมีเครื่องหมายรับรองว่าเป็นของแท้.” เดอะ เอ็นไซโคลพีเดีย อเมริกานา บอกว่าคนโบราณแห่งซีนาร์—ชื่อเดิม
ของดินแดนซึ่งภายหลังเรียกว่า บาบิโลเนีย—ดำเนินงานด้วยระบบอันซับซ้อนอย่างน่าแปลกเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน รับฝากเงินและจัดหนังสือรับรองสินเชื่อ.”กิจปฏิบัติที่เป็นลักษณะเด่นเฉพาะของเมโสโปเตเมียก็คือการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่มาเป็นสินค้า และคิดดอกเบี้ยจากการใช้ประโยชน์. ฉะนั้น เงินกลายเป็น
วิธีเพิ่มความกดดันทางเศรษฐกิจ. บันทึกต่าง ๆ ที่พบในซากปรักหักพังของบาบิโลเนียเผยให้เห็นการค้าขายซึ่งฉวยประโยชน์จากสภาพตกทุกข์ได้ยากของพลเมืองบางคน. แม้แต่กิจปฏิบัติแบบค้ากำไรเกินควรที่มุ่งทำลายผู้อื่นซึ่งทำกันในปัจจุบันก็เป็นที่นิยมกันในสมัยโน้นแล้ว. ไม่แปลกที่พ่อค้าชาวบาบิโลนและนีนะเวมักจะถูกกล่าวขวัญในเชิงชิงชังและดูหมิ่นเหยียดหยาม.กิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสมัยนิมโรด มิได้กล่าวถึงโดยตรงในคัมภีร์ไบเบิล. กระนั้น สำนวนที่มีบันทึกไว้ในพระธรรมฉบับแรก เป็นต้นว่า “ซื้อ” “ขาย” “ค้าขาย” แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยไม่กี่ร้อยปีต่อมากิจการทางพาณิชย์มีอยู่ทั่วไป.—ดู เยเนซิศ 25:31; 34:10, 21; 39:1; 41:56, 57.
เป็นความจริงเช่นกันที่ว่าเป็นเวลานานทีเดียวที่บทจารึกอักษรรูปลิ่มมิได้เอ่ยถึงกิจการเชิงพาณิชย์ในสังคมบาบิโลนไว้เลย. หนังสือแอนเชียนต์ เมโสโปเตเมีย ยอมรับว่าเรื่องนี้ยากที่จะอธิบาย โดยสรุปดังนี้ “เราไม่อาจจะถือเอาว่าความสัมพันธ์ทางการค้าได้ยุติลงตลอดช่วงพันปีในยุคนั้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นที่รู้กันว่า ความสัมพันธ์เหล่านั้นเฟื่องฟูอย่างเหลือล้นในยุคต่อมา.” หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดเห็นว่าในตอนนั้น การค้าส่วนใหญ่อาจจะอยู่ในอุ้งมือของชาวอาหรับและได้ใช้หนังสัตว์และกระดาษที่ทำจากต้นพาไพรัสเป็นวัตถุบันทึกข้อความ.
ทั้งเมโสโปเตเมียและอียิปต์ขึ้นชื่อในด้านคาราวานสินค้า. ต่อมา ชาวโฟนีเซียนำเส้นทางเดินเรือในทะเลมาเป็นหนทางค้าขายแทนการค้าทางบกส่วนใหญ่. ท่าเรือแห่งคาร์เทจ ท่าเมืองตุโร และซีโดนมีชื่อโด่งดังขึ้นมาฐานะเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์. การซื้อขายทำในลักษณะนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน จนกระทั่ง ประมาณศตวรรษที่แปดก่อนสากลศักราช เมื่อชาวกรีกเริ่มใช้เหรียญเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน. และตามเดอะ คอลลินส์ แอทลาส ออฟ เวิลด์ ฮิสตอรี บอกว่า “หลายศตวรรษต่อจากนั้น [500 ปีก่อนสากลศักราช] โลกเต็มไปด้วยเรื่องราวการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับของการค้าขาย, เงินตรา, ธนาคาร, การขนส่ง, จนถึงขนาดที่นักประวัติศาสตร์หลายคนได้นำยุคนั้นมาเปรียบเป็นยุคทุนนิยมซึ่งก็พอจะฟังได้ ถึงจะเป็นการเปรียบเทียบที่เกินกว่าความจริง.”
แท้จริงแล้ว จากยุคแรก ๆ เป็นต้นมา ระบบเศรษฐกิจอาศัยเงินเป็นหลัก. ขณะที่พระเจ้าทรงยินยอมการใช้เงินอย่างถูกต้อง แต่การใช้เงินอย่างผิด ๆ เป็นที่ยอมรับไม่ได้. (ท่านผู้ประกาศ 7:12; ลูกา 16:1-9) ความปรารถนาอันเกินขอบเขตที่จะได้เงินเป็นเหตุให้ผู้คนบิดเบือนความยุติธรรม, ทรยศต่อเพื่อน, บิดเบือนความจริง, และกระทั่งทำฆาตกรรม. อย่างไรก็ดี ให้สังเกตว่าทั้งนี้มิใช่ความผิดของตัวเงิน แต่ทัศนะโลภเห็นแก่ได้ของผู้คนที่แสวงหาเงินต่างหาก. อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าพูดเกินความจริงถ้าจะพูดว่า ‘โลกหมุนอยู่ได้ก็เพราะเงิน’ หรือที่ว่าเงินได้ทำในลักษณะนั้นมาตลอดในรูปแบบต่าง ๆ กันนับเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว.—ดูกรอบ หน้า 7.
ฉะนั้น ในช่วงเวลาหลายศตวรรษก่อนสมัยคริสเตียน ลักษณะทางเศรษฐกิจและการค้าหลายอย่างที่เราคุ้นเคยอยู่เวลานี้ได้วางรูปแบบไว้แล้ว. แต่ทั้ง ๆ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โลกแห่งการพาณิชย์ก็ไม่สามารถจะพัฒนาระบบเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบซึ่งสามารถจะป้องกันความกังวลได้. กระนั้น เราก็ไม่ต้องรู้สึกสิ้นหวัง. ความกังวลเรื่องเงินจวนจะยุติแล้ว. บทความในห้าฉบับต่อไป เราจะอธิบายเพิ่มขึ้น.
[จุดเด่นหน้า 8]
ความปรารถนาอันเกินขอบเขตที่จะได้เงินเป็นเหตุให้ผู้คนบิดเบือนความยุติธรรม, ทรยศต่อเพื่อน, บิดเบือนความจริง, และกระทั่งทำฆาตกรรม
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
จากเกลือไปสู่แผ่นพลาสติก
เกลือ:
การปันส่วนเกลือใช้ในหมู่ทหารโรมัน แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการปันส่วนเงินแทน หรือเรียกว่า ซาลาริอุม. วัว (พีคัส) เป็นสิ่งที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนในโรมโบราณ. คำศัพท์ลาตินเหล่านี้เป็นที่มาของคำ “ซาลารี” (เงินเดือน) และ “พิคิวเนียริ” (การเงิน).
โลหะ:
ในเมโสโปเตเมียโบราณ (ศตวรรษที่ 18 ถึง 16 ก่อนสากลศักราช) การซื้อขายสินค้าใช้วัตถุเงินเป็นตัวแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ. ในอียิตป์โบราณใช้ทองแดง เงิน และทองคำ. ในช่วงราชวงศ์หมิงของจีน (ปีสากลศักราช 1368-1644) ฮันส์ บีเลนสไตน์ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์จีนเขียนไว้ว่า “ทองแดงยังคงเป็นมาตรฐานสำหรับกำหนดมูลค่าต่ำ [ของเงิน] ขณะที่เงินนิยมใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับกำหนดมูลค่าสูง.”
เหรียญ:
แผ่นทรงกลมมีน้ำหนักและมูลค่ามาตรฐาน ทำด้วยโลหะผสมตามธรรมชาติระหว่างทองคำกับเงินรู้จักกันโดยชื่ออีเล็กทรัม ผลิตโดยชาวลิเดียแห่งอะนาโตเลีย ระหว่างศตวรรษที่เจ็ดก่อนสากลศักราช และอาจจะถือได้ว่าเป็นเหรียญเงินจริง ๆ รุ่นแรก ประมาณหนึ่งศตวรรษต่อมาการหลอมเหรียญได้พัฒนาขึ้นในกรีซ.
กระดาษ:
เงินในรูปกระดาษชนิดแรกของโลกได้เผยโฉมออกมาในปี 1024 ที่ประเทศจีน เมื่อการค้าขยายตัวมากผิดปกติทำให้เหรียญขาดตลาด. ศาสตราจารย์บีเลนสไตน์บอกว่า “การทดลองใช้สิ่งที่เรียกกันว่าเงินสดบินได้ มีขึ้นแรกสุดราว ๆ ปี 811 ในยุคของราชวงศ์ถัง. ตอนนั้นรัฐบาลได้ออกตั๋วแลกเงินซึ่งอาจจะใช้ในการซื้อขายและในที่สุดก็ใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินสด.” เริ่มจากประเทศอังกฤษเมื่อปี 1821 หลายชาติยอมรับมาตรฐานทองคำ หมายความว่า พลเมืองอาจจะเปลี่ยนเงินกระดาษกลับเป็นทองคำแท้ที่รัฐบาลเก็บสำรองไว้เมื่อไรก็ได้. อย่างไรก็ดี ตั้งแต่มีการละทิ้งมาตรฐานทองคำ รัฐบาลต่าง ๆ ในปัจจุบันเพียงแต่ประกาศว่าเงินสกุลของตนมีค่า โดยไม่ต้องมีวัตถุอะไรรองรับอยู่.
เช็ค:
นายธนาคารของอังกฤษทำขึ้นมาระหว่างศตวรรษที่ 17 เช็คเขียนเป็นคำสั่งให้จ่ายเงินผ่านทางธนาคาร วิธีดำเนินธุรกิจนี้ทั้งสะดวกและปลอดภัย เป็นที่นิยมและใช้กันอย่างกว้างขวาง.
แผ่นพลาสติก:
บัตรเครดิต บางคนเรียกว่าเงินพลาสติก นำมาใช้ในสหรัฐช่วงทศวรรษแห่งปี 1920 และในไม่ช้าก็จุดประกายความสนใจให้กับผู้คนทั่วโลก. อย่างไรก็ดี ความสะดวกและผลประโยชน์อื่น ๆ ที่บัตรเหล่านี้มีให้ ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเพราะอันตรายซึ่งเกิดจากการซื้อด้วยอารมณ์หุนหันและดำเนินชีวิตเกินกว่าขอบเขตรายได้ของตน.