ตอนที่ 1 เมื่อความกังวลเรื่องเงินเข้าเกาะกุม
การเฟื่องฟูและตกต่ำของโลกแห่งการค้า
ตอนที่ 1 เมื่อความกังวลเรื่องเงินเข้าเกาะกุม
“แม้ว่าบิดามารดาให้ชีวิตแก่เรา แต่เงินเท่านั้นทำให้ชีวิตอยู่ต่อไปได้”—เดอะ แจแปนนีซ แฟมิลิ สโตร์เฮาส์ หรือ เดอะ มิลเลียนแนรีส์ กอสเพล โดยอิฮารา ไซคากึ.
คุณเคยต้องการเงินแทบใจจะขาดไหม? หรือคุณเคยประสบกับการมีเงินไม่พอที่จะซื้อสิ่งจำเป็นไหม? หรือคุณเคยเห็นครอบครัวของคุณท้องกิ่วหรือแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าปอน ๆ ไหม? ผู้คนหลายล้านในทุกวันนี้ตอบคำถามเหล่านั้นได้ว่าเคย. พวกเขารู้รสชาติว่าความกังวลเรื่องเงินเป็นอย่างไร.
นึกวาดภาพความกังวลของพ่อบ้านซึ่งตกงาน มีลูกที่ต้องเลี้ยงดูและต้องชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ. คิดดูถึงสภาพจิตใจของผู้เป็นแม่ซึ่งยืนเข้าแถวอย่างเหนื่อยหน่ายเพื่อซื้อข้าวของที่มักขาดตลาดแล้วกลับพบว่าของหมดร้าน หรือไม่ก็ราคาแพงลิ่ว. นึกถึงความเครียดของนักธุรกิจซึ่งบริษัทของเขากำลังเผชิญกับภาวะจวนจะล้มละลาย หรือความกดดันที่โถมทับรัฐบาลซึ่งดิ้นรนจะปลดภาระหนี้สินหลายหมื่นล้านบาท.
ในโลกปัจจุบัน กระทั่งคำศัพท์บางคำกระตุ้นให้เกิดความกังวลด้วยซ้ำไป. รายได้ (เงิน, สินค้า หรือบริการที่ได้รับเพื่อแลกกับแรงงานหรือการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ) ของเราอาจจะต่ำมากจนมาตรฐานการครองชีพ ของเรา (ระดับทางเศรษฐกิจที่เราเคยชิน) ถูกคุกคามอย่างรุนแรง. ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากการว่างงาน จาก เศรษฐกิจถดถอย หรือตกต่ำ (ช่วงเวลาที่ธุรกิจการค้าลดลง คำแรกชี้ถึงสภาพที่ไม่รุนแรงเท่าไร คำหลังบ่งบอกภาวะที่หนักกว่า) หรือจากภาวะเงินเฟ้อ (ราคาสินค้าสูงเกิดจากความต้องการสูงกว่าปริมาณสินค้าในตลาดจนเงินของเราซื้อของได้น้อยลง หรืออุปสงค์มากกว่าอุปทาน). เมื่อเงินไม่พอเราก็ไม่สามารถไล่ทันกับค่าครองชีพ ได้ (ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อซื้อสินค้าและบริการประจำวัน).
พลังของความกดดันทางเศรษฐกิจ
ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งบอกว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษแห่งปี 1930 เป็นโศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจซึ่ง “กระทบทุกประเทศและทุกด้านของชีวิต, ทั้งทางสังคมและทางการเมือง, ในประเทศและระหว่างชาติ.” มันได้สร้างเสริมอำนาจทางการเมืองจนสุดโต่งในเยอรมนีและอิตาลี ซึ่งได้ช่วยกระพือไฟแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง นี้แหละเป็นการแสดงให้เห็นพลังแห่งความกดดันทางเศรษฐกิจ. ตรงกับที่จอห์น เค. กัลไบร์ทเขียนลงในหนังสือของเขาชื่อ เงินมาจากไหน แล้วไปที่ไหน (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ในเยอรมนีต้น ๆ ปี 1933 อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ. ความสำเร็จของเขาส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากการว่างงานครั้งใหญ่และการลดลงอย่างแสนจะปวดร้าวของค่าจ้าง, เงินเดือน, ราคาและมูลค่าทรัพย์สิน.” กัลไบร์ทให้ความเห็นเรื่องเงินเฟ้อ
ของสหรัฐในยุคนั้นโดยเสริมว่า “ถึงเงินจะสำคัญแค่ไหนก็ตาม ไม่มีใครอาจสงสัยพิษสงของความกลัวอันเกิดจากเงิน.”การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งครอบคลุมไปทั่วยุโรปตะวันออกในปลายทศวรรษแห่งปี 1980 นั้นส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ. ปัจจัยเหล่านี้มักจะเป็นข้อชี้ขาดในการออกเสียงเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก พูดกันมานานแล้วว่าประชาชนที่นั่นลงคะแนนเสียงด้วยการโน้มนำจากประเด็นซึ่งจะก่อผลดีต่อกระเป๋าเงินของเขา.
ความกดดันทางเศรษฐกิจมักจะนำมาใช้ในความพยายามบีบบังคับให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายของตน. ฉะนั้น บางครั้งบางคราว การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจสมัยปัจจุบันก็มีค่าเทียบเท่าการตั้งค่ายปิดล้อมด้วยกำลังทหารในสมัยก่อน. เมื่อปี 1986 ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐใช้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อแอฟริกาใต้ เพื่อประท้วงนโยบายอาปาร์เทธ (การเหยียดผิว) ดูเหมือนว่าได้ผลอยู่บ้าง. เมื่อปี 1990 ประชาคมโลก โดยสหประชาชาติเป็นตัวแทน ใช้การกดดันทางเศรษฐกิจต่ออิรัก ปรากฏชัดว่าได้ผลน้อยกว่า.
กระนั้น แนวโน้มก็ปรากฏแจ่มชัด. แซค อัตตาลินักเขียนชาวฝรั่งเศสและที่ปรึกษาฝ่ายประธานาธิบดีอ้างว่า ‘พ่อค้าเข้ามาแทนที่นักรบฐานะเป็นตัวชูโรงบนเวทีโลก.’ และวารสารข่าวฉบับหนึ่งให้ความเห็นว่า “[ในหลายประเทศ] ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเข้ามาแทนที่พลังทางทหารในฐานะมาตรการสำคัญ.”
การเกาะกุมคลายออกไหม?
พิบัติภัยทางธรรมชาติ โรคภัย และอาชญากรรมทำความเสียหายหนักแก่เศรษฐกิจ. หนี้สินและการขาดดุลมีมากเหลือเกิน. หนังสือเดอะ คอลลินส์ แอทลาส ออฟ เวิลด์ ฮิสทอรี บอกว่า “หนี้สินระหว่างชาติ [ในประเทศที่กำลังพัฒนา] มีปริมาณมากเสียจนบางครั้งบางคราวโลกล่อแหลมต่อภัยพิบัติทางเศรษฐกิจในขอบข่ายอันยิ่งใหญ่ทีเดียว และความยากจนที่เพิ่มขึ้นพร้อมด้วยความสิ้นหวังซึ่งส่อถึงการคุกคามต่อจุดระเบิด นับว่าน่าตกใจยิ่ง.”
ขณะที่รัฐบาลบางประเทศกำลังประสบความเดือดร้อนจากเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่อยู่ ประเทศอื่น ๆ ก็กำลังดิ้นรนอย่างกล้าหาญเพื่อไม่ตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ. ความไม่ปลอดภัยปรากฏให้เห็นในรูปของตลาดหุ้นที่ขาดเสถียรภาพ. การป่วยลงอย่างฉับพลันของผู้นำทางการเมือง หรือกระทั่งข่าวลือที่ไม่มีมูล อาจทำลายค่าของทรัพย์สินอันมหาศาลภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง. ภาวะตลาดหุ้นพังพินาศของวอลสตรีทเมื่อเดือนตุลาคม 1987—ร้ายแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเมื่อปี 1929—ถูกเรียกว่าเป็นสัปดาห์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเงินทีเดียว. มูลค่าทรัพย์สินเกือบ 9,625,000 ล้านบาทสูญหมดสิ้น. ตลาดฟื้นตัว แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าความพังพินาศขนานแท้ยังจะมีมา. จอร์ช เจ. เชิร์ชนักหนังสือพิมพ์เขียนดังนี้ “โลกก็ได้แต่หวังไว้ว่าจะไม่ถึงขั้นประสบเข้าจริง ๆ ว่า ความหายนะทางการเงินอย่างสุดขีดนั้นเป็นอย่างไร.”
แทนที่การครอบงำจะคลายลง ความกดดันทางเศรษฐกิจและความกังวลอันเป็นผลที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะบีบรัดแน่นเข้า. ฉะนั้น การพิจารณาความเป็นไปได้ที่ว่าการสิ้นสุดของภาวะนั้นอยู่ไม่ไกล ถือว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงไหม?