เกาะนอร์ฟอคจากทัณฑนิคมกลายมาเป็นอุทยานของนักท่องเที่ยว
เกาะนอร์ฟอคจากทัณฑนิคมกลายมาเป็นอุทยานของนักท่องเที่ยว
โดย ผู้สื่อข่าวตื่นเถิด ในนิวซีแลนด์
ผู้คนส่วนใหญ่ที่มาถึงชายฝั่งของเกาะนอร์ฟอคเมื่อ 150 กว่าปีที่แล้ว มาภายใต้การบังคับ—ฐานะนักโทษ. มันเป็นทัณฑนิคมสำหรับอาชญากรที่นำมาจากออสเตรเลียและมีชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็นหนึ่งในทัณฑสถานที่โหดร้ายทารุณที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ. ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 20,000 คนต่อปีมาเที่ยวชมเกาะอุทยานแห่งนี้.
แต่เกาะนอร์ฟอคอยู่ที่ไหน? การเปลี่ยนสถานะจากทัณฑนิคมมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเกิดขึ้นอย่างไร? เหตุการณ์แปลกประหลาดอะไรบ้างได้นวดปั้นประวัติศาสตร์ของเกาะนี้? สิ่งดึงดูดใจอะไรบ้างที่นอร์ฟอคมีต่อนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน?
ผมได้เสริมการคาดหมายสำหรับการเยี่ยมชมในปี 1990 ด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งน่ารู้แห่งเกาะนี้. ผมได้เรียนรู้ว่าในปี 1774 กัปตัน เจมส์ กุ๊ก นักสำรวจชาวอังกฤษผู้ลือชื่อ แล่นเรืออยู่แถบปลายสุดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ และไม่ได้ค้นพบ “ทวีปทางตอนใต้อันยิ่งใหญ่” ที่เขากำลังค้นหา แต่กลับเป็นผืนดินเล็ก ๆ ขนาดห้าคูณแปดกิโลเมตรซึ่งเป็นหัวโผล่ของภูเขาไฟ เป็นส่วนหนึ่งของแนวสันใต้ท้องมหาสมุทรที่ทอดยาวหลายร้อยกิโลเมตรไปทางใต้จนถึงนิวซีแลนด์. กุ๊กตั้งชื่อเกาะนี้ตามชื่อของท่านดุ๊กแห่งนอร์ฟอค.
“เกาะแห่งความทุกข์แสนสาหัส”
หนังสือ นอร์ฟอค—แอน ไอแลนด์ แอนด์ อิทส์ พีเพิล บอกไว้ว่า “นอร์ฟอคมีประวัติอันหลากหลายมาก. สิ่งหนึ่งที่แน่ ๆ คือเหมือนกับเมฆพายุบนขอบฟ้า เมื่อมนุษย์ย่างก้าวเข้าไปในฉากนี้ความยุ่งเหยิงก็ติดตามมาในไม่ช้า.”
เมล็ดแห่งความยุ่งเหยิงถูกหว่านลงประมาณ 14 ปีหลังการค้นพบของกัปตันกุ๊ก เมื่อร้อยโทฟิลิป คิง จัดตั้งถิ่นฐานอาศัยบนเกาะนี้เพื่อสงวนไว้สำหรับการครอบครองของอังกฤษ วัตถุประสงค์อันดับสองของเขา ซึ่งดูทีท่าไม่ค่อยดี คือตั้งทัณฑนิคมขึ้นเพื่อลดความแออัดในเรือนจำอังกฤษ.
แม้จะถูกทิ้งให้ร้างในปี 1814 เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป สถานคุมขังนี้ได้รับการตั้งขึ้นใหม่ในปี 1825 และใช้กักขังอาชญากรหลายประเภท นักโทษอันตราย นักโทษการเมือง และคนอื่นอีกมากที่ถูกส่งมาจากบ้านเกิดอันห่างไกลและขังไว้เนื่องจากความผิดทางอาญาเล็ก ๆ น้อย ๆ. ดังนั้น สถานที่ซึ่งสามารถเป็นอุทยานแปซิฟิกอันสงบสุขต่อไปก็ถูกเปลี่ยนไปเป็น “เกาะแห่งความทุกข์แสนสาหัส” เป็นเวลา 30 ปี จนกระทั่งถูกทิ้งให้ร้างอีกในปี 1854.
ทำไมจึงเป็น “เกาะแห่งความทุกข์แสนสาหัส”? ผมทราบจากหนังสือ ดิสคัฟเวอริง นอร์ฟอค ไอแลนด์ ว่า “สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จากพัศดีคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง. ระบบการปกครองแบบกรุณาและไม่เข้มงวดมักตามด้วยการปกครองแบบโหดร้ายทารุณ และปราบปรามอย่างแสนสาหัส. ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายของฆาตกรรม การจลาจล การแหกคุกเมื่อสบโอกาส บ้างก็ล้มเหลว บ้างก็ประสบผลสำเร็จ การประหารชีวิตและเฆี่ยนตีเพื่อเป็นการลงโทษ. นายพันตรีโธมัส บันเบอรี พัศดีในปี 1839 แม้ว่าเขาได้สั่งให้เฆี่ยนชายห้าคนที่ยึดเรือเพื่อหลบหนีคนละ 300 ที แต่เขาก็ตั้งระบบการให้รางวัลสำหรับนักโทษที่ประพฤติดีด้วย.”
มีการใช้แรงงานของนักโทษสร้างทัณฑนิคม รวมทั้งห้องขัง โรงทหาร และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ซึ่งยังคงตั้งอยู่จนทุกวันนี้ด้วยสภาพแตกต่างกันไปและมีส่วนเสริมประวัติศาสตร์อันไม่เหมือนใครของเกาะนี้. ผมมีโอกาสเดินท่ามกลางกำแพงและอาคารเหล่านี้ซึ่งมีการกล่าว
ขานกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบจอร์เจียนที่ดีที่สุดในซีกโลกใต้. มันนำผมย้อนสู่อดีตเมื่อ 150 ปีที่แล้ว และในจินตนาการของผม ผมได้ยินเสียงร้องครวญครางของผู้ตกเป็นเหยื่อแห่งสถานกักกันนี้.เกาะนอร์ฟอคและการกบฏ
การเดินเล่นผ่านสุสานของนอร์ฟอคทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์อันแปลกประหลาดของเกาะนี้มากยิ่งขึ้น. ผมรู้สึกเอะใจที่เห็นนามสกุลคริสเตียนปรากฏอยู่บ่อยมากบนแผ่นหินสลักชื่อผู้ตาย ณ หลุมศพ. บ่อยครั้งในระหว่างการเยือน ผมได้ยินคนท้องถิ่นพูดว่า “ฉันเป็นคริสเตียน” ไม่ได้อ้างถึงความผูกพันทางศาสนาของเขาหรอก แต่โดยสำนึกในสายเลือดของพวกเขาต่างหาก.
น้อยคนที่ไม่เคยได้ยินเรื่องราวของเรือที่ชื่อ เบานตี และการกบฏที่เกิดขึ้นบนเรือลำนี้. เหตุการณ์นี้เป็นหัวเรื่องในหนังสือมากมายหลายเล่มและอย่างน้อยที่สุดในภาพยนตร์สามเรื่อง. ที่รู้จักดีพอ ๆ กันก็คือ คู่ปรปักษ์สำคัญ กัปตันไบลห์กับว่าที่เรือโทหนุ่มของเขาชื่อ เฟลทเชอร์ คริสเตียน. มันตกในเดือนเมษายน 1789 หลังออกเรือจากตาฮิติ ที่ไบลห์พร้อมกับเจ้าหน้าที่ผู้ซื่อสัตย์ของเขา 18 นาย ถูกคริสเตียนและผู้ร่วมกบฏของเขาจับใส่เรือเล็ก ๆ ให้ล่องลอยไป. หลังจากเจ็ดสัปดาห์อันน่ากลัวในทะเลและกล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในการเดินทางที่เด่นที่สุดในประวัติศาสตร์การเดินเรือ ไบลห์และเพื่อนร่วมทางของเขาก็ขึ้นบกได้ที่ติมอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย เกือบ 6,400 กิโลเมตรไปทางตะวันตกจากจุดที่เขาถูกปล่อยทิ้ง. ภายหลังไบลห์เดินทางกลับอังกฤษและรายงานเรื่องของเขา และกบฏสามคนถูกนำขึ้นศาลและแขวนคอ.
ระหว่างนั้น หลังจากการกลับไปตาฮิติด้วยเรือเบานตี เฟลทเชอร์พร้อมกับเพื่อนร่วมกบฏ 8 คนและชาวตา
ฮิติ 19 คน ทั้งชายและหญิง ก็ได้ออกเดินเรืออีกเพื่อหนีการแก้แค้น. ในปี 1790 พวกเขาก็มาถึงเกาะพิกแคร์นอันไกลลิบ ด้วยระยะห่าง 2,200 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของตาฮิติ.สำหรับบรรดาผู้ก่อการกบฏแล้วอาจพูดได้ว่าเกาะพิกแคร์นเป็นการลงโทษในรูปแบบอย่างหนึ่ง. ชีวิตบนเกาะนั้นทารุณ. ความอิจฉาริษยานำไปสู่ความรุนแรงและความตาย. กระนั้น ทั้งที่มีปัญหาเหล่านี้ อีกทั้งความยากลำเค็ญต่าง ๆ ในการยังชีพ “นิคม” นี้ก็ยังอยู่รอดได้ ไม่นึกเลยว่า ในปี 1856 ลูกหลานของพวกเขาจะได้รับโอกาสให้ตั้งถิ่นฐานบนเกาะนอร์ฟอคห่างออกไปประมาณ 7,000 กิโลเมตรทางทิศตะวันตก.
จากพิกแคร์น สู่นอร์ฟอค
รุ่งอรุณของวันที่ 8 มิถุนายน 1990 อากาศบนเกาะนอร์ฟอคเย็นและเปียกชื้น. อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศไม่ได้กีดขวางชาวเกาะนับร้อยซึ่งแต่งกายด้วยชุดแห่งช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่เต็มด้วยสีสัน จากการรวมตัวกันที่ท่าเรือเพื่อฉลองวันเบานตีประจำปี. ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่สนใจ ผมได้เห็นกับตาถึงการสู้คลื่นและลมของชาวเรือขณะพวกเขาแสดงบทการขึ้นบกอีกครั้งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 134 ปีก่อนคือในปี 1856.
ในปีนั้น ซึ่งก็ผ่านไป 67 ปีแล้วนับจากการกบฏ. ชาวเกาะพิกแคร์น 193 คนได้ย้ายมาตั้งรกรากในบ้านใหม่บนเกาะนอร์ฟอค. ต่อมาบางคนก็ได้กลับไปอีก และดังนั้นพิกแคร์นยังคงมีผู้คนอาศัยอยู่จนปัจจุบัน.
แทนที่จะสะท้อนภาพของผู้ก่อการกบฏอันน่ากลัวและดื้อรั้น ชนผู้ตั้งรกรากใหม่ของนอร์ฟอค—เชื้อสาย
ยุโรปและตาฮิติที่บึกบึน—ได้พัฒนามาเป็นชุมชนที่ผูกพันแน่นแฟ้น นับถือศาสนา และเป็นมิตร. กสิกรรมและการประมงเป็นอาชีพหลัก. ประสบการณ์จากพิกแคร์นได้หล่อหลอมพวกเขาอย่างดีสำหรับชีวิตแบบโดดเดี่ยวและพึ่งตนเอง. การติดต่อแม้แต่เล็กน้อยกับโลกภายนอกโดยทางเรือที่ผ่านไปก็เป็นไปได้ยากเนื่องจากขาดท่าเรือน้ำลึก.สนามบินและการเปลี่ยนแปลง
ดังเป็นจริงกับประเทศต่าง ๆ หลายแห่งที่เป็นเกาะในแปซิฟิกตอนใต้ สงครามโลกครั้งที่สองก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับนอร์ฟอคด้วยเช่นกัน ที่เด่นที่สุดคือการก่อสร้างสนามบิน. สนามบินนี้นำมาซึ่งการติดต่อกับโลกภายนอกอยู่เนือง ๆ และสิ่งที่เป็นรายได้หลักของเกาะในปัจจุบันคือ การท่องเที่ยว.
ก่อนที่ผมและเพื่อนร่วมทางจะจากเครื่องบินที่สนามบินนอร์ฟอค ตัวแทนท้องถิ่นจากสำนักงานการท่องเที่ยวของรัฐคนหนึ่งแจ้งให้เราทราบว่า เนื่องจากฝูงปศุสัตว์จะเดินอยู่ตามถนน “เราขอให้คุณขับรถด้วยความระมัดระวัง. สัตว์เหล่านั้นมีสิทธิที่จะไปก่อน.” ที่จริง นักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ถูกดึงดูดใจด้วยรูปแบบชีวิตที่เรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน. ที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจด้วยเช่นกันคือ ธรรมชาติอันงดงาม ร้านค้าปลอดภาษี และประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนใครซึ่งเกี่ยวโยงกับทัณฑนิคมสมัยแรก ๆ และการกบฏบนเรือเบานตี ในเวลาต่อมา.
แม้ว่าชาวเกาะเองยอมรับว่าพวกเขาต้องพึ่งธุรกิจการท่องเที่ยว แต่การเติบโตของการท่องเที่ยวปัจจุบันเป็นปัญหากังวลใจสำหรับบางคนซึ่งอาศัยที่นอร์ฟอคมาเป็นเวลายาวนาน ผู้ซึ่งอาลัยอาวรณ์ชีวิตในอดีตซึ่งมีการพึ่งพาอาศัยตนเองมากกว่า. เมื่อผมถามชาวเกาะคนหนึ่งว่าเธออยากให้วันก่อน ๆ กลับคืนมาไหม เธอตอบว่า “โอ ใช่! ใช่! แน่นอนที่สุด! ทุกคนมีเวลามากพอที่จะเอาใจใส่กันอย่างแท้จริง. ผู้คนแบ่งปันผลผลิตให้กันและกัน. เดี๋ยวนี้ทุกสิ่งเน้นหนักไปทางเรื่องเงิน.”
“วัตตาเว ยู”
นั่นเป็นคำทักทายที่ผมได้รับในตอนเช้าวันหนึ่งขณะเข้าร่วมงานสอนศาสนาตามบ้าน. “วัตตาเว ยู” (What a way you) แปลว่า “สวัสดี คุณสบายดีไหม?” ขณะที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้พูดกันทั่วไปบนเกาะนอร์ฟอค ชาวต่างด้าวแห่งปี 1856 ได้นำภาษาพื้นเมืองอันน่ารักของเขาเข้ามาด้วย เป็นการผสมกันระหว่างภาษาอังกฤษแบบเก่ากับภาษาตาฮิติ ได้พัฒนาขึ้นระหว่างพวกเขาพักอาศัยชั่วคราวบนเกาะพิกแคร์น. ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษพิดจิน แต่ภาษา “พิกแคร์น” หรือ “นอร์ฟอค” เป็นภาษาที่ซับซ้อนภาษาหนึ่งต่างหากและพูดกันด้วยท่วงทำนองอันรื่นรมย์.
ผมตรวจบางตัวอย่างในหนังสือ พูดภาษานอร์ฟอควันนี้. “ทเวลฟ ซาลัน โก เดอ มีทิง” หมายความว่า “สิบสองคนไปร่วมการประชุม.” “เอส กุด ดิเอ เอล ดู เฟอ กู ฟิชเชน” แปลว่า “มันเป็นวันอันแจ่มใส เหมาะที่จะไปตกปลา.”
“มาดูด้วยตนเอง”
เอกสารการท่องเที่ยวชิ้นหนึ่งพูดถึงนอร์ฟอคว่าเป็น “สถานท่องเที่ยวที่เป็นมิตรที่สุด, มีชีวิตแบบชนบทแท้ ๆ, น่าสนใจทางประวัติศาสตร์, สวยงาม, ผ่อนคลาย, ปลอดภัย, เย้ายวนใจ, ยังไม่ได้รับความเสียหาย, มีน้ำใจมากที่สุดเท่าที่มีในโลก.” ชนพื้นเมืองคนหนึ่งบอกผมอย่างภาคภูมิใจว่า “ฉันคิดว่าเราอยู่ใกล้สภาพอุทยานมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับระบบแห่งสิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบัน และฉันไม่ต้องการละที่นี่ไปอยู่ที่อื่น.”
แม้ว่าจะตั้งอยู่ในทะเลใต้ ภูมิประเทศของเกาะนี้เป็นแบบดินแดนอบอุ่น. เนินเขาเขียวชอุ่มที่ลาดละเลียดดาษดื่นด้วยต้นไม้สวยงาม พุ่มไม้ และดอกไม้ต่าง ๆ. จากที่สูงทุกแห่งหนผมมองเห็นมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่. บ้านเรือน ไม่หนาแน่น จัดอยู่ในสวนที่น่ารัก. แทบไม่มีอาชญากรรมอยู่เลย. ผู้คนยังคงขยันในการทำงานโดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่บ้าง. ทัศนะแห่งการพึ่งพาตนเองและการประยุกต์ดัดแปลงยังคงดำเนินต่อไป. และแม้แต่บนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ พยานพระยะโฮวาก็ประกาศข่าวดีของพวกเขา.
ประชาชนผู้มีอัธยาศัยรับแขกที่ไม่เหมือนใครของเกาะแห่งนี้อาจพูดกับคุณว่า “ยอร์ลาย คัม ลุค ออน”—“มาซิและชมด้วยตนเอง.” ช่างเป็นที่น่ายินดีที่ได้มีโอกาสตอบรับคำเชิญนี้.
[แผนที่/ภาพหน้า 25]
จากที่สูงทุกแห่งหนจะมองเห็นมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ได้
[แผนที่]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
[รูปภาพหน้า 25]
เกาะนอร์ฟอค
เกาะพิกแคร์น
นิวซีแลนด์
[รูปภาพหน้า 26]
ตึกอำนวยการและกำแพงเรือนจำ; เกาะฟิลิปไกลออกไป
ต้นสนแบบนอร์ฟอคมีรูปทรงที่ได้สัดส่วนกัน