เหตุใดแอฟริการับผลร้ายมากอย่างนั้น?
เหตุใดแอฟริการับผลร้ายมากอย่างนั้น?
เจค็อบวัย 42 ปีกำลังป่วย. เขาเป็นเอดส์. เขาได้แพร่เชื้อนี้ติดต่อถึงภรรยาด้วย. “ภรรยาของผมรู้ว่าเธอติดโรคจากผม” เจค็อบยอมรับ.
แต่เจค็อบติดเชื้อไวรัสที่อันตรายถึงตายนี้มาอย่างไร? เขาอธิบายว่า: “ผมอยู่คนเดียวในฮาราเร ขับรถจากแซมเบียผ่านซิมบับเวล่องใต้ไปถึงบอตสวานาและสวาซิแลนด์. ภรรยาของผมอยู่กับลูก ๆ ในมานิกาแลนด์ (ประเทศซิมบับเว) และพวกเราบรรดาโชเฟอร์ได้ทำอะไรบางอย่างซึ่งน่าจะระมัดระวังมากกว่านี้.”
พิบัติภัยของความสำส่อน
ปัจจุบัน พฤติกรรมสำส่อนทางเพศเป็นตัวการสำคัญที่แพร่โรคเอดส์ในแอฟริกา. ดอว์น มอคโฮโบ นักวิจัยโรคเอดส์อธิบายว่า “พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ได้มีการละเมิดกฎเกณฑ์ทางเพศอย่างขนานใหญ่.” วารสาร แอฟริกัน แอฟแฟรส์ บอกว่า แอฟริกาในเขตใต้ซาฮารานให้ค่านิยมสูงต่อบุตรแต่กลับให้ค่านิยมในระดับต่ำต่อการสมรส. เพศสัมพันธ์นอกสายสมรสแม้ว่า . . . . นำไปสู่การตั้งครรภ์ก็ไม่ถึงกับคัดค้านอย่างรุนแรง.” หนังสือ เนเจอร์ บอกว่า เส้นทางอันเป็นแบบฉบับของการติดโรค เริ่มต้นจากโสเภณี. รายงานนั้นกล่าวดังนี้: “หญิงโสเภณีแพร่เชื้อโรคนี้ไปยังผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีสามีคนเดียวผ่านสามีซึ่งสำส่อนทางเพศ.”
มีไม่กี่คนเต็มใจจะเปลี่ยนพฤติกรรมของตน. หนังสือแพนอส ดอคูเมนต์ ว่าด้วยโรคเอดส์ในแอฟริกาเล่าประสบการณ์ของนักวิจัยทางการแพทย์ในซาอีร์ดังนี้: “คืนหนึ่งหลังจากผมได้ทำการตรวจเลือดในพื้นที่ชนบทกับผู้ช่วยแพทย์ชาวซาอีร์บางคน พวกเขาก็ได้ออกไปกับสาวชาวบ้านที่นั่น. พวกเขาได้หลับนอนกัน และมีคนเดียวเท่านั้นใช้ถุงยางอนามัย.” เมื่อนักวิจัยเอ่ยถึงความเสี่ยง “พวกเขาหัวเราะแล้วพูดว่าถ้ากลัวติดโรคก็อย่ามีชีวิตอยู่เลย.” ถูกแล้วการมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้ตามต้องการนั้น หลายคนถือเป็นรสชาติของชีวิต—สนุก, เป็นความบันเทิง.
เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ หลายแห่งในโลก หนุ่มสาวมีแนวโน้มเป็นพิเศษในการเป็นคนสำส่อนทางเพศ. การสำรวจหนุ่มสาว 377 คนไม่นานมานี้ในแอฟริกาใต้เผยว่า มากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์เคยมีเพศสัมพันธ์. ทำนองคล้ายคลึงกันมิชชันนารีในแอฟริกากลางตอนใต้สังเกตว่ามี “เด็กหญิงอายุ 15 ปีไม่กี่คนที่ยังไม่ตั้งครรภ์.” เขาเสริมว่า “เมื่อคุณเห็นเด็กสาวที่ยังไม่มีเจ้าของคุณก็จะรำพึงกับตัวเองว่า คงไม่เกินหนึ่งปีหรอกเดี๋ยวเธอก็ตั้งครรภ์.”
อย่างไรก็ดี ในกรณีของแอฟริกามีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่เร่งให้โรคเอดส์ระบาดเร็วขึ้น
ครอบครัวแตกแยก
วารสารแอฟริกา เซาท์ บอกว่า “ตราบใดที่ผู้ชายจำนวนมากในวัยยี่สิบและสามสิบปีขึ้นไปถูกบีบให้ทำงานห่างไกลจากภรรยาและครอบครัว—ไม่ว่าจะเป็นที่โรงงานในเมือง, เหมืองแร่, เรือกสวน หรือขับรถบรรทุกทางไกล—การระบาดของโรคเอดส์จะดำเนินต่อไปไม่หยุด.” ผู้อพยพย้ายถิ่นชาวแอฟริกาผจญกับชีวิตอันยากลำบาก. ถูกแยกจากภรรยาและครอบครัวของตน หลายคนดิ้นรนเพื่อหาที่พักพิงและงานรับจ้างในเมืองใหญ่. ตามเรื่องราวของวารสาร แอฟริกา แอฟแฟร์ มีว่า “ความเครียดที่พยายามเลี้ยงตัวเองและครอบครัวเป็นเหตุให้ผู้อพยพประสบกับความคับข้องใจและความรู้สึกอัตคัตขัดสน.” วารสารนั้นเสริมต่อไปว่า สิ่งนี้มักทำให้ผู้อพยพ “สลัดทิ้ง ความรับผิดชอบของตนอย่างสิ้นเชิง.”
เส้นทางรถบรรทุกถูกระบุโดยเฉพาะว่าเป็นร่องทางมรณะซึ่งโรคเอดส์ได้ระบาดผ่านร่องทางนี้. ดังที่โชเฟอร์รถบรรทุกคนหนึ่งพูดว่า “ผมต้องให้แน่ใจว่าทุกที่ ๆ ผมไปจะต้องมีหญิงบริการคอยปรนเปรอผม.” แหล่งเพาะเชื้อเอดส์ที่มักจะพบคือย่านชุมชนแออัดแถบแอฟริกาตะวันออกซึ่งหญิงโสเภณี 600 คนค้าประเวณีอยู่. ลูกค้าส่วนใหญ่คือโชเฟอร์รถบรรทุกซึ่งแวะเข้ามาตามที่เขาพูดกันคือพักดื่มน้ำชา. อัตราการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มโสเภณีเหล่านี้สำรวจแล้วมีมากกว่าร้อยละ 80. จากนั้นโชเฟอร์รถบรรทุกผู้ติดเชื้อก็เดินทางต่อไปยังที่ “พักดื่มน้ำชา” ข้างหน้าและสุดท้ายก็กลับบ้าน—ตลอดช่วงดังกล่าวก็แพร่เชื้อมรณะนี้ซึ่งติดตัวเขาไป.
แล้วก็มีสงครามกลางเมืองและการต่อสู้ทางการเมือง—สภาวะที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยหลายล้านคน. อลัน ไวท์ไซด์ผู้เชี่ยวชาญโรคเอดส์ให้ข้อสังเกตว่า “ที่ไหนก็ตามที่มีสงครามทางการเมืองและสงครามกลางเมืองที่นั่นพฤติกรรมทางสังคมขั้นปกติล่มสลาย . . . ผู้ลี้ภัยซึ่งย้ายจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่งอาจเป็นแหล่งแพร่โรคขนาดใหญ่และพวกเขาก็มักจะมีเพศสัมพันธ์กับหลายคนเช่นกัน.
สภาวะวิกฤติทางการแพทย์
แอฟริกาซึ่งขาดเงินทุนไม่สามารถรับมือกับปัญหาด้านการบำบัดรักษา. จุลสารอันเดอร์สแตนดิง แอนด์ พรีเว็นติง เอดส์ อธิบายว่า “ประเทศในแอฟริกาหลายแห่ง จำนวนเงินที่ตั้งงบไว้ต่อคนต่อปีทางด้านการดูแลสุขภาพนั้นน้อยกว่าค่าตรวจเลือดหาไวรัสโรคเอดส์ครั้งเดียว.” ในทำนองคล้ายคลึงกัน คีท เอเดลสตัน ผู้ประพันธ์หนังสือเอดส์—เคานต์ดาวน์ ทู ดูมส์เดย์ อธิบายว่า “แม้กระทั่งสบู่เพื่อชำระเครื่องอุปกรณ์ให้ปลอดเชื้อหรือน้ำยาขจัดคราบสกปรกที่ใช้ในบ้านทั่วไปบ่อยครั้งไม่มี.”
กิจปฏิบัติของประเทศในแอฟริกาบางแห่งซึ่งใช้หลอดฉีดยาหลอดเดียวซ้ำกับคนไข้หลายคนกระตุ้นให้เอเดลสตันกล่าวเตือนว่า: “โปรดระมัดระวัง ถ้าต้องรับการฉีดยา . . . ในแอฟริกา . . . เรียกร้องหลอดฉีดยาใหม่และเข็มที่แกะออกจากห่อซึ่งผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว โดยที่คุณจับตาดูตลอดเวลา.”
ความเสี่ยงในการติดเชื้อโดยบังเอิญทำให้ผู้ประกอบอาชีพทางเวชกรรมหดหายไปเป็นจำนวนมาก. แพทย์สองคนซึ่งประจำอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในแอฟริกาใต้ถูกเข็มบาดขณะที่รักษาคนไข้โรคเอดส์. แพทย์ติดโรคเอดส์และต่อมาเสียชีวิต. ผลลัพธ์ก็คือแพทย์ชาวต่างประเทศหกคนพากันลาออกจากโรงพยาบาลนั้น.
ภายใต้สภาพเหล่านี้จึงไม่แปลกที่หลายคนได้พิจารณาทบทวนกิจปฏิบัติว่าด้วยการถ่ายเทสิ่งซึ่งมีส่วนมากที่สุดอย่างหนึ่งในการแพร่โรคเอดส์—นั่นคือเลือด! หนังสือเซาท์ แอฟริกัน เมดิคัล เจอร์นัล บอกว่า “เลือดที่มีเชื้อยังคงเป็นตัวการสำคัญที่แพร่โรคเอดส์” แล้วเสริมต่อไปว่า “ความจริงแล้วแทบไม่มีการตรวจเลือดในแอฟริกากลาง และอย่างน้อยที่สุด 60 เปอร์เซ็นต์ของเลือดที่บริจาคนั้นติดเชื้อ.”
ด้วยเหตุนี้ แอฟริกาซึ่งมีโศกนาฏกรรมหลายอย่างรุมล้อมอยู่แล้วก็กำลังทุกข์ระทมอีก. และท่ามกลางผลอันน่าสลดใจที่สุดแห่งพิบัติภัยเอดส์ในแอฟริกาก็คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับผู้ตกเป็นเหยื่อซึ่งอายุน้อยที่สุด—ได้แก่เด็ก ๆ.
ผู้รับทุกข์โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่
ลูซี เป็นผู้รับผลร้ายจากโรคเอดส์โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่. เธอติดเชื้อจากสามีผู้สำส่อนทางเพศ. บัดนี้ลูซีผู้เป็นม่ายอายุ 23 ปีกำลังต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง. เธอพูด
ว่า “ดิฉันยังคงพยายามคิดอย่างมีเหตุผลว่าจะระลึกถึงเขาหรือเกลียดชังเขาที่นำเชื้อมาสู่ดิฉัน.” ความรู้สึกของลูซีเป็นตัวอย่างที่มักจะพบเห็นในเรื่องความเจ็บปวดรวดร้าวและความทุกข์ทรมานซึ่งโรคเอดส์นำมาสู่ผู้ตกเป็นเหยื่อที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่.วารสาร เดอะ เวิลด์ ทูเดย์ บอกว่า “ถึงแม้เชื้อ HIV ในประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีผลกระทบต่อผู้หญิงและผู้ชายในสัดส่วนพอ ๆ กัน. แต่อาจเป็นไปได้ว่าผลกระทบต่อผู้หญิงจะ . . . รุนแรงมากเกินสัดส่วน.” ทั้งนี้เป็นความจริงโดยเฉพาะในแอฟริกา ซึ่งผู้หญิง—อยู่ในฐานะเสียเปรียบอย่างมากเพราะไม่รู้หนังสือ, ยากจน และสามีอพยพไปทำงานไกลบ้าน—รับทุกข์อย่างไม่ปริปาก.
แต่ผลกระทบซึ่งยังความสลดใจที่สุดจากโรคเอดส์นั้นตกอยู่กับเด็ก ๆ. องค์การยูนิเซฟกะประมาณว่าผู้หญิง 2.9 ล้านคนที่เสียชีวิตเพราะโรคเอดส์ในแอฟริกาทศวรรษนี้ จะทำให้มีเด็กกำพร้าถึง 5.5 ล้านคน. เจ้าหน้าที่จากประเทศหนึ่งซึ่งมีเด็กกำพร้าอย่างน้อย 40,000 คนอันเป็นผลจากโรคเอดส์ รายงานว่า “มีหลายหมู่บ้านแล้ว . . . ที่เหลือเฉพาะเด็ก ๆ เท่านั้น.”
สภาพหนีเสือปะจระเข้ที่มีให้เห็นเป็นแบบฉบับก็คือมารดาติดเชื้ออยู่กับลูก ๆ ที่ติดเชื้อ. หนังสือเดอะ เซาท์ แอฟริกา เมดิคัล เจอร์นัล ให้คำอธิบายว่า “คำถามซึ่งยกขึ้นถามบ่อย ๆ โดยมารดาของทารกที่ตรวจเลือดแล้วได้ผลบวกก็คือ ‘ใครจะตายก่อน?’”
ไม่แปลกที่ผู้หญิงหลายคนรู้สึกเปราะบางต่อโรคเอดส์. เอ็ม. ฟิรี แพทย์ชาวแซมเบียบอกว่า “ผู้หญิงหลายคนมาหาเราและถามว่ามียาอะไรไหมที่จะป้องกันเธอไม่ให้ติดเชื้อนี้ . . . มีความกลัวว่าขณะที่พวกเขาอาจดูแลตัวเองอย่างดี แต่คู่ของตน, สามีของตน, อาจจะไม่ซื่อสัตย์สิ่งนี้แหละทำให้พวกเธอวิตก.”
ฉะนั้น บุคคลผู้สมรสแล้วจะทำอะไรได้บ้างถ้าพบว่าอีกฝ่ายหนึ่งสำส่อนทางเพศ? ถ้าปฏิบัติตามแนวทางแห่งการให้อภัยและกลับคืนดีกันทางสมรสแล้ว ฝ่ายผิดควรยินยอมให้มีการตรวจทางแพทย์เพื่อดูว่าติดเชื้อ HIV มาหรือไม่. (เปรียบเทียบมัดธาย 19:9; 1 โกรินโธ 7:1-5.) คู่สมรสซึ่งเผชิญสถานการณ์เช่นนั้นอาจตัดสินใจที่จะงดเพศสัมพันธ์หรืออย่างน้อยก็ใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อจนกว่าจะทราบผลการตรวจ.
เนื่องจากโรคเอดส์มีระยะฟักตัวเป็นเวลานาน คนหนุ่มสาวซึ่งมีแผนการจะสมรสควรระมัดระวังเช่นกันก่อนจะตกลงใจสมรสกับบางคนซึ่งมีอดีตน่าสงสัยทางศีลธรรม ถึงแม้ว่าเธอหรือเขาดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของคริสเตียนอยู่แล้วในขณะนี้. เกี่ยวกับกลุ่มที่ก่อความเสี่ยงนี้ ผู้เชี่ยวชาญโรคเอดส์. ดร. เอส. เอ็ม. ทิบาจายุกา แนะให้คนหนุ่มสาวป้องกันล่วงหน้าโดย “ตรวจเชื้อ HIV ก่อนสมรส.”
ในสภาพความเป็นจริง ตราบใดที่มีเอดส์ในแอฟริกา และที่จริงในที่อื่น ๆ ของโลก เหยื่อผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ รวมทั้งคู่สมรสและลูก ๆ จะทนรับทุกข์ตราบนั้น.
[รูปภาพหน้า 7]
มีเหตุผลหลายประการที่ว่าทำไมโรคเอดส์ในแอฟริกากำลังคร่าชีวิตอย่างน่าวิตก
[ที่มาของภาพ]
WHO/E. Hooper