ความเชื่อของวินด์แฮม—ส่งผลกระทบถึงผู้อื่นอย่างไร
ความเชื่อของวินด์แฮม—ส่งผลกระทบถึงผู้อื่นอย่างไร
วารสารตื่นเถิด ฉบับ 8 กันยายน 1991 ลงบทความหนึ่งเกี่ยวกับความซื่อสัตย์มั่นคงของวินด์แฮม คุก ที่มีต่อกฎหมายของพระเจ้าซึ่งสั่งให้คริสเตียนละเว้นจากเลือด. (กิจการ 15:20; 21:25) วินด์แฮมเป็นโรคเส้นโลหิตดำโป่งขดในลำคอ และเป็นโรคคล้ายฮีโมฟีเลีย (เลือดออกไม่หยุด). บทความนั้นรายงานว่าเขามีชีวิตรอดจากการเลือดออกหลายครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งระดับฮีโมโกลบินในเลือดลดลงต่ำกว่า 2. น่าเศร้าที่เชิงอรรถของบทความนั้นบอกว่า “ขณะที่วารสารฉบับนี้กำลังจะเข้าแท่นพิมพ์ วินด์แฮมได้เสียชีวิตแล้ว เนื่องจากประสบเลือดออกอีกครั้งหนึ่ง.”
ผลกระทบต่อเพื่อนเยาวชน
เด็กหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ เขียนถึงวารสารตื่นเถิด เพื่อแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อบทความนั้นและพรรณนาถึงผลกระทบที่มีต่อพวกเขา. คนหนึ่งจากเมืองคลินตันในรัฐไอโอวากล่าวว่า “เมื่อดิฉันอ่านวิธีที่เด็กหนุ่มอายุ 15 ปีคนนี้เผชิญหน้ากับพวกแพทย์อย่างกล้าหาญและอธิบายด้วยความอดทนถึงสาเหตุที่เขาปฏิเสธเลือด ทำให้ดิฉันต้องตรวจสอบความเชื่อของตนและถามตัวเองว่า ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร. ความเชื่อมั่นและความอดทนของวินด์แฮมทำให้ดิฉันรู้สึกแน่วแน่ยิ่งกว่าแต่ก่อนว่าถ้าดิฉันอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญความเป็นความตาย ดิฉันจะยึดจุดยืนเหมือนเขา.”
จดหมายฉบับหนึ่งของเด็กสาววัย 15 ปีจากเมืองเมเดน รัฐนอร์ธแคโรไลนาบอกว่า “หลังจากอ่านเรื่องราวความทุกข์ทรมานของวินด์แฮมและการที่เขาหมายพึ่งพระยะโฮวากระทั่งถึงความตาย หนูก็ร้องไห้. หนูถามตัวเองเพื่อสืบค้นดูความรู้สึกก้นบึ้งของหัวใจว่า ‘ภายใต้สภาพการณ์เช่นนั้น ฉันจะมอบชีวิตไว้ในพระหัตถ์ของพระเจ้าไหม อีกทั้งมอบความวางใจเต็มที่ในพระองค์ว่าจะทรงระลึกถึงฉัน?’
“หนูอ่านบทความนี้ซ้ำหลายครั้ง และตั้งใจที่จะทบทวนบทความดังกล่าวเมื่อไรก็ตามที่หนูรู้สึกหดหู่ใจเนื่องจากโลกที่ทารุณกดขี่นี้. ความเชื่อมั่นของวินด์แฮมช่วยให้มีกำลังใจ. หนูตั้งตาคอยที่จะพบเขาในโลกใหม่ซึ่งพระยะโฮวาทรงสัญญาไว้.”
หญิงสาวอีกคนหนึ่งจากนครนิวยอร์กเขียนว่า “บ่อยครั้ง ดิฉันนึกภาพตนเองอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกับ วินด์แฮม คุก และนึกสงสัยว่าจะพูดอย่างไรถ้าแพทย์บอกว่าดิฉันกำลังจะตายถ้าไม่รับการถ่ายเลือด. แบบอย่างอันมีพลังทั้งหลาย เช่นของวินด์แฮม เสริมให้ดิฉันเปี่ยมไปด้วยความกล้าและเข้มแข็งเสมอในการทำงานรับใช้พระยะโฮวาสุดความสามารถ.”
เด็กสาวคนหนึ่งจากเมืองเค้นต์ รัฐวอชิงตันอธิบายว่า “เมื่อวานนี้ดิฉันรับวารสารฉบับนั้นจากไปรษณีย์ และอ่านจนจบก่อนกลับบ้าน. ดิฉันโทรศัพท์แนะนำบทความ
นี้ให้เพื่อนหลายคนที่ประชาคม. แล้วในเย็นวันนั้นเราก็นำบทความดังกล่าวมาใช้สำหรับการศึกษาประจำครอบครัวของเรา.” เธอกล่าวถึงผลกระทบที่บทความนั้นมีต่อเธอดังนี้ “ไม่เพียงแต่หนุนกำลังใจและเสริมความเชื่อให้เข้มแข็ง แต่ทำให้ดิฉัน ซึ่งมีอายุ 17 ปี ต้องถามตัวเองว่าจะสามารถเผชิญการทดลองเช่นนั้นอย่างกล้าหาญได้หรือไม่.”เด็กสาวคนหนึ่งจากเมือง นอร์ธ เบอร์วิก รัฐเมนเขียนว่า “หนูเข้าใจวินด์แฮมเพราะหนูก็อายุ 15 ปีเหมือนกัน. หนูไม่อาจกล่าวออกมาได้ว่าความอดทนและความกล้าหาญของเขากระตุ้นหนูเพียงไรให้ทำสุดความสามารถในงานรับใช้พระยะโฮวา. หากเขาสามารถกระทำได้มากถึงขนาดนั้นเพื่อให้พระเจ้าทรงพอพระทัยแม้ร่างกายอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ฉะนั้น หนูมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำสุดกำลัง?
“พอหนูอ่านบทความที่ยอดเยี่ยมเรื่องนี้จบ หนูก็น้ำตาคลอ. หนูรู้สึกว่ารู้จักวินด์แฮมมาตลอดชีวิตของหนู. ถ้าหนูได้รู้จักเขาจริง ๆ ก็จะดี. ครั้นหนูมองรูปถ่ายของเขากับคุณพ่อคุณแม่ ก็รู้สึกว่าแทบรอไม่ไหวที่จะเห็นรอยยิ้มอันงดงามของเขาอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่มีการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายเมื่อเขาไม่ต้องเจ็บปวดอีกต่อไป.”
เด็กสาววัย 15 ปีอีกคนหนึ่งอยากให้คุณพ่อคุณแม่ของวินด์แฮมทราบว่าเธอรู้สึกเช่นไรกับบทความนั้น. เธอเขียนว่า “ความกล้าหาญของวินด์แฮมช่วยให้หนูเห็นว่าจำต้องเตรียมตัวในการต่อสู้เพื่อความเชื่อของตัวเอง. หนูอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันเมื่อใดก็ได้. หนูได้แต่หวังว่าถ้าเวลานั้นมาถึงเมื่อต้องยึดกับจุดยืน หนูจะกล้าหาญและแน่วแน่เหมือนวินด์แฮมในการกระทำตามสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน.
“หนูไม่เคยรู้จักวินด์แฮมมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่แล้ว แต่หนูรอคอยวันที่จะได้รู้จักเขาเมื่อโลกใหม่มาถึง. เรื่องราวของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้หนูทำทุกสิ่งเท่าที่ทำได้ในการรับใช้พระยะโฮวาและจะทำไปจนกระทั่งอวสาน.”
เสริมสร้างความเชื่อแก่ทุกคน
มารดาคนหนึ่งจากเมืองนูเวิก รัฐนิวเจอร์ซีอธิบายว่า “ดิฉันเป็นพยานพระยะโฮวามา 22 ปี แต่ได้เข้าร่วมการประชุมก่อนหน้านั้น. ดิฉันอ่านวารสารทุกฉบับอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่เคยอ่านเรื่องที่สะเทือนใจและหนุนกำลังใจอย่างเรื่องของวินด์แฮม คุก มาก่อนเลย.
“ตอนนี้ ดิฉันก็ได้แต่ทำหน้าที่ที่พระเจ้าประทานให้ในฐานะมารดาโดยช่วยลูกสาววัยสิบขวบของดิฉันให้เข้มแข็งและปกป้องความเชื่อได้เหมือนอย่างวินด์แฮม. ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องเลือด, ยาเสพย์ติด, เพศ, หรือความชั่วใด ๆ ที่ซาตานนำมายังเราทุกคนโดยเฉพาะลูก ๆ ของเรา เราต้องรักษาความเข้มแข็งต่อ ๆ ไปด้วยการเสริมสร้างความเชื่อของเราให้มั่นคงยิ่งขึ้น.”
พยานฯ คนหนึ่งจากเมืองเคดิซ รัฐเคนทักกีพรรณนาถึงความรู้สึกที่คล้ายคลึงกันนี้โดยเขียนว่า “นี่เป็นบทความที่สะเทือนอารมณ์ที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ดิฉันเคยอ่านมา. วินด์แฮมเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมที่เยาวชนทุกคนควรติดตาม. ดิฉันร้องไห้ขณะอ่านสิ่งที่เด็กหนุ่มพยานฯ ที่ดีคนนี้ต้องประสบ. ดิฉันตระหนักว่าพวกเราทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ควรปฏิบัติตามจุดยืนที่แสดงออกอย่างกล้าหาญของเขา. แบบอย่างของวินด์แฮมทำให้ดิฉันต้องสำรวจตัวเองอีกครั้งหนึ่ง. แบบอย่างนั้นทำให้ดิฉันพยายามมากขึ้นในการทำอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณเพื่อพระยะโฮวา พยายามเสมอในการวางแบบอย่างที่ดี เหมือนวินด์แฮม เพื่อทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.”
พยานฯ อีกคนหนึ่งจากเมืองปาล์มสปริงส์ รัฐแคลิฟอร์เนียเขียนว่า “บทความนี้ก่อความสะเทือนใจแก่ดิฉันเป็นพิเศษ. ดิฉันมีลูกห้าคน และดิฉันหวังอีกทั้งอธิษฐานขอให้พวกลูก ๆ มีความเข้มแข็งในความเชื่อเหมือนอย่างที่วินด์แฮมมีหากต้องเผชิญกับความยากลำบากแบบนั้น. . . . วินด์แฮมเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเยาวชนของเรา.”
ความเชื่อแท้เป็นความคาดหมายที่แน่นอน ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่หวังไว้แม้ว่ายังไม่ได้เห็นหรือประสบสิ่งเหล่านั้นก็ตาม. (เฮ็บราย 11:1) วินด์แฮมมีความเชื่อในเรื่องโลกใหม่ของพระเจ้าและในเรื่องการปลุกผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้เป็นขึ้นจากตาย อันเนื่องมาจากความรู้ถ่องแท้ในคำทรงสัญญาต่าง ๆ ของพระคัมภีร์. (กิจการ 24:15; 2 เปโตร 3:13; วิวรณ์ 21:3, 4) ความเชื่อเช่นนั้น ซึ่งแสดงออกแม้ความตายอยู่ตรงหน้าย่อมเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคมพี่น้องทั่วโลกอย่างแน่นอน.—1 เปโตร 5:9.