มนุษยชาติปรารถนาโลกใหม่
มนุษยชาติปรารถนาโลกใหม่
ความปรารถนาโลกใหม่ไม่เคยแรงกล้าเท่าเดี๋ยวนี้. แปดทศวรรษที่ล่วงเลยมาโลกตกอยู่ในฝันร้ายอันเต็มไปด้วยสงคราม, การจลาจล, ความอดอยาก, โรคภัย, อาชญากรรม, และภาวะมลพิษ. มนุษย์ต้องการจะตื่นจากฝันร้ายเข้าสู่โลกใหม่แห่งสันติภาพ. เพื่อสนองความปรารถนานี้ บรรดาผู้นำของโลกเริ่มพูดกันถึงการสร้างโลกเช่นนั้นขึ้นมา.
ไม่ต้องสงสัยว่าคุณคงเคยได้ยินหรือเคยอ่านสุนทรพจน์ของเหล่าผู้มีชื่อเสียงเด่นซึ่งประกาศว่าโลกใหม่ใกล้จะถึงอยู่แล้ว. ในสุนทรพจน์คราวหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน 1991 จอร์ช บุช ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ กล่าวว่า: “คืนนี้ ขณะที่ผมเห็นประชาธิปไตยเผยโฉมอย่างน่าตื่นเต้นทั่วลูกโลก บางที—บางทีเราอาจอยู่ใกล้โลกใหม่กว่าก่อน ๆ มา.”
เพื่อเป็นหลักฐานว่าโลกใหม่ใกล้เข้ามา เหล่าผู้นำโลกชี้ถึงการยุติสงครามเย็นระหว่างชาติต่าง ๆ ในค่ายตะวันออกและค่ายตะวันตก. ที่จริงโลกเราหายใจคล่องขึ้นขณะที่โครงการลดอาวุธมีผลในทางปฏิบัติ. การลดอาวุธนิวเคลียร์เสริมความหวังของผู้คนเป็นอันมากให้มั่นคงยิ่งขึ้นที่ว่าจะมีโลกใหม่แห่งสันติภาพและความปลอดภัย.
เมื่อเดือนเมษายนศกนี้ จอร์ช แม็กกี ปลัดกระทรวงต่างประเทศสมัยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอห์น เอ็ฟ. เค็นเนดี บอกว่า “บัดนี้ เรามีโอกาส—จริง ๆ แล้ว มีความจำเป็น—ที่จะร่างพิมพ์เขียวสำหรับระบบโลกใหม่บนพื้นฐานของแนวความคิดชนิดใหม่เรื่องความปลอดภัย.” เขาเสริมว่า “ผมเชื่อว่าความหวังที่ดูท่าว่าจะไปได้สวยที่สุดเรื่องระบบโลกใหม่แบบที่ประสบผลสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับการกระชับความสัมพันธ์ของประชาคมระหว่างชาติให้แน่นแฟ้น.”
แม็กกีบอกว่า ที่ฝรั่งเศสระงับการทดลองนิวเคลียร์จนถึงปลายปี 1992 เป็น “ความพยายามเพื่อชักชวนให้มหาอำนาจทางนิวเคลียร์อื่น ๆ ปฏิบัติตาม.” เขายังชี้ว่ารัสเซีย “ริเริ่มลดคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์และก้าวลงจากฐานะอันล่อแหลมแห่งการเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์โดยใช้อาวุธนิวเคลียร์.”
นอกจากนั้น ณ การประชุมบรรดาผู้นำโลกในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1991 เจ็ดคนในจำนวนนั้นแถลงว่าฝ่ายพันธมิตรในสงครามอ่าวเปอร์เซีย “ยืนยันถึงความสามารถของประชาคมระหว่างชาติที่จะปฏิบัติร่วมกัน ‘เพื่อกอบกู้สันติภาพและความปลอดภัยระหว่างชาติและเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง.’”
โลกใหม่ชนิดไหน?
สิ่งเหล่านี้ฟังแล้วทำให้มีกำลังใจ. แต่ลองถามตัวเองดู โลกใหม่ชนิดไหนที่ชาติต่าง ๆ หวังจะสร้างขึ้น? เป็นโลกที่ปราศจากอาวุธ ปราศจากสงครามไหม?
แม็กกีตอบว่า “อเมริกาต้องรักษาแสนยานุภาพไว้อย่างเพียงพอเพื่อให้การสนับสนุนตามส่วนสัดแก่ภารกิจใด ๆ ที่มีการผนึกกำลังทางทหารในอนาคต หรือเพื่อประสบชัยชนะในวันหน้าถ้าเลี่ยงสงครามไม่ได้.” ฉะนั้น ผู้นำโลกไม่สนับสนุนการปลดอาวุธโดยสิ้นเชิง ทั้งไม่ตัดประเด็นการใช้กำลังทหาร ถ้า “เลี่ยงสงครามไม่ได้” ดังที่แม็กกีว่าไว้. รัฐบาลต่าง ๆ ให้คำสัญญาเกี่ยวกับโลกใหม่ที่ปราศจากสงครามไม่ได้หรอก. ตามสภาพเป็นจริง พวกเขารู้ว่าตนไม่อาจจะสร้างโลกเช่นนั้นขึ้นมาได้.
ยกตัวอย่าง มองดูสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วซิ. ภายใต้หัวเรื่อง “ระเบียบโลกใหม่” ในหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม 1992 แอนโทนี ลูอิส นักเขียนประจำคอลัมน์เขียนว่า “เมื่อดูโทรทัศน์เห็นภาพกระสุนปืนใหญ่บรรจุวัตถุระเบิดตกลงมา [ในเมืองซาราเยโว, บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนา] และพลเรือนซุกตัวกอดกันแน่นด้วยความกลัว ผมคิดว่าอารยธรรมมิได้
เจริญก้าวหน้าไปสักเท่าไรตั้งแต่ลูกระเบิดของนาซีทิ้งลงในเมืองรอตเตอร์ดัม. ระเบียบโลกใหม่อย่างนี้น่ะหรือ.”กระนั้น นอกจากการขจัดสงคราม ก็ยังมีปัญหาอื่น ๆ มากมายซึ่งต้องแก้ไขเพื่อสร้างโลกใหม่อันน่าพอใจ. ลองพิจารณาเรื่องภาวะมลพิษอันร้ายกาจซึ่งค่อย ๆ ทำลายอากาศ, แผ่นดิน, และทะเล; แก๊งอาชญากรรมและขุมข่ายค้ายาเสพย์ติดอันทรงอำนาจ ซึ่งปล้นทรัพย์สินและสุขภาพของผู้คนนับล้าน ๆ; การทำลายป่าดงดิบอย่างยับเยินซึ่งทำให้เกิดการเซาะหน้าดินและในที่สุดทำให้เกิดน้ำท่วมทำลายพืชผล.
ยิ่งกว่านั้น ที่กำลังคอยการเยียวยาก็คือโรคภัยอันร้ายกาจ รวมทั้งโรคหัวใจ, โรคมะเร็ง, เอดส์, มะเร็งในเม็ดเลือด, และโรคเบาหวาน. และจะว่าอย่างไรกับปัญหาความยากจน, การไร้ที่อยู่อาศัย, การขาดแคลนอาหารและน้ำ, ทุโภชนาการ, การไม่รู้หนังสือ, และชั้นโอโซนถูกทำลาย? ที่จริง แจงรายการไปได้เรื่อย ๆ. ปัญหาขั้นวิกฤติเหล่านี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ดังติ๊ก ๆ ซึ่งกองสุมกันอยู่. มนุษย์ต้องถอดชนวนเสียแต่เดี๋ยวนี้ ก่อนจะระเบิดเกิดความหายนะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ซึ่งอาจนำไปสู่การล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้. มนุษย์จะตั้งโลกใหม่ขึ้นมาได้ทันกาลไหม?
ตลอดหลายปี องค์การและสมัชชาต่าง ๆ ได้ทำงานหนักเพื่อแก้ไขปัญหาของโลก. กระนั้น ปัญหาไม่เพียงแต่ขยายวงกว้างออกไปแต่ยังเกิดปัญหาใหม่ ๆ และสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นอีกด้วย. การที่มนุษย์ไม่สามารถแก้ไขสิ่งเหล่านี้ หมายความว่าที่มนุษย์ร่ำหาโลกใหม่อันสงบสุขและปลอดภัยนั้นเป็นการเปล่าประโยชน์หรือ? เราตอบได้ด้วยความมั่นใจว่าไม่! โปรดพิจารณาว่าทำไมเราจึงกล่าวเช่นนี้.