การ์ตูนที่รุนแรงทางทีวีมีอันตรายไหม?
การ์ตูนที่รุนแรงทางทีวีมีอันตรายไหม?
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในบริเตน
“บั๊กส์บันนี่ถูกกล่าวโทษสำหรับการต่อสู้ในโรงเรียน” เป็นพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ เดอะ ไทม์สแห่งลอนดอน. หนังสือพิมพ์นี้รายงานถึงความรู้สึกของครูบางคนเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นผู้ซึ่งมีการอ้างว่า เลียนแบบฉากรุนแรงจากการ์ตูนทีวี.
“การ์ตูนส่วนใหญ่มีความรุนแรง” ตามคำแถลงของรองอาจารย์ใหญ่คนหนึ่งของโรงเรียนประถม “และถึงแม้ว่าคนดีเป็นฝ่ายชนะในที่สุดก็ตาม วิธีการที่เขาได้ชัยชนะนั้นก็ไม่น่าพึงพอใจ.” คุณรู้สึกอย่างเดียวกันไหมเกี่ยวกับแนวโน้มของการ์ตูนทางทีวี?
เมื่อเผชิญกับความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อภาพยนตร์การ์ตูน ซึ่งบัดนี้มีให้หาดูได้อย่างกว้างขวางในวีดิทัศน์ บิดามารดาหลายคนรู้สึกเป็นห่วง. บางคนรู้สึกกลัดกลุ้มเนื่องจากลูก ๆ วัยรุ่นของตน “คลั่งการ์ตูน” และกระทั่งกล่าวหาว่าการ์ตูนส่งเสริมความรุนแรง, การโกหกหลอกลวง, และการไม่เชื่อฟัง.
แต่การดูการ์ตูนจะก่ออันตรายใด ๆ ได้ไหม ถึงแม้ว่าการ์ตูนเหล่านั้นมีฉากรุนแรงอยู่บ้าง?
มีอันตรายไหม?
ตามแนวแนะของบีบีซี (บริติช บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน) ผู้ผลิตรายการทีวีต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของความรุนแรงใด ๆ ที่รายการของเขานำเสนอ และนั่นรวมถึงการ์ตูนด้วย. ทัศนะอันเป็นทางการคือ: “การปลุกเร้าทางอารมณ์อันเป็นผลสืบเนื่องจากความรุนแรงเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับความสามารถของผู้ชมในการมีความรู้สึกร่วมไปกับเหตุการณ์นั้น ๆ.”
โดยเอกลักษณ์เฉพาะตัว การ์ตูนเสนอสถานการณ์ที่จินตนาการขึ้นมา ดังนั้น อันตรายมีเพียงน้อยนิดอย่างนั้นหรือ? วัยรุ่นส่วนใหญ่ซึ่งดูการ์ตูนทีวีจนลืมกินลืมนอน เห็นได้ชัดว่าพวกเขาทำเช่นนั้นเพื่อความสนุกสนาน. จริงอยู่ การ์ตูนสนุก. แต่การ์ตูนทำอะไรมากกว่านั้นไหม? ใช่ แน่นอน—เพราะการ์ตูนไม่ว่าเรื่องใดก็อาจก่อความประทับใจไปนาน. ดร. เกรกอรี สโตร์ซ ประจำมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดบอกกับนิตยสารรายการโทรทัศน์ชื่อทีวี ไทม์สว่าการ์ตูนที่เด็กดูกันนั้นเป็นที่มาอย่างหนึ่งของพวก “สัตว์ประหลาด, ภูติผี, หรือสัตว์ร้าย” ซึ่งปรากฏอย่างกว้างขวางในฝันร้ายของเด็ก ๆ.
ทำนองคล้ายกัน การศึกษาวิจัยความรุนแรงบนจอและการตรวจสอบภาพยนตร์ของรัฐบาลอังกฤษยอมรับว่าการที่เด็กดูภาพยนตร์ด้วยกันกับใครนั้นมีอิทธิพลต่อผลซึ่งเกิดขึ้นกับเขา. ดังนั้น อันตรายต่อเด็ก ๆ จึงอาจแฝงอยู่ในการดูการ์ตูนโดยไม่มีการควบคุมดูแล.
รายงานเดียวกันนั้นยืนยันว่าเด็กในวัยก่อนเข้าโรงเรียนพร้อมจะเลียนแบบการกระทำรุนแรงที่พวกเขาดู และยืนยันอีกว่าเนื่องด้วยมี “อารมณ์บางชนิด ‘กระตุ้น’” เด็กที่โตกว่าซึ่งอยู่ในวัยประมาณห้าหรือหกขวบจะเข้าร่วมในการกระทำที่ก้าวร้าวซึ่งพวกเขาได้เรียนรู้มา.
ดังนั้น โฆษกสถานีแพร่ภาพจึงยอมรับถึงความเป็นไปได้ที่ว่า สักช่วงเวลาหนึ่ง การดูภาพความรุนแรงในทีวีอาจมี “ผลกระทบทำให้ความรู้สึกด้านไปหรือมองเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะต่อพวกเด็ก ๆ” ไม่ว่าจะอายุเท่าไร. สิ่งนี้อาจทำให้พวกเขาไม่ค่อยจะรู้สึกอะไรเมื่อตัวเองเข้าร่วมในความรุนแรง หรือไม่ก็ทำให้เขาไร้ความรู้สึกเห็นใจเมื่อผู้อื่นประสบความรุนแรง.
คนที่ติดการ์ตูน “บั๊กส์บันนี่” หรือ “ทอมกับเจอร์รี่” ซึ่งอาจเคยดูตัวการ์ตูนเหล่านั้นครั้งแรกเมื่อหลายปีมาแล้ว ปัจจุบันคงเป็นบิดามารดาคนหนึ่งและโดยเพียงกดปุ่มก็สามารถปรับช่องทีวีไปยังเรื่องตลก ๆ สมัยใหม่ของพวกเขาได้. แต่มาตรฐานได้เปลี่ยนไป. ด้วยคำนึงถึงสวัสดิภาพของลูก ๆ บิดามารดาพึงตรวจดูเนื้อหาในการ์ตูนซึ่งมีการฉายในทุกวันนี้.
ลองพิจารณากรณีของการ์ตูนเรื่อง “นินจาเต่า.” ถือกันว่าตัวละครในภาพยนตร์อเมริกันเรื่องนี้มีลักษณะรุนแรงเกินไปสำหรับผู้ชมชาวยุโรป. ดังนั้น ก่อนการฉายเรื่องนี้ในอังกฤษซึ่งเป็นการ์ตูนชุดที่สร้างซ้ำจากภาพยนตร์จอเงิน สถานีบีบีซีจึงตัดบางฉากออก. สถานีนี้กระทั่งตัดคำ “นินจา” ออกด้วย เพราะคำนี้หมายถึงพวกนักรบญี่ปุ่น. แล้วก็เรียกตัวละครเหล่านั้นว่า “วีรบุรุษเต่า” แทน.
แม้จะเป็นเช่นนั้น บิดามารดาหลายคนก็ได้แสดงออกถึงความไม่สบายใจบ้าง. มารดาคนหนึ่งบอกกับหนังสือพิมพ์สก็อตส์แมนดังนี้: “เด็ก ๆ หลงกลง่ายมาก. ดิฉันมีลูกอายุห้าขวบคนหนึ่งซึ่งคลั่งไคล้พวกนินจาเต่ามาก. ตอนที่ดิฉันไปรับเขาจากโรงเรียน พวกเด็ก ๆ ทั้งหมดในสนามเด็กเล่นกำลังพยายามเตะกันแบบนินจาเต่า.”
โดยไม่ได้นึกฝัน เจ้าของร้านของเล่นบางคนมีความรู้สึกเป็นห่วงร่วมกับพวกบิดามารดาและครู. ร้านแห่งหนึ่งในอังกฤษประกาศเลิกขายของเล่นนักรบเต่าเนื่องจากเกรงว่าพวกเด็ก ๆ จะ “ใช้การเตะแบบคาราเต้เพื่อทำให้เกิดความกลัวซึ่งกันและกันและเสี่ยงต่อความตายจากการซ่อนตัวในท่อระบายน้ำ.” มีอันตรายอื่น ๆ อีกไหม?
อันตรายแฝงเร้น
“บางทีเป็นกลยุทธ์เพื่อทำตลาดในกลุ่มเด็ก ๆ ชนิดที่ประสบผลสำเร็จแบบเห็นแก่ตัวที่สุดเท่าที่เคยมีมา” นี่เป็นวิธีที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพรรณนาถึงความเกี่ยวพันระหว่างการ์ตูน “นินจาเต่า” กับการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย. ถึงแม้การผูกโยงเช่นนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ “ที่เป็นสิ่งใหม่เกี่ยวด้วยนินจาเต่าก็คือขนาดที่ใหญ่มหึมา” ของตลาดนั่นเอง.
ในกรณีนี้ ผู้มีสิทธิบัตรจึงกระหายจะขายผลิตภัณฑ์นินจาเต่า ซึ่งโดยประมาณการแล้วมีถึง 400รายการให้แก่พวกเด็กวัยรุ่นที่ติดใจหลงใหล เช่น หนังสือการ์ตูนและเสื้อยืดคอกลมพิมพ์รูป
และคำขวัญนินจาเต่า. เอาละ ถ้าการดูการ์ตูนโน้มน้าวเด็ก ๆ ให้อยากได้สินค้าเหล่านี้ถึงขนาดนั้น ฉากต่าง ๆ ที่พวกเขาดูในการ์ตูนแบบเดียวกันนั้นต้องมีผลกระทบอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย! กระนั้น บางคนอาจบอกว่าความนิยมแบบใหม่นี้คงอยู่ไม่นานหรอก.แม้ว่าความนิยมแบบนี้คงอยู่ไม่นาน ตัวการ์ตูนโปรดเก่า ๆ ก็ยังคงรักษาแรงดึงดูดใจไว้. “นินจาเต่าอาจเป็นที่นิยมแล้วไม่นานก็เสื่อมความนิยมไป แต่ทอมกับเจอร์รี่คงอยู่ตลอดกาล” นี่เป็นคำกล่าวอ้างของเดอะไทม์สแห่งลอนดอน. ดังนั้น คุณอาจต้องถามตัวเองด้วยคำถามบางข้อ. การดูการ์ตูนเช่นนั้นในบ้านของคุณส่อให้ลูกคุณเห็นไหมว่าคุณยอมรับภาพการกระทำทุกอย่าง? แล้วฉากทารุณสัตว์ล่ะจะว่าอย่างไร? ถูกละ คุณอาจหาเหตุผลว่าการ์ตูนไม่อาจเทียบได้กับชีวิตจริง. แต่คุณทราบไหมว่าในขณะนี้เกิดอะไรขึ้นกับการ์ตูน? อะนิเมทรอนิกส์อย่างไรล่ะ!
“อะนิเมทรอนิกส์” คือความอัจฉริยะทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทำให้จินตนาการด้านการ์ตูนดูเหมือนจริง เหมือนจริงมากจนผู้ชมรู้สึกว่ายากที่จะแยกแยะระหว่างการ์ตูนและสิ่งที่เป็นจริง. เดอะ ซันเดย์ไทม์ส แมกกาซีน รายงานว่า “วงการอะนิเมทรอนิกส์สร้างภาพในระยะใกล้ได้อย่างแนบเนียน จนแม้กระทั่งผู้ชมที่ชอบเยาะเย้ยถากถางที่สุดซึ่งคุ้นเคยกับเทคนิคแปลก ๆ ของภาพยนตร์ ก็ยังไม่เอะใจเพราะรูขุมขนปลอมหรือรอยย่นเทียม.” ฉากรุนแรงที่เสนอด้วยวิธีนี้มีความเป็นจริงเป็นจังอย่างน่าตกตะลึง.
โปรดพิจารณาเช่นกันถึงมาตรฐานความประพฤติที่การ์ตูนสมัยใหม่เสนอให้คนรุ่นต่อไป. ตามรายงานของเดอะไทม์สแห่งลอนดอน พวกตัวละครที่มีการเน้นในการ์ตูนเรื่องใหม่ซึ่งเป็นที่นิยมกันเรื่องหนึ่งเป็น “ครอบครัวที่น่าขยะแขยง ประกอบด้วยคนปากมาก, คนจรจัดและ ‘คนที่ทำอะไร ๆ ไม่ได้เรื่อง.’” พวกเขาดึงดูดความสนใจ “ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาต่อต้านระบบอำนาจอย่างมากทีเดียว.”
ใช่แล้ว พวกคุณที่เป็นบิดามารดาอาจมีเหตุผลอันดีที่จะเป็นห่วงเป็นใยเมื่อคุณพิจารณาการดูการ์ตูนของลูก ๆ. ถ้าเช่นนั้น คุณจะทำอะไรได้บ้าง?
จงขจัด ‘ความรุนแรงเพื่อความบันเทิง’
จงประเมินประโยชน์และโทษของความบันเทิงแบบสำเร็จรูป. โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของครอบครัว บิดามารดาบางคนได้ตัดสินใจที่จะไม่มีทีวีในบ้าน. คนอื่น ๆ ช่วยลูกของตนให้ประเมินดูด้านดีและไม่ดีของรายการที่พวกเขาได้รับอนุญาตให้ดู. หนังสือพิมพ์ดิอินดีเพ็นเด็นต์แห่งลอนดอนชี้แจงว่า “ยิ่งเด็ก (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่) ได้รับการเตรียมไว้พร้อมมากเท่าใดในการดูการ์ตูน, การโฆษณา, หรือการกระจายข่าวทั้งในแง่วิจารณ์และวิเคราะห์ เธอหรือเขาก็ยิ่งจะได้รับประโยชน์จากสื่อมวลชนมากเท่านั้น.” บิดามารดาอยู่ในฐานะดีที่สุดอย่างแน่นอนที่จะช่วยลูก ๆ ของตนให้ทำเช่นนี้.
การศึกษาค้นคว้ารายหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ในเรื่องความเกี่ยวพันของโทรทัศน์ในชีวิตครอบครัว ได้มุ่งอยู่ที่วิธีสอนสองประการที่ต่างกัน. ประการหนึ่งเกี่ยวข้องกับการหาเหตุผลและการอธิบาย ควบคู่ไปกับการใช้ความสำนึกของเด็กในเรื่องการบรรลุความสำเร็จ. อีกประการหนึ่งนั้นใช้การลงโทษและการขู่เป็นหลัก. ผลที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นอะไร?
เด็ก ๆ ที่บิดามารดาขู่พวกเขาด้วยการลงโทษได้แสดงความชอบ “เนื้อหาต่อต้านสังคมที่มีอยู่ในโทรทัศน์” ในขณะที่ “เด็ก ๆ ซึ่งมารดาอบรมด้วยการหาเหตุผลและการอธิบายเป็นประการสำคัญนั้นได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” จากฉากเช่นว่า. ดังนั้น บิดามารดาที่มีความเอาใจใส่ควรอธิบายให้ลูก ๆ ของตนทราบว่าทำไมจึงไม่ฉลาดในการดูการ์ตูนที่รุนแรง. แต่พึงจดจำไว้ว่า เด็กวัยรุ่นเกิดมาเป็นผู้เลียนแบบ และเรื่องนี้วางความรับผิดชอบอันหนักหน่วงบนบิดามารดาให้หลีกเลี่ยงการดูความรุนแรงเพื่อความบันเทิง. หากคุณดูความบันเทิงเช่นนั้น ลูก ๆ ของคุณก็จะเห็นว่าไม่ผิดอะไรในการที่พวกเขาจะดูบ้าง.
คุณอาจถามว่า ‘ถ้าอย่างนั้น ฉันจะคอยดูแลลูก ๆ ให้มีสันทนาการได้อย่างไร?’ ข้อแนะประการหนึ่งคือ: ทำไมไม่แสวงหาความเพลิดเพลินด้วยการดูท่าทางตลกขบขันของสัตว์ที่มีชีวิตจริง ๆ ล่ะ? คุณอยู่ใกล้เขตอนุรักษ์ธรรมชาติหรือสวนสัตว์ที่คุณสามารถไปเยี่ยมชมเป็นครอบครัวไหม? ถ้าไม่ คุณก็อาจเลือกหาวีดิทัศน์เรื่องเหมาะ ๆ เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่ามาดูที่บ้านได้เสมอ.
น่าเสียดาย ในปัจจุบันไม่มีใครหนีพ้นความรุนแรงของโลกซึ่งเราอาศัยอยู่นี้ได้. แต่ไม่ว่าเราเป็นวัยรุ่นหรือคนสูงวัย เราก็สามารถเลือกได้อย่างสุขุม ถ้าเราปรารถนาเช่นนั้น เพื่อจะหลีกเลี่ยงการดูสิ่งใด ๆ ที่เพาะเลี้ยงความรุนแรง.
[รูปภาพหน้า 12]
การ์ตูนส่งเสริมความรุนแรงไหม?