ชีวิตชาวกรุงตามไหล่เขาแห่งนครคารากัส
ชีวิตชาวกรุงตามไหล่เขาแห่งนครคารากัส
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในประเทศเวเนซุเอลา
นครคารากัส ประเทศเวเนซุเอลา. อาคารสำนักงานสูงตระหง่านทันสมัยหลายหลังตั้งทะมึนอยู่เหนือเสียงอึกทึกของยวดยาน ร้านค้าที่จอแจและภัตตาคารที่เต็มไปด้วยผู้คน. นักทัศนาจร สวมกางเกงขาสั้นและหมวกกันแดด สะพายกล้องถ่ายรูป เดินท่องเที่ยวไปตามจัตุรัสต่าง ๆ. บาทวิถีคับคั่งไปด้วยผู้คน.
แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งของนครคารากัส. นอกเหนือจากอาคารสมัยใหม่ที่ทำด้วยโครเมียม, เหล็ก, และกระจกแล้ว ยังมี ลอส เซอร์รอส (เทือกเขา) อันเป็นชุมชนแปลกประหลาดสร้างอยู่ตามไหล่เขา. ชุมชนเหล่านี้ยึดติดอยู่กับเขาอันสูงชันซึ่งรายล้อมนครนั้นทั้งด้านตะวันออก, ตะวันตก, และด้านใต้. ประชาชนเกือบสองล้านคนอาศัย ณ ที่นั่น ในย่านต่าง ๆ นับร้อยแห่งซึ่งเรียกกันว่า บาร์ริโอ.
ชุมชนเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างไร? ในปี 1958 รัฐบาลได้จัดโครงการให้เงินแก่ชาวกรุงที่ไม่มีงานทำ. ดังนั้นผู้คนจึงหลั่งไหลเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อฉวยประโยชน์จากการจัดเตรียมนี้. หลายคนทิ้งถิ่นฐานในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเสาะหาผลประโยชน์ที่เมืองหลวงมีไว้ให้ เช่นโรงพยาบาล, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย.
ความรุนแรงทางการเมืองและความตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งด้วยที่ทำให้ผู้คนอพยพย้ายถิ่นเข้าสู่คารากัสเพื่อหางานทำ. ในไม่ช้าพื้นที่ราบของหุบเขาแห่งนครคารากัสก็เต็ม จึงเป็นการผลักดันให้ผู้คนเคลื่อนสูงขึ้นไปเพื่อเสาะหาที่อาศัย. โดยวิธีนี้แหละที่ชุมชนไหล่เขาเกิดขึ้นมา.
การเดินทางขึ้นเขา
เราเริ่มต้นเดินทางโดยการต่อแถวที่มีผู้คนยาวเหยียด. พวกเขาไม่ได้รอรถบัสแต่กำลังรอรถจี๊ป ซึ่งเหมาะสมกว่าสำหรับการไต่เขาอันสูงชันที่อยู่เบื้องหน้า. รถจี๊ปช่วงยาวเคลื่อนเข้ามาจอด และผู้โดยสารสิบกว่าคนแย่งกันขึ้นไปนั่ง. ห้าคนจะนั่งด้วยกันที่ม้ายาวแต่ละตัวซึ่งวางตามแนวยาวด้านหลังรถ อีกสองคนแบ่งกันนั่งด้านหน้าซึ่งใคร ๆ ก็หมายปอง. ในไม่ช้าเราก็ต้องก้มตัว
จนสุดเพื่อมุดเข้าทางประตูหลัง. เราเบียดตัวลงตรงซอกหนึ่งบนม้านั่ง ซุกเข่าอยู่ใต้คางและพยายามไม่เหยียบถุงผักของสตรีผู้หนึ่ง.เราเริ่มไต่ขึ้นเขาที่สูงชัน. ถนนแคบและมักจะคดเคี้ยวไปมา. บางครั้งดูราวกับถนนตั้งตรง. คนขับรถเปิดเทปเพลงโปรดของเขาและไม่ช้าผู้โดยสารก็เคาะเท้าตามจังหวะลาติน. ทันใดนั้นใครบางคนก็ตะโกนบอกคนขับว่า “¡ดอนเด ปูเอดา!” (จอดได้ก็จอด!) อาจดูเป็นวิธีขอแบบแปลก ๆ ให้คนขับจอดรถ. แต่นับว่าดีที่สุดที่จะไว้ใจการตัดสินใจของเขา. ถ้ารถจี๊ปจอดตรงช่วงถนนที่ชันมาก มันอาจไม่เคลื่อนที่อีกเลย—อย่างน้อยก็ไม่เคลื่อนไปข้างหน้า! ผู้โดยสารสองสามคนแต่งตัวปอน ๆ สะเปะสะปะออกทางประตูหลัง โดยเหยียบปลายเท้าของผู้อื่นระไปตลอดทาง.
ไม่นานนักรถเราก็จ่ออยู่ข้างหลังรถคันหนึ่งที่ขับช้า ๆ และมีน้ำรั่วออกมาทุกแนวตะเข็บ. นั่นคือรถบรรทุกน้ำ ขนน้ำอันมีค่าไปยังบ้านต่าง ๆ ที่ซึ่งน้ำประปาถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่พวกเขาแทบไม่รู้จัก. ผู้คนมักจะเก็บน้ำไว้ในแท็งก์หรือในถังน้ำมันที่ใช้แล้ว.
รถจี๊ปหยุดกึกลงอีกครั้งหลังจากหยุดระทางมาตลอด และเรานึกขึ้นได้ว่าถึงเวลาลงจากรถแล้ว. พื้นดินแข็งที่เราเหยียบลงไปให้ความรู้สึกแปลก ๆ และเราหยุดยืนชั่วครู่เพื่อคุ้นเคยกับทิศทางรอบข้าง.
บ้านตามไหล่เขา
บ้านแต่ละหลังจะสร้างที่ใดแบบใดก็ได้ทั้งนั้น. ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเพิ่มห้องหรือกระทั่งเพิ่มชั้นให้มากขึ้นเมื่อครอบครัวขยายใหญ่. บ้างก็เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ แข็งแรงทำด้วยอิฐ. แต่บ้านอื่น ๆ ทำด้วย ไม้กระดาน, ถังที่นำมาตีให้แบน, หรือแม้แต่ลังใส่ของซึ่งยังคงมองเห็นตราประทับ “ตั้งด้านนี้ขึ้น.”
ดูค่อนข้างจะเงียบเมื่อรถจี๊ปที่ส่งเสียงคำรามลั่นคันนี้ลับตาไป. ทิวทัศน์น่าทึ่งจริง ๆ. ที่นั่นไกลลงไปข้างล่าง คือใจกลางนครคารากัส. ทันใดนั้นความเงียบก็มลายหายไปเพราะมีเสียงตะโกนแสบแก้วหูดังออกมาจากลำโพง: “เอ้า มีหัวหอม. มีมันฝรั่ง, มันสำปะหลัง, และกล้วย”. เมื่อหันไปเราเห็นรถบรรทุกคันหนึ่งซึ่งจอดสงบนิ่งอยู่ใกล้ ๆ กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาในบัดดล. เด็กผู้ชายคนหนึ่งคอยบริการลูกค้าจากท้ายรถ.
บาร์ริโอ มีประมาณ 500 แห่งในนครคารากัส. บางแห่งตั้งชื่อตามชื่อ “นักบุญ” บางแห่งตั้งตามวันสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือตามชื่อนักการเมือง. ส่วนชื่ออื่น ๆ สะท้อนให้เห็นความทะเยอทะยานของผู้อาศัยมากกว่าความเป็นจริง. ตัวอย่างเช่น: เอล โปรเกรโซ (ความก้าวหน้า), นูเอโว มุนโด (โลกใหม่), และ เอล เอ็นกานโต (สุขเกษมเปรมปรีดิ์).
ชีวิตในบาร์ริโอ
น้ำใจของชุมชนที่นี่เฟื่องฟูมาก. บ่อยครั้ง มีการออกความพยายามร่วมกันเพื่อขจัดการใช้ยาเสพย์ติดหรืออาชญากรรมออกไปจากบาร์ริโอ. บาร์ริโอส่วนใหญ่มี โบเดกาส—ร้านขายของชำหลากหลายชนิด—รวมทั้งโรงเรียนและร้านขายยา ที่ซึ่งเภสัชกรอยู่พร้อมเสมอในการช่วยวินิจฉัยโรคและแนะนำวิธีรักษาความเจ็บไข้เล็ก ๆ น้อย ๆ.
กระนั้น ชีวิตที่นี่ก็ไม่ง่าย. ดร. เอลิโอ โกเมช กริลโล นักอาชญาวิทยา พรรณนาปัญหาต่าง ๆ ดังนี้: “ประชากรสองล้านคนในปัจจุบันที่อาศัยอยู่ตามบริเวณไหล่เขารอบเมืองนี้แทบไม่สามารถสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิตได้. อัตราความเสเพลกำลังถีบตัวสูงขึ้น . . . การฆ่าตัวตาย, การทำร้ายเพื่อชิงทรัพย์, การปล้นธนาคาร, และการปล้นจี้ด้วยอาวุธซึ่งยังผลให้เกิดการฆ่าคนนั้นเป็นเรื่องน่าหนักใจ.” ไฟฟ้าดับและน้ำขาดแคลนเกิดขึ้นเป็นกิจวัตร.
ในฤดูฝน ลอส เซอร์รอส จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ. พื้นดินกลายเป็นโคลน ขั้นบันใดตามไหล่เขากลายเป็นน้ำตกเล็ก ๆ และขยะไหลลงมาตามร่องน้ำซึ่งเอ่อล้นท่อระบายน้ำข้างถนน. เสียงฝนตกกระทบหลังคาสังกะสีดังสนั่นหวั่นไหว การพูดคุยกันภายในบ้านต้องยุติลงเพราะแต่ละคนวุ่นอยู่กับการหากะละมังและถัง
เพื่อรองน้ำที่รั่วลงมา. แต่ในไม่ช้าแดดก็ออกอีกครั้งและทำให้น้ำที่ชุ่มหลังคาและถนนเหือดแห้งไป. ทำนองเดียวกัน น้ำใจทรหดตามแบบฉบับเวเนซุเอลาก็ปรากฏให้เห็นอีก. ชีวิตเดินหน้าต่อไป.เดินเท้าต่อไปและไต่ขึ้น
การเดินทางยังไม่สิ้นสุด. เรายังต้องขึ้นไปให้ถึงบ้านเพื่อนของเรา. ระหว่างบ้านสองหลังจะมีบันใดคอนกรีตสูงชันและขรุขระทอดขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามแนวภูเขา. มีป้ายหลากหลายแข่งกันดึงดูดความสนใจของเรา ติดอยู่ตามบ้านที่แออัดซึ่งดูเหมือนพยายามแย่งที่กัน: เปโก ซีเยอร์เรส (รับติดซิป); คอร์เทส เดอ เปโล (ตัดผม); เซ เวนเดน เอลาโดส (ขายไอศกรีม). ผู้อยู่อาศัยที่นี่ทำทุกอย่างเพื่อหาเลี้ยงชีพ. บางคนรับพ่นสีรถยนต์, เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง, และซ่อมรถ—ทุกอย่างทำตามถนน.
เราพักหายใจชั่วครู่เมื่อขึ้นถึงยอดบันใด ถัดจากนั้นเราเลี้ยวเข้าไปตามทางที่วกเวียนและแคบระหว่างบ้านหลังต่าง ๆ. เมื่อเราโผล่ออกมาจากทางเดินวกวนนี้ ต้องหรี่ตาเนื่องจากแสงแดดสว่างจ้า. บ้านเพื่อนของเราอยู่ตามทางเดินที่เป็นดิน. ที่นี่ไม่มีเลขบ้าน—อีกทั้งไม่มีบริการทางไปรษณีย์. กลิ่นกาแฟชงใหม่ ๆ ลอยมาตามสายลม. ไม่ต้องสงสัย เจ้าภาพของเราคงต้อนรับเราด้วยกาแฟเสิร์ฟในถ้วยเล็ก ๆ พร้อมกับอาเรปา (ขนมปังเนื้อนุ่มทำจากแป้งข้าวโพดแต่งเติมรสชาติด้วยไส้หลายหลาก).
ยินดีต้อนรับ
เป็นดังที่คาดไว้ ด้วยธรรมเนียมรับแขกตามแบบที่ถือปฏิบัติกัน ครอบครัวนี้ต้อนรับเราสู่บ้านเล็ก ๆ แบบเรียบง่ายแต่สะอาดซึ่งเรียกว่า รันซิโต. “เอสตัน เอน ซู กาซา” (ทำตัวตามสบายนะครับ) เป็นหนึ่งในสิ่งแรกที่เขาพูด.
เมื่อแดดต้องหลังคาสังกะสี เรานึกขอบคุณลมเย็นซึ่งพัดผ่านหน้าต่างที่ไร้กระจก. แต่หน้าต่างก็มีลูกกรงกั้นไว้เนื่องจากการขโมยเป็นเรื่องธรรมดาทีเดียว. เจ้าบ้านสังเกตเห็นว่าเราร้อนจึงนำพัดลมออกมาซึ่ง เช่นเดียวกับตู้เย็นและโทรทัศน์ ถือเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่นี่. พื้นบ้านเป็นซีเมนต์. เพื่อนบ้านหลายคนมีแค่พื้นที่เป็นดิน.
สามี ซึ่งเป็นบิดาของลูกเล็ก ๆ ห้าคน ย้ายจากชนบทเข้ามาอยู่ในคารากัสตั้งแต่เป็นวัยรุ่นเพื่อเสาะหาโอกาสที่ดีกว่าในเมืองใหญ่. เขาไปอาศัยอยู่กับพี่ชายที่แต่งงานแล้ว ผู้ซึ่งเหมือนกับคนส่วนมากที่มาก่อนเขา เข้าจับจองที่ดินซึ่งยังไม่มีใครครอบครอง ณ ที่สูงบนไหล่เขา. เมื่อเพื่อนของเราพบผู้หญิงที่ภายหลังเป็นภรรยาของเขา พี่ชายเขาพูดอย่างใจกว้างว่าพวกเขาสามารถใช้ที่ดินที่ยังเหลืออยู่เล็กน้อยข้างบ้าน สร้างบ้านชั่วคราวขึ้นได้. ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านและญาติ สามีภรรยาคู่นี้จึงสร้างบ้านด้วยอิฐทีละเล็กละน้อย ณ จุดนั้นเอง.
ครอบครัวนี้รู้สึกว่าทำเลดังกล่าวไม่ใช่ที่ ๆ ดีที่สุดสำหรับพวกเขา แต่พวกเขาก็ยอมรับสภาพของตนเอง. พวกเขาพยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่มากเท่าที่เป็นได้. ‘บางที สักวันหนึ่งเราอาจย้ายต่ำลงไปข้างล่างได้’ พวกเขากล่าว “ซี ดีออส คีเยเร” (ถ้าเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้า).
ช่วงบ่ายที่น่าเพลิดเพลินอย่างยิ่งผ่านไปในการอยู่กับครอบครัวที่ยากจนแต่มีใจกรุณา. บางครั้ง การสนทนาถูกขัดจังหวะด้วยเด็กเล็ก ๆ ซึ่งมาซื้อลูกกวาดที่หน้าต่าง. นี้เป็นวิธีที่ภรรยาช่วยเสริมรายได้ของสามี.
การลงเขา
เราอยากจะกลับก่อนมืด. วันนี้เป็นวันศุกร์ และบาร์ริโอ ดูคึกคักขึ้น เพราะพวกผู้ชายกลับบ้านพร้อมกับค่าจ้างของเขา. เบียร์ในโบเดกาสขายดิบขายดี และเสียงเพลงซัลซา อีกทั้งจังหวะ เมอร์เรงเก ช่วยสร้างบรรยากาศยามสุดสัปดาห์ที่ผ่อนคลาย.
เมื่อเราลงมาถึงเชิงเขา เราเดินตรงไปยังสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุด. ที่นั่นรถไฟใต้ดินที่มีประสิทธิภาพจะพาเราไปยังใจกลางเมือง. เรารู้สึกสบายใจขึ้นบ้างเมื่อกลับมาสู่ที่ที่คุ้นเคยมากกว่า. แต่ขณะที่เรามองกลับขึ้นไปยัง ลอส เซอร์รอส ซึ่งบัดนี้มีแสงไฟมากมายส่องระยิบระยับท่ามกลางความมืด เราดีใจที่มีโอกาสได้มารู้จักดีขึ้น ณ อีกด้านหนึ่งของนครคารากัส.