“โรคที่รักษาได้” ย้อนกลับมาอีกเพราะเหตุใด?
“โรคที่รักษาได้” ย้อนกลับมาอีกเพราะเหตุใด?
บ้านหลังหนึ่งเพิ่งได้รับการทำความสะอาดอย่างหมดจดทีเดียว. อย่างไรก็ดี เมื่อผ่านไปหลายวัน หลายสัปดาห์ หลายเดือน เศษฝุ่นละอองค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมาอีก. ด้วยเหตุนี้ การทำความสะอาดอย่างหมดจดครั้งเดียวไม่พอ. การดูแลรักษาต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง.
คราวหนึ่ง ดูเหมือนว่า ยาสมัยใหม่ได้กำจัดโรคมาลาเรีย, วัณโรค, และกามโรคออกไปหมดสิ้นแล้ว. แต่การสอดส่องดูแลซึ่งขาดไม่ได้โดยการวิจัยและรักษามักถูกละเลยบ่อย ๆ. บัดนี้ “เศษฝุ่นละออง” นั้นได้ปรากฏขึ้นมาอีก. ดร. ฮิโรชิ นากาจิมา แห่ง WHO (องค์การอนามัยโลก) บอกว่า “สถานการณ์โรคมาลาเรียเป็นเรื่องร้ายแรงและกำลังแย่ลงทั่วโลก.” นายแพทย์ลี ไรค์มาน ผู้ชำนัญพิเศษทางวัณโรค เตือนว่า “ผู้คนต้องตระหนักว่าวัณโรคกลับมาอีกแล้ว และกลับมาโฉมใหม่ร้ายกาจกว่าเดิม.” และหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส แจ้งเมื่อต้นทศวรรษนี้ว่า “จำนวนผู้ติดเชื้อซิฟิลิสรายใหม่มีระดับสูงสุดนับแต่ปี 1949.”
โรคมาลาเรีย—คุกคามเกือบครึ่งโลก
บัดนี้ ร่วมสี่สิบปีแล้วตั้งแต่ที่มีการแถลงว่า โรคนี้ถูกกำจัดเกือบหมดสิ้น โรคมาลาเรียเป็นภัยคุกคามร้ายแรงในกัมพูชา, จีน, ไทย, บราซิล, เวียดนาม, ศรีลังกา, อัฟกานิสถาน, อินเดีย, อินโดนีเซีย และในส่วนต่าง ๆ ของแอฟริกา. หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสเลอ ฟิกาโร บอกว่า “เด็กสองคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อทุกนาที.” จำนวนผู้เสียชีวิตคือสองล้านคนต่อปี—มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ยิ่งนัก.
เกือบ 270 ล้านคนติดเชื้อมาลาเรีย แต่ถือกันว่า 2.2 พันล้านคนอยู่ในข่ายเสี่ยง. ฟิลลิดา บราวน์ ตั้งคำถามไว้ในวารสาร นิว ไซเยนติสต์ ว่า “โรคมาลาเรียเคยถูกกำจัดไปแล้ว หรือควบคุมได้เป็นส่วนใหญ่ คือประมาณร้อยละ 90 ของประชากรโลก บัดนี้เป็นภัยคุกคามพวกเรากว่าร้อยละ 40 ได้อย่างไร?” เหตุผลมีหลายอย่าง.
การตัดไม้ทำลายป่าและการบุกเบิกอาณานิคม. การตั้งรกรากของผู้คนในบริเวณป่าดงดิบที่มียุงชุกชุม เป็นเหตุให้มาลาเรียระบาดในบราซิล. เคลาดิโอ ริเบโร นักวิทยาภูมิคุ้มกัน บอกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นคือการบุกรุกถิ่นอาศัยของยุง.” เขากล่าวว่า พวกมาตั้งรกราก “ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคมาลาเรียและขาดความต้านทานโรคนี้.”
การย้ายถิ่นที่อยู่. ผู้ลี้ภัยเข้ามาหางานทำจากพม่าหลั่งไหลไปยังเหมืองพลอยที่บ่อไร่ อำเภอเล็ก ๆ ในประเทศไทย. วารสารนิวส์วีกรายงานว่า “การที่พวกเขาย้าย
เข้าออกอย่างไม่ขาดสายทำให้การควบคุมโรคมาลาเรียเป็นไปไม่ได้เลย. มีรายงานผู้ป่วยโรคมาลาเรียเดือนละประมาณ 10,000 ราย—เฉพาะในกลุ่มคนทำเหมืองพลอยเท่านั้น!การท่องเที่ยว. หลายคนซึ่งเข้าไปท่องเที่ยวในบริเวณที่มีมาลาเรียชุก กลับบ้านพร้อมด้วยเชื้อมาลาเรีย. ฉะนั้น เมื่อปี 1991 ได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อมาลาเรียราว ๆ 1,000 รายในสหรัฐและ 10,000 รายในยุโรป. แต่ละปี นักท่องเที่ยวและผู้ทำงานในต่างประเทศหลายร้อยคนที่กลับประเทศแคนาดาติดเชื้อมาลาเรีย. ตัวอย่างที่เป็นโศกนาฏกรรมคือ เด็กสองคนจับไข้ไม่นานหลังจากครอบครัวเดินทางกลับจากแอฟริกา. แพทย์ไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็นโรคมาลาเรีย. หนังสือพิมพ์ เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ ในโตรอนโตแจ้งว่า “ครั้นบิดามารดานำบุตรไปโรงพยาบาล ก็สายเกินไป. เด็กทั้งสองเสียชีวิตห่างกันไม่กี่ชั่วโมง.”
เชื้อพันธุ์ที่ดื้อยา. องค์การอนามัยโลกแจ้งว่า เชื้อมาลาเรียพันธุ์ที่ดื้อยาได้ลุกลามไปทั่วแอฟริกาเขตร้อน. วารสารนิวส์วีกบอกว่า “ในเอเชียอาคเนย์ การดื้อยาลุกลามไปเร็วมากจนเชื้อบางชนิดอาจรักษาไม่หายในไม่ช้านี้.”
การขาดทรัพยากร. ในบางแห่ง สถานพยาบาลขาดอุปกรณ์ตรวจสอบอย่างง่าย ๆ เช่นการตรวจเลือด. ส่วนแห่งอื่น งบประมาณด้านสุขภาพส่วนใหญ่ต้องใช้สำหรับภาวะฉุกเฉินอื่น ๆ ยังผลให้ยาฆ่าแมลงและยารักษาโรคขาดแคลน. บางครั้งประเด็นอยู่ที่ผลกำไร. วารสาร นิว ไซเยนติสต์ ยอมรับว่า “โรคในเขตร้อนไม่ทำเงิน เพราะโดยทั่ว ๆ ไป ผู้ติดเชื้อไม่มีเงินจ่ายค่ายา.”
วัณโรค—ฆาตกรตัวเก่ามาแนวใหม่
สเตร็ปโตไมซิน ยาซึ่งหมายมั่นกันว่าจะควบคุมวัณโรคให้อยู่หมัด ได้นำมาใช้เมื่อปี 1947. ตอนนั้น คิดกันว่าวัณโรคจะถูกกำจัดออกไปตลอดกาล. แต่แล้วโดยกะทันหัน บางประเทศก็ต้องสะดุ้งตื่นจากภวังค์: อัตราผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตเมื่อไม่กี่ปีมานี้. หนังสือพิมพ์ เดอะ วอชิงตัน โพสต์รายงานว่า “ในชุมชนต่าง ๆ ของคนยากจนในอเมริกา อัตราผู้ป่วยเป็นวัณโรคเลวร้ายกว่าบรรดาประเทศที่ยากจนที่สุดในแถบใต้ลงไปจากทะเลทรายสะฮาราของแอฟริกา.” ในประเทศโกตดิวัวร์ วารสารเล่มหนึ่งเรียกสิ่งนี้ว่า “การตื่นขึ้นอีกอย่างโหดเหี้ยมของวัณโรค.”
นายแพทย์ไมเคิล ไอส์มาน โอดครวญว่า “เรารู้วิธีรักษามัน. เราจับมันไว้ในกำมือแล้วเชียวนา. แต่เราก็ปล่อยมันหลุดมือไปจนได้.” อะไรทำให้การต่อสู้วัณโรคไม่คืบหน้า?
โรคเอดส์. เนื่องจากทำให้บุคคลไร้สิ่งป้องกันการติดเชื้อ จึงถือกันว่าเอดส์เป็นสาเหตุสำคัญในการหวนกลับของวัณโรค. นายแพทย์ไอส์มานกล่าวว่า “ถ้าพวกเขาไม่เสียชีวิตเพราะเหตุอื่นเสียก่อน เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคเอดส์ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียวัณโรคอยู่กับตัวจะป่วยเป็นวัณโรค.”
สภาพแวดล้อม. คุก, สถานพักฟื้น, ที่พักคนไร้บ้าน, โรงพยาบาล, และสถาบันอื่น ๆ อาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อวัณโรคได้. นายแพทย์มาร์วิน พอเมอรันต์ซ เล่าว่า การที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งทำการรักษาโดยวิธีพ่นยา ทำให้คนไข้ที่เป็นปอดบวมไอมากขึ้น และด้วยเหตุนี้วัณโรคจึงระบาดในหมู่พนักงาน.
การขาดทรัพยากร. ทันทีเมื่อดูเหมือนว่าวัณโรคถูกควบคุมไว้ได้แล้ว เงินสนับสนุนก็เหือดหายไป และความสนใจของประชาชนก็มุ่งไปด้านอื่น. นายแพทย์ลี ไรค์มานกล่าวว่า “แทนที่จะกำจัดวัณโรค เรากำจัดโครงการปราบวัณโรค.” นักชีวเคมี แพตริก เบรนนัน พูดว่า “ต้นทศวรรษปี 1960 ผมมุ่งทำงานหนักด้านการดื้อยารักษาวัณโรค แต่ก็ตัดสินใจเลิกเพราะผมคิดว่าวัณโรคหายหมดแล้ว.” เหตุฉะนั้น การกลับมาของวัณโรคเป็นสิ่งที่แพทย์หลายคนไม่ทันระวัง. แพทย์ผู้หนึ่งบอกว่า “ช่วงสัปดาห์เดียว [ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1989] ดิฉันเห็นผู้ป่วยโรคนี้รายใหม่ ๆ สี่ราย ซึ่งอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์เคยบอกว่า ดิฉันจะไม่มีวันได้เห็นอีก.”
ซิฟิลิส—การกลับมาอย่างอันตรายถึงชีวิต
ทั้ง ๆ ที่ยาเพ็นนิซิลินใช้ได้ผลดี ซิฟิลิสก็ยังคงแพร่หลายในแอฟริกา. ในสหรัฐ โรคนี้กลับมาคุกคามอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี. ตามหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส บัดนี้ซิฟิลิส “เล่นเอาบรรดาแพทย์รุ่นใหม่ซึ่งแทบไม่เคยพบโรคนี้หลงกล.” ทำไมโรคนี้คืนชีพขึ้นมาอีก?
โคเคน. การติดโคเคนได้นำไปสู่สิ่งที่แพทย์คนหนึ่งเรียกว่า “การมั่วโคเคนและการมั่วเพศระยะยาว.” ขณะที่ผู้ชายมักจะทำการขโมยเพื่อหาเงินมาซื้อยาเสพย์ติด ผู้หญิงก็มักจะขายตัวแลกกับยาเสพย์ติด. นายแพทย์ วิลลาร์ด เคตส์ จูเนียร์ แห่งศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐกล่าวว่า “ในบ้านที่จำหน่ายโคเคน มีการมั่วเพศและมั่วคู่นอนหลายคน. ไม่ว่าการติดเชื้ออะไรก็ตามที่มีอย่างดาษดื่นในสภาพแวดล้อมเช่นว่า ก็จะเป็นชนิดที่แพร่เชื้อต่อไป.”
ขาดการป้องกัน. วารสารดิสคัพเวอร์รายงานว่า “ทั้ง ๆ ที่รณรงค์เรื่อง ‘เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย’ แล้วก็ตาม เด็กวัยรุ่นยังคงไม่ใส่ใจใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค.” การค้นคว้ารายหนึ่งในสหรัฐเผยว่าเพียงร้อยละ 12.6 ของผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่ที่มีความเสี่ยงใช้ถุงยางเป็นประจำ.
ทรัพยากรมีจำกัด. หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส กล่าวว่า “การตัดงบ ได้จำกัดภาวะทางการเงินของสถานพยาบาลรัฐบาล ซึ่งที่นั่นมีการตรวจพบซิฟิลิสและโรคติดต่อทางเพศมากที่สุด.” นอกจากนั้น วิธีการตรวจสอบก็ไม่แม่นยำเสมอไป. ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มารดาหลายคนคลอดทารกติดเชื้อ ทั้ง ๆ ที่การตรวจเลือดก่อนหน้านี้ไม่พบวี่แววเชื้อซิฟิลิสเลย.
อวสานมาใกล้แล้วไหม?
การสู้รบระหว่างมนุษย์กับโรคนับเป็นการต่อสู้อันยาวนานและน่าข้องขัดใจ. บ่อยทีเดียวที่การมีชัยเหนือโรคบางอย่างถือเป็นการหักกลบลบล้างกับความล้มเหลวในการต่อสู้โรคอื่น ๆ. มนุษย์จมปลักอยู่กับสงครามยืดเยื้อซึ่งเขาไม่มีทางจะพิชิตได้เลยไหม? จะมีวันเห็นโลกที่ปราศจากโรคไหม?
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
ผลความเสียหายจากซิฟิลิส
ซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา พาลลิดุม รูปร่างเหมือนเหล็กเกลียวเปิดจุกไม้ก๊อก และโดยปกติติดต่อทางอวัยวะเพศ. แล้วเชื้อแบคทีเรียนี้จะเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย.
หลายสัปดาห์หลังจากติดเชื้อ จะเกิดแผลเรียกว่า แผลกามโรค. ปกติแล้วเกิดที่อวัยวะเพศ แต่อาจปรากฏบนริมฝีปาก, ต่อมทอนซิล, หรือนิ้วก็ได้. แผลกามโรคนี้ในที่สุดจะหายไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยแผลเป็น. แต่เชื้อยังคงกระจายทั่วร่างกายจนกระทั่งอาการขั้นที่สองปรากฏขึ้นคือ: ผื่นคันตามผิวหนัง, เจ็บคอ, ปวดตามข้อ, ผมร่วง, รอยโรคบนผิวหนัง, และตาอักเสบ.
ถ้าไม่รับการรักษา ซิฟิลิสจะเข้าสู่ระยะสงบซึ่งอาจนานตลอดชีวิต. ถ้าผู้หญิงตั้งครรภ์ในระยะนี้ บุตรอาจเกิดมาตาบอด, พิการ หรือ เสียชีวิต.
หลายสิบปีต่อมา บางรายจะก้าวสู่อีกระยะหนึ่งของซิฟิลิส ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้อาจเข้าไปอยู่ในหัวใจ, สมอง, ไขสันหลัง, หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย. ถ้าเชื้อนี้อาศัยอยู่ในสมอง อาจเกิดการชัก, อัมพาตทั่วไป, กระทั่งสติวิปลาส. ในที่สุด โรคนี้อาจทำให้เสียชีวิต.
[ที่มาของภาพ]
Biophoto Associates/Science Source/Photo Researchers
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
“นักเลียนแบบชั้นยอด”
นายแพทย์ลี ไรค์มานให้สมญาวัณโรคอย่างนั้น. เขากล่าวว่า “มันอาจแสดงอาการเหมือนไข้หวัด, หลอดลมอักเสบ, ไข้หวัดใหญ่. ฉะนั้น ถ้าหมอไม่คิดถึงวัณโรค เขาอาจวินิจฉัยโรคผิด.” ต้องฉายเอกซเรย์ที่ทรวงอกเพื่อให้รู้แน่ว่าติดเชื้อ.
วัณโรคติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งโดยทางอากาศ. การไออาจทำให้เกิดอนุภาคซึ่งมีขนาดเล็กมากจนเข้าสู่ปอดได้. อย่างไรก็ดี ภูมิต้านทานของร่างกายตามปกติแข็งแรงพอจะควบคุมการแพร่เชื้อนี้. นายแพทย์ลี ไรค์มาน อธิบายว่า “เฉพาะ [คนเหล่านั้น] ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียรูปแท่งในทรวงอกมากพอ—คือ 100 ล้านตัวเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ ซึ่งอาจมีน้อยกว่า 10,000 ตัวนั้น—จึงจะ [เป็นผู้] แพร่เชื้อโรคได้.”
[ที่มาของภาพ]
SPL/Photo Researchers
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
การที่ลูกโลกร้อนขึ้นและมาลาเรีย
โรคมาลาเรียเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อถูกยุง อะโนฟิลิส แกมเบีย กัด. วารสาร ดิ อิโคโนมิสต์ ให้ความเห็นว่า “ถ้าเปลี่ยนจำนวนประชากรยุงได้ ก็เปลี่ยนการติดโรคนี้ได้.”
การทดลองในห้องปฏิบัติการได้แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มอุณหภูมิขึ้นเพียงเล็กน้อย ย่อมมีผลกระทบต่อประชากรยุงอย่างมากทีเดียว. ฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนลงความเห็นว่า การที่ลูกโลกร้อนขึ้นอาจมีผลกระทบอย่างขนานใหญ่ต่อการติดเชื้อมาลาเรีย. นายแพทย์วอลเลส ปีเตอร์ส กล่าวว่า “ถ้าอุณหภูมิทั่วไปของแผ่นดินโลกเพิ่มขึ้นเพียงหนึ่งหรือสององศาเซลเซียส นั่นอาจจะเพิ่มพื้นที่เพาะพันธุ์ยุง จนทำให้โรคมาลาเรียกระจายมากกว่าที่เป็นอยู่.”
[ที่มาของภาพ]
Dr. Tony Brain/SPL/Photo Researchers
[รูปภาพหน้า 6]
ที่พักคนไร้บ้านอาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อวัณโรค
[ที่มาของภาพ]
Melchior DiGiacomo