จะทำให้โลกเป็นเอกภาพได้ไหม?
จะทำให้โลกเป็นเอกภาพได้ไหม?
‘ดูเหมือนบ่อยเหลือเกินที่คติพจน์ในปี 1992 คือ จงเกลียดชังเพื่อนบ้านของตน.’
นั่นคือการประเมินของนิวส์วีก. วารสารดังกล่าวเสริมว่า “การแตกแยกเหล่านี้—อันได้แก่ เพื่อนบ้านต่อสู้เพื่อนบ้าน, เชื้อชาติเป็นปรปักษ์ต่อเชื้อชาติ, สัญชาติเป็นปฏิปักษ์ต่อสัญชาติ—เป็นเรื่องที่เรามีแนวโน้มกระทำเสมอ ๆ อยู่แล้ว และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปีนี้ก่อให้เกิดข้อสงสัยขึ้นว่า เราจะประสบผลดีขึ้นหรือไม่ในการประสานช่องว่างเหล่านี้.”
ไม่นานมานี้ การปิดล้อม, การสังหารหมู่, และการข่มขืนในอดีตประเทศยูโกสลาเวียได้ตกเป็นพาดหัวข่าวทั่วโลก. เฉพาะบอสเนียและเฮอเซโกวินา มีผู้คนจำนวนถึง 150,000 คนถูกสังหารหรือไม่ก็สูญหาย. และราว ๆ 1,500,000 คนถูกขับไล่จากบ้านเรือนของตน. คุณพูดไหมว่า ไม่มีทางที่เหตุโศกนาฏกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นในละแวกบ้านของคุณ?
โฮเซ-มารีอา เมนดีลุซ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเตือนว่า “ผู้คนอาจถูกเปลี่ยนสภาพเป็นเครื่องจักรกระทำการสังหารและเกลียดชังกันได้ไม่ยากเลย. . . . ทางตะวันตกมีความคิดว่า สงครามกำลังดุเดือดห่างจากเวนิชสามชั่วโมง เพียงเพราะชาวบอลข่านมีความแตกต่างขั้นมูลฐานจากชาวยุโรปอื่น ๆ. นับเป็นความผิดพลาดที่อันตรายจริง ๆ.”
เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ความรุนแรงทางชาติพันธุ์ก็ติดตามมาในไม่ช้า. ประมาณ 1,500 คนถูกสังหารและเกือบ 80,000 คนพลัดถิ่นในอดีตสาธารณรัฐจอร์เจียของโซเวียต. หลายร้อยคนเสียชีวิต และหลายพันคนพลัดถิ่นเพราะการสู้รบในมอลโดวา. มีการสูญเสียชีวิตเช่นกันในการสู้รบระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจันรวมทั้งอดีตสาธารณรัฐอื่น ๆ ของโซเวียต.
อดีตสาธารณรัฐที่ใหญ่ที่สุดของโซเวียต คือรัสเซีย. แม้ที่นั่น กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มก็กำลังหาทางจัดตั้งรัฐอิสระของตนเองขึ้นมา. ด้วยเหตุนี้ หนังสือพิมพ์เดอะ ยูโรเปียน จึงรายงานเมื่อฤดูร้อนนี้ว่า “สหพันธรัฐ
รัสเซียเผชิญการแตกเป็นเสี่ยง ๆ.” หนังสือพิมพ์นั้นกล่าวว่า “ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สามแคว้นได้ลงคะแนนเสียงประกาศตนเป็นสาธารณรัฐ . . . อีกสามแคว้นได้ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะทำเช่นเดียวกัน.”ถ้าแยกออกเป็นประเทศต่าง ๆ คุณอาจวุ่นอยู่กับชื่อที่ไม่คุ้นเคย เช่น คาลินินกราด, ทาตาร์สถาน, สตัฟโรโปเลีย, เชกเนีย, โวลอกดา, สเวียร์ดลอฟสค์, บัชคอร์โตสถาน, ยาคูติยา, และพริโมเรีย. เรื่องนี้ฟังดูคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตยูโกสลาเวียมิใช่หรือ ที่ซึ่งเซอร์เบีย, โครเอเทีย, และสโลเวเนียได้จัดตั้งเป็นประเทศขึ้นมา และยังมีประเทศอื่น ๆ อีกที่อาจจะก่อตั้งขึ้น?
นายวอร์เร็น คริสโตเฟอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐพูดถึง “การปรากฏโฉมของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์, ศาสนา, และภูมิภาค ซึ่งถูกข่มห้ามมาเป็นเวลานาน” และเขาได้ตั้งคำถามว่า “ถ้าเราไม่พบทางหนึ่งทางใดที่ทำให้กลุ่มซึ่งต่างชาติพันธุ์เหล่านี้อยู่ร่วมกันได้ในประเทศหนึ่งแล้วละก็ เราจะมีกี่ประเทศกันล่ะ?” เขาบอกว่าคงจะมีเป็นพัน ๆ ประเทศ.
ความแตกแยกมีทุกหนแห่ง
การขัดแย้งทางชาติพันธุ์, ศาสนา, และภูมิภาคมีกี่แห่งที่คุณเชื่อว่ากำลังดำเนินอยู่เมื่อต้นปีนี้? คุณคงบอกว่า 4, 7, 9, 13 หรืออาจถึงกับ 15 แห่งกระมัง? เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ระบุจำนวนทั้งหมดถึง 48 แห่ง! โทรทัศน์อาจจะไม่แพร่ภาพศพโชกเลือด และเด็ก ๆ ที่มีสภาพอกสั่นขวัญแขวนจากทั้ง 48 แห่ง แต่นั่นลดสภาพจริงของโศกนาฏกรรมที่ผู้ตกเป็นเหยื่อได้รับไหม?
ไม่มีสักมุมหนึ่งของลูกโลก ซึ่งดูเหมือนปลอดการต่อสู้. ไลบีเรีย ประเทศทางแอฟริกาตะวันตก ย่อยยับเพราะความรุนแรงทางชาติพันธุ์. ผู้นำกองโจรรายหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเผ่ากิโอและมาโน เพื่อโค่นประธานาธิบดีซึ่งมาจากกลุ่มชาติพันธุ์คราห์น. กว่า 20,000 คนถูกสังหารในสงครามกลางเมืองที่เกิดตามมา และหลายแสนคนพลัดถิ่น.
ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ คนผิวขาวและผิวดำเข้าปะทะกันในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง. แต่ที่สู้กันมิใช่แค่คนผิวดำปะทะคนผิวขาว. เฉพาะปีที่แล้ว ประมาณ 3,000 คนถูกสังหารในการสู้รบระหว่างกลุ่มคนผิวดำ ซึ่งชิงดีชิงเด่นกันเอง.
ในโซมาเลีย ประมาณ 300,000 คนเสียชีวิต และหนึ่งล้านคนไร้บ้านเมื่อการต่อสู้ระหว่างเผ่าลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง. ในบุรุนดีและรวันดา การปะทะทางชาติพันธุ์ระหว่างเผ่าฮูตูและทุตซีเป็นเหตุให้หลายพันคนเสียชีวิตเมื่อไม่กี่ปีมานี้.
การต่อสู้แทบจะดูเหมือนว่า ไม่ละลดระหว่างยิวและอาหรับในอิสราเอล, ระหว่างฮินดูกับมุสลิมในอินเดีย, และระหว่างโปรเตสแตนต์กับคาทอลิกในไอร์แลนด์. ความรุนแรงทางเชื้อชาติก็ปะทุขึ้นเช่นกันเมื่อปีกลายในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้ 40 คนเสียชีวิต. ที่ใดก็ตามที่คนต่างเชื้อชาติ, ต่างสัญชาติ, หรือต่างศาสนาอาศัยอยู่ด้วยกัน การต่อสู้อันโหดร้ายมักจะเกิดขึ้น.
มนุษย์จะแก้ภาวะจนตรอกเรื่องการต่อสู้ทางชาติ
พันธุ์ได้ไหม?ความเพียรพยายามร่วมกันของมนุษย์
ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับความเพียรพยายามในอดีตยูโกสลาเวียและอดีตสหภาพโซเวียตเป็นตัวอย่าง. เมื่อปี 1929 มีการก่อตั้งประเทศยูโกสลาเวียด้วยความเพียรพยายามจะรวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายซึ่งอาศัยอยู่ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้เข้าเป็นประเทศเดียว. สหภาพโซเวียตก็ถือกำเนิดในทำนองคล้ายคลึงกัน โดยนำผู้คนต่างเชื้อชาติ, ต่างศาสนา, ต่างสัญชาติเข้ามารวมกัน. ตลอดหลายทศวรรษ ทั้งสองประเทศมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง ยึดพวกเขาไว้ด้วยกัน และในที่สุด ดูเหมือนว่าประชากรของพวกเขาเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยกัน.
ผู้นำชาวเซิร์บอธิบายว่า “แผนที่แสดงชาติพันธุ์ของบอสเนียก่อนสงคราม และที่จริง ยูโกสลาเวียก่อนสงคราม ก็เหมือนกับหนังของเสือจากัวร์ ผู้คนปะปนละลานตาจนแยกไม่ออก.” อันที่จริง ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของการสมรสในยูโกสลาเวียเป็นคู่ระหว่างบุคคลจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างกัน. สถานการณ์คล้าย ๆ กันที่ดูเหมือนว่ามีเอกภาพก็ได้ก่อขึ้นโดยการผสมผเสกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสหภาพโซเวียต.
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่ตกตะลึงอย่างใหญ่หลวง เมื่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์ปะทุขึ้นหลังจากดูเหมือนว่ามีสันติภาพมาหลายทศวรรษ. ปัจจุบัน เป็นดังที่นักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่งเขียนว่า บัดนี้ผู้คน “ทำแผนที่แบ่งแยกดินแดนซึ่งเคยเป็นยูโกสลาเวีย โดยอาศัยเชื้อชาติ, ศาสนา, และสัญชาติ.” เมื่อรัฐบาลที่ทรงอำนาจดังกล่าวล่มสลาย ทำไมประเทศเหล่านี้จึงแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ด้วย?
ปัจจัยต่าง ๆ อันเป็นสาเหตุ
โดยธรรมชาติแล้ว ผู้คนไม่เกลียดกลุ่มชาติพันธุ์อื่น. ดังเพลงซึ่งเคยเป็นที่นิยมครั้งหนึ่งบอกว่า คุณต้องได้รับ ‘การเสี้ยมสอนอย่างจริงจัง ก่อนจะสายเกินการ ก่อนอายุหก หรือเจ็ด หรือแปดขวบ ให้เกลียดทุกคนที่ญาติพี่น้องของคุณเกลียด.’ เพลงนี้กล่าวถึงหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งมีความแตกต่างทางเชื้อชาติอย่างประจักษ์ชัด. แต่ ซาร์กา โคแว็ก ศาสตราจารย์ทางสุขภาพจิตบอกว่า ผู้คนในอดีตยูโกสลาเวีย “แทบไม่มีความแตกต่างทางกายภาพเลย.” กระนั้น ความรุนแรงก็สูงสุดขีดจนเหลือจะเข้าใจ. โคแว็กบอกว่า “คุณทำลายร่างผู้ที่คุณฆ่าจนยับเยิน เพื่อจะได้ดูไม่ออกว่าเป็นพี่น้องของคุณ.”
ปรากฏชัดว่า ความเกลียดชังทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์เช่นนี้ไม่ใช่เนื้อแท้แห่งธรรมชาติของมนุษย์. ผู้คนได้รับการเสี้ยมสอนอย่างจริงจังจากผู้โฆษณาชวนเชื่อและญาติพี่น้อง ซึ่งสาธยายเรื่องราวทารุณโหดร้ายในอดีต. ใครกันอาจอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด? เมื่อพยายามจะเข้าใจความสยดสยองของสงคราม นักธุรกิจผู้หนึ่งจากซาราเยโวเกิดแรงกระตุ้นให้ลงความเห็นว่า “หลังจากหนึ่งปีแห่งสงครามบอสเนีย ผมเชื่อเลยว่า ซาตานเป็นผู้ชักใย. เป็นความบ้าคลั่งแท้ ๆ.”
ถึงแม้หลายคนไม่เชื่อว่าซาตานมีจริง แต่คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่า บุคคลเหนือมนุษย์ที่มองไม่เห็นด้วยตาซึ่งก่อผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของมนุษยชาตินั้นมีจริง. (มัดธาย 4:1-11; โยฮัน 12:31) เมื่อคุณคิดถึงเรื่องนี้—เรื่องที่ไร้เหตุผลอันได้แก่อคติ, ความเกลียดชัง, และ ความรุนแรง—บางที คุณอาจจะเห็นด้วยว่า คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้พูดเกินความจริงเลยเมื่อบอกดังนี้: “ผู้ถูกเรียกว่าพญามารและซาตาน . . . ชักนำแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีคนอาศัยอยู่ให้หลง.”—วิวรณ์ 12:9, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:19.
ประกายแห่งความหวัง
ครั้นเราพิจารณาความอลหม่านของโลกเมื่อไม่นานมานี้ ความฝันที่มนุษยชาติจะเป็นเอกภาพ ดูเหมือนยิ่งห่างไกลกว่าที่เคยเป็น. การแข่งขันชิงดีอันเนื่องมาจากชาตินิยมและเผ่าพันธุ์ คุกคามการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน. กระนั้น ท่ามกลางความมืดมนของโลก แสงแห่งความหวังส่องประกายเจิดจ้า. ระหว่างช่วงฤดูร้อนปี 1993 ชนพวกหนึ่งจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ทำสงครามกัน ได้แสดงให้เห็นถึงการผูกพันกลมเกลียว ซึ่งทำให้พวกเขาอยู่ในภาวะหลุดพ้นจากการต่อสู้ระหว่างชาติพันธุ์ และทำงานร่วมกันด้วยความรักและมีเอกภาพ.
แปลกแต่จริง เครื่องผูกพันนี้ปรากฏว่าเป็นปัจจัยที่มักจะแบ่งแยกมนุษยชาตินั่นเอง—ศาสนาไงล่ะ. นิตยสารไทมบอกว่า “ถ้าคุณขูดขัดคตินิยมเผ่าพันธุ์หรือคตินิยมชาติอันก้าวร้าวใด ๆ โดยปกติคุณจะพบศาสนาเป็นแก่นแฝงอยู่ข้างใต้ . . . ความเกลียดชังทางศาสนามักจะไร้ความเมตตาและเด็ดขาด.” ในทำนองคล้ายคลึงกัน วารสารอินเดีย ทูเดย์บอกว่า “ศาสนาเป็นป้ายบังหน้าผืนใหญ่ซึ่งเบื้องหลังป้ายผืนนั้นมีการประกอบอาชญากรรมอันน่าขยะแขยงที่สุด. . . . ศาสนาก่อความรุนแรงอันน่าสะพรึงกลัว และเป็นพลังล้างผลาญมากจริง ๆ.”
จริงทีเดียว โดยปกติศาสนาปรากฏว่าเป็นส่วนของปัญหา ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา. แต่กลุ่มศาสนาหนึ่งที่กล่าวข้างต้นนี้—กลุ่มซึ่งมีจำนวนไม่น้อย—ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ศาสนาสามารถก่อเอกภาพ ไม่ใช่ก่อความแตกแยก. แล้วกลุ่มนี้ประกอบด้วยใครล่ะ? และเหตุใดพวกเขาประสบความสำเร็จอันน่าทึ่ง ขณะที่คนอื่นล้มเหลว? เราขอเชิญคุณอ่านบทความถัดไปเพื่อได้คำตอบ. การทำเช่นนั้นอาจช่วยคุณได้เป็นอย่างดีให้มีมุมมองใหม่เกี่ยวกับอนาคตของมนุษย์.
[ที่มาของภาพหน้า 3]
Graveyard in Bosnia, Haley/Sipa Press