ศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์ยืนยันสิทธิเสรีภาพในการนมัสการ
ศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์ยืนยันสิทธิเสรีภาพในการนมัสการ
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในประเทศฟิลิปปินส์
วันที่ 7 มิถุนายน 1993 ขณะที่เด็กนักเรียนชาวฟิลิปปินส์นับล้านเดินเป็นกลุ่ม ๆ กลับสู่ห้องเรียนของตน พยานพระยะโฮวาซึ่งอยู่ท่ามกลางพวกเขารู้สึกมีความสุขมากยิ่ง. เพราะเหตุใด? ก็เพราะว่าในวันที่ 1 มีนาคม 1993 ก่อนสิ้นปีการศึกษาที่แล้ว ศาลสูงสุดแห่งฟิลิปปินส์ได้กลับคำตัดสินของศาลสูงสุดเมื่อปี 1959 และยืนยันสิทธิของเด็ก ๆ ของพยานพระยะโฮวาในการละเว้นจากการเคารพธง, การกล่าวคำปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีต่อชาติ, และการร้องเพลงชาติ.
อะไรทำให้สภาพการณ์เปลี่ยนไปเช่นนี้? และมีผลอย่างไรต่อชนผู้รักเสรีภาพทั้งหลายในฟิลิปปินส์อันเนื่องมาจากการตัดสินนี้?
เหตุที่พยานพระยะโฮวาไม่เคารพธง
พยานพระยะโฮวาเชื่อว่า การเคารพธง, การร้องเพลงชาติ, และการกล่าวคำปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีต่อชาติ ล้วนเป็นกิจทางศาสนา. สติรู้สึกผิดชอบของพวกเขาซึ่งได้รับการอบรมโดยอาศัยคัมภีร์ไบเบิลไม่อนุญาตให้เขาเข้าส่วนในกิจแห่งการบูชานมัสการเช่นนั้น. (มัดธาย 4:10; กิจการ 5:29) ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในประเทศไหน นี่คือจุดยืนของพวกเขาในการเลียนแบบพระเยซูคริสต์ผู้ซึ่งตรัสว่า เหล่าสาวกของพระองค์จะ “ไม่เป็นส่วนของโลก เหมือน [พระองค์] ไม่เป็นส่วนของโลก.”—โยฮัน 17:16, ล.ม.
ในขณะเดียวกัน พยานพระยะโฮวาแสดงความนับถือต่อรัฐบาลต่าง ๆ ที่พวกเขาอยู่ภายใต้การปกครอง และพวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลเหล่านั้นเป็นวิธีดำเนินการอย่างหนึ่งซึ่งพระเจ้ายอมให้มี. ดังนั้น พวกเขาจึงอยู่ภายใต้พันธะจะต้องเชื่อฟังกฎหมายของประเทศ, เสียภาษี, และให้เกียรติเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างเหมาะสม. พวกเขาจะไม่มีวันเข้าส่วนในการกบฏใด ๆ ต่อรัฐบาลใด ๆ. *
เหตุผลสำหรับการตัดสินของศาลสูงสุด
ศาลสูงสุดได้ให้เหตุผลอะไรสำหรับการกลับคำตัดสินปี 1959 ของ เกโรนา วี. รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ? คำตัดสินในปี 1993 เขียนโดยผู้พิพากษา กรีนโย-อาคีโน มีข้อความดังนี้: “ความคิดที่ว่าคนเราอาจถูกบังคับให้เคารพธง, ร้องเพลงชาติ, และกล่าวคำปฏิญาณแสดงความรักชาติในระหว่างพิธีเคารพธง มิฉะนั้นจะถูกลงโทษโดยการปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากโรงเรียน เป็นเรื่องที่ฝืนสติรู้สึกผิดชอบของชาวฟิลิปปินส์ในชั่วอายุปัจจุบัน ผู้ซึ่งแนวความคิดตั้งแต่วัยเด็กของพวกเขาถูกนวดปั้นโดยปฏิญญาว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของประชาชนซึ่งรับรองสิทธิของพวกเขาที่จะพูดและปฏิบัติอย่างเสรีในการแสดงความเชื่อศรัทธาและการนมัสการทางศาสนา.”
ศาลสูงสุดสังเกตว่าขณะที่พยานพระยะโฮวา “ไม่เข้าส่วนในพิธีเคารพธงเชิงบังคับ พวกเขาก็ไม่เข้าร่วมใน ‘การแสดงออก’ หรือพฤติกรรมอันก่อความขุ่นเคืองแก่คนชาติเดียวกันซึ่งเชื่อในการแสดงความรักชาติของตนออกมาโดยการร่วมพิธีเคารพธง.” ศาลให้ข้อสังเกตต่อไปอีกว่า “พวกเขายืนอย่างสงบด้วยความนับถือในระหว่างพิธีเคารพธงเพื่อแสดงว่าพวกเขาเคารพสิทธิของคนที่เลือกจะเข้าส่วนในขั้นตอนอันเป็นพิธีการนี้. . . . เนื่องจากพวกเขาไม่เข้าร่วมในพฤติกรรมที่ก่อกวน จึงไม่มีเหตุผลสมควรสำหรับการไล่พวกเขาออก.”
อนึ่ง ศาลนี้ยังได้จัดการกับการคาดการณ์ล่วงหน้าที่มีอยู่ในคำตัดสินของ เกโรนาที่ว่า หากพยานพระยะโฮวาได้รับยกเว้นจากข้อบังคับเรื่องการเคารพธงละก็ “พิธีเคารพธงก็จะกลายเป็นเรื่องพ้นสมัยหรืออาจมีผู้ร่วมปฏิบัติจำนวนน้อย และก็จะถึงคราวที่พวกเราคงจะมีพลเมืองที่ไม่ได้รับการสอนและการพร่ำอบรมและไม่ได้รับการกระตุ้นจิตใจให้มีความเคารพต่อธงและความรักต่อประเทศ, ความนิยมยกย่องวีรชนของชาติ, และความรักชาติ—นับเป็นสถานการณ์ที่น่าสังเวช ถึงกับเป็นโศกนาฏกรรมด้วยซ้ำ และทั้งหมดนี้ก็เพราะนักเรียนส่วนน้อยยัดเยียดเจตนารมณ์ของเขา, เรียกร้อง และได้รับการยกเว้น.”
คำตัดสินของศาลในปี 1993 ตอบข้อนี้โดยแถลงว่า “สถานการณ์ที่ศาลคาดล่วงหน้าอย่างน่ากลัวในคำตัดสินของเกโรนา . . . นั้นไม่ได้เกิดขึ้น. เราไม่ได้ถูกชักจูงให้เชื่อว่า โดยการยกเว้นพวกพยานพระยะโฮวาจากการเคารพธง, การร้องเพลงชาติและการกล่าวคำปฏิญาณแสดงความรักชาติ แล้วกลุ่มศาสนานี้ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าประกอบด้วย ‘นักเรียนส่วนน้อย’ จะก่อความยุ่งเหยิงในซีกโลกของเรานี้และทันใดนั้นก็ก่อให้เกิดชาติ ‘ที่ไม่ได้รับการสอนและการพร่ำอบรมและไม่ได้รับการกระตุ้นจิตใจให้มีความเคารพต่อธง, มีความรักชาติ, มีความรักประเทศและนิยมยกย่องวีรชนของชาติ.’”
สุดท้าย ศาลนี้ก็ได้อ้างถึงข้อคิดเห็นของท่านผู้พิพากษา โรเบิร์ต แจ็กสัน แห่งศาลสูงสุดของสหรัฐเมื่อปี 1943 ในคดีบาร์เน็ตต์ซึ่งเขากล่าวว่า “การคิดว่าความรักชาติจะไม่เฟื่องฟูหากพิธีการต่าง ๆ ที่แสดงความรักชาติเป็นไปตามความสมัครใจและปล่อยให้เป็นไปเองแทนที่จะเป็นกิจวัตรเชิงบังคับนั้นเป็นการประเมินผลที่ไม่เป็นมงคลนักในเรื่องแรงดึงดูดใจซึ่งสถาบันต่าง ๆ ของเรามีต่อคนจิตใจเสรี. . . . เสรีภาพที่จะแตกต่างนั้นไม่จำกัดแค่สิ่งซึ่งไม่สลักสำคัญ. นั่นคงเป็นเพียงภาพอันเลือนลางของเสรีภาพเท่านั้น. ลักษณะแท้ของเสรีภาพพิสูจน์ให้เห็นโดยสิทธิที่จะแตกต่างกระทั่งเรื่องซึ่งมีผลกระทบถึงแก่นของสังคมที่ดำรงอยู่นี้.”
หลังจากแถลงจุดสำคัญ ๆ ที่ดีเยี่ยมทางกฎหมายเหล่านี้แล้ว การตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ของศาลฟิลิปปินส์คือ: “คำสั่งให้ไล่ออกซึ่งฝ่ายโต้แย้งอุทธรณ์ได้ยื่นต่อสู้ฝ่ายอุทธรณ์ถูกยกเลิกและเพิกถอนโดยการตัดสินนี้. คำสั่งให้ยับยั้งการไล่ออกชั่วคราวซึ่งศาลนี้ได้ยื่น [ต่อเจ้าหน้าที่โรงเรียน] จึงเป็นคำสั่งยับยั้งถาวรโดยคำแถลงนี้.”
ผู้พิพากษาสมทบ อิซากานี ครูซ เพิ่มข้อสังเกตในความเห็นสนับสนุนของเขาดังนี้: “ในความเห็นแบบอ่อนน้อมของผม คำตัดสินของเกโรนาอาศัยการสันนิษฐานที่ผิดพลาด. ศาลซึ่งประกาศใช้คำตัดสินนั้นดูเหมือนตกอยู่ภายใต้ความเชื่อมั่นบางอย่างที่ว่ารัฐมีสิทธิจะกำหนดว่าอะไรคือเรื่องทางศาสนาและอะไรไม่ใช่ และออกคำสั่งแก่ปัจเจกบุคคลว่าสิ่งใดที่นมัสการได้และสิ่งใดที่นมัสการไม่ได้. . . . ในการเรียกร้องผู้อุทธรณ์รายนี้ให้เข้าส่วนในพิธีเคารพธง รัฐได้แถลงโดยถือสิทธิ์ของผู้มีอำนาจว่าพวกเขาไม่ได้ละเมิดหลักการของคัมภีร์ไบเบิลโดยการเคารพธง. สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เรื่องนี้เป็นการล่วงล้ำความเชื่อทางศาสนาของพวกเขาโดยพลการ ซึ่งความเชื่อนั้นบอกพวกเขาในทางตรงกันข้าม. รัฐไม่อาจตีความหมายคัมภีร์ไบเบิลให้พวกเขาได้. รัฐไม่สันทัดในเรื่องนี้.”
ความหมายสำหรับชนผู้รักเสรีภาพ
ชนผู้รักเสรีภาพทั้งหลายชื่นชมยินดีอย่างแน่นอนในการตัดสินนี้ที่ยืนยันสิทธิแห่งการเลือกโดยอิสระในเรื่องศาสนาและในสิ่งซึ่งสติรู้สึกผิดชอบของคนเราสั่งให้ทำ ขณะเดียวกันก็อยู่ใต้อำนาจในขอบเขตจำกัดของรัฐ. (โรม 13:1, 2) ในการปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคล รัฐไม่เปิดทางสำหรับอนาธิปไตย แต่ทำหน้าที่ในบทบาทดังอัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ที่โรม 13:5, 6 (ล.ม.) ว่า “มีเหตุผลอันเหลือที่จะขัดขืนได้ในเรื่องที่ท่านทั้งหลายจะอยู่ใต้อำนาจ . . . เพราะเหตุสติรู้สึกผิดชอบของท่าน. . . . เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเสียภาษีด้วย; เพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เพื่อสาธารณประโยชน์ รับใช้เพื่อจุดประสงค์นี้เสมอไป.”
พยานพระยะโฮวาในฟิลิปปินส์นับถือกระบวนการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาแห่งศาลสูงสุด และตระหนักว่าเกียรติยศขั้นสุดท้ายจะต้องถวายแด่พระยะโฮวาพระผู้สร้างของเรา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลที่พยานพระยะโฮวาไม่เข้าส่วนในการเคารพธง, การร้องเพลงชาติ, และการกล่าวคำปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีต่อชาติ โปรดดูจุลสารโรงเรียนและพยานพระยะโฮวา จัดพิมพ์โดยสมาคม ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก หน้า 12-16.