อัจฉริยะวิศวกร
อัจฉริยะวิศวกร
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในแอฟริกาใต้
คุณเคยเห็นโครงสร้างธรรมชาติรูปร่างคล้ายภาพแสดงในหน้านี้ไหม? จอมปลวกเป็นภาพที่เห็นกันทั่วไปตามแถบทุ่งหญ้าแห่งแอฟริกา. รังปลวกบางรังมีลักษณะคล้ายปล่องไฟเรียวแหลมสูงขึ้นไปกว่า 6 เมตร. รังอื่น ๆ มีลักษณะเป็นโดมดินขนาดใหญ่ ซึ่งสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น สิงโต ชอบใช้เป็นฐานโปรดสำหรับซุ่มสอดส่องสัตว์อื่น.
ภายในรังปลวกแต่ละรังมีทางผ่านและช่องมากมาย ซึ่งอาจมีปลวกตัวเล็กอยู่หลายล้านตัว. ปลวกพวกหนึ่งทำสวนเพาะเชื้อราขึ้นเอง และดูแลให้สวนนั้นชุ่มชื้นแม้ระหว่างช่วงแล้งหลายปี. เป็นไปได้อย่างไร? ช่วงทศวรรษปี 1930 เมื่อภูมิภาคหลายส่วนของแอฟริกาใต้เสียหายย่อยยับเพราะประสบภัยแล้งอย่างรุนแรง ดร. ยูจีน มาเรียส นักธรรมชาติวิทยาได้ค้นพบปลวกสองแถวในแนวตั้ง แถวหนึ่งขึ้นและแถวหนึ่งลงในโพรงใต้ดิน. แมลงเล็ก ๆ เหล่านี้ได้เจาะลึกลงไปถึง 30 เมตร! แล้วมันก็พบตาน้ำธรรมชาติ. ด้วยเหตุนี้มาเรียสจึงได้ค้นพบวิธีที่ปลวกดูแลรักษาสวนเพาะเชื้อราของมันให้ชุ่มชื้นอยู่ได้ตลอดภาวะแห้งแล้ง.
จอมปลวกตามแบบฉบับนั้น มิเชล เมน อธิบายในหนังสือคาลาฮาริของเขาดังนี้: “เชื่อกันว่าเป็นรังที่ล้ำหน้าที่สุดเท่าที่สัตว์ใด ๆ ในโลกเคยสร้างขึ้นมา. . . . ทุกรังมันพยายามทำให้เก็บและคงความชื้นได้ที่ระดับ 100 เปอร์เซ็นต์และรักษาอุณหภูมิโดยรอบให้อยู่ระหว่าง 29-31 องศาเซลเซียส ซึ่งพอเหมาะพอดีกับเชื้อราและตัวปลวก. . . . ถ้าจะว่าไป ทุกรังเป็นหน่วยที่มีการปรับอากาศสมบูรณ์แบบทีเดียว.”
เอาละ ลองมาพิจารณาวิธีการสร้างรังเหล่านี้. ปลวกขัดเกร็ดทรายเล็ก ๆ ให้เป็นมันและเชื่อมแต่ละอันติดกัน. นึกภาพดูก็แล้วกันว่าจะต้องใช้เกร็ดทรายกี่ล้านเกร็ดเพื่อสร้างหนึ่งรัง! “โครงสร้างใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างบนแผ่นดินโลก เช่น พีระมิดในอียิปต์, ระบบรถไฟใต้ดินแห่งกรุงลอนดอน, ตึกระฟ้าในนครนิวยอร์ก. . . , เมื่อเทียบกับงานของปลวกแล้ว, . . . ก็เหมือนเอาจอมปลวกเทียบกับภูเขานั่นแหละ” มาเรียสเขียนไว้ในหนังสือชีวิตปลวก (ภาษาอังกฤษ). เขากล่าวต่อไปว่า “เมื่อพิจารณาเรื่องขนาด มนุษย์คงต้องสร้างตึกให้สูงเทียมเท่ายอดเขามัตเตอร์ฮอน [ยอดเขาสูง 14,692 ฟุตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์] หากจะให้งานของเขาให้เทียบเท่ากับการสร้างจอมปลวกสูงสี่สิบฟุต.”
แต่ปลวกให้ประโยชน์อะไรแก่มนุษย์? สิ่งหนึ่งคือ ปลวกกินซากพืชผักเป็นอาหาร โดยวิธีนั้นมันจึงช่วยกำจัดของเสียจำนวนมาก. “โดยการขนลากของแห้งลงใต้ดิน ปลวกไม่เพียงช่วยลดอันตรายจากการเกิดไฟไหม้ แต่ยังใส่ปุ๋ยบำรุงดินที่อยู่เบื้องล่างด้วย” แผ่นป้ายในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์กล่าวเช่นนั้น.
บางทีคุณอาจเห็นพ้องเช่นกันที่ปลวกผู้ต่ำต้อยสมควรจะถูกเรียกว่าอัจฉริยะวิศวกร.