ดวงดาวและมนุษย์มีความเกี่ยวพันกันไหม?
ดวงดาวและมนุษย์มีความเกี่ยวพันกันไหม?
การนิยมดูดาวมิใช่เรื่องใหม่. สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก บอกว่า ชาวไร่ชาวนานับพัน ๆ ปีมาแล้ว “เฝ้าสังเกตดาวเพื่อรู้ว่าเมื่อไรจะลงมือเพาะปลูกพืชของตน. นักเดินทางเรียนรู้การใช้ดวงดาวบอกทิศทาง.” กระทั่งปัจจุบันนี้ ในการเดินทางท่องอวกาศก็ยังใช้ดวงดาวเป็นเครื่องชี้นำ. คนโบราณยังได้แต่งนิยายปรัมปราอีกด้วยเกี่ยวกับคนและสัตว์ที่พวกเขารู้สึกเห็นเป็นรูปในกลุ่มดาวหรือดาวฤกษ์. ต่อมา ผู้คนต่างก็รู้สึกว่าดวงดาวมีอิทธิพลต่อชีวิตของตน.
ดวงดาวหลากหลายดาษดื่น
การพิจารณาเพียงแค่จำนวนและขนาดของดวงดาวก็ดลให้เกิดความเกรงขามเสียแล้ว. กะประมาณกันว่ามีราว ๆ แสนล้านกาแล็กซี หรือกลุ่มดาวมหึมา ในเอกภพ! เดอะ อินเตอร์แนชันแนล เอ็นไซโคลพีเดีย ออฟ แอสโตรโนมีกล่าวว่า “นั้นอาจเปรียบได้กับจำนวนเมล็ดข้าวซึ่งอาจบรรจุไว้ในโบสถ์วิหารทั่ว ๆ ไป.” กาแล็กซีทางช้างเผือกซึ่งระบบสุริยะของเราเป็นส่วนหนึ่ง ประมาณกันว่าอย่างน้อยที่สุดมีจำนวนดวงดาวมากมายขนาดนั้น. ดาวฤกษ์ที่ใกล้ลูกโลกของเราที่สุด (นอกจากดวงอาทิตย์) คือดวงหนึ่งในกลุ่มอัลฟา เซ็นเทารี ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 4.3 ปีแสง. ปีแสงคือระยะทางที่แสงเดินทางได้ในหนึ่งปี. ทั้งนี้หมายความว่าเมื่อเรามองไปที่ดาวดวงนั้น แสงซึ่งเข้ามายังนัยน์ตาของเราส่องออกมาจากดาวดวงนั้น 4.3 ปี ก่อนหน้านี้แล้ว และตลอดช่วงเวลานั้น แสงได้เดินทางผ่านห้วงอวกาศด้วยความเร็ว 299,792 กิโลเมตรต่อวินาที. นับเป็นสิ่งที่เหลือความสามารถแห่งจิตใจของคนเราที่จะมโนภาพระยะทางตามที่กล่าวนี้. กระนั้น ดาวดวงนี้ก็แค่ดวงที่อยู่ในระยะใกล้ที่สุด. ดาวบางดวงอยู่ไกลจากกาแล็กซีของเราหลายพันล้านปีแสง. ไม่แปลกที่ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าประกาศว่า “ดูเถอะ ประเทศทั้งปวงก็เปรียบเหมือนน้ำหยดเดียวจากถัง และนับเท่ากับละอองที่ติดอยู่กับตราชู. นี่แน่ะ! พระองค์ทรงหยิบเกาะทั้งหลายขึ้นราวกับวัตถุเล็กนิดเดียว.” (ยะซายา 40:15) ใครจะไปใส่ใจกับเศษธุลี?
เทห์ฟากฟ้าที่อยู่ใกล้แผ่นดินโลกที่สุดคือดวงจันทร์ ซึ่งแสดงอิทธิพลต่อแผ่นดินโลกของเราอย่างเด่นชัด แรงดึงดูดของมันถึงกับก่อให้เกิดระดับน้ำขึ้นน้ำลงต่างกันในบางแห่งมากกว่า 15 เมตร. ตามคำอ้างของนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสสามคน แรงดึงดูดของดวงจันทร์บัดนี้เชื่อกันว่า เป็นสิ่งที่ช่วยรักษาแนวเส้นแกนของโลกให้เอียง 23 องศา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลตามปกติ (เนเจอร์ ฉบับ 18 กุมภาพันธ์ 1993) เนื่อง
จากดวงจันทร์แสดงอิทธิพลทางกายภาพเช่นว่าต่อดาวเคราะห์ของเรา จึงมีเหตุผลที่จะถามว่า แล้วดวงดาวนับพัน ๆ ล้านดวงล่ะจะว่าอย่างไร? แต่ก่อนอื่น แหล่งข้อมูลอันเก่าแก่ เช่นคัมภีร์ไบเบิล บอกอะไรแก่เราเรื่องดวงดาว?ดวงดาวในพระคัมภีร์
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวพาดพิงถึงดวงดาวหลายครั้ง ทั้งตามตัวอักษรและในความหมายเป็นนัย. ยกตัวอย่าง ตามการพรรณนาของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ พระผู้สร้าง “ทรงให้ดวงจันทร์ดวงดาวทั้งปวงปกครองเวลากลางคืน” เพื่อดวงดาวจะช่วยส่องแสงแก่แผ่นดินโลก. (บทเพลงสรรเสริญ 136:9) ต่อมา ครั้นทำสัญญาไมตรีกับอับราฮามผู้ซื่อสัตย์ พระเจ้าตรัสว่า “‘จงแลดูฟ้า, ถ้าเจ้าอาจนับดาวทั้งหลายได้, ก็นับไปเถิด.’ แล้วพระองค์ตรัสว่า ‘พงศ์พันธุ์ของเจ้าจะเป็นเช่นนั้น’” (เยเนซิศ 15:5) อัครสาวกเปาโลชี้ว่า ดวงดาวมีความแตกต่างกันดังนี้: “สง่าราศีของดวงอาทิตย์ก็เป็นอย่างหนึ่ง, สง่าราศีของดวงจันทร์ก็เป็นอย่างหนึ่ง, สง่าราศีของดวงดาวก็เป็นอย่างหนึ่ง แท้ที่จริงสง่าราศีของดาวดวงหนึ่งก็ต่างกันกับสง่าราศีของดาวดวงอื่น ๆ.” * (1 โกรินโธ 15:41) ขณะเดียวกัน ดวงดาวจำนวนมหาศาลและสง่าราศีแห่งดาวนั้น ๆ ก็มิได้อยู่นอกอาณาเขตการควบคุมของพระผู้สร้าง: “พระองค์ทรงนับดวงดาว และทรงตั้งชื่อให้ดวงดาวทั้งปวง.”—บทเพลงสรรเสริญ 147:4.
อนึ่ง ในพระคัมภีร์เราพบว่าดวงดาวมักจะถูกใช้พาดพิงถึงบุคคล, ผู้ครอบครอง, และทูตสวรรค์. โยเซฟบุตรชายของยาโคบได้ฝันเห็นภาพบิดามารดาของเขาเป็นเหมือน “ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์” และเหล่าพี่ชายเป็นเหมือน “ดวงดาว.” เหล่าทูตสวรรค์เปรียบประดุจ “ดาวประจำรุ่ง.” มีการเอ่ยถึงกษัตริย์บาบูโลนว่าทะเยอทะยานอยากจะอยู่เหนือเหล่า “ดาราของพระเจ้า” ซึ่งได้แก่บรรดาผู้ครอบครองชาติยิศราเอลจากราชวงศ์ดาวิด. พวกผู้ชายซึ่งไม่มั่นคงในประชาคมคริสเตียนเปรียบเหมือนกับ “ดาวที่พลัดออกไปนอกวงโคจร” ในขณะที่บรรดาผู้ปกครองผู้ซื่อสัตย์ในประชาคมได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น “ดาว” ในประหัตถ์เบื้องขวาของพระคริสต์.—เยเนซิศ 37:9, 10; โยบ 38:7; ยะซายา 14:13; ยูดา 13, ฉบับแปลใหม่; วิวรณ์ 1:16.
เรื่องราวตอนหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า ‘ดวงดาวก็รบพุ่งแต่สวรรค์ได้ต่อสู้ซีซะรา’ แม่ทัพของกษัตริย์ยาบีนแห่งคะนาอัน ซึ่งได้กดขี่ชาติยิศราเอลเป็นเวลา 20 ปี. พระยะโฮวาทรงมอบหมายบาราคผู้วินิจฉัยแห่งยิศราเอลให้ช่วยชาวยิศราเอลจากการเป็นทาสและได้ให้ท่านมีชัยชนะอย่างท่วมท้นต่อซีซะรา แม้กระทั่งซีซะรามีรถรบติดใบมีดเหล็กที่ดุมล้อเก้าร้อยคัน. ในเพลงแห่งชัยชนะ ชนยิศราเอลร้องดังนี้: “ดวงดาวก็รบพุ่งแต่สวรรค์ ได้ต่อสู้ซีซะราจากที่อันสูง.” ไม่ได้อธิบายว่าดวงดาวต่อสู้อย่างไร. แทนที่จะถือว่าดวงดาวแสดงอิทธิพลโดยตรงในการสู้รบ น่าจะสมเหตุผลมากกว่าที่จะเชื่อว่าข้อความนั้นชี้ถึงการเข้าแทรกแซงของพระเจ้าด้วยรูปแบบบางอย่างเพื่อชาติยิศราเอล.—ผู้วินิจฉัย 5:20.
“ดวงดาว” แห่งเบ็ธเลเฮม
อาจเป็นได้ว่าดาวที่รู้จักกันดีที่สุดตามที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลคือ “ดวงดาว” แห่งเบ็ธเลเฮม ซึ่งนำทางพวกโหรจาก “ทิศตะวันออก” ไปยังเรือนซึ่งบิดามารดาของพระเยซูได้พาพระองค์ไปหลังจากประสูติในคอกเลี้ยงสัตว์. ดาวดวงนั้นคืออะไร? แน่นอน ไม่ใช่ดาวปกติธรรมดา เนื่องจากอยู่ในระดับต่ำถึงขนาดที่พวกโหรติดตามไปเป็นระยะทางประมาณ 1,600 กิโลเมตร. “ดวงดาว” นำพวกเขาไปยังกรุงยะรูซาเลมก่อน. พอได้ยินเรื่องนี้ กษัตริย์เฮโรดจึงซักถามพวกเขาและแล้วตั้งใจว่าจะประหารกุมารเยซูเสีย. ต่อมา “ดวงดาว” นี้ ได้นำโหรเหล่านั้นไปยังเรือนที่อาศัยของพระเยซู. แน่ละ ดาวปกติไม่อาจทำเช่นนี้ได้. วัตถุเสมือนดวงดาวนั้นมาจากพระเจ้าไหม? โดยเหตุที่การเยือนของพวกโหรโดยทางอ้อมก่อให้เกิดการประหาร ‘เด็กชายทุกคนในเบ็ธเลเฮมและในย่านใกล้เคียงตั้งแต่วัยสองขวบลงมา’ ไม่มีเหตุผลหรอกหรือที่จะลงความเห็นว่า “ดวงดาว” นั้นมาจากซาตานตัวปรปักษ์ของพระเจ้า โดยพยายามกำจัดพระบุตรของพระเจ้า?—มัดธาย 2:1-11, 16.
พึงระลึกไว้ว่าบรรดาโหรที่มาจากตะวันออก อาจมาจากบาบูโลน ซึ่งเป็นศูนย์กลางแต่โบราณทางด้านเวทมนตร์, คาถาอาคม, และโหราศาสตร์. เทห์ฟากฟ้าจำนวนไม่น้อยได้ชื่อตามพระต่าง ๆ ของบาบูโลน. ในสมัยกษัตริย์นะบูคัดเนซัร เขาได้ใช้การเสี่ยงทายเพื่อช่วยตัดสินใจว่าจะใช้เส้นทางไหนทำศึกสงคราม.—ผู้พยากรณ์ยะซายาท้าทายเหล่าที่ปรึกษาของบาบูโลน โดยกล่าวว่า “เจ้าได้ตรากตรำปฏิบัติพวกหมอเวทมนต์มากมายเหล่านี้แล้ว: บัดนี้จงขอให้พวกเหล่านี้ลุกขึ้นมาช่วยพวกเจ้าซิ—คือพวกหมอดูดวงชะตาราศี, พวกโหรดูดาว, และให้เขาทำนายบอกเจ้าเป็นเดือน ๆ ไป ว่าจะมีโชคชะตาอะไรเกิดขึ้นแก่เจ้าบ้าง. นี่แน่ะ, เขาเหล่านั้นกลายเป็นตอซังข้าวที่ถูกไฟไหม้เสียแล้ว, เขาจะช่วยตัวของเขาเองให้พ้นจากอำนาจของเปลวไฟนั้นก็ไม่ได้, . . . และไม่มีผู้ใดช่วยเขาเหล่านั้นให้พ้นได้.” จริงตามคำพยากรณ์ของยะซายา บาบูโลนอันเกรียงไกรได้พ่ายแพ้ต่อกษัตริย์ไซรัสมหาราชในปี 539 ก่อนสากลศักราช. การนำทางที่บรรดาโหรชาวบาบูโลนอ้างว่าได้จากดวงดาวนั้น กลับเป็นความหายนะแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งมวล.—ยะซายา 47:13-15.
ทั้งนี้หมายความว่า เราไม่อาจเรียนรู้สิ่งใด ๆ จากดวงดาวกระนั้นหรือ?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 ดาราศาสตร์สมัยใหม่ยืนยันคำพูดของเปาโล เนื่องจากบรรดาดวงดาวแตกต่างกันในเรื่องสีสัน, ขนาด, ปริมาณแสงที่เปล่งออกมา, อุณหภูมิ, และความหนาแน่นโดยเทียบเคียง.
[กรอบหน้า 5]
สิ่งที่บางคนเคยพูด
โหราศาสตร์: “เป็นตัวเสริมและพันธมิตรของดาราศาสตร์.”—โยฮันเนส เคปเลอร์ (1571-1630) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน.
“โหราศาสตร์เป็นโรค ไม่ใช่วิทยาศาสตร์. . . . เป็นต้นไม้ซึ่งในร่มเงาของมัน ไสยศาสตร์ทุกชนิดเฟื่องฟู.”—โมเสส ไมโมนิเดส (1135-1204) ผู้คงแก่เรียนชาวยิวแห่งยุคกลาง.
“วิทยาศาสตร์บุพกาลซึ่งอ้างว่าสามารถวิเคราะห์บุคลิกภาพและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล และพยากรณ์แนวโน้มและเหตุการณ์ในอนาคตจากลักษณะของท้องฟ้า. . . . คงจะในราวศตวรรษที่ 6 ก่อนสากลศักราช—เป็นที่เข้าใจว่า ชาวแคลเดียตอนใต้ของประเทศอิรักเป็นผู้เริ่มนำตารางเทียบดวงส่วนตัวมาใช้. ตารางดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของดาวฤกษ์ อีกทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์และดาวเคราะห์ทั้งห้าที่สำแดงในเวลาตกฟาก (เวลาที่ทารกคลอดพ้นครรภ์). . . . ขบวนการของโหราศาสตร์และการตีความตารางเทียบดวงอาศัยความคิดซึ่งนักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่พบว่าเป็นเรื่องเชิงจิตวิสัย (ตีความตามทัศนคติของผู้สังเกต) และไม่อาจรับได้.”—ซี. เอ. โรนัน ผู้ประสานงานโครงการ อีสต์ เอเชียน ฮิสตอรี ออฟ ไซเยนส์ ทรัสต์, เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และผู้ร่วมเขียนบทความลงในเดอะ อินเตอร์แนชันแนล เอ็นไซโคลพีเดีย ออฟ แอสโตรโนมี ซึ่งจากหนังสือนี้ ข้อความข้างต้นได้ยกมา.
เพื่อเป็นตัวอย่างของเรื่องเชิงจิตวิสัยดังกล่าว โรนันอธิบายว่า ขณะที่ความคิดทางตะวันตกถือว่า ดาวเคราะห์สีแดง คือดาวอังคาร พัวพันกับสงครามและเรื่องวิวาทต่อสู้ คนจีนกลับถือว่าสีแดงสวยงามและมองว่าดาวอังคารมีผลกระทบในทางที่เป็นคุณ. ในทางกลับกัน เทพนิยายตะวันตกผูกโยงดาวศุกร์กับสีขาวและความสวยงาม. ส่วนคนจีน “สีขาว . . . ถือเป็นสีของความตาย, การเสื่อมโทรมและความพินาศ ดาวศุกร์จึงมีการกล่าวถึงว่าเป็น ‘ดาวเคราะห์มืดครึ้มแห่งสงคราม.’”
โรนันกล่าวต่อไปว่า “ทั้ง ๆ ที่มีลักษณะของวิทยาศาสตร์บุพกาล โหราศาสตร์ในยุคต้น ๆ มีบทบาทที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมการสังเกตทางดาราศาสตร์และการจัดหาทุนเพื่อปฏิบัติการนี้.”
ผู้ชนะรางวัลโนเบลสิบเก้าคน พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์คนอื่นได้ออกแถลงการณ์ในปี 1975 ภายใต้ชื่อ “การคัดค้านโหราศาสตร์—คำแถลงการณ์โดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 192 คน.” แถลงการณ์นี้ประกาศว่า
“ในสมัยโบราณ ผู้คน . . . ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับระยะทางที่ไกลแสนไกลจากโลกไปยังบรรดาดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ต่าง ๆ. ปัจจุบันเมื่อระยะทางเหล่านี้คำนวณได้และได้รับการคำนวณแล้ว เราสามารถเห็นว่าแรงดึงดูดและผลกระทบอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากดาวเคราะห์ที่ห่างไกลและดาวฤกษ์ที่ไกลยิ่งกว่ามากนัก มีน้อยสุดประมาณ. เป็นความเข้าใจผิดโดยแท้ที่จะมโนภาพว่าพลังที่ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์สำแดงในช่วงเวลาตกฟากสามารถนวดปั้นอนาคตของเราในทางใดทางหนึ่งได้.” *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 25 ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องโหราศาสตร์จะหาได้จากอะเวก! ฉบับ 8 พฤษภาคม 1986 หน้า 3-9.