มารดาที่เป็นเอดส์เผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
มารดาที่เป็นเอดส์เผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ซินเทีย * สตรีผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่เกาะอินดิสตะวันตกต้องเลือกว่าจะเลี้ยงลูกที่เพิ่งเกิดใหม่ของเธอด้วยนมมารดาหรือนมขวด. การตัดสินใจอาจดูเป็นเรื่องง่าย. ถ้าจะว่าไป เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้ส่งเสริมนมมารดาฐานะเป็น “อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด” สำหรับทารก. นอกจากนี้ ตามชุมชนยากจน ทารกที่กินนมขวดมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคท้องร่วงมากกว่าทารกที่กินนมมารดาประมาณ 15 เท่า. ที่จริง องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) รายงานว่า เด็กราว ๆ 4,000 คน เสียชีวิตทุกวันอันเป็นผลจากอันตรายที่มากับนมอย่างอื่นที่ไม่ใช่นมมารดา.
แต่ในกรณีของซินเทีย การตัดสินใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาเกี่ยวข้องกับอันตรายที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง. เธอติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากสามีของเธอ ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อันเป็นสาเหตุของโรคเอดส์. หลังจากคลอดลูก ซินเทียได้มาทราบว่าลูกของมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีมีโอกาส 1 ใน 7 ที่จะติดเชื้อนี้โดยทางนมมารดา. * ดังนั้น เธอจึงต้องเลือกด้วยความปวดร้าวว่าจะปล่อยให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยให้กินนมเธอเอง หรือจะปล่อยให้รับอันตรายที่มากับการกินนมขวด.
ในส่วนต่าง ๆ ของโลกที่เอดส์ระบาดอย่างหนัก สตรีที่ตั้งครรภ์ทุก ๆ 10 คน มี 2 ถึง 3 คนติดเชื้อเอชไอวี. ในประเทศหนึ่ง สตรีที่ตั้งครรภ์ซึ่งได้รับการตรวจเลือด ปรากฏว่าติดเชื้อมากกว่าครึ่ง. วิทยุยูเอ็นรายงานว่า “ตัวเลขที่น่าตกใจนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องรีบหาทางแก้ไข.” เพื่อรับมือกับการคุกคามนี้ องค์การทั้งหกของสหประชาชาติจึงร่วมกันทุ่มเทประสบการณ์, ความพยายาม, และทรัพยากรของตนเพื่อจัดตั้งโครงการร่วมสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวี/เอดส์ หรือที่เรียกกันว่า ยูเอ็นเอดส์. * แต่สิ่งที่ยูเอ็นเอดส์ประสบก็คือ วิธีแก้ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเกี่ยวกับเอดส์นั้นไม่ง่ายเลย.
อุปสรรคซับซ้อนขัดขวางวิธีแก้แบบง่าย ๆ
เอดิท ไวท์ ผู้ชำนัญพิเศษเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาและการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ลูก กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังแนะนำมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศอุตสาหกรรมไม่ให้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตนเอง เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้ทารกเกือบสองเท่า. การใช้นมผงดูเหมือนเป็นทางเลือกที่มีเหตุผล. แต่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ซึ่งทฤษฎี
อันยอดเยี่ยมต้องรีบหลีกทางให้กับความเป็นจริงอันโหดร้ายนั้น ยากที่จะนำวิธีแก้ง่าย ๆ นี้ไปปฏิบัติ.อุปสรรคอย่างหนึ่งก็คือ อุปสรรคทางสังคม. ในประเทศที่การเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผู้หญิงที่ให้ลูกกินนมขวดอาจเป็นการป่าวประกาศความจริงว่าเธอติดเชื้อเอชไอวี. หญิงคนนั้นอาจกลัวว่าเธอจะถูกประณาม, ถูกทอดทิ้ง, หรือกระทั่งถูกทำร้ายหากชาวบ้านรู้ว่าเธอเป็นอะไร. ผู้หญิงบางคนที่เผชิญสภาพเช่นนี้รู้สึกว่าพวกเธอไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองเพื่อปกปิดการติดเชื้อเอชไอวีของเธอไว้เป็นความลับ.
ยังมีอุปสรรคอย่างอื่นด้วย. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอพิจารณามาร์กาเรต วัย 20 ปี. เธอก็เช่นเดียวกับผู้หญิงชาวบ้านอย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์ในยูกันดาที่ไม่เคยไปตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีเลย. แต่มาร์กาเรตมีเหตุผลที่จะเป็นห่วง. ลูกหัวปีของเธอเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนลูกคนที่สองก็เจ็บออด ๆ แอด ๆ และขี้โรค. มาร์กาเรตเลี้ยงลูกคนที่สามด้วยนมเธอเองโดยให้ลูกกินนมวันละสิบครั้ง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเธออาจติดเชื้อเอชไอวี. เธอพูดว่า “ฉันไม่มีปัญญาจะเลี้ยงลูกด้วยนมผง.” เพราะเหตุใด? มาร์กาเรตบอกว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงทารกหนึ่งคนด้วยนมผงสูงกว่ารายได้ทั้งหมดที่ครอบครัวหนึ่ง ๆ ในหมู่บ้านของเธอหาได้ตลอดทั้งปีถึงหนึ่งเท่าครึ่ง. แม้นมผงจะมีให้ฟรี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการหาน้ำสะอาดสำหรับชงนมที่ปลอดภัยให้ทารก. *
อุปสรรคบางอย่างเหล่านี้อาจลดลงได้ถ้ามีการจัดหาระบบสุขาภิบาลที่เหมาะสม, นมผงในปริมาณที่พอเพียง, และน้ำสะอาด ให้กับมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี. เสียค่าใช้จ่ายสูงไหม? อาจเป็นได้. กระนั้น น่าแปลกที่การจัดหาสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเกี่ยวข้องกับการจัดความสำคัญก่อนหลังมากกว่าการหาเงินทุน. จริง ๆ แล้ว สหประชาชาติรายงานว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่สุดบางประเทศใช้เงินเพื่อการทหารมากกว่าที่พวกเขาใช้เพื่อการดูแลสุขภาพและการศึกษาถึงสองเท่า.
แล้วยาต้านเอดส์ล่ะ?
นักวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติรายงานว่า ยาธรรมดา ๆ และราคาค่อนข้างถูก ที่เรียกกันว่า เอแซดที (azidothymidine) สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารกได้มากทีเดียว. ด้วยความช่วยเหลือของโครงการยูเอ็นเอดส์ ค่ารักษาด้วยวิธีนี้จึงลดลงเหลือ 50 ดอลลาร์. นอกจากนี้ บรรดานักวิจัยค้นคว้าเรื่องโรคเอดส์ได้ประกาศในเดือนกรกฎาคม 1999 ว่า การรักษามารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีและทารกแรกเกิดด้วยยาเนไวราพินซึ่งมีราคาเพียง 3 ดอลลาร์ ดูเหมือนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการถ่ายทอดเอชไอวีมากกว่าเอแซดที. พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบอกว่า เนไวราพินอาจป้องกันทารกแรกเกิดได้มากถึง 400,000 คนต่อปีเพื่อไม่ให้เกิดมาพร้อมด้วยการติดเชื้อเอชไอวี.
อย่างไรก็ตาม บางคนวิพากษ์วิจารณ์การรักษาด้วยยาชนิดนี้ โดยอ้างว่าเนื่องจากยาดังกล่าวป้องกันแค่การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารกเท่านั้น ในที่สุด ผู้เป็นมารดาก็จะเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์และทิ้งลูกของตนให้เป็นเด็กกำพร้า. สหประชาชาติตอบกลับว่า มิฉะนั้นก็ต้องเลือกอีกทางหนึ่งที่น่าหดหู่ นั่นคือ ปล่อยให้ทารกติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นการประกาศิตว่าเหยื่อที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เหล่านี้จะต้องตายอย่างช้า ๆ น่าสลดใจ. พวกเขายังยืนยันว่า มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีอาจมีชีวิตอยู่ได้หลายปี เช่นในกรณีของซินเทียที่เอ่ยข้างต้น. เธอทราบว่าตนเองมีเชื้อเอชไอวีตอนที่เธอคลอดลูกในปี 1985 แต่เธอก็ไม่ได้ล้มป่วยจนกระทั่งแปดปีต่อมา. และถึงแม้ลูกของเธอมีเชื้อเอชไอวีเมื่อคลอด แต่พออายุสองขวบ เด็กคนนั้นกลับปลอดเชื้อเอชไอวี.
คำยืนยันที่ประเล้าประโลมใจจากคัมภีร์ไบเบิล คือ สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงพร้อมด้วยวิธีแก้ถาวรสำหรับโรคร้ายเช่นเอดส์นี้ใกล้เข้ามาแล้ว. (วิวรณ์ 21:1-4) พระเจ้ายะโฮวาทรงสัญญาเรื่องโลกใหม่ซึ่ง “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’” (ยะซายา 33:24) พยานพระยะโฮวาอยากจะบอกคุณเกี่ยวด้วยวิธีแก้ถาวรนี้. หากคุณต้องการทราบมากขึ้น โปรดติดต่อผู้เผยแพร่วารสารนี้ หรือไม่ก็พยานพระยะโฮวาในละแวกบ้านของคุณ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 นามสมมุติ.
^ วรรค 3 ตามรายงานของยูนิเซฟ แต่ละวันทารกประมาณ 500 ถึง 700 คนติดเชื้อโดยกินนมมารดาที่มีเชื้อเอชไอวี.
^ วรรค 4 องค์การทั้งหกได้แก่ ยูนิเซฟ, โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ, องค์การอนามัยโลก, ธนาคารโลก. และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ. ยูเอ็นเอดส์ก่อตั้งในปี 1995.
^ วรรค 8 การศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมผงร่วมกับนมมารดาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และการวิจัยยังชี้ว่าน้ำนมมารดาอาจมีสารต้านไวรัสที่ช่วยทำลายเชื้อเอชไอวี. ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง การเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาอย่างเดียว แม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็อาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า. อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษาวิจัยนี้ยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด.
[ที่มาของภาพหน้า 20]
WHO/E. Hooper