การพูดมุสา—จะมีทางชอบด้วยเหตุผลไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
การพูดมุสา—จะมีทางชอบด้วยเหตุผลไหม?
“พูดบิดเบือนไปบ้าง บางครั้งก็ช่วยให้ไม่ต้องอธิบายยืดยาว.”
ข้อคิดเห็นนี้แสดงชัดว่าหลายคนรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการพูดปด. เหตุผลของเขาคือพูดปดไม่ผิดหากไม่ทำความเสียหายแก่ใคร. การชักเหตุผลเช่นนั้นยังได้ชื่อทางวิชาการด้วยซ้ำ คือ จริยธรรมตามสถานการณ์ ซึ่งบอกว่ากฎเดียวเท่านั้นที่เราจำต้องปฏิบัติตามคือกฎที่เรียกกันว่า กฎแห่งความรัก. นักเขียนชื่อ ไดแอน คอมป์ ได้ชี้แจงว่า กล่าวอีกนัยหนึ่ง “หากแรงจูงใจของคุณถูกต้องและหัวใจของคุณเป็นธรรม ที่คุณพูดปด . . . ก็ไม่สลักสำคัญอะไร.”
ทัศนะดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในโลกสมัยนี้. เรื่องอื้อฉาวที่พัวพันกับการพูดโป้ปดโดยนักการเมืองคนสำคัญและพวกผู้นำอื่น ๆ ของโลกทำให้สังคมตื่นตะลึง. ครั้นถูกครอบงำด้วยบรรยากาศแบบนี้ ประชาชนจำนวนมากจึงลดความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพูดความจริง. ในบางท้องที่ การพูดโป้ปดได้กลายเป็นนโยบายทางการด้วยซ้ำ. พนักงานขายรายหนึ่งรำพัน “เขาจ้างให้ฉันพูดเท็จ. ฉันชนะประกวดการขายหลายครั้ง และแต่ละปีได้รับเกียรติบัตรถ้าฉันกล่าวเท็จ. . . . จุดนี้ดูเหมือนเป็นหลักของการฝึกอบรมการขายปลีกทุกแห่ง.” หลายคนเชื่อว่าการพูดปดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยเจตนาดีไม่ก่อความเสียหายแต่อย่างใด. เป็นความจริงไหม? มีโอกาสไหนไหมที่อาจถือได้ว่าชอบด้วยเหตุผลที่คริสเตียนจะพูดปด?
มาตรฐานสูงส่งของคัมภีร์ไบเบิล
คัมภีร์ไบเบิลประณามการพูดมุสาทุกอย่าง. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญแถลงดังนี้: “[พระเจ้า] จะทรงทำลายคนพูดมุสาเสีย.” (บทเพลงสรรเสริญ 5:6; ดูวิวรณ์ 22:15.) ที่พระธรรมสุภาษิต 6:16-19 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่ามีอยู่เจ็ดอย่างที่พระยะโฮวาทรงสะอิดสะเอียน. เห็นได้ชัดว่า “ลิ้นพูดปด” และ “พยานเท็จที่ระบายลมออกมาเป็นคำเท็จ” ถูกนับรวมอยู่ในรายการนี้. ทำไม? เพราะพระยะโฮวาทรงชังความเสียหายที่ความเท็จก่อขึ้น. นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่พระเยซูเรียกซาตานว่าผู้มุสาและผู้ฆ่าคน. การพูดเท็จของมันเป็นเหตุให้มนุษยชาติตกเข้าสู่ความทุกข์ยากและความตาย.—เยเนซิศ 3:4, 5; โยฮัน 8:44; โรม 5:12.
ทัศนะของพระยะโฮวาต่อการมุสาเข้มงวดเพียงใดนั้นได้แสดงให้เห็นเด่นชัดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอะนาเนียและสัปไฟเร. คนทั้งสองจงใจมุสาต่อพวกอัครสาวกโดยพยายามทำให้ดูประหนึ่งว่าตนเป็นคนใจกว้างกว่าที่เป็นจริง. การกระทำของเขาเป็นโดยเจตนาและคิดกิจการ 5:1-10.
ล่วงหน้าไว้ก่อน. ดังนั้น อัครสาวกเปโตรจึงประกาศว่า “เจ้ามิได้มุสาต่อมนุษย์แต่ได้มุสาต่อพระเจ้า.” เพราะเหตุนี้ คนทั้งสองจึงได้ล้มลงตายด้วยพระหัตถ์ของพระเจ้า.—หลายปีต่อมาอัครสาวกเปาโลได้เตือนสติคริสเตียนดังนี้: “อย่าพูดมุสาต่อกันและกัน.” (โกโลซาย 3:9) การกระตุ้นเตือนนี้จำเป็นอย่างยิ่งในประชาคมคริสเตียน. พระเยซูตรัสว่าความรักที่มีหลักการเป็นเครื่องหมายระบุตัวสาวกแท้ของพระองค์. (โยฮัน 13:34, 35) ความรักที่ไม่หน้าซื่อใจคดเช่นนั้นจะเจริญงอกงามได้ภายในสภาพแวดล้อมที่มีความซื่อสัตย์และไว้ใจกันเต็มที่เท่านั้น. ยากที่จะรักใครสักคนถ้าเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าเขาจะพูดความจริงกับเราทุกครั้ง.
แม้การมุสาทุกอย่างน่าตำหนิ แต่ระดับของความร้ายแรงนั้นแตกต่างกัน. ยกตัวอย่าง คนหนึ่งอาจพูดปดเนื่องจากรู้สึกกระดากอายหรือกลัว. ส่วนอีกคนหนึ่งอาจคิดชั่วร้ายถือเอาการพูดมุสาเป็นกิจปฏิบัติ ด้วยมีเจตนาจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายหรือบาดเจ็บ. เนื่องจากมีแรงจูงใจที่มุ่งร้าย ผู้ที่จงใจมุสาเช่นนั้นจึงเป็นอันตรายต่อคนอื่น และประชาคมจะตัดสัมพันธ์เขาด้วยซ้ำหากเขาไม่สำนึกผิดและกลับใจ. แต่เนื่องจากการมุสาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความประสงค์ร้ายไปเสียทุกอย่าง จึงต้องระมัดระวังอย่างรอบคอบที่จะไม่กล่าวโทษโดยไม่จำเป็น แต่ให้แน่ใจว่ารู้ปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเมื่อมีคนพูดมุสา. ควรคำนึงถึงเหตุจูงใจและเหตุลดหย่อนโทษด้วย.—ยาโกโบ 2:13.
“ระแวดระวังเหมือนงู”
จริงอยู่ การเป็นคนพูดความจริงไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างแก่คนที่ถามเรา. พระเยซูทรงเตือนที่มัดธาย 7:6 ว่า “อย่าให้ของประเสริฐแก่สุนัข อย่าโยนแก้วมุกดาให้แก่สุกร, เกลือกว่ามันจะ . . . หันกลับมากัดตัวท่านด้วย.” ยกตัวอย่าง คนที่มีเจตนาชั่วคงไม่มีสิทธิ์จะรู้เรื่องอะไรบางอย่าง. คริสเตียนยอมรับว่าพวกเขาอยู่ในโลกซึ่งเป็นปรปักษ์. ดังนั้น พระเยซูจึงทรงแนะนำบรรดาสาวกของพระองค์ให้เป็นคน “ระแวดระวังเหมือนงู” ขณะที่ยังคง “ไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกพิราบ.” (มัดธาย 10:16; โยฮัน 15:19) พระเยซูไม่ได้เปิดเผยความจริงทั้งหมดทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อการเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดอาจเป็นภัยแก่พระองค์เองหรือแก่เหล่าสาวกของพระองค์โดยไม่จำเป็น. ถึงกระนั้น แม้อยู่ในสภาวะดังกล่าว พระองค์ไม่ได้ตรัสมุสา. พระองค์ตัดสินใจไม่พูดอะไรเลยหรือไม่ก็เบนเรื่องสนทนาไปอีกทางหนึ่งแทน.—มัดธาย 15:1-6; 21:23-27; โยฮัน 7:3-10.
บรรดาชายหญิงผู้สัตย์ซื่อที่ได้มีการเอ่ยถึงในคัมภีร์ไบเบิล อาทิ อับราฮาม, ยิศฮาค, ราฮาบ, และดาวิด ต่างก็เฉลียวฉลาดและระแวดระวังเช่นกันเมื่อดำเนินการกับผู้ที่อาจเป็นศัตรูได้. (เยเนซิศ 20:11-13; 26:9; ยะโฮซูอะ 2:1-6; 1 ซามูเอล 21:10-14) คัมภีร์ไบเบิลจัดประเภทกลุ่มชายหญิงดังกล่าวไว้ในฐานะผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ ซึ่งในชีวิตของพวกเขาได้แสดงลักษณะแห่งการเชื่อฟังให้ปรากฏ. นั่นทำให้พวกเขาเป็นบุคคลที่คู่ควรจะถือเป็นแบบอย่าง.—โรม 15:4; เฮ็บราย 11:8-10, 20, 31, 32-39.
อาจเป็นได้ในบางครั้งที่ดูเหมือนว่าการพูดมุสาแก้ปัญหาได้ง่าย. แต่คริสเตียนทุกวันนี้ควรเอาอย่างแนวทางของพระเยซู และทำตามสติรู้สึกผิดชอบของตนที่ได้รับการฝึกสอนจากคัมภีร์ไบเบิลเมื่อเผชิญสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่ยากลำบากเป็นพิเศษ.—เฮ็บราย 5:14.
คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้พูดความจริงและซื่อตรง. การพูดปดเป็นสิ่งผิด และเราควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ท่านทุกคนจงพูดความจริงกับเพื่อนบ้านของตน.” (เอเฟโซ 4:25, ล.ม.) โดยการทำเช่นนั้น เราจะรักษาไว้ซึ่งสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด, ส่งเสริมสันติสุขและความรักในประชาคม, และยังถวายเกียรติแด่ “พระเจ้าแห่งความจริง” ต่อ ๆ ไป.—บทเพลงสรรเสริญ 31:5, ล.ม.; เฮ็บราย 13:18.
[ภาพหน้า 20]
อะนาเนียและสัปไฟเรเสียชีวิตเพราะการพูดมุสา