ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พ่อ—เหตุผลที่พวกเขาจากไป

พ่อ—เหตุผลที่พวกเขาจากไป

พ่อ—เหตุ​ผล​ที่​พวก​เขา​จาก​ไป

“ผม​จำ​ไม่​ได้​ว่า​พ่อ​กับ​แม่​ตี​กัน​หรือ​ทะเลาะ​กัน. เท่า​ที่​ผม​จำ​ได้​คือ​พ่อ​อยู่​บ้าน และ​แล้ว—จู่ ๆ—วัน​หนึ่ง​พ่อ​ก็​จาก​ไป! ผม​ไม่​รู้​ว่า​พ่อ​อยู่​ที่​ไหน​จน​กระทั่ง​ทุก​วัน​นี้. ผม​รู้​แต่​เพียง​ว่า​ผม​รู้สึก​เฉย ๆ กับ​พ่อ.”—บรูซ.

“ที่​โรง​เรียน​มี​ฉัน​คน​เดียว​ที่​พ่อ​กับ​แม่​ไม่​ได้​อยู่​ด้วย​กัน และ​ฉัน​ก็​ไม่​มี​บ้าน​เป็น​หลัง . . . ฉัน​รู้สึก​เสมอ​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​เหมือน​แกะ​ดำ. ฉัน​รู้สึก​เสมอ​ว่า​แตกต่าง​จาก​คน​อื่น ๆ ที่​อยู่​ใน​วัย​เดียว​กัน.”—แพทริเซีย.

วิกฤตการณ์​เรื่อง​ครอบครัว​ไร้​พ่อ​มี​รกราก​มา​จาก​การ​ปฏิวัติ​อุตสาหกรรม. เมื่อ​งาน​ที่​โรง​งาน​เริ่ม​ดึงดูด​พวก​ผู้​ชาย​ให้​ห่าง​ไกล​จาก​บ้าน​ของ​ตน อิทธิพล​ของ​พ่อ​ใน​ครอบครัว​ก็​เริ่ม​ลด​ลง และ​แม่​ก็​เข้า​มา​มี​ส่วน​มาก​ขึ้น​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​ลูก. * อย่าง​ไร​ก็​ตาม พ่อ​ส่วน​ใหญ่​ยัง​คง​อยู่​กับ​ครอบครัว. แต่​ใน​ช่วง​กลาง​ทศวรรษ 1960 อัตรา​การ​หย่าร้าง​ใน​สหรัฐ​เริ่ม​สูง​ขึ้น​อย่าง​น่า​ตกใจ. เครื่อง​กีด​ขวาง​ทาง​ศาสนา, เศรษฐกิจ, และ​สังคม​ที่​เคย​ช่วย​ยับยั้ง​การ​หย่าร้าง​เริ่ม​พัง​ทลาย. โดย​ถูก​กระตุ้น​จาก​คำ​แนะ​นำ​ของ​บรรดา​ผู้​ที่​ประกาศ​ตัว​ว่า​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​ซึ่ง​ยืน​ยัน​ว่า การ​หย่าร้าง​ไม่​เพียง​ไม่​ก่อ​ความ​เสียหาย​ต่อ​ลูก ๆ เท่า​นั้น แต่​แท้​จริง​แล้ว​ยัง​อาจ​เป็น​ประโยชน์ ต่อ​พวก​เขา​ด้วย​ซ้ำ คู่​สมรส​หลาย​คู่​จึง​เลือก​การ​หย่าร้าง​ใน​อัตรา​ที่​มาก​เป็น​ประวัติการณ์. หนังสือ​ครอบครัว​แตก​แยก—สิ่ง​ที่​เกิด​กับ​ลูก​เมื่อ​พ่อ​แม่​แยก​ทาง​กัน (ภาษา​อังกฤษ) โดย​แฟรงก์ เอฟ. เฟอร์สเตนเบิร์ก จูเนียร์ และ แอนดรูว์ เจ. เชอร์ลิน บอก​ว่า “ใน​เบลเยียม, ฝรั่งเศส, และ​สวิตเซอร์แลนด์ อัตรา [การ​หย่าร้าง] เพิ่ม​ขึ้น​สอง​เท่า [ตั้ง​แต่​ทศวรรษ 1960] ขณะ​ที่​แคนาดา, อังกฤษ, และ​เนเธอร์แลนด์ เพิ่ม​ขึ้น​สาม​เท่า.”

แม้​ตาม​ปกติ​แล้ว​ลูก​จะ​อยู่​กับ​แม่​หลัง​การ​หย่าร้าง แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ผู้​เป็น​พ่อ​ที่​แยก​ทาง​ไป​ต้องการ​รักษา​สาย​สัมพันธ์​กับ​ลูก​ไว้. การ​เป็น​ผู้​ปกครอง​ร่วม​กัน​เป็น​วิธี​แก้​อย่าง​หนึ่ง​ที่​หลาย​คน​นิยม. แต่​น่า​แปลก พ่อ​ส่วน​ใหญ่​ที่​หย่าร้าง​ไป​แทบ​ไม่​ได้​รักษา​การ​ติด​ต่อ​กับ​ลูก​ของ​ตน​ไว้​เลย. การ​สำรวจ​หนึ่ง​เผย​ว่า เด็ก​เพียง 1 ใน 6 คน​เท่า​นั้น​ที่​เห็น​พ่อ​ของ​ตน​ทุก​สัปดาห์​หลัง​จาก​ที่​พ่อ​หย่า​กับ​แม่​แล้ว. เด็ก​เกือบ​ครึ่ง​ไม่​เคย​เห็น​พ่อ​ของ​ตน​ตลอด​ทั้ง​ปี!

การ​เป็น​ผู้​ปกครอง​ร่วม​กัน​ล้มเหลว

เพื่อ​คู่​สมรส​ที่​หย่า​กัน​จะ​ปกครอง​ลูก​ร่วม​กัน​ได้​นั้น​ต้อง​อาศัย​ความ​ร่วม​มือ​และ​ความ​ไว้​วางใจ​กัน​อย่าง​มาก ซึ่ง​คุณสมบัติ​เหล่า​นี้​มัก​จะ​ขาด​ไป. นัก​วิจัย​ชื่อ​เฟอร์สเตนเบิร์ก​และ​เชอร์ลิน​พูด​อย่าง​นี้: “เหตุ​ผล​หลัก​ที่​ว่า​ทำไม​ผู้​เป็น​พ่อ​จึง​หยุด​ไป​เยี่ยม​ลูก​ก็​คือ เขา​ไม่​อยาก​ข้อง​เกี่ยว​กับ​อดีต​ภรรยา​ของ​ตน. และ​ผู้​หญิง​หลาย​คน​ก็​มี​ทัศนะ​ต่อ​อดีต​สามี​อย่าง​นี้​เช่น​กัน.”

จริง​อยู่ พ่อ​หลาย​คน​ที่​หย่าร้าง​ไป​เยี่ยม​ลูก​ของ​ตน​เป็น​ประจำ. แต่​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ไม่​ได้​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ชีวิต​ประจำ​วัน​ของ​ลูก​อีก​ต่อ​ไป จึง​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​บาง​คน​จะ​ปฏิบัติ​ตัว​เฉก​เช่น​บิดา​เมื่อ​อยู่​กับ​ลูก. หลาย​คน​ทำ​ตัว​เป็น​เพื่อน​เล่น โดย​ใช้​เวลา​แทบ​ทั้ง​หมด​ที่​อยู่​กับ​ลูก​ไป​กับ​นันทนาการ​หรือ​ชอปปิง. อารี วัย​สิบ​สี่​ปี​พรรณนา​ถึง​การ​มา​เยี่ยม​ของ​พ่อ​ตอน​สุด​สัปดาห์​ดัง​นี้: “ไม่​มี​ตาราง​เวลา​ที่​แน่นอน​ว่า​จะ​ทำ​อะไร ไม่​มี​การ​วาง​กฎเกณฑ์​ว่า ‘จะ​ต้อง​กลับ​บ้าน​ไม่​เกิน​ห้า​โมง​ครึ่ง.’ ทำ​อะไร​ก็​ได้. มี​อิสระ​เต็ม​ที่. และ​คุณ​พ่อ​ซื้อ​ของ​ขวัญ​ให้​ผม​เสมอ.”—จาก​หนังสือ​ความ​รู้สึก​เมื่อ​พ่อ​แม่​หย่า​กัน (ภาษา​อังกฤษ) โดย​จิลล์ เครเมนตส์.

บิดา​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ควร ‘รู้​จัก​ให้​ของ​ดี​แก่​บุตร​ของ​ตน.’ (มัดธาย 7:11) แต่​ของ​ขวัญ​ไม่​อาจ​แทน​ที่​การ​ชี้​นำ​และ​การ​อบรม​สั่ง​สอน​ที่​จำเป็น​ได้​เลย. (สุภาษิต 3:12; 13:1) เมื่อ​คน​เรา​ทำ​ตัว​เป็น​เพื่อน​เล่น​หรือ​ผู้​มา​เยี่ยม​แทน​การ​ทำ​ตัว​เป็น​พ่อ สาย​สัมพันธ์​ฉัน​พ่อ​ลูก​ก็​คง​ต้อง​เสื่อม​ลง. การ​วิจัย​ราย​หนึ่ง​ลง​ความ​เห็น​ดัง​นี้: “การ​หย่าร้าง​อาจ​ทำ​ให้​สาย​สัมพันธ์​ฉัน​พ่อ​ลูก​ขาด​สะบั้น​อย่าง​ถาวร.”—วารสาร​เพื่อ​ชีวิต​สมรส​และ​ครอบครัว (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ​พฤษภาคม 1994.

ความ​ปวด​ร้าว​และ​ความ​โกรธ​ที่​ถูก​ตัด​ออก​ไป​จาก​ชีวิต​ของ​ลูก—หรือ​อาจ​แค่​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​เฉยเมย​เย็นชา—ทำ​ให้​ผู้​ชาย​บาง​คน​ทิ้ง​ครอบครัว​ของ​ตน และ​ไม่​ได้​ให้​การ​อุปการะ​ด้าน​การ​เงิน​ที่​จำเป็น. * (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) เด็ก​วัยรุ่น​ผู้​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​ขมขื่น​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า “ไม่​มี​อะไร​ใน​ตัว​พ่อ​ที่​ผม​ชอบ​เลย. เขา​ออก​ไป​จาก​ชีวิต​ของ​ผม​จริง ๆ ไม่​อุปการะ​หรือ​ทำ​อะไร ๆ ให้​พวก​เรา​สัก​นิด​เดียว และ​ผม​คิด​ว่า​แย่​มาก.”

บิดา​มารดา​ที่​ไม่​ได้​สมรส​กัน

ลูก​นอก​กฎหมาย​ที่​มี​มาก​เป็น​ประวัติการณ์​เป็น​สาเหตุ​ใหญ่​ที่​สุด​ที่​ทำ​ให้​จำนวน​เด็ก​ไร้​พ่อ​เพิ่ม​มาก​ขึ้น. หนังสือ​อเมริกา​ไร้​พ่อ (ภาษา​อังกฤษ) บอก​ว่า “ปัจจุบัน​ประมาณ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​เด็ก​ทั้ง​หมด​ที่​เกิด​ใน [สหรัฐ] เป็น​ลูก​นอก​สมรส.” จาก​ทารก​ประมาณ 500,000 คน​ที่​เกิด​แต่​ละ​ปี ซึ่ง​เป็น​ลูก​ของ​ผู้​มี​อายุ​ตั้ง​แต่ 15 ถึง 19 ปี 78 เปอร์เซ็นต์​เป็น​ลูก​ของ​วัยรุ่น​ที่​ยัง​ไม่​ได้​สมรส. แต่​การ​ตั้ง​ครรภ์​ของ​วัยรุ่น​เป็น​ปัญหา​ทั่ว​โลก. และ​โครงการ​ที่​อบรม​เรื่อง​การ​คุม​กำเนิด​หรือ​สนับสนุน​การ​งด​เว้น​ทาง​เพศ ก็​แทบ​ไม่​ได้​ทำ​ให้​บรรดา​วัยรุ่น​เปลี่ยน​พฤติกรรม​ทาง​เพศ.

หนังสือ​พ่อ​วัยรุ่น (ภาษา​อังกฤษ) โดย​ไบรอัน อี. โรบินสัน อธิบาย​ว่า “การ​ตั้ง​ครรภ์​นอก​สาย​สมรส​ไม่​น่า​อาย​และ​ไม่​ถูก​ประณาม​เหมือน​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1960 อีก​ต่อ​ไป เพราะ​ทัศนคติ​ของ​ผู้​คน​ใน​เรื่อง​เพศ​และ​การ​ตั้ง​ครรภ์​ก่อน​การ​สมรส​เป็น​แบบ​เสรี​นิยม​มาก​ขึ้น. . . . อีก​ทั้ง​เยาวชน​ใน​ปัจจุบัน​ก็​ถูก​กระหน่ำ​ด้วย​เรื่อง​กามารมณ์​เป็น​ประจำ​โดย​การ​โฆษณา, ดนตรี, ภาพยนตร์, และ​โทรทัศน์. สื่อ​โฆษณา​ใน​อเมริกา​บอก​พวก​วัยรุ่น​ว่า​เพศ​เป็น​เรื่อง​โรแมนติก, น่า​ตื่นเต้น, และ​เพิ่ม​รสชาติ​ให้​ชีวิต โดย​ไม่​เคย​พูด​ถึง​ผล​พวง​ใน​ชีวิต​จริง​ของ​พฤติกรรม​ทาง​เพศ​แบบ​หุนหันพลันแล่น​และ​ขาด​ความ​รับผิดชอบ.”

วัยรุ่น​หลาย​คน​ดู​เหมือน​เริง​ร่า​ไม่​ตระหนัก​ถึง​ผล​พวง​ของ​เพศ​สัมพันธ์​แบบ​ลักลอบ. ลอง​สังเกต​ความ​เห็น​บาง​อย่าง​ที่​นัก​เขียน​ชื่อ โรบินสัน ได้​ยิน​มา​ดัง​นี้: “‘ดู​เธอ​ไม่​ใช่​คน​ที่​จะ​ท้อง​ได้​ง่าย ๆ’; ‘เรา​มี​เพศ​สัมพันธ์​สัปดาห์​ละ​ครั้ง​เท่า​นั้น’; หรือ ‘ผม​ไม่​คิด​ว่า​แค่​เพศ​สัมพันธ์​ครั้ง​แรก​จะ​ทำ​ให้​คุณ​ท้อง​ได้.’” แน่นอน เด็ก​หนุ่ม​บาง​คน​รู้​อยู่​แก่​ใจ​ว่า​การ​มี​เพศ​สัมพันธ์​ยัง​ผล​ให้​ตั้ง​ครรภ์​ได้. หนังสือ​พ่อ​รุ่น​เยาว์​ที่​ไม่​ได้​สมรส (ภาษา​อังกฤษ) ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “สำหรับ​เด็ก​หนุ่ม​หลาย​คน [ที่​อยู่​ใน​ตัว​เมือง] เพศ​สัมพันธ์​เป็น​สัญลักษณ์​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​สถานภาพ​ทาง​สังคม​ใน​ท้องถิ่น; การ​ได้​พิชิต​ความ​สาว​ของ​ผู้​หญิง​กลาย​เป็น​เครื่อง​บ่ง​บอก​ความ​สำเร็จ. เด็ก​สาว​หลาย​คน​เสนอ​เพศ​สัมพันธ์​เป็น​ข้อ​แลก​เปลี่ยน​เพื่อ​ให้​เด็ก​หนุ่ม​สนใจ.” ชุมชน​บาง​แห่ง​ใน​ตัว​เมือง เด็ก​หนุ่ม​ที่​ไม่​ได้​เป็น​พ่อ​คน​อาจ​ถึง​กับ​ถูก​ล้อเลียน​ที่​ยัง​เป็น​คน “บริสุทธิ์”!

สภาพการณ์​ยิ่ง​มืดมน​มาก​ขึ้น​เมื่อ​คุณ​พิจารณา​ผล​การ​ศึกษา​วิจัย​ใน​ปี 1993 เกี่ยว​ด้วย​มารดา​ที่​อยู่​ใน​วัย​เรียน​ใน​แคลิฟอร์เนีย. การ​วิจัย​เผย​ว่า สอง​ใน​สาม​ของ​เด็ก​ผู้​หญิง​ตั้ง​ครรภ์​ไม่​ใช่​โดย​เพื่อน​ชาย​วัยรุ่น แต่​โดย​ผู้​ชาย​วัย 20 ปี​ขึ้น​ไป! ที่​จริง การ​ศึกษา​วิจัย​บาง​ราย​ชี้​ว่า มารดา​วัยรุ่น​หลาย​คน​ที่​ไม่​ได้​สมรส​เป็น​เหยื่อ​ของ​การ​ข่มขืน​กระทำ​ชำเรา​ผู้​เยาว์—หรือ​กระทั่ง​การ​ทำ​ร้าย​เด็ก​ทาง​เพศ. การ​แสวง​ประโยชน์​ที่​มี​ดาษ​ดื่น​นี้​เผย​ให้​เห็น​ว่า​สังคม​สมัย​ปัจจุบัน​เหลวแหลก​และ​เสื่อม​ทราม​สัก​เพียง​ไร.—2 ติโมเธียว 3:13.

สาเหตุ​ที่​เด็ก​หนุ่ม​จาก​ไป

มี​น้อย​มาก​ที่​วัยรุ่น​ซึ่ง​เป็น​พ่อ​ของ​เด็ก​จะ​ให้​การ​ดู​แล​รับผิดชอบ​ระยะ​ยาว​แก่​ลูก​ของ​ตน. เด็ก​วัยรุ่น​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เพื่อน​หญิง​ของ​เขา​ตั้ง​ครรภ์ บอก​ว่า “ผม​ก็​แค่​พูด​กับ​เธอ​ว่า ‘ไป​ละ.’” อย่าง​ไร​ก็​ตาม บทความ​หนึ่ง​ใน​วารสาร​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ชีวิต​ครอบครัว (ภาษา​อังกฤษ) ชี้​ว่า “พ่อ​รุ่น​เยาว์​ส่วน​ใหญ่​แสดง​ความ​ปรารถนา​แรง​กล้า​ที่​จะ​มี​สาย​สัมพันธ์​ใกล้​ชิด​กับ​ลูก​ของ​ตน.” ตาม​การ​ศึกษา​วิจัย​ราย​หนึ่ง​เกี่ยว​ด้วย​พ่อ​รุ่น​เยาว์​ที่​ไม่​ได้​สมรส​เผย​ว่า 70 เปอร์เซ็นต์​ไป​เยี่ยม​ลูก​ของ​ตน​สัปดาห์​ละ​ครั้ง. บทความ​นั้น​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “แต่​เมื่อ​ลูก​ของ​เขา​โต​ขึ้น อัตรา​การ​เยี่ยม​ก็​ลด​ลง.”

พ่อ​วัย 17 ปี​คน​หนึ่ง​ให้​เหตุ​ผล​ว่า​เป็น​เช่น​นี้​เพราะ​เหตุ​ใด เขา​สรุป​ว่า “ถ้า​เพียง​แต่​ผม​รู้​ว่า​มัน​จะ​ยุ่งยาก​อย่าง​นี้ ผม​คง​ไม่​มี​วัน​ปล่อย​ให้​เกิด​ขึ้น​หรอก.” มี​หนุ่ม​สาว​ไม่​กี่​คน​ที่​มี​ความ​อาวุโส​ทาง​อารมณ์​หรือ​มี​ประสบการณ์​ใน​การ​รับมือ​กับ​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​การ​เป็น​บิดา​มารดา. อีก​ทั้ง​มี​น้อย​คน​เช่น​กัน​ที่​มี​การ​ศึกษา​หรือ​มี​ทักษะ​ที่​จำเป็น​ต่อ​การ​ทำ​มา​หา​เลี้ยง​ชีพ. แทน​ที่​จะ​ทน​รับ​ความ​อับอาย​ที่​ผิด​พลาด​ไป เด็ก​หนุ่ม​หลาย​คน​ทิ้ง​ลูก​ของ​ตน​ไป​ดื้อ ๆ. พ่อ​รุ่น​เยาว์​คน​หนึ่ง​สารภาพ​ว่า “ชีวิต​ของ​ผม​เต็ม​ไป​ด้วย​ปัญหา​และ​ความ​ยุ่งยาก.” อีก​คน​ครวญ​ว่า “ผม​ดู​แล​ตัว​เอง​แทบ​ไม่​ได้​อยู่​แล้ว ผม​ไม่​รู้​ว่า​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ถ้า​ต้อง​มา​ดู​แล [ลูก​ชาย] เข้า​อีก​คน.”

องุ่น​เปรี้ยว

ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล ชาว​ยิว​มี​ภาษิต​ว่า “พ่อ​แม่​กิน​องุ่น​เปรี้ยว แต่​ลูก​เป็น​ผู้​เข็ด​ฟัน.” (ยะเอศเคล 18:2, ฉบับ​แปล​ทูเดส์ อิงลิช) พระเจ้า​ตรัส​แก่​พวก​ยิว​ว่า ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​อย่าง​นั้น ความ​ผิด​พลาด​ใน​อดีต​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เกิด​ซ้ำ​อีก​ใน​อนาคต. (ยะเอศเคล 18:3) กระนั้น เด็ก​หลาย​ล้าน​คน​ใน​ปัจจุบัน​ดู​เหมือน​กำลัง​ลิ้ม​รส​ความ​ขมขื่น​จาก “องุ่น​เปรี้ยว” ที่​พ่อ​แม่​ของ​ตน​กิน กล่าว​คือ ได้​รับ​ความ​เสียหาย​จาก​ความ​อ่อน​เยาว์, ความ​ไม่​รับผิดชอบ, และ​ความ​ล้มเหลว​ใน​ชีวิต​สมรส​ของ​พ่อ​แม่. การ​ศึกษา​วิจัย​มี​แต่​จะ​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ท่วมท้น​ว่า เด็ก​ที่​เติบโต​โดย​ไม่​มี​พ่อ​ต้อง​เผชิญ​อันตราย​อย่าง​มหันต์​ทั้ง​ทาง​กาย​และ​อารมณ์. (ดู​กรอบ​หน้า 7.) ที่​น่า​วิตก​เป็น​พิเศษ​ก็​คือ​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า ครอบครัว​ไร้​พ่อ​มัก​จะ​สืบ​ทอด​จาก​คน​รุ่น​หนึ่ง​สู่​อีก​รุ่น​หนึ่ง—เป็น​วัฏจักร​แห่ง​ความ​ปวด​ร้าว​และ​ความ​ทุกข์​ระทม​ที่​ดำเนิน​ต่อ​ไป​ไม่​หยุด.

ครอบครัว​ที่​ไร้​พ่อ​ถูก​ลิขิต​ให้​ล้มเหลว​กระนั้น​ไหม? ไม่​เลย. ที่​จริง ข่าว​ดี​คือ สามารถ​ยุติ​วัฏจักร​ของ​ครอบครัว​ไร้​พ่อ​ได้. บทความ​ถัด​ไป​ของ​เรา​จะ​พิจารณา​วิธี​ดัง​กล่าว.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 น่า​สนใจ ก่อน​ยุค​ปฏิวัติ​อุตสาหกรรม คู่มือ​การ​เลี้ยง​ลูก​ใน​สหรัฐ​โดย​ทั่ว​ไป​จะ​พูด​กับ​บิดา ไม่​ใช่​มารดา.

^ วรรค 10 นัก​วิจัย​ชื่อ​ซารา แมกแลนาฮัน และ​แกรี ซานเดเฟอร์ กล่าว​ว่า ใน​สหรัฐ “ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​เด็ก​ซึ่ง​มี​สิทธิ์​ตาม​หลัก​เหตุ​ผล​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​อุปการะ ไม่​มี​คำ​ตัดสิน​ชี้ขาด​ของ​อนุญาโตตุลาการ [คำ​สั่ง​ศาล] ให้​ได้​รับ​การ​อุปการะ​ใด ๆ และ​หนึ่ง​ใน​สี่​ของ​เด็ก​ที่​มี​คำ​ตัดสิน​ชี้ขาด ไม่​ได้​รับ​อะไร​เลย. เด็ก​น้อย​กว่า​หนึ่ง​ใน​สาม​ได้​รับ​เต็ม​จำนวน​ที่​เขา​พึง​ได้.”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 7]

อันตราย​ของ​การ​เติบโต​โดย​ไม่​มี​พ่อ

การ​เติบโต​โดย​ไม่​มี​พ่อ​ก่อ​อันตราย​ร้ายแรง​ต่อ​เด็ก ๆ. แม้​การ​พิจารณา​ข้อมูล​ต่อ​ไป​นี้​อาจ​ทำ​ให้​บาง​คน​ปวด​ร้าว แต่​การ​ตระหนัก​ถึง​อันตราย​เป็น​ขั้น​ตอน​แรก​ใน​การ​ป้องกัน​หรือ​อย่าง​น้อย​ก็​ลด​ความ​เสียหาย​ได้. อนึ่ง โปรด​ทราบ​ว่า​การ​ศึกษา​วิจัย​เชิง​สถิติ​นี้​ทำ​กับ​กลุ่ม​ไม่​ใช่​กับ​ราย​บุคคล. เด็ก​หลาย​คน​เติบโต​ใน​ครอบครัว​ไร้​พ่อ​โดย​ไม่​ประสบ​ปัญหา​เหล่า​นี้​แต่​อย่าง​ใด. ดัง​บทความ​ปิด​ท้าย​ของ​เรา​จะ​แสดง​ให้​เห็น การ​ที่​แม่​เข้า​มา​มี​ส่วน​และ​นำ​หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ไป​ใช้​สามารถ​ช่วย​ได้​มาก​ใน​การ​บรรเทา​ปัญหา​ยุ่งยาก​ที่​อาจ​จะ​เกิด​ขึ้น. ให้​เรา​มา​พิจารณา​อันตราย​ที่​เป็น​ไป​ได้​บาง​อย่าง​ซึ่ง​เด็ก​ไร้​พ่อ​อาจ​เผชิญ.

เสี่ยง​มาก​ขึ้น​ต่อ​การ​ถูก​ทำ​ร้าย​ทาง​เพศ

การ​วิจัย​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ว่า การ​ขาด​พ่อ​ทำ​ให้​เด็ก​มี​ความ​เสี่ยง​มาก​ขึ้น​ต่อ​การ​ถูก​ทำ​ร้าย​ทาง​เพศ. การ​ศึกษา​วิจัย​ราย​หนึ่ง​เผย​ว่า จาก​กรณี​ทำ​ร้าย​เด็ก 52,000 ราย “72 เปอร์เซ็นต์​เป็น​เด็ก​ที่​อยู่​ใน​ครอบครัว​ซึ่ง​มี​พ่อ​หรือ​แม่​แท้ ๆ เพียง​ฝ่าย​เดียว หรือ​ไม่​ก็​ไม่​มี​ทั้ง​พ่อ​และ​แม่.” หนังสือ​อเมริกา​ไร้​พ่อ ยืน​ยัน​ว่า “ความ​เสี่ยง​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อง​การ​ทำ​ร้าย​เด็ก​ทาง​เพศ​ใน​สังคม​ของ​เรา​โดย​มูลฐาน​แล้ว​มี​สาเหตุ​มา​จาก​การ​ไม่​มี​พ่อ​ที่​สมรส​กับ​แม่ ซึ่ง​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​เรื่อย ๆ และ​การ​เพิ่ม​มาก​ขึ้น​ของ​พ่อ​เลี้ยง, เพื่อน​ชาย, และ​ผู้​ชาย​อื่น ๆ ที่​ไม่​ใช่​ญาติ​หรือ​ที่​มา​อยู่​กิน​ด้วย​กัน​ชั่ว​ประเดี๋ยวประด๋าว.”

เสี่ยง​มาก​ขึ้น​ต่อ​การ​มี​พฤติกรรม​ทาง​เพศ​แต่​เยาว์​วัย

เนื่อง​จาก​เด็ก ๆ ใน​ครอบครัว​ที่​มี​เพียง​มารดา​ดู​เหมือน​ได้​รับ​การ​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​น้อย​ลง ผู้​เยาว์​จึง​มัก​มี​โอกาส​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​ตก​เข้า​สู่​การ​ประพฤติ​ผิด​ศีลธรรม. การ​ที่​แม่​ไม่​ค่อย​ได้​รับ​การ​อบรม​สั่ง​สอน​อาจ​เป็น​ปัจจัย​อย่าง​หนึ่ง​ด้วย. กระทรวง​สาธารณสุข​และ​บริการ​มนุษยชน​ของ​สหรัฐ บอก​ว่า “เด็ก​หญิง​ที่​ไม่​มี​พ่อ อาจ​มี​โอกาส​ตั้ง​ครรภ์​ถึง​สอง​เท่า​ครึ่ง​ใน​ชีวิต​ของ​พวก​เธอ.”

ความ​ยาก​จน

การ​ศึกษา​วิจัย​เด็ก​หญิง​วัยรุ่น​ผิว​ดำ​ใน​แอฟริกา​ใต้​ลง​ความ​เห็น​ว่า ผล​พวง​ที่​พบ​เห็น​ทั่ว​ไป​ของ​การ​เป็น​แม่​คน​โดย​ไม่​ได้​สมรส​ก็​คือ​ความ​ยาก​จน. ผู้​ทำ​การ​ศึกษา​วิจัย​บอก​ว่า “ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์​ของ​วัยรุ่น​เหล่า​นี้​ดู​เหมือน​ไม่​กลับ​ไป​เรียน​อีก.” ผู้​เป็น​แม่​หลาย​คน​ที่​ไม่​ได้​สมรส​ลงเอย​ด้วย​การ​ใช้​ชีวิต​เป็น​โสเภณี​และ​ขาย​ยา​เสพย์ติด. สถานการณ์​ใน​ประเทศ​แถบ​ตะวัน​ตก​อาจ​ไม่​ดี​ไป​กว่า​กัน​มาก​นัก. ใน​สหรัฐ “10 เปอร์เซ็นต์​ของ​เด็ก​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ทั้ง​พ่อ​และ​แม่ อยู่​ใน​สภาพ​ยาก​จน [ใน​ปี 1995] แต่​ใน​ครอบครัว​ที่​ประมุข​เป็น​ผู้​หญิง​อัตรา​ส่วน​มี​ถึง 50 เปอร์เซ็นต์.”—เด็ก ๆ ของ​อเมริกา: ปัจจัย​สำคัญ​ที่​บ่ง​ชี้​สวัสดิภาพ​ของ​ชาติ​ปี 1997 (ภาษา​อังกฤษ).

การ​ละเลย

เนื่อง​จาก​ถูก​บีบ​ให้​หา​เลี้ยง​ตัว​เอง มารดา​ไร้​คู่​บาง​คน​จึง​มี​ความ​รับผิดชอบ​ท่วมท้น และ​ไม่​สามารถ​ให้​เวลา​กับ​ลูก​ของ​ตน​ได้​พอ​เพียง. แม่​ร้าง​คน​หนึ่ง​เล่า​ว่า “ฉัน​ต้อง​ทำ​งาน​ตอน​กลางวัน​และ​ไป​เรียน​ตอน​กลางคืน—เหนื่อย​แทบ​ใจ​จะ​ขาด. ฉัน​ไม่​ได้​เอา​ใจ​ใส่​ลูก​เลย.”

ความ​เสียหาย​ทาง​อารมณ์

ตรง​ข้าม​กับ​คำ​อ้าง​ของ​ผู้​เชี่ยวชาญ​บาง​คน​ที่​ว่า เด็ก​ปรับ​ตัว​ได้​อย่าง​รวด​เร็ว​หลัง​จาก​การ​หย่าร้าง นัก​วิจัย​อย่าง​เช่น ดร. จูดิท วอลเลอร์สไตน์ พบ​ว่า​การ​หย่า​ก่อ​ความ​เสียหาย​ทาง​อารมณ์​ยาว​นาน. “มาก​กว่า​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​หนุ่ม​สาว​อายุ​ระหว่าง​สิบ​เก้า​ถึง​ยี่​สิบ​เก้า​ปี แทบ​ไม่​มี​กำลังใจ​จะ​ทำ​อะไร​เลย​ใน​ช่วง​สิบ​ปี​หลัง​จาก​พ่อ​แม่​หย่า​กัน. พวก​เขา​ปล่อย​ชีวิต​ให้​ล่อง​ลอย​ไป​เรื่อย ๆ โดย​ไม่​มี​เป้าหมาย . . . และ​อยู่​อย่าง​สิ้น​หวัง.” (จาก​หนังสือ​โอกาส​ที่​สอง [ภาษา​อังกฤษ] โดย ดร. จูดิท วอลเลอร์สไตน์ และ​แซนดรา เบล็กส์ลี) ความ​รู้สึก​ด้อย​ค่า, ความ​ซึมเศร้า, พฤติกรรม​ผิด​กฎหมาย, และ​ความ​โกรธ​ฝัง​ลึก เป็น​สิ่ง​ที่​พบ​เห็น​ได้​ใน​เด็ก​หลาย​คน​ที่​พ่อ​แม่​หย่า​กัน.

หนังสือ​ครอบครัว​ของ​บิดา/มารดา​ไร้​คู่ (ภาษา​อังกฤษ) บอก​ว่า “การ​ศึกษา​วิจัย​หลาย​ราย​แสดง​ให้​เห็น​ว่า เด็ก​ชาย​ที่​เติบโต​ขึ้น​โดย​ไม่​มี​ผู้​ชาย​ที่​เข้มแข็ง​เป็น​แบบ​อย่าง​ใน​ชีวิต​ของ​เขา จะ​ขาด​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ความ​เป็น​ชาย​ของ​ตน อีก​ทั้ง​มี​ความ​รู้สึก​ด้อย​ค่า และ​ใน​ช่วง​ชีวิต​ต่อ ๆ มา เขา​จะ​มี​ปัญหา​ด้าน​การ​สร้าง​ความ​สัมพันธ์​แบบ​สนิทสนม. ปัญหา​ของ​เด็ก​หญิง​ที่​อาจ​เกิด​จาก​การ​อยู่​โดย​ไม่​มี​แบบ​อย่าง​ที่​เป็น​บทบาท​ของ​ผู้​ชาย มัก​จะ​ไม่​แสดง​ให้​เห็น​จน​กระทั่ง​ย่าง​เข้า​สู่​วัยรุ่น​หรือ​หลัง​จาก​นั้น และ​ปัญหา​นับ​รวม​ถึง​ความ​รู้สึก​ยาก​ที่​จะ​สร้าง​สาย​สัมพันธ์​ฉัน​ชาย​หญิง​ใน​วัย​ผู้​ใหญ่​อย่าง​ที่​ประสบ​ผล​สำเร็จ.”