ลองใช้ “ไวไว” ดูสิ!
ลองใช้ “ไวไว” ดูสิ!
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในไต้หวัน
ดูจากใบหน้าที่บ่งบอกถึงความสุขเต็มที่ เห็นได้ชัดว่าหนูน้อยคนนี้กำลังเอร็ดอร่อยกับอาหาร. มือซ้ายของเธอถือชามที่พูนด้วยข้าวและผักรวมทั้งปลาชิ้นเล็ก ๆ มือขวาถือไม้เล็กเรียวคู่หนึ่งทำจากไม้ไผ่. ด้วยมือน้อย ๆ ที่จับไม้คู่นั้น เธอคีบอาหารโอชะใส่ปากอย่างคล่องแคล่ว. บางครั้ง เธอเอาชามข้าวแนบปาก และใช้ไม้คู่นั้นพุ้ยอาหารเข้าปากอย่างรวดเร็ว. ทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติ ง่าย และคล่องแคล่ว.
แน่ละ สิ่งที่อยู่ในมือของเด็กหญิงเล็ก ๆ คนนี้คือ ตะเกียบอันเป็นที่รู้จักกันดี. คนจีนเรียกว่า ไคว่ซู่ (ตามระบบการถอดอักษรจีนเป็นโรมันอ่านว่า ไคว่ซี่) ซึ่งหมายความว่ารวดเร็ว หรือ “ไวไว.” กล่าวกันว่าคำภาษาอังกฤษ “chopsticks” ที่แปลว่าตะเกียบ มาจากคำภาษาอังกฤษ chop ที่ชาวจีนใช้พูดกัน มีความหมายว่า “ไว” หรือ “เร็ว.” ไม่ว่าจะอย่างไร ตะเกียบมีให้เห็นอยู่แทบทุกครัวเรือนในเอเชียอาคเนย์. บางทีคุณอาจเคยลองใช้มันแล้วเมื่อไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารจีน. แต่คุณทราบไหมว่าความคิดเรื่องการใช้ตะเกียบมาจากไหน? หรือมีการใช้ตะเกียบครั้งแรกอย่างไรและเมื่อไร? และคุณอยากทราบวิธีใช้อย่างถูกต้องไหม?
“ไวไว”
ตะเกียบมีลักษณะเป็นไม้เล็กเรียว ยาวประมาณแปดถึงสิบนิ้ว. ครึ่งบนของไม้นี้มักจะเป็นเหลี่ยมสี่ด้าน. ทั้งนี้เพื่อให้จับง่ายขึ้น และป้องกันไม่ให้กลิ้งไปมาบนโต๊ะ. ส่วนครึ่งล่างโดยทั่วไปแล้วมีลักษณะกลมมน. ตะเกียบญี่ปุ่นมักจะสั้นกว่าและปลายจะแหลมกว่าตะเกียบจีน.
ในยุคที่มีการผลิตจำนวนมากเช่นทุกวันนี้ ภัตตาคารหลายแห่งเตรียมตะเกียบที่บรรจุซองไว้แล้วซึ่งท่อนบนยังติดกันอยู่. ผู้รับประทานต้องแกะออกจากกันก่อนจึงจะใช้ได้. เนื่องจากให้ใช้แค่ครั้งเดียว ตะเกียบดังกล่าวจึงทำด้วยไม้ธรรมดา ๆ หรือไม่ก็ไม้ไผ่. ตะเกียบที่ใช้ตามสถานที่หรูหราหรือตามบ้านมักจะสวยกว่ามาก กล่าวคือ ทำด้วยไม้ไผ่ที่เหลาเนียน, ไม้ที่เคลือบแล็กเกอร์, พลาสติก, สเตนเลส, หรืออาจทำด้วยเงินหรืองาช้างด้วยซ้ำ. อาจมีการจารึกโคลงกลอนเอาไว้หรือตกแต่งด้วยการวาดลวดลายต่าง ๆ.
วิธีใช้ตะเกียบ
บรรดาผู้มาเยือนประเทศทางตะวันออก อย่างเช่น จีนและญี่ปุ่น รู้สึกทึ่งเมื่อพวกเขาเห็นเด็กเล็ก ๆ บางทีอายุแค่สองขวบ กินข้าวด้วยตะเกียบที่ดูเหมือนใหญ่เกินตัว. เด็กคนนั้นคีบอาหารในชามใส่ปากอย่างรวดเร็ว ทีละชิ้น ๆ. ดูง่ายจริง ๆ.
คุณอยากจะลองใช้ “ไวไว” สักหน่อยไหม? ตอนแรกคุณอาจรู้สึกงุ่มง่ามที่จะบังคับตะเกียบไปในทิศทางที่คุณต้องการ แต่ถ้าฝึกหัดสักเล็กน้อยก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย และตะเกียบก็จะเป็นเหมือนส่วนที่เสริมมือของคุณให้ยาวขึ้น.
ตะเกียบถือด้วยมือข้างเดียว โดยปกติแล้วจะเป็นมือขวา. (ดูภาพหน้า 15.) ก่อนอื่น ทำมือของคุณเป็นกระพุ่มโดยให้นิ้วโป้งแยกออกมา. วางตะเกียบข้างหนึ่งระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วที่เหลือ โดยวางบนโคนนิ้วชี้และปลายนิ้วนาง. แล้วเอาตะเกียบอีกข้างหนึ่งวางขนานกัน และใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้และนิ้วกลางจับไว้เหมือนที่คุณจับดินสอ. เอาปลายตะเกียบเคาะกับโต๊ะให้เสมอกัน. จากนั้น พยายามให้ตะเกียบตัวล่างอยู่นิ่ง ๆ ขยับตะเกียบตัวบนโดยงอนิ้วชี้และนิ้วกลางเข้าออก. ฝึกจนคุณสามารถขยับปลายตะเกียบเข้าหากันได้โดยง่าย. ตอนนี้คุณก็พร้อมจะใช้เครื่องมืออเนกประสงค์นี้คีบอาหารจีนอันโอชะชิ้นใดก็ได้—ตั้งแต่ข้าวเมล็ดเดียวจนถึงไข่นกกระทา! ตะเกียบกับอาหารจีนไปด้วยกันได้ดีเพราะอาหารดังกล่าวมักจะหั่นเป็นชิ้น ๆ พอดีคำ.
จะว่าอย่างไรกับไก่ เป็ด หรือหมูที่เสิร์ฟโดยไม่ได้สับหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ? ตามปกติแล้ว เนื้อเหล่านี้จะทำให้สุกถึงขั้นที่ตะเกียบสามารถคีบดึงออกมาเป็นชิ้น ๆ ขนาดพอคำได้อย่างง่ายดาย. ตะเกียบเหมาะกับปลาที่มักจะเสิร์ฟทั้งตัวด้วย คุณสามารถเลี่ยงก้างปลาได้สบายซึ่งไม่ง่ายนักหากใช้มีดและส้อม.
แล้วเรื่องการกินข้าวล่ะ? หากเป็นการกินแบบกันเอง คุณอาจใช้มือซ้ายยกชามข้าวแนบปาก และพุ้ยข้าวเข้าปากด้วยตะเกียบ. แต่ถ้าอยู่ในโอกาสที่ค่อนข้างจะเป็นทางการ คุณคงต้องใช้วิธีคีบข้าวด้วยตะเกียบ ซึ่งได้ปริมาณไม่มากนักในแต่ละครั้ง.
จะว่าอย่างไรกับซุปซึ่งมักจะเป็นส่วนประกอบของอาหารจีน? ตามปกติแล้วจะมีการจัดช้อนกระเบื้องไว้ให้. แต่ถ้าซุปนั้นมีบะหมี่หรือเกี๊ยวหรือผัก, เนื้อ, หรือปลา ก็ลองใช้ตะเกียบในมือขวาของคุณคีบอาหารนั้นขึ้นมา และใช้ช้อนในมือซ้ายรองอาหารนั้นขณะนำใส่ปาก.
มารยาทและตะเกียบ
เมื่อคุณได้รับเชิญให้มารับประทานอาหารที่บ้านคนจีน นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะทราบกิริยามารยาท ณ โต๊ะอาหารจีน. ประการแรก อาหารต่าง ๆ จะถูกวางไว้กลางโต๊ะ. ให้คอยจนกว่าเจ้าบ้านหรือประมุขครอบครัวหยิบตะเกียบของเขาขึ้นมาโบกให้สัญญาณเริ่มรับประทานเสียก่อน. นั่นคือช่วงที่เหมาะสมที่
แขกจะตอบรับการเชิญชวน โดยหยิบตะเกียบของตนขึ้นมา และลงมือรับประทาน.ไม่เหมือนการรับประทานแบบตะวันตกบางอย่าง อาหารจะไม่ถูกส่งผ่านรอบโต๊ะ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ทุกคนต้องช่วยตัวเอง. ในการรับประทานกับครอบครัว เป็นธรรมเนียมที่สมาชิกแต่ละคนจะใช้ตะเกียบของตนเองคีบอาหารจากจานรวม และใส่ปากของตนได้ทันที. กระนั้น ถือเป็นมารยาทที่ไม่ดีหากจะรับประทานเสียงดัง, เลียปลายตะเกียบ, หรือคุ้ยหาชิ้นอาหารที่คุณชอบ. มารดาในประเทศทางตะวันออกจะสอนลูกของตนไม่ให้กัดปลายตะเกียบเล่น ไม่ใช่เพราะเป็นห่วงเรื่องสุขอนามัยเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวยังทำให้ตะเกียบเสียรูปด้วย.
เนื่องจากคำนึงถึงแขก บางครั้งจึงมีการจัดช้อนกลางหรือตะเกียบเสริมไว้. สิ่งเหล่านี้จะใช้เพื่อตักหรือคีบอาหารจากจานรวมไปยังอีกจานหนึ่งหรือไปยังชามข้าวของคุณ. กระนั้น อย่าขุ่นเคืองหากเจ้าบ้านใช้ตะเกียบของเขาคีบอาหารชิ้นดี ๆ มาใส่ในชามของคุณ. จริง ๆ แล้ว เขาต้องการทำให้แน่ใจว่าแขกผู้มีเกียรติได้รับอาหารชิ้นที่ดีที่สุด!
การใช้ตะเกียบชี้ถือเป็นมารยาทที่ไม่ดีเช่นเดียวกับการใช้มีดและส้อมชี้. อีกทั้งการหยิบอะไรก็ตามขณะที่มือยังถือตะเกียบอยู่ก็เป็นมารยาทที่ไม่ดีเช่นกัน. ดังนั้น ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้ช้อนกลางหรือเมื่อจะหยิบกระดาษเช็ดปากหรือถ้วยน้ำชา ให้วางตะเกียบของคุณลงก่อน. มักมีการจัดที่วางตะเกียบอันสวยงามกะทัดรัดไว้เพื่อจุดประสงค์นี้.
เมื่อคุณรับประทานอาหารเสร็จแล้ว วางตะเกียบให้เรียบร้อย พักคอยสักครู่. เป็นมารยาทที่ไม่ดีหากลุกจากโต๊ะก่อนทุกคนจะรับประทานเสร็จ. อีกครั้งหนึ่ง เจ้าบ้านหรือประมุขครอบครัวจะเป็นผู้ปิดการรับประทานโดยลุกขึ้นและเชิญทุกคนไปจากโต๊ะได้.
คราวนี้คุณก็รู้วิธีใช้ตะเกียบแล้ว สิ่งเดียวที่คุณต้องทำก็คือ หาตะเกียบมาและฝึกใช้มัน. คราวหน้า หากมีใครเชิญคุณไปภัตตาคารจีนหรือไปบ้านของเขาเพื่อเลี้ยงอาหารจีน ทำไมไม่ลองใช้ “ไวไว” ดูล่ะ? อาจทำให้รสชาติ ของอาหารอร่อยขึ้นเชียวนะ!
[กรอบ/ภาพหน้า 14]
เกร็ดความเป็นมาของตะเกียบ
ผู้คงแก่เรียนชาวจีนบางคนเชื่อว่าตะเกียบคู่แรกที่มีการใช้กันนั้น ไม่ได้ใช้เพื่อกินข้าว แต่ใช้เพื่อประกอบอาหาร. อาหารดิบชิ้นเล็ก ๆ จะถูกห่อไว้ในใบไม้ และจะใช้ตะเกียบคีบก้อนกรวดร้อน ๆ ใส่เข้าไปในห่อนั้น. โดยวิธีนี้ จะทำให้อาหารสุกได้โดยผู้ทำไม่โดนไฟลวก! ประวัติต่อมาบอกว่ามีการใช้ตะเกียบเพื่อคีบอาหารออกจากหม้อต้ม.
ตะเกียบยุคแรก ๆ ดูเหมือนทำจากไม้หรือไม้ไผ่ที่ไม่คงทน. * นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกอย่างแน่ชัดว่าเริ่มมีการใช้ตะเกียบกันเมื่อไร. บางคนเชื่อว่า เริ่มมีการใช้ตะเกียบในประเทศจีนตั้งแต่ราชวงศ์ฉางเลยทีเดียว (ประมาณศตวรรษที่ 16 ถึง 11 ก.ส.ศ.) บันทึกทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีไม่นานหลังสมัยของขงจื๊อ (ปี 551-479 ก.ส.ศ.) พูดถึงการ ‘คีบ’ ชิ้นอาหารออกจากซุป ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการใช้ตะเกียบบางชนิด.
ดูเหมือนว่าเมื่อถึงช่วงต้น ๆ ของราชวงศ์ฮั่น (ปี 206 ก.ส.ศ. ถึง 220 ส.ศ.) การกินข้าวด้วยตะเกียบกลายเป็นกิจปฏิบัติทั่วไป. มีการขุดหลุมฝังศพของยุคนั้นขึ้นมาในเมืองฉางชา มณฑลหูหนาน และพบภาชนะสำหรับกินข้าวเคลือบแล็คเกอร์ชุดหนึ่ง มีตะเกียบรวมอยู่ด้วย.
ชาวญี่ปุ่น, เกาหลี, เวียดนาม, ตลอดจนชาวตะวันออกอื่น ๆ ก็ใช้ตะเกียบเช่นกัน ที่เป็นอย่างนี้ส่วนใหญ่เนื่องมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมจีน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 25 ในภาษาจีนโบราณตัวอักษรสำหรับคำไคว่ กับซู่ (ไวไว) ต่างก็มีส่วนของตัวอักษรที่แปลว่าไม้ไผ่ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งบ่งนัยถึงวัสดุที่ตะเกียบถูกทำขึ้นครั้งแรก.
[ภาพหน้า 15]
การฝึกทำให้ชำนาญ