ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ลอยดาหลุดพ้นจากความเงียบ

ลอยดาหลุดพ้นจากความเงียบ

ลอยดา​หลุด​พ้น​จาก​ความ​เงียบ

เล่า​โดย​คุณ​แม่​ของ​ลอยดา

ดิฉัน​ก็​เหมือน​กับ​แม่​ทุก​คน​ซึ่ง​กำลัง​ตั้ง​ครรภ์ คือ​กังวล​ว่า​ลูก​อาจ​จะ​เกิด​มา​มี​อาการ​ไม่​สม​ประกอบ​บาง​อย่าง. แต่​ดิฉัน​ไม่​ได้​เตรียม​ใจ​สำหรับ​เสียง​ร้อง​ที่​น่า​สงสาร​ของ​ลอยดา ลูก​คน​ที่​สาม​ของ​ดิฉัน ขณะ​ที่​เธอ​ออก​มา​สู่​โลก​ภาย​นอก. โดย​ไม่​ตั้งใจ หมอ​ทำ​ให้​กระดูก​ไหปลาร้า​ของ​ลอยดา​หัก​ด้วย​คีม. สอง​สาม​สัปดาห์​หลัง​การ​ผ่าตัด​แก้ไข ลอยดา​ถูก​ส่ง​กลับ​บ้าน. แต่​ความ​ยินดี​ของ​เรา​ก็​อยู่​ได้​ไม่​นาน.

ใน​ช่วง​สอง​สาม​เดือน​หลัง​จาก​นั้น เห็น​ได้​ชัด​ว่า​มี​บาง​สิ่ง​ผิด​ปกติ​อย่าง​ร้ายแรง. ยา​ที่​ให้​ลอยดา​ก่อ​ให้​เกิด​ปฏิกิริยา​ต่อ​ต้าน—มี​ไข้, ท้องร่วง, และ​ชัก—และ​การ​รักษา​อาการ​เหล่า​นี้​ก็​ดู​เหมือน​มี​แต่​ทำ​ให้​เธอ​แย่​ลง. ไม่​นาน ลอยดา​ก็​ไม่​สามารถ​ควบคุม​การ​เคลื่อน​ไหว​ของ​ร่าง​กาย​ได้. ใน​ที่​สุด หมอ​ก็​บอก​เรา​ว่า​ลอยดา​เป็น​อัมพาต​ที่​สมอง​ใหญ่. พวก​หมอ​บอก​ว่า​เธอ​จะ​เดิน, พูด, หรือ​แม้​แต่​เข้าใจ​พวก​เรา​ไม่​ได้​เลย.

ความ​พยายาม​ช่วง​แรก​ที่​จะ​สื่อ​ความ

ถึง​แม้​ว่า​การ​พยากรณ์​โรค​จะ​ไม่​ให้​ความ​หวัง ดิฉัน​ก็​ยัง​รู้สึก​ว่า​ลอยดา​เข้าใจ​อะไร​ได้​หลาย​อย่าง. ดิฉัน​จึง​อ่าน​หนังสือ​ง่าย ๆ ให้​เธอ​ฟัง​และ​พยายาม​สอน​เธอ​เรื่อง​ตัว​อักษร. แต่​ลอยดา​พูด​ไม่​ได้ ทั้ง​ไม่​ได้​แสดง​อะไร​เลย​ว่า​เธอ​รับ​รู้​สิ่ง​ที่​ดิฉัน​กำลัง​พูด. ไม่​มี​ทาง​รู้​เลย​ว่า​เธอ​เข้าใจ​อะไร​หรือ​ไม่.

ขณะ​ที่​เวลา​ผ่าน​ไป​หลาย​ปี ความ​พยายาม​ของ​ดิฉัน​ใน​การ​สอน​ลอยดา​ดู​เหมือน​แทบ​ไม่​มี​ผล​สำเร็จ​เลย. แต่​ดิฉัน​ก็​ยัง​ใช้​เวลา​หลาย​ชั่วโมง​อ่าน​หนังสือ​ให้​เธอ​ฟัง. เรา​ถึง​กับ​ให้​เธอ​ร่วม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ประจำ​ครอบครัว​กับ​โนเอมี ลูก​สาว​คน​เล็ก​ของ​เรา โดย​ใช้​หนังสือ​การ​รับ​ฟัง​ครู​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่ และ​หนังสือ​ของ​ฉัน​เกี่ยว​ด้วย​เรื่อง​ราว​ใน​พระ​คัมภีร์​ไบเบิ้ล. * ดิฉัน​อ่าน​หลาย​บท​จาก​หนังสือ​เหล่า​นี้​ให้​ลอยดา​ฟัง​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก.

การ​ไม่​สามารถ​สื่อ​ความ​กับ​คน​ที่​คุณ​รัก​เป็น​เรื่อง​ทุกข์​ใจ​จริง ๆ. เมื่อ​ดิฉัน​พา​ลอยดา​ไป​เที่ยว​สวน​สาธารณะ เธอ​จะ​ร้องไห้​จน​ปลอบ​ไม่​ได้. ทำไม? เหมือน​กับ​ว่า​เธอ​ปวด​ร้าว​ใจ​ที่​ไม่​สามารถ​วิ่ง​และ​เล่น​ได้​เหมือน​เด็ก​คน​อื่น ๆ. ครั้ง​หนึ่ง ลอยดา​ปล่อย​โฮ​ออก​มา​เมื่อ​พี่​สาว​ของ​เธอ​อ่าน​จาก​หนังสือ​เรียน​ให้​ดิฉัน​ฟัง. เห็น​ได้​ชัด​ว่า​มี​อะไร​ทำ​ให้​เธอ​ไม่​สบาย​ใจ แต่​ดิฉัน​ไม่​รู้​ว่า​มัน​คือ​อะไร. ลอยดา​เปล่ง​เสียง​ซึ่ง​ฟัง​ไม่​ได้​ศัพท์​เพียง​ไม่​กี่​เสียง ซึ่ง​บ่ง​บอก​ว่า​เธอ​ต้องการ​อาหาร, น้ำ, ไป​นอน, หรือ​ไป​ห้อง​น้ำ.

เมื่อ​อายุ​เก้า​ขวบ ลอยดา​เข้า​โรง​เรียน​สำหรับ​เด็ก​ซึ่ง​มี​ความ​ต้องการ​พิเศษ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ช่วง​สาม​ปี​ต่อ​มา​อาการ​ของ​เธอ​แย่​ลง. เธอ​กลัว​แม้​แต่​จะ​เดิน​ไม่​กี่​ก้าว​โดย​ไม่​มี​ใคร​ช่วย และ​เธอ​แทบ​จะ​เลิก​เปล่ง​เสียง​ใด ๆ ออก​มา. ดิฉัน​กับ​สามี​จึง​ตัดสิน​ใจ​ว่า​ดี​กว่า​ที่​จะ​สอน​หนังสือ​ให้​ลอยดา​ที่​บ้าน.

ระหว่าง​หก​ปี​ต่อ​มา ดิฉัน​สอน​ลอยดา​มาก​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้. ดิฉัน​เขียน​ตัว​หนังสือ​บน​กระดาน​ดำ โดย​หวัง​ว่า​ลอยดา​จะ​ลอก​ตาม. ความ​พยายาม​ของ​ดิฉัน​ไร้​ผล. ปัญหา​อยู่​ที่​ว่า​ลอยดา​ไม่​เข้าใจ หรือ​ที่​เธอ​เขียน​หนังสือ​ไม่​ได้​เป็น​เพราะ​เธอ​ไม่​สามารถ​ควบคุม​การ​เคลื่อน​ไหว​ของ​มือ​ได้​กัน​แน่?

เมื่อ​ลอยดา​อายุ 18 ปี เป็น​เรื่อง​ยาก​มาก​ที่​จะ​ดู​แล​เธอ ถึง​ขนาด​ที่​ดิฉัน​อธิษฐาน​อย่าง​จริงจัง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา ทูล​ขอ​พระองค์​ทรง​ช่วย​ดิฉัน​สื่อ​ความ​กับ​ลูก​สาว. คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​อธิษฐาน​มา​ใน​แบบ​ที่​ผิด​ธรรมดา.

หลุด​พ้น​จาก​ความ​เงียบ

จุด​หักเห​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​พวก​ลูก ๆ ตกแต่ง​ห้อง​นอน​ใหม่. ก่อน​จะ​ลอก​วอลล์เปเปอร์​เก่า​ทิ้ง โนเอมี​เขียน​ชื่อ​ต่าง ๆ บน​ผนัง—ชื่อ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ชื่อ​ของ​เพื่อน​และ​สมาชิก​ครอบครัว. เพราะ​อยาก​รู้ รูต ลูก​สาว​ของ​ดิฉัน​จึง​ถาม​ลอยดา​ว่า​รู้​ไหม​ว่า “พระ​ยะโฮวา” เขียน​ไว้​ที่​ไหน. น่า​ทึ่ง ลอยดา​เดิน​ไป​ที่​ผนัง​แล้ว​เอา​ศีรษะ​พิง​ถัด​จาก​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า. รูต​อยาก​รู้​ว่า​ลอยดา​รู้​จัก​ชื่อ​อื่น ๆ ไหม เธอ​จึง​ทดสอบ​ลอยดา. รูต​ต้อง​ประหลาด​ใจ​มาก ลอยดา​รู้​จัก​ทุก​ชื่อ—แม้​แต่​ชื่อ​ที่​เธอ​ไม่​เคย​เห็น​เขียน​เป็น​ตัว​หนังสือ​มา​ก่อน! รูต​เรียก​ทั้ง​ครอบครัว​มา​ดู​ให้​เห็น​กับ​ตา. ลอยดา​อ่าน​หนังสือ​ได้!

ต่อ​มา เรา​คิด​วิธี​ที่​จะ​ช่วย​ให้​ลอยดา “พูด” กับ​เรา. เรา​ติด​ตัว​อักษร​ไว้​บน​ผนัง​ทาง​เดิน​ที่​เป็น​แนว​ยาว. การ​ติด​ตัว​อักษร​ขนาด​เล็ก​บน​กระดาน​ที่​ถือ​ไว้​ใน​มือ​ใช้​ไม่​ได้​ผล เนื่อง​จาก​ลอยดา​บังคับ​มือ​ของ​เธอ​ให้​ชี้​ไป​ยัง​ตัว​อักษร​แต่​ละ​ตัว​ไม่​ได้. ดัง​นั้น เมื่อ​ลอยดา​ต้องการ​จะ​สื่อ​ความ เธอ​จะ​สะกด​คำ​โดย​เดิน​ไป​ที่​ตัว​อักษร​แต่​ละ​ตัว​บน​ผนัง. คุณ​คง​นึก​ภาพ​ออก​ว่า การ​ทำ​อย่าง​นี้​คง​ต้อง​เหนื่อย​มาก. ที่​จริง ลอยดา​ต้อง​เดิน​เป็น​กิโลเมตร​เพียง​เพื่อ​จะ​แต่ง​ข้อ​ความ​แค่​หน้า​เดียว และ​กว่า​จะ​เสร็จ​ก็​ต้อง​ใช้​เวลา​เป็น​ชั่วโมง!

อย่าง​ไร​ก็​ดี ลอยดา​ตื่นเต้น​ที่​สามารถ “คุย” กับ​เรา​ได้. ที่​จริง นี่​เป็น​ข้อ​ความ​แรก​ของ​เธอ: “หนู​ดีใจ​จัง​ที่​ตอน​นี้​หนู​สื่อ​ความ​ได้​แล้ว ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา.” ด้วย​ความ​ฉงน เรา​ถาม​ลอยดา​ว่า “เธอ​ทำ​อะไร​ตอน​ที่​นั่ง​อยู่​ทั้ง​วัน?” ลอยดา​บอก​เรา​ว่า เธอ​คิด​ใน​ใจ​ว่า​อยาก​จะ​พูด​อะไร​กับ​เรา​บ้าง. ที่​จริง ลอยดา​บอก​ว่า ตลอด 18 ปี​เธอ​อยาก​จะ​สื่อ​ความ​เหลือ​เกิน. เธอ​บอก​ว่า “เมื่อ​รูต​เริ่ม​ไป​โรง​เรียน หนู​อ่าน​หนังสือ​เรียน​เอง. หนู​ขยับ​ปาก​และ​ส่ง​เสียง​บาง​อย่าง​ออก​มา แต่​ไม่​มี​ใคร​เข้าใจ. หนู​จึง​ร้องไห้​บ่อย ๆ.”

ดิฉัน​ขอ​โทษ​เธอ​ด้วย​น้ำตา​นอง​หน้า​ที่​ไม่​เข้าใจ​เธอ​ให้​ดี​กว่า​นี้. ลอยดา​ตอบ​ว่า “แม่​เป็น​คุณ​แม่​ที่​ดี แม่​ไม่​เคย​ยอม​แพ้. หนู​มี​ความ​สุข​เสมอ​เมื่อ​อยู่​ใกล้​แม่. หนู​รัก​แม่​มาก​ค่ะ. อย่า​ร้องไห้​อีก​นะ​คะ. ตก​ลง​ไหม?”

ความ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ

ลอยดา​มี​ความ​รู้​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล​อยู่​แล้ว และ​เธอ​จำ​ข้อ​คัมภีร์​ได้​บาง​ข้อ. แต่​ไม่​นาน เธอ​ก็​บอก​เรา​ว่า​เธอ​อยาก​ออก​ความ​คิด​เห็น​ใน​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ที่​ประชาคม ซึ่ง​เป็น​การ​พิจารณา​คัมภีร์​ไบเบิล​ประจำ​สัปดาห์​ด้วย​การ​ถาม​ตอบ. เธอ​จะ​ออก​ความ​เห็น​ได้​อย่าง​ไร? พวก​เรา​คน​หนึ่ง​จะ​อ่าน​ทั้ง​บทความ​ให้​เธอ​ฟัง. แล้ว​ลอยดา​ก็​จะ​เลือก​คำ​ถาม​ที่​เธอ​ต้องการ​ตอบ. เรา​จะ​เขียน​ความ​เห็น​ของ​เธอ​ขณะ​ที่​เธอ​สะกด​ที​ละ​ตัว​ให้​เรา​ดู. แล้ว​ที่​การ​ประชุม พวก​เรา​คน​หนึ่ง​ก็​จะ​อ่าน​ความ​เห็น​ของ​ลอยดา. ครั้ง​หนึ่ง​ลอยดา​บอก​เรา​ว่า “เป็น​เรื่อง​น่า​ตื่นเต้น​สำหรับ​หนู​ที่​สามารถ​มี​ส่วน​ร่วม​ได้ เนื่อง​จาก​นี่​ทำ​ให้​หนู​รู้สึก​ว่า​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ประชาคม.”

เมื่อ​เธอ​อายุ 20 ปี ลอยดา​แสดง​ความ​ปรารถนา​จะ​รับ​บัพติสมา. เมื่อ​ถาม​ว่า​เธอ​ทราบ​ความหมาย​ของ​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​ไหม ลอยดา​ตอบ​ว่า​เธอ​อุทิศ​ตัว​มา​เจ็ด​ปี​แล้ว—เมื่อ​เธอ​อายุ​เพียง 13 ปี. เธอ​บอก​ว่า “หนู​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา และ​ทูล​พระองค์​ว่า​หนู​ต้องการ​จะ​รับใช้​พระองค์​ตลอด​ไป.” ใน​วัน​ที่ 2 สิงหาคม 1997 ลอยดา​แสดง​สัญลักษณ์​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​การ​รับ​บัพติสมา​ใน​น้ำ. ลอยดา​บอก​เรา​ว่า “ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา สิ่ง​ที่​หนู​ปรารถนา​ที่​สุด​เป็น​จริง​แล้ว!”

ลอยดา​ชอบ​พูด​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​กับ​ญาติ ๆ และ​เพื่อน​บ้าน. บาง​ครั้ง​เธอ​ไป​กับ​เรา​ใน​การ​ประกาศ​แก่​ผู้​คน​ตาม​ถนน. เธอ​ยัง​แต่ง​จดหมาย​ที่​เรา​สอด​ไว้​ที่​ประตู​บ้าน​เมื่อ​ไม่​มี​ใคร​อยู่. ลอยดา​สนใจ​เป็น​พิเศษ​ต่อ​ผู้​สูง​อายุ​และ​คน​ป่วย. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​มี​พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​ใน​ประชาคม​ที่​ถูก​ตัด​ขา. ลอยดา​บอก​เรา​ดัง​นี้: “หนู​รู้​ว่า​เป็น​ยัง​ไง​ที่​เดิน​ไม่​ได้” และ​เธอ​จึง​เขียน​จดหมาย​หนุน​กำลังใจ​พี่​น้อง​หญิง​คน​นี้. และ​ก็​มี​ไฮโร เด็ก​ชาย​ใน​อีก​ประชาคม​หนึ่ง ซึ่ง​แทบ​จะ​พูด​ได้​ว่า​เป็น​อัมพาต​ตั้ง​แต่​ศีรษะ​ลง​มา. เมื่อ​ลอยดา​ได้​ยิน​สภาพ​อัน​น่า​เศร้า​ของ​เขา เธอ​เขียน​จดหมาย​ไป​หา​เขา. ส่วน​หนึ่ง​ใน​จดหมาย​ฉบับ​นั้น​บอก​ว่า “อีก​ไม่​นาน​พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​ทำ​ให้​เรา​แข็งแรง. ใน​อุทยาน​จะ​ไม่​มี​ความ​ทุกข์. ตอน​นั้น​ฉัน​จะ​ท้า​วิ่ง​แข่ง​กับ​เธอ. ฉัน​กำลัง​หัวเราะ​อยู่​เพราะ​มัน​คง​จะ​สนุก​มาก. ที่​จะ​คิด​ว่า​เรา​จะ​เป็น​อย่าง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​สร้าง​เรา ไม่​มี​ความ​เจ็บ​ป่วย . . . เรื่อง​นี้​ยอด​เยี่ยม​ไม่​ใช่​หรือ?”

ความ​ช่วยเหลือ​เพื่อ​จะ​อด​ทน

ตอน​นี้​ดิฉัน​เข้าใจ​หลาย​สิ่ง​เกี่ยว​กับ​พฤติกรรม​ก่อน ๆ ของ​ลอยดา​ที่​เคย​ทำ​ให้​ดิฉัน​งุนงง. ตัว​อย่าง​เช่น ลอยดา​บอก​ว่า​เมื่อ​เธอ​อายุ​น้อย​กว่า​นี้ เธอ​ไม่​ชอบ​ให้​ใคร​มาก​อด​เธอ​เพราะ​เธอ​ข้องขัดใจ​มาก. เธอ​บอก​ว่า “มัน​ดู​ไม่​ยุติธรรม​ที่​พี่​สาว​น้อง​สาว​ของ​หนู​พูด​ได้ เรียน​รู้​อะไร ๆ ได้​แต่​หนู​ทำ​ไม่​ได้. หนู​รู้สึก​โมโห​มาก. มี​บาง​ครั้ง​ที่​หนู​คิด​ว่า​ตาย​เสีย​คง​ดี​กว่า.”

แม้​จะ​สามารถ​สื่อ​ความ​ได้ ลอยดา​ก็​ยัง​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​หลาย​อย่าง. ตัว​อย่าง​เช่น ประมาณ​ทุก ๆ เดือน​เธอ​จะ​ชัก ซึ่ง​ระหว่าง​นั้น​เธอ​ดู​เหมือน​จะ​หายใจ​ไม่​ออก​และ​แขน​ขา​ของ​เธอ​จะ​ปัด​ไป​ปัด​มา​อย่าง​ควบคุม​ไม่​ได้. นอก​จาก​นั้น การ​ติด​เชื้อ​ใด ๆ—แม้​แต่​หวัด​ธรรมดา—ก็​ทำ​ให้​เธอ​อ่อน​แรง​ลง​มาก. บาง​ครั้ง​ลอยดา​หดหู่​กับ​สภาพการณ์​ของ​เธอ. อะไร​ช่วย​ให้​เธอ​อด​ทน? เอา​ละ ให้​เธอ​เล่า​ให้​คุณ​ฟัง​ด้วย​ถ้อย​คำ​ของ​เธอ​เอง​แล้ว​กัน:

“การ​อธิษฐาน​ช่วย​หนู​มาก​จริง ๆ ค่ะ. หนู​มี​ความ​สุข​ที่​ได้​สนทนา​กับ​พระ​ยะโฮวา ที่​ได้​รู้สึก​ใกล้​ชิด​กับ​พระองค์. หนู​หยั่ง​รู้​ค่า​ความ​รัก​และ​ความ​เอา​ใจ​ใส่​จาก​คน​อื่น​ที่​หอ​ประชุม​ด้วย. หนู​รู้สึก​ว่า​ยัง​ดี​ที่​แม้​ว่า​จะ​มี​ปัญหา​ทาง​ร่าง​กาย แต่​หนู​ก็​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​จาก​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ที่​แสน​วิเศษ​ซึ่ง​รัก​หนู​มาก. หนู​จะ​ไม่​มี​วัน​ลืม​ว่า พี่​สาว​น้อง​สาว​ทำ​อะไร​เพื่อ​หนู. ตัว​หนังสือ​อัน​สวย​งาม​เหล่า​นั้น​บน​ผนัง​ช่วย​ชีวิต​ของ​หนู​ไว้. ถ้า​ไม่​มี​ความ​รัก​จาก​พระ​ยะโฮวา​และ​ความ​รัก​จาก​ครอบครัว ชีวิต​ของ​หนู​คง​จะ​ไม่​มี​ความหมาย​อะไร​เลย.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง​นิวยอร์ก.

[ภาพ​หน้า 24]

ลอยดา​และ​ครอบครัว​ของ​เธอ