การประดับกาย—จำเป็นต้องมีเหตุผล
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
การประดับกาย—จำเป็นต้องมีเหตุผล
“การหลงใหลในรูปร่างหน้าตาเป็นตัวทำลายความมีเหตุผล” นักแต่งนวนิยายชาวฝรั่งเศสได้เขียนไว้. แน่นอน ตลอดหลายศตวรรษมนุษย์ทำหลายสิ่งกับร่างกายตนเองโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลเพราะหลงใหลในรูปร่างหน้าตา. ยกตัวอย่าง ด้วยความพยายามจะมีเอวเล็กที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ พวกผู้หญิงในศตวรรษที่ 19 ได้ใช้สเตย์รัดหน้าท้องแน่นเปรี๊ยะจนแทบหายใจไม่ออก. บางคนอ้างว่ารอบเอวของตนเล็กแค่ 13 นิ้ว. ผู้หญิงบางคนรัดสเตย์แน่นมากจนดันซี่โครงไปทิ่มตับถึงแก่ชีวิต.
น่าดีใจ ความคลั่งไคล้ในแฟชั่นเช่นว่าเลิกรากันไปแล้ว กระนั้น การหลงใหลในรูปร่างหน้าตาซึ่งเป็นสาเหตุของความคลั่งไคล้ดังกล่าวก็มีให้เห็นมากมายในปัจจุบันพอ ๆ กับที่เคยเป็นในตอนนั้น. ชายและหญิงยังยอมเจ็บ กระทั่งยอมเสี่ยงอันตรายด้วยซ้ำเพื่อเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาที่ตนได้รับมาแต่กำเนิด. ยกตัวอย่าง ร้านรับสักและเจาะ ซึ่งแต่ก่อนเป็นที่แวะเวียนของกลุ่มคนซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ปัจจุบันกำลังผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดตามห้างสรรพสินค้าและแถบชานเมือง. ที่จริง ไม่กี่ปีมานี้ การสักเป็นธุรกิจค้าปลีกที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับหกในสหรัฐ.
รูปแบบการประดับกายที่แหวกแนวกว่านั้นกำลังเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะท่ามกลางคนหนุ่มสาว. การเจาะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหลายที่หลายแห่ง—รวมทั้งหัวนม, จมูก, ลิ้น, และกระทั่งอวัยวะเพศ—กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น. สำหรับบางคน การเจาะเช่นว่ากลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว. พวกเขาพยายามทำสิ่งที่พิลึกเข้าไปอีก อย่างเช่น การนาบด้วยเหล็กร้อน, การตัด, * และแกะสลักร่างกายโดยจะสอดวัตถุลงไปใต้ผิวหนังเพื่อให้เกิดรูและริ้วที่ละเอียดประณีต.
กิจปฏิบัติในสมัยโบราณ
การประดับหรือการเสริมแต่งร่างกายไม่ใช่เรื่องใหม่. ในบางส่วนของแอฟริกา มีการใช้วิธีกรีดและสักเชิงพิธีกรรมมาหลายศตวรรษแล้วเพื่อระบุกลุ่มครอบครัวหรือเผ่า. น่าสนใจ กิจปฏิบัติดังกล่าวในหลายประเทศเหล่านี้ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมและกำลังสาบสูญไป.
การสัก, การเจาะ, และการตัด เคยมีในสมัยที่มีการเขียนคัมภีร์ไบเบิล. ส่วนใหญ่มักทำกันโดยชาตินอกรีตเกี่ยวเนื่องกับศาสนาของพวกเขา. ไม่แปลกที่พระยะโฮวาสั่งห้ามชาวยิวซึ่งเป็นไพร่พลของพระองค์ไม่ให้เลียนแบบพวกนอกรีตเหล่านั้น. (เลวีติโก 19:28) ในฐานะ “สมบัติพิเศษ” ของพระเจ้าเอง ชาติยิวจึงได้รับการป้องกันไว้จากกิจปฏิบัติอันเสื่อมทรามของศาสนาเท็จ.—พระบัญญัติ 14:2, ล.ม.
เสรีภาพของคริสเตียน
คริสเตียนไม่ได้อยู่ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ แม้พระบัญญัตินั้นจะวางหลักการบางอย่างไว้ซึ่งตกทอดมาถึงประชาคมโกโลซาย 2:14) ดังนั้น พวกเขาจึงตัดสินใจเองได้โดยให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมเกี่ยวกับชนิดของการประดับกายที่พวกเขาเลือก. (ฆะลาเตีย 5:1; 1 ติโมเธียว 2:9, 10) อย่างไรก็ตาม เสรีภาพนี้มีขอบเขตจำกัด.—1 เปโตร 2:16.
คริสเตียน. (เปาโลเขียนไว้ที่ 1 โกรินโธ 6:12 (ล.ม.) ว่า “สิ่งสารพัดข้าพเจ้าทำได้ไม่มีข้อห้าม; แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งอำนวยประโยชน์.” เปาโลเข้าใจว่าเสรีภาพของท่านฐานะเป็นคริสเตียนนั้นไม่ได้เปิดทางให้ท่านทำอะไร ๆ ก็ได้ตามต้องการโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น. ความรักต่อคนอื่นมีอิทธิพลต่อการประพฤติปฏิบัติของท่าน. (ฆะลาเตีย 5:13) ท่านกระตุ้นเตือนให้คอย “ดูด้วยความสนใจเป็นส่วนตัวไม่เพียงเรื่องของตนเองเท่านั้น แต่สนใจเป็นส่วนตัวในเรื่องของคนอื่น ๆ ด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:4, ล.ม.) ทัศนะอันไม่เห็นแก่ตัวของท่านเป็นแบบอย่างดีเยี่ยมแก่คริสเตียนคนใดก็ตามที่กำลังคิดถึงการประดับกายอย่างใดอย่างหนึ่ง.
หลักการต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลที่ควรคำนึงถึง
หนึ่งในพระบัญชาที่ให้ไว้กับคริสเตียนคือ การประกาศและสอนข่าวดี. (มัดธาย 28:19, 20; ฟิลิปปอย 2:15) คริสเตียนไม่อยากให้สิ่งใด ๆ รวมทั้งการปรากฏตัวของตนเบนความสนใจของผู้คนไปจากการฟังข่าวสารนั้น.—2 โกรินโธ 4:2.
แม้การประดับกายอย่างเช่น การเจาะหรือการสักอาจเป็นที่นิยมในหมู่คนบางจำพวก แต่คริสเตียนจำต้องถามตัวเองว่า ‘การประดับกายเช่นนั้นจะก่อปฏิกิริยาเช่นไรในเขตที่ฉันอาศัยอยู่? ฉันจะถูกนับอยู่ในพวกตกขอบหรือหลุดโลกไหม? แม้สติรู้สึกผิดชอบของฉันยอมให้ทำได้ แต่การเจาะหรือการสักของฉันจะส่งผลกระทบเช่นไรต่อคนอื่น ๆ ในประชาคม? พวกเขาจะมองสิ่งนั้นว่าเป็นหลักฐานแห่ง “วิญญาณของโลก” ไหม? สิ่งนั้นอาจก่อความสงสัยเรื่อง “สุขภาพจิตดี” ของฉันไหม?’—1 โกรินโธ 2:12, ล.ม.; 10:29-32; ติโต 2:12, ล.ม.
การตัดเติมเสริมแต่งบางอย่างด้านรูปร่างหน้าตาก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก. การสักโดยใช้เข็มที่ไม่สะอาดทำให้ติดเชื้อตับอักเสบและเอชไอวีมาแล้ว. บางครั้งสีที่ใช้สักก็ยังผลให้เกิดโรคทางผิวหนัง. การเจาะอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าแผลจะหาย และอาจเจ็บปวดอย่างมากในช่วงนั้น ทั้งยังอาจทำให้เลือดเป็นพิษ, เลือดไหลไม่หยุด, ทำให้เกิดลิ่มเลือด, ก่อความเสียหายต่อเส้นประสาท, และทำให้ติดเชื้ออย่างรุนแรง. นอกจากนี้ รอยสักบางอย่างไม่อาจลบออกได้ง่าย ๆ. ยกตัวอย่าง การลบรอยสักรอยหนึ่งอาจต้องลบด้วยแสงเลเซอร์หลายครั้งซึ่งแพงและเจ็บ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและสี. การเจาะอาจทิ้งรอยแผลเป็นติดตัวไปตลอดชีวิต.
ไม่ว่าใครจะตกลงใจยอมรับความเสี่ยงเหล่านี้หรือไม่ ถือเป็นการตัดสินใจส่วนตัว. แต่ผู้ที่พยายามจะทำให้พระเจ้าพอพระทัยยอมรับว่า การเข้ามาเป็นคริสเตียนเกี่ยวข้องกับการถวายตัวเองแด่พระเจ้า. ร่างกายของเราเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตซึ่งได้ถวายแด่พระเจ้าเพื่อประโยชน์ของพระองค์. (โรม 12:1) ฉะนั้น คริสเตียนที่อาวุโสไม่มองร่างกายของตนว่าเป็นสมบัติเฉพาะของเขาแต่ผู้เดียวโดยจะทำความเสียหายหรือทำให้บุบสลายได้ตามใจชอบ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่นำหน้าในประชาคมซึ่งเป็นที่รู้จักดีว่าเป็นคนรู้จักประมาณตนในนิสัยต่าง ๆ, มีสุขภาพจิตดี, และมีเหตุผล.—1 ติโมเธียว 3:2, 3, ล.ม.
การพัฒนาและการฝึกใช้ความสามารถในการหาเหตุผลที่ได้รับการอบรมตามหลักคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยให้คริสเตียนหลีกเลี่ยงกิจปฏิบัติของโลกนี้ที่สุดโต่งและชอบทำให้ร่างกายเจ็บปวด ซึ่ง “เหินห่าง” อย่างสิ้นหวัง “จากชีวิตซึ่งเป็นของพระเจ้า.” (เอเฟโซ 4:18) โดยวิธีนี้แหละที่พวกเขาจะทำให้ความมีเหตุผลของตนปรากฏแก่คนทั้งปวงได้.—ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างการตัดเพื่อบำบัดรักษาหรือกระทั่งเพื่อเสริมความงาม กับการตัดหรือทำให้พิการซึ่งหนุ่มสาวหลายคนโดยเฉพาะเด็กสาววัยรุ่นทำกัน. อย่างหลังมักจะเกิดจากความเครียดทางอารมณ์อย่างรุนแรงหรือไม่ก็ถูกทำร้าย ซึ่งอาจต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ.