ควรแสดงความโศกเศร้าไหม?
ควรแสดงความโศกเศร้าไหม?
แพทย์หญิงเอลิซาเบท คูบเลอร์รอส กล่าวไว้ในหนังสือของเธอชื่อ ว่าด้วยเด็กและความตาย (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “ผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนทนทุกข์เพราะไม่ได้จัดการกับความปวดร้าวในวัยเด็กให้หมดไป. ฉะนั้น จำต้องปล่อยให้เด็กร้องไห้โดยอย่าไปตราหน้าว่าขี้แยหรืออ่อนแอ หรืออย่าพูดกับเด็กเชิงถากถางว่า ‘คนเก่งเขาไม่ร้องไห้กันหรอก.’”
วิธีการดังกล่าวต่างกันกับหลักปรัชญาในบางดินแดนที่ไม่ยอมให้ตัวเองแสดงความรู้สึกใด ๆ ออกมา.
ประสบการณ์ของผู้รับจัดงานศพ
ความแตกต่างนี้เห็นได้จากคำพูดของโรเบิร์ต กัลเลเกอร์ ผู้รับจัดงานศพในนิวยอร์กขณะให้สัมภาษณ์กับตื่นเถิด! เขาถูกถามว่า ได้สังเกตหรือไม่ถึงความแตกต่างเรื่องการแสดงความโศกเศร้าระหว่างผู้ที่เกิดในอเมริกากับผู้ที่ย้ายถิ่นมาจากประเทศแถบลาติน.
“แน่นอน ผมสังเกต. เมื่อผมเริ่มอาชีพนี้ย้อนหลังไปในทศวรรษ 1950 เรามีครอบครัวผู้ย้ายถิ่นชาวอิตาลีมากมายในพื้นที่ของเรา. พวกเขาเป็นคนที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างมาก. ปัจจุบัน เราก็ยังติดต่อเกี่ยวข้องกับลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเขาที่งานศพ แต่อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวส่วนใหญ่หายไปหมด. พวกเขาไม่แสดงความรู้สึกมากนัก.”
ชาวฮีบรูในสมัยที่มีการจารึกคัมภีร์ไบเบิลได้แสดงความโศกเศร้าและอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาออกมา. ขอสังเกตว่าคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงปฏิกิริยาของยาโคบอย่างไรเมื่อท่านหลงเชื่อว่าโยเซฟบุตรชายถูกสัตว์ป่าดุร้ายขย้ำกิน: “ยาโคบก็ฉีกเสื้อผ้าของตนเสีย, และนุ่งผ้าเนื้อหยาบ, ร้องไห้โศกเศร้าถึงบุตรอยู่หลายวัน. ฝ่ายบุตรชายหญิงทั้งปวงก็พากันมาเล้าโลมบิดา; แต่ท่านกลั้นความโศกเศร้าไว้มิได้; จึงกล่าวว่า, ‘เราจะโศกเศร้าถึงบุตรของเรากว่าเราจะลงในที่ฝังศพตามกันไป;’ แล้วก็ร้องไห้ไว้ทุกข์ ถึงโยเซฟ.” (เยเนซิศ 37:34, 35, เราทำให้เป็นตัวเอน.) ถูกแล้ว ยาโคบไม่อายที่จะร้องไห้เมื่อเสียลูกชายไป.
ต่างวัฒนธรรม ต่างปฏิกิริยา
แน่ละ แต่ละวัฒนธรรมย่อมต่างกัน. ยกตัวอย่าง ในหลายส่วนของประเทศไนจีเรีย แม้ครอบครัวต่าง ๆ จะนิยมการมีบุตรหลายคนและความตายก็เป็นอาคันตุกะที่มาเยือนบ่อย ๆ เพราะโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่าง แต่ก็ “มีการพรั่งพรูความโศกเศร้าออกมาเมื่อบุตรคนหนึ่งเสีย
ชีวิต โดยเฉพาะถ้าเป็นบุตรหัวปีและยิ่งกว่านั้นถ้าเป็นบุตรชาย. ความแตกต่างก็คือ ที่ไนจีเรียผู้คนแสดงความโศกเศร้าอย่างหนักช่วงสั้น ๆ ไม่ได้นานหลายเดือนหลายปี” ตามคำกล่าวของนักเขียนคนหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ในแอฟริกาถึง 20 ปี.ในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนหรือแถบลาตินอเมริกา ผู้คนเติบโตในสภาพแวดล้อมที่การแสดงปฏิกิริยาตามธรรมชาติออกมาถือเป็นเรื่องปกติ. ที่นั่น มีการแสดงความดีใจเสียใจอย่างเปิดเผย. การทักทายไม่ได้จำกัดแค่จับมือ; แต่พวกเขายังสวมกอดกันอย่างอบอุ่นอีกด้วย. ความโศกเศร้าก็เช่นกัน มักจะแสดงออกอย่างเปิดเผยด้วยการร้องไห้และคร่ำครวญ.
นักประพันธ์แคเทอรีน แฟร์ ดอนเนลลี บอกว่า บิดาผู้สูญเสียลูก “ไม่ใช่แค่ทนรับผลกระทบทางจิตใจจากการสูญเสียลูกเท่านั้น แต่ยังต้องกล้ำกลืนกับความกลัวว่าจะสูญเสียเอกลักษณ์แห่งความเป็นชายของตนหากแสดงความทุกข์โศกออกมาอย่างเปิดเผย.” อย่างไรก็ตาม เธอแย้งว่า “การสูญเสียลูกเป็นเรื่องที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์แห่งการแสดงออกทางอารมณ์. ความรู้สึกจริง ๆ จากหัวใจในเรื่องการชะล้างจิตวิญญาณด้วยน้ำตาแห่งความโศกเศร้าคล้ายกันกับการเจาะแผลเอาหนองออกมา.”
ดังนั้น เมื่อพูดถึงการแสดงความโศกเศร้า บางดินแดนจึงถือเป็นเรื่องธรรมดามากกว่าที่อื่น ๆ. แต่ไม่ควรถือว่าการโศกเศร้าและการร้องไห้เป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอ. แม้แต่พระเยซูคริสต์ก็ “ทรงกันแสง” เมื่อลาซะโรสหายของพระองค์เสียชีวิต ทั้ง ๆ ที่พระเยซูทรงทราบดีว่าอีกไม่กี่อึดใจพระองค์ก็จะปลุกเขาขึ้นมาจากความตาย.—โยฮัน 11:35, ล.ม.
[คำโปรยหน้า 14]
ยาโคบไม่อายที่จะร้องไห้เมื่อเสียลูกชายไป