เมื่อสารเคมีทำให้คุณป่วย
เมื่อสารเคมีทำให้คุณป่วย
อาการไวต่อสารเคมีหลายชนิด (เอ็มซีเอส) มีหลายด้านที่ยังเป็นปริศนา. ไม่แปลกที่มีความเห็นไม่ลงรอยกันอย่างมากในวงการแพทย์เกี่ยวด้วยลักษณะอันแท้จริงของอาการนี้. แพทย์บางคนเชื่อว่า เอ็มซีเอสเกิดจากสาเหตุทางกาย บางคนก็เชื่อว่ามาจากสาเหตุทางจิตใจ และยังมีคนอื่น ๆ บอกว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยทั้งทางกายและจิตใจ. แพทย์บางคนถึงกับชี้ว่าเอ็มซีเอสอาจเป็นกลุ่มอาการของโรคหลายชนิด. *
ผู้ป่วยเอ็มซีเอสหลายคนบอกว่า การได้รับสารพิษมาก ๆ ในตอนแรก อย่างเช่น ยาฆ่าแมลง เป็นสาเหตุที่ทำให้ตนป่วย ส่วนคนอื่น ๆ บอกว่า พวกเขาป่วยเพราะได้รับสารพิษในระดับต่ำซ้ำหลายครั้งหรือไม่ก็ยืดเยื้อยาวนาน. เมื่อเป็นเอ็มซีเอสแล้ว ผู้ป่วยจะเกิดอาการหลากหลายต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับสารเคมีซึ่งพวกเขาเคยได้รับก่อนหน้า อย่างเช่น น้ำหอมและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด จึงเป็นเหตุให้เรียกว่า “อาการไวต่อสารเคมีหลายชนิด.” ขอพิจารณากรณีของจอยส์.
จอยส์ติดเหามาจากเพื่อนที่โรงเรียน. มีการฉีดสเปรย์ฆ่าเหาบนศีรษะของเธอ. สุขภาพของจอยส์ทรุดลง และเธอเริ่มแพ้สารเคมีหลายชนิดซึ่งแต่ก่อนไม่เคยเป็นปัญหากับเธอเลย. สารเคมีดังกล่าวรวมถึงน้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือน, สเปรย์ปรับกลิ่นห้อง, น้ำหอม,
แชมพู, และน้ำมันเบนซิน. จอยส์บอกว่า “ตาของฉันบวมเป่งแทบปิด และโพรงจมูกก็อักเสบ ทำให้ปวดศีรษะและคลื่นเหียนอย่างรุนแรงจนฉันนอนซมไปหลายวัน. . . . ฉันเป็นปอดบวมบ่อยมากจนปอดของฉันมีรอยช้ำเหมือนคนที่สูบบุหรี่มา 40 ปี ซึ่งฉันไม่เคยสูบบุหรี่เลย!”การได้รับสารพิษในระดับต่ำเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งมีการชี้เช่นกันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของเอ็มซีเอส อาจเกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายในอาคารบ้านเรือน. ที่จริง ไม่กี่ทศวรรษมานี้ การเจ็บป่วยจำนวนมากที่เกิดจากมลพิษของอากาศภายในอาคารบ้านเรือนทำให้เกิดการคิดค้นชื่อเรียกขึ้นมาว่า “กลุ่มอาการของโรคแพ้อาคาร.”
กลุ่มอาการของโรคแพ้อาคาร
กลุ่มอาการของโรคแพ้อาคารเผยโฉมในทศวรรษ 1970 เมื่อบ้าน, โรงเรียน, และสำนักงานหลายแห่งที่สร้างโดยออกแบบให้มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ ถูกแทนที่ด้วยอาคารติดเครื่องปรับอากาศซึ่งสร้างแบบมิดชิดไม่ให้อากาศรั่วไหลได้เพื่อประหยัดพลังงาน. ฉนวนกันความร้อน, ไม้ที่อาบน้ำยาเคมี, กาวที่ระเหยง่าย, รวมทั้งสิ่งทอและพรมที่ทำจากใยสังเคราะห์มักจะเป็นส่วนประกอบในอาคารและเครื่องเรือนของอาคารดังกล่าว.
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หลายอย่างจะปล่อยสารเคมีระดับต่ำเข้าสู่อากาศที่หมุนเวียนภายในอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ผลิตภัณฑ์นั้นยังใหม่อยู่ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวอาจก่ออันตรายได้ เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์. พรมทำให้ปัญหาหนักข้อเข้าไปอีกเนื่องจากซึมซับเอาน้ำยาทำความสะอาดและตัวทำละลายหลากหลายชนิดเข้าไว้แล้วก็ปล่อยออกมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน. หนังสือการได้รับสารเคมี—ระดับต่ำแต่ก่อความเสี่ยงสูง (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “ไอระเหยจากตัวทำละลายต่าง ๆ เป็นสารปนเปื้อนในอากาศภายในตัวอาคารที่มีแพร่หลายที่สุด” และ “ตัวทำละลายต่าง ๆ ก็อยู่ในกลุ่มสารเคมีที่มีการอ้างถึงบ่อยที่สุดโดยผู้ป่วยที่ไวต่อสารเคมี” หนังสือนี้กล่าว.
แม้ผู้คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะรับมือได้กับสภาพแวดล้อมในอาคารเหล่านั้น แต่บางคนก็เกิดอาการต่าง ๆ ตั้งแต่หืดและปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับทางเดินหายใจจนถึงอาการปวดหัวและง่วงซึม. โดยทั่วไปแล้ว อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อคนนั้นออกจากสถานที่ดังกล่าว. แต่ในบางราย “ผู้ป่วยอาจเกิดอาการไวต่อสารเคมีหลายชนิด” ตามคำกล่าวของเดอะ แลนเซต วารสารทางการแพทย์แห่งบริเตน. แต่ทำไมสารเคมีทำให้บางคนป่วยขณะที่คนอื่น ๆ ไม่ป่วย? นี่เป็นคำถามสำคัญเนื่องจากบางคนที่ดูเหมือนไม่ได้รับผลกระทบอาจรู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจผู้ป่วย.
เราทุกคนแตกต่างกัน
นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะจำไว้ว่าเราทุกคนมีปฏิกิริยาแตกต่างกันต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี, เชื้อโรค, หรือไวรัส. สิ่งที่มีผลต่อปฏิกิริยาเหล่านั้นประกอบด้วยโครงสร้างทางพันธุกรรม, อายุ, เพศ, สุขภาพ, ยาที่เราอาจกินอยู่, โรคที่เราเป็นอยู่ก่อน, และปัจจัยด้านรูปแบบชีวิตของเรา เช่น การใช้แอลกอฮอล์, ยาสูบ, หรือยาเสพย์ติด.
ยกตัวอย่าง เมื่อคุณกินยารักษาโรคเข้าไป ความไม่เหมือนใครของคุณจะเป็นตัวกำหนด “ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกฤทธิ์ของยา และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น” วารสารนิว ไซเยนติสต์ กล่าว. ผลข้างเคียงอาจร้ายแรง กระทั่งถึงแก่ชีวิต. โดยปกติ โปรตีนที่เรียกว่าเอนไซม์จะขจัดสารเคมีแปลกปลอมออกจากร่างกาย อย่างเช่น สาร *
เคมีในยาและสารมลพิษที่ร่างกายซึมซับเข้าไปในแต่ละวัน. แต่ถ้าเอนไซม์ “แม่บ้าน” เหล่านี้บกพร่องหรือมีไม่พอเพียง บางทีอาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์, ได้รับความเสียหายจากสารพิษมาก่อน, หรือรับประทานอาหารที่ด้อยคุณค่า สารเคมีแปลกปลอมก็อาจสะสมถึงระดับที่เป็นอันตรายได้.มีการเปรียบเอ็มซีเอสกับพอร์ฟีเรียหรือความผิดปกติของเลือดกลุ่มหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกับเอนไซม์. บ่อยครั้ง รูปแบบของปฏิกิริยาที่ผู้คนซึ่งเป็นพอร์ฟีเรียมีต่อสารเคมีต่าง ๆ ตั้งแต่ไอเสียของยวดยานจนถึงน้ำหอม คล้ายกับรูปแบบของปฏิกิริยาที่ผู้คนซึ่งเป็นเอ็มซีเอสมี.
จิตใจก็ได้รับผลกระทบด้วย
ผู้ป่วยเอ็มซีเอสคนหนึ่งบอกกับตื่นเถิด! ว่า สารเคมีธรรมดา ๆ บางอย่างทำให้เธอรู้สึกเมา. เธอกล่าวว่า “ดิฉันประสบกับการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพ—เป็นคนโมโหง่าย, กระสับกระส่าย, หงุดหงิด, หวาดกลัว, ง่วงซึม. . . . อาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่นาน ตั้งแต่สองสามชั่วโมงจนกระทั่งหลายวัน.” หลังจากนั้น เธอจะรู้สึกคล้ายเมาค้าง และประสบอาการซึมเศร้าในระดับต่าง ๆ.
ผลกระทบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้ป่วยเอ็มซีเอส. ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงคลอเดีย มิลเลอร์ บอกว่า “หลายสิบประเทศรายงานเกี่ยวกับปัญหาทางจิตใจหลังจากได้รับสารเคมีที่มีการระบุชัดเจน ไม่ว่าจะเนื่องจากยาฆ่าแมลงหรือจาก [กลุ่มอาการ] ของโรคแพ้อาคาร. . . . เราทราบว่าผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับตัวทำละลายมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเป็นโรคแพนิกและโรคซึมเศร้า. . . . ดังนั้น เราจำเป็นต้องรอบคอบให้มาก ๆ และจำไว้ว่า บางทีระบบอวัยวะในร่างกายที่ไวที่สุดต่อการได้รับสารเคมีก็คือ สมอง.”
แม้การได้รับสารเคมีอาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจ แต่แพทย์หลายคนก็เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นในทางกลับกันด้วย กล่าวคือ ปัญหาทางจิตใจอาจมีส่วนทำให้เกิดอาการไวต่อสารเคมี. ดร. มิลเลอร์ ที่เอ่ยถึงข้างต้น และ ดร. นิโคลัส แอชฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้ที่เชื่ออย่างหนักแน่นในเรื่องที่ว่าเอ็มซีเอสเกิดจากสาเหตุทางกาย ยอมรับว่า “เหตุการณ์เชิงจิตวิทยาสังคม เช่น การเสียชีวิตของคู่สมรสหรือการหย่าร้าง อาจไปกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจทำให้บางคนมีแนวโน้มที่จะไวมากขึ้นต่อสารเคมีระดับต่ำ. แน่ละ ความเกี่ยวพันระหว่างระบบทางจิตวิทยากับสรีรวิทยาเป็นเรื่องซับซ้อน.” แพทย์หญิงเชอร์รี โรเจอร์ ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่าเอ็มซีเอสเกิดจากสาเหตุทางกาย กล่าวว่า “ความเครียดทำให้คนเราไวยิ่งขึ้นต่อสารเคมี.”
มีอะไรไหมที่ผู้ป่วยเอ็มซีเอสอาจทำได้เพื่อปรับปรุงสุขภาพของตนให้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ทำให้อาการทุเลาลงบ้าง?
ความช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยเอ็มซีเอส
แม้จะยังไม่พบวิธีรักษาโรคเอ็มซีเอส แต่ผู้ป่วยหลายคนก็ทำให้อาการของตนทุเลาลงได้ และบางคนถึงกับสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ตามที่ควร. อะไรช่วยพวกเขาให้รับมือได้? บางคนบอกว่าพวกเขาได้รับประโยชน์จากการทำตามคำแนะนำของแพทย์ที่ให้หลีกเลี่ยงสารเคมีที่กระตุ้นอาการของพวกเขาให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้. * จูดี ผู้ป่วยเอ็มซีเอสพบว่าสำหรับเธอแล้ว การหลีกเลี่ยงดังกล่าวได้ผลดี. ขณะกำลังจะหายจากอาการติดเชื้อไวรัสเอพสไตน์-บารร์ จูดีสูดดมยาฆ่าแมลงที่ใช้ในบ้านเข้าไปเกินขนาด และหลังจากนั้นเธอก็ป่วยเป็นเอ็มซีเอส.
เช่นเดียวกับผู้ป่วยเอ็มซีเอสหลายคน จูดีมีปฏิกิริยาต่อสารเคมีหลายอย่างในบ้าน. ฉะนั้น เธอจึงใช้สบู่เปล่า ๆ และโซเดียมไบคาร์บอเนต (โซดาทำขนมปัง) ซักผ้าและทำความสะอาดทุกครั้ง. เธอพบว่าน้ำส้มสายชูเป็นตัวทำให้ผ้านุ่มที่มีประสิทธิภาพที่สุด. ตู้เสื้อผ้าและห้องนอนของเธอมีเฉพาะผ้าและเส้นใยจากธรรมชาติ. สามีของ
เธอจะนำเสื้อผ้าที่ซักแห้งแล้วไปผึ่งหลายสัปดาห์ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก หลังจากนั้นจึงเก็บเข้าตู้.แน่ละ ในโลกสมัยปัจจุบันอาจเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ป่วยเอ็มซีเอสจะปลอดจากการสัมผัสแตะต้องสารเคมีทุกอย่าง ที่เป็นปัญหา. วารสารแพทย์ประจำครอบครัวอเมริกัน (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “บ่อยครั้ง ผลเสียหายสำคัญที่เกิดจากเอ็มซีเอสคือ การอยู่โดดเดี่ยวและแยกตัวจากสังคมเพราะผู้ป่วยพยายามเลี่ยงการได้รับสารเคมี.” บทความดังกล่าวแนะนำว่า ผู้ป่วยควรทำงานและอยู่ร่วมกับผู้คนโดยทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยภายใต้การดูแลของแพทย์. ในเวลาเดียวกัน พวกเขาควรฝึกรับมือกับอาการแพนิกและอาการหัวใจเต้นระรัว โดยเรียนรู้วิธีการผ่อนคลายและวิธีควบคุมการหายใจ. เป้าหมายคือ เพื่อช่วยผู้ป่วยให้ค่อย ๆ ปรับตัวเข้ากับการได้รับสารเคมี แทนที่จะขจัดสารเคมีทั้งหมดออกไปจากชีวิต.
การบำบัดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การหลับสนิทตอนกลางคืน. เดวิด ผู้ป่วยเอ็มซีเอสคนหนึ่งซึ่งบัดนี้แทบจะปลอดจากอาการดังกล่าว เชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาหายเป็นเพราะเขาได้หลับในห้องนอนที่เต็มไป
ด้วยอากาศบริสุทธิ์. เออร์เนสต์และลอร์เรนภรรยาของเขา ซึ่งทั้งคู่ป่วยเป็นเอ็มซีเอสพบว่า “การหลับสนิทตอนกลางคืนช่วยได้มากในการรับมือกับการได้รับสารเคมีที่ไม่อาจเลี่ยงได้ในตอนกลางวัน.”แน่นอน โภชนาการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญเสมอในการรักษาหรือฟื้นฟูสุขภาพที่ดี. ที่จริง มีการยกย่องว่าเป็น “ส่วนประกอบสำคัญที่สุดหนึ่งเดียวในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน.” เป็นเรื่องมีเหตุผลที่ว่า เพื่อร่างกายจะกลับมีสุขภาพดีดังเดิม ระบบต่าง ๆ ของร่างกายต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างน้อยก็ในขอบเขตที่เป็นไปได้. อาหารเสริมก็อาจช่วยได้.
การออกกำลังกายก็มีส่วนช่วยให้สุขภาพดีเช่นกัน. นอกจากนี้ เมื่อเหงื่อคุณออกก็จะช่วยร่างกายให้ขจัดสารพิษผ่านทางผิวหนัง. ที่สำคัญด้วยก็คือ สภาพจิตใจที่ดีและการมีอารมณ์ขัน ควบคู่ไปกับการได้รับความรักและแสดงความรักต่อคนอื่น. จริง ๆ แล้ว “รักและหัวเราะ” เป็นคำแนะนำที่แพทย์คนหนึ่งให้กับคนไข้ทุกคนของเธอที่ป่วยเป็นเอ็มซีเอส. ใช่แล้ว “ใจที่ร่าเริงเป็นเหมือนโอสถวิเศษ.”—สุภาษิต 17:22.
แต่การมีมิตรภาพที่เปี่ยมด้วยความรักและความสุขอาจเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้ป่วยเอ็มซีเอสที่แพ้น้ำหอม, น้ำยาทำความสะอาด, สารปรับกลิ่น, และสารเคมีอื่น ๆ ที่พวกเราส่วนใหญ่เจอะเจอในชีวิตประจำวัน. ผู้ป่วยเอ็มซีเอสจะจัดการอย่างไรกับสภาพการณ์เช่นว่า? ที่สำคัญพอ ๆ กันก็คือ คนอื่นอาจทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยผู้ป่วยเอ็มซีเอส? บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 ตื่นเถิด! ไม่ใช่วารสารทางการแพทย์ และบทความเกี่ยวกับเอ็มซีเอสชุดนี้ไม่ได้มุ่งหมายจะสนับสนุนแง่คิดทางการแพทย์ไม่ว่าแบบใด. บทความของเราเพียงแต่รายงานการค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งรายงานสิ่งที่แพทย์และผู้ป่วยบางคนพบว่าเป็นประโยชน์ในการจัดการกับโรคดังกล่าว. ตื่นเถิด! ยอมรับว่า ในหมู่แพทย์ยังไม่มีการเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์เกี่ยวด้วยสาเหตุของเอ็มซีเอส, ลักษณะแท้จริงของอาการ, หรือการรักษาและโปรแกรมหลายอย่างที่มีการเสนอแนะและที่ผู้ป่วยเคยใช้.
^ วรรค 12 ตัวอย่างที่พบเห็นทั่วไปเรื่องเอนไซม์ที่มีไม่พอเพียงก็คือ เอนไซม์แล็กเทส. ผู้ที่มีปัญหาเรื่องแล็กเทสไม่สามารถดูดซึมแล็กโทสในนมได้ และท้องจะปั่นป่วนเมื่อเขาดื่มนม. บางคนก็ขาดเอนไซม์ที่ช่วยเผาผลาญไทรามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในเนยแข็งและอาหารอื่น ๆ. ผลก็คือ เมื่อพวกเขาบริโภคอาหารดังกล่าว เขาอาจมีอาการปวดหัวแบบไมเกรนได้.
^ วรรค 20 ผู้ที่เชื่อว่าตนเป็นโรคเอ็มซีเอส ควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียง. นับว่าไม่ฉลาดที่จะทำการเปลี่ยนรูปแบบชีวิตอย่างถอนรากถอนโคนและบางทีเสียค่าใช้จ่ายสูงโดยไม่เข้ารับการตรวจให้ละเอียดเสียก่อน. การทดสอบอาจปรากฏว่า แค่ปรับเปลี่ยนอาหารการกินหรือรูปแบบชีวิตของคุณเพียงเล็กน้อยก็จะลดหรือกระทั่งทำให้อาการของคุณหายด้วยซ้ำ.
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
จำเป็นไหมที่คุณจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทางเคมีมากมายหลายอย่าง?
เราทุกคนควรควบคุมดูแลให้การได้รับสารเคมีที่อาจเป็นพิษ อยู่ในระดับต่ำสุดเสมอ. ทั้งนี้รวมถึงสารเคมีที่เราเก็บไว้ในบ้านด้วย. หนังสือการได้รับสารเคมี (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “สารปนเปื้อนในอากาศภายในบ้านดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในบรรดาตัวการหรือตัวกระตุ้นที่มีศักยภาพที่สุดของการแพ้สารเคมี. สารผสมเชิงซ้อนที่ประกอบด้วยสารเคมีอินทรีย์ระเหยง่ายระดับต่ำชนิดต่าง ๆ นับร้อย ๆ เกิดขึ้นในบ้าน.” *
ดังนั้น ถามตัวคุณเองว่าจำเป็นจริง ๆ ไหมที่จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทางเคมีมากมายอย่างที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของตัวทำละลายที่ระเหยง่าย. คุณเคยลองใช้สิ่งอื่นที่ไม่มีพิษไหม? อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณจำต้องใช้สารเคมีที่อาจก่ออันตราย จงทำให้แน่ใจว่าทุกครั้งที่ใช้สารนั้นจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันล่วงหน้าทุกอย่าง ที่จำเป็น. อนึ่ง อย่าลืมเก็บสารเคมีนั้นไว้ในที่ปลอดภัย ห่างจากมือเด็ก และในที่ที่ไอระเหยซึ่งมันอาจปล่อยออกมาจะไม่ก่ออันตรายใด ๆ. จำไว้ว่า แม้สารเคมีจะอยู่ในภาชนะที่ปิดผนึกแล้วก็อาจปล่อยไอระเหยออกมาได้.
การระวังสารเคมียังหมายรวมถึงการระวังสิ่งที่เราทำหยดหรือหกใส่ผิวหนังด้วย. สารเคมีหลายชนิดรวมทั้งน้ำหอม จะซึมผ่านผิวหนังเข้าไปในกระแสเลือด. ด้วยเหตุนี้ ยาบางชนิดจึงใช้วิธีทาหรือแปะที่ผิวหนัง. ดังนั้น ถ้าคุณทำสารเคมีที่เป็นพิษหกใส่ผิวหนัง “วิธีแก้ขั้นแรกและต้องทำเร็วที่สุดคือ ล้างสารเคมีนั้นออกให้หมด” ตามคำกล่าวของหนังสือเหนื่อยหรือได้รับสารพิษ? (ภาษาอังกฤษ).
หลายคนที่มีอาการไวต่อสารเคมีหลายชนิดจะแพ้น้ำหอม. เก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของสารเคมีที่ใช้ในน้ำหอมเป็นสารสังเคราะห์ที่สกัดจากปิโตรเลียม. มีการใช้อะซีโตน, การบูร, เบนซัลดีไฮด์, เอทานอล, จี-เทอร์พินิน, และส่วนผสมทางเคมีอีกหลายอย่าง. อันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจากสารเหล่านี้มีการพิมพ์เผยแพร่โดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐ. สารเคมีที่ใช้ในน้ำหอมปรับอากาศก็เช่นกัน. เมื่อนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมวิจัยน้ำหอมปรับอากาศ จดหมายข่าวเวลล์เนสของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า พวกเขา “วิจัยน้ำหอมดังกล่าวในฐานะสารมลพิษ ไม่ใช่สารปรับกลิ่นห้อง.” น้ำหอมปรับอากาศไม่ได้ขจัดกลิ่นอับชื้นออกไป แต่มันกลบกลิ่นนั้นไว้.
หนังสือความเสี่ยงที่คิดคำนวณแล้ว (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “แนวคิดที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในวิชาพิษวิทยา [คือว่า] สารเคมีทุกอย่างเป็นพิษ หากได้รับภายใต้สภาพการณ์บางอย่าง.”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 33 ตื่นเถิด! ฉบับ 8 มกราคม 1999 มีบทความที่พิจารณาวิธีรักษาบ้านของคุณให้ปลอดจากสารบางอย่างที่อาจเป็นพิษ.