สิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผม—การรักษาความภักดี
สิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผม—การรักษาความภักดี
เล่าโดยอะเลกเซ เดวิดยุค
ในปี 1947 ณ สถานที่ซึ่งห่างจากหมู่บ้านของเราที่เลสคีฟ ยูเครน ประมาณแปดกิโลเมตรใกล้พรมแดนประเทศโปแลนด์. สเตปัน เพื่อนรุ่นพี่ของผมซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวได้ลอบนำสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลจากโปแลนด์เข้าไปในยูเครน. คืนวันหนึ่ง ทหารรักษาการณ์ชายแดนเห็นเข้าจึงไล่ยิงเขาจนเสียชีวิต. สิบสองปีต่อมา การตายของสเตปันมีผลกระทบอย่างน่าทึ่งต่อชีวิตของผม ดังที่ผมจะชี้แจงตอนหลัง.
ตอนผมเกิดที่เลสคีฟเมื่อปี 1932 สิบครอบครัวในหมู่บ้านของเราเป็นพวกนักศึกษาพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาในสมัยนั้น. พ่อแม่ของผมรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ท่านได้วางตัวอย่างอันดีในการรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาจนกระทั่งท่านทั้งสองสิ้นชีวิตในช่วงกลางทศวรรษ 1970. ความภักดีต่อพระเจ้าจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในชีวิตทั้งสิ้นของผมเช่นกัน.—บทเพลงสรรเสริญ 18:25.
ปี 1939 คือปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น บริเวณพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ในโปแลนด์ตะวันออกถูกรวมเข้ากับสหภาพโซเวียต. เราอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียตจนถึงเดือนมิถุนายน 1941 เมื่อกองทัพเยอรมันได้บุกเข้ายึดครองพื้นที่ของเรา.
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมประสบความยุ่งยากที่โรงเรียนหลายครั้ง. เด็กนักเรียนถูกสอนให้ร้องเพลงเกี่ยวกับชาติ และให้ร่วมฝึกทหาร. อันที่จริง ส่วนหนึ่งของการฝึกนั้นรวมไปถึงการเรียนวิธีขว้างระเบิดมือ. แต่ผมปฏิเสธทั้งการร้องเพลงปลุกใจให้รักชาติและการฝึกทหาร. การเรียนรู้ตั้งแต่เยาว์วัยที่จะยืนหยัดตามความเชื่อมั่นของผมซึ่งมีพื้นฐานจากคัมภีร์ไบเบิลเช่นนั้นช่วยผมรักษาความภักดีต่อพระเจ้าตลอดหลายปีต่อมา.
มีผู้คนมากมายสนใจความจริงของคัมภีร์ไบเบิลในเขตงานของประชาคมเรา จึงได้มีการมอบหมายไพโอเนียร์สองคน เป็นชื่อที่เรียกผู้เผยแพร่เต็มเวลาของพยานพระยะโฮวา ให้ไปช่วยสอนคนเหล่านั้นในเขตงานของเรา. ไพโอเนียร์หนึ่งในสองคนนั้นคือ อิลยา เฟโดโรวิตช์ เป็นคนนำการศึกษาพระคัมภีร์กับผมและได้ฝึกสอนผมทำงานเผยแพร่. ในช่วงที่กองทัพเยอรมันยึดครอง อิลยาถูกเนรเทศไปอยู่ในค่ายกักกันแห่งหนึ่งของนาซี และได้เสียชีวิตที่นั่น.
ความมุ่งมั่นของพ่อเพื่อรักษาความเป็นกลาง
ในปี 1941 เจ้าหน้าที่ฝ่ายโซเวียตพยายามให้พ่อลงชื่อในหนังสือสัญญาการจ่ายเงินช่วยเหลือการทำสงคราม. พ่อบอกเขาไปว่าท่านไม่อาจสนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการทำสงคราม และในฐานะผู้รับใช้พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ ท่านจะรักษาความเป็นกลาง. พ่อถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูและถูกลงโทษจำคุกนานสี่ปี. แต่ท่านถูกกักขังแค่สี่วัน. ทำไมล่ะ? เพราะว่าในวันอาทิตย์หลังจากท่านถูกจำคุก กองทัพเยอรมันก็เข้ายึดครองพื้นที่ที่เราอยู่.
ครั้นพวกผู้คุมเรือนจำได้ข่าวว่าทหารเยอรมันเข้ามาใกล้ พวกเขาก็เปิดประตูคุกและหลบหนีไป. นักโทษส่วนใหญ่ถูกทหารโซเวียตยิงข้างนอกคุกนั่นเอง. พ่อไม่ได้ออกไปทันที แต่ภายหลังได้หนีไปยังบ้านเพื่อนฝูง. จากที่นั่น พ่อส่งข่าวให้แม่นำเอกสารมาให้ท่าน ซึ่งเป็นเอกสารยืนยันการติดคุกด้วยสาเหตุที่ท่านไม่ยอมสนับสนุนโซเวียตในการสงคราม. เมื่อพ่อแสดงหลักฐานเหล่านี้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายเยอรมัน พวกเขาไว้ชีวิตพ่อ.
ฝ่ายเยอรมันต้องการรู้ชื่อประชาชนทุกคนที่เคยร่วมมือกับโซเวียต. เขาบีบบังคับพ่อให้กล่าวหาคนเหล่านั้น แต่พ่อปฏิเสธ. ท่านได้ชี้แจงสถานะความเป็นกลางของท่าน. ถ้าท่านอ้างชื่อคนใดก็ตาม ไม่ว่าชายหรือหญิง คนนั้นจะถูกยิง. ด้วยเหตุนี้ ความเป็นกลางของพ่อยังได้ช่วยชีวิตคนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งพวกเขาสำนึกบุญคุณของท่านเป็นอย่างมาก.
ทำงานอย่างลับ ๆ
เดือนสิงหาคม 1944 โซเวียตกลับมายึดครองยูเครนอีก และในเดือนพฤษภาคม 1945 สงครามโลกครั้งที่ 2 ในแถบยุโรปได้จบสิ้นลง. ต่อมา สิ่งที่เรียกว่าม่านเหล็กได้ตัดพวกเราในสหภาพโซเวียตจากโลกภายนอก. แม้แต่การติดต่อกับพยานพระยะโฮวาข้ามพรมแดนโปแลนด์ก็ทำได้ยาก. เหล่าพยานฯ ที่กล้าหาญจะลอบข้ามพรมแดนอย่างระแวดระวังและกลับมาพร้อมกับวารสารหอสังเกตการณ์ อันมีค่าไม่กี่เล่ม. เนื่องจากพรมแดนห่างจากบ้านของเราที่เมืองเลสคีฟเพียงแปดกิโลเมตร ผมมักได้ยินเรื่องราวที่เสี่ยงอันตรายซึ่งผู้ส่งข่าวเหล่านี้ได้ประสบ.
ตัวอย่างเช่น พยานฯ ชื่อซิลเวสเตอร์ได้ข้ามแดนสองครั้ง และเที่ยวกลับแต่ละครั้งไม่มีปัญหา. แต่พอมาเที่ยวที่สาม หน่วยลาดตระเวนชายแดนและสุนัขทหารเห็นเขา. พวกทหารตะโกนสั่งเขาให้หยุด แต่ซิลเวสเตอร์วิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต. ทางเดียวที่เขาสามารถหนีเอาตัวรอดจากสุนัขได้คือลุยลงไปในทะเลสาบที่อยู่ใกล้ ๆ. ตลอดคืนเขายืนแช่น้ำที่สูงถึงคอ, ซ่อนตัวในกอหญ้าสูง ๆ. ในที่สุด เมื่อทหารเลิกค้นหา ซิลเวสเตอร์จึงเดินโซเซกลับบ้านอย่างหมดเรี่ยวหมดแรง.
ดังเกริ่นไว้ข้างต้น สเตปัน หลานชายของซิลเวสเตอร์ถูกฆ่าขณะพยายามข้ามพรมแดน. กระนั้น นับว่าเป็นเรื่องสำคัญทีเดียวที่เรายังคงรักษาการติดต่อกับไพร่พลของพระยะโฮวาอย่างต่อเนื่อง. ด้วยความพยายามของผู้ส่งข่าวที่กล้าหาญ พวกเราจึงสามารถได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณและการชี้นำที่เป็นประโยชน์.
ปีถัดมา คือปี 1948 ผมได้รับบัพติสมาตอนกลางคืนในทะเลสาบเล็ก ๆ ใกล้บ้าน. ผู้ประสงค์จะรับบัพติสมาได้มาพบกันที่บ้านของเรา แต่ผมไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง เนื่องจากมืดแล้วและทุกสิ่งก็ต้องดำเนินการกันอย่างเงียบ ๆ. พวกเราที่รับบัพติสมาคืนนั้นไม่พูดคุยกันเลย. ผมไม่รู้จักคนที่บรรยายเรื่องการรับบัพติสมา ซึ่งถามคำถามสำหรับการรับบัพติสมาขณะที่เรายืนอยู่ใกล้ทะเลสาบ รวมทั้งไม่รู้จักคนที่จุ่มตัวผม. หลังจากนั้นหลายปี เมื่อเอาข้อมูลของผมเปรียบเทียบกับของเพื่อนสนิท ผมจึงรู้ว่าเราสองคนอยู่ในกลุ่มที่ได้รับบัพติสมาคืนนั้น.
ในปี 1949 เหล่าพยานฯ ในยูเครนได้รับจดหมายจากบรุกลินที่สนับสนุนพวกเขาเพื่อร้องขอมอสโกให้งานเผยแพร่ในสหภาพโซเวียตเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย. ตามการชี้นำนั้น ได้มีการส่งคำร้องผ่านรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยขึ้นไปถึงคณะผู้บริหารระดับสูงสุดของโซเวียตแห่งสหภาพรัสเซีย. หลังจากนั้นมีการมอบหมายมีย์โคลา ปยาโตฮา พร้อมกับอิลยา บาบีชุคให้ไปมอสโกเพื่อรับคำตอบจากรัฐบาลต่อคำร้องของเรา. คนทั้งสองตกลงเดินทางไปมอสโกในฤดูร้อนนั้นเลย.
เจ้าหน้าที่ซึ่งต้อนรับผู้ทำหน้าที่แทนนี้ได้รับฟังขณะที่พวกเขาชี้แจงให้เหตุผลเกี่ยวกับงานของเราตามหลักคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาได้อธิบายว่าการดำเนินงานของเราเป็นไปตามคำพยากรณ์ของพระเยซูที่ว่า “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ.” (มัดธาย 24:, ล.ม.) อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ให้คำตอบว่ารัฐบาลจะไม่รับรองเราตามกฎหมายโดยเด็ดขาด. 14
พยานฯ ทั้งสองกลับบ้านแล้วไปที่เมืองเคียฟ เมืองหลวงของสาธารณรัฐยูเครนเพื่อขอการรับรองตามกฎหมายสำหรับงานของเราที่นี่ในยูเครน. อีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ปฏิเสธคำร้องนั้น. เขาบอกว่าพยานพระยะโฮวาจะไม่ถูกรบกวนก็ต่อเมื่อพยานฯ สนับสนุนรัฐบาล. ทั้งพูดอีกด้วยว่าพยานฯ ต้องเข้ารับราชการทหารและร่วมมือในการเลือกตั้งต่าง ๆ. มีการชี้แจงฐานะความเป็นกลางของเราอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อเราเลียนแบบพระเยซูคริสต์นายของเรา เราต้องไม่เป็นส่วนของโลก.—โยฮัน 17:14-16, ล.ม.
ไม่นานหลังจากนั้น บราเดอร์ปยาโตฮาและบาบีชุคก็ถูกจับ, ถูกตั้งข้อหา, และถูกตัดสินจำคุก 25 ปี. ประมาณช่วงนั้น ในปี 1950 พยานฯ หลายคนถูกพวกเจ้าหน้าที่จับกุม พ่อของผมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย. ท่านถูกตัดสินจำคุก 25 ปีและถูกส่งไปยังฮาบารอฟสค์ ไกลออกไปเกือบ 7,000 กิโลเมตร ทางตะวันออกสุดของสหภาพโซเวียต.
เนรเทศไปไซบีเรีย
ครั้นแล้วในเดือนเมษายน 1951 รัฐบาลโซเวียตดำเนินการกวาดล้างกลุ่มพยานฯ ในสาธารณรัฐต่าง ๆ ทางตะวันตก ซึ่งบัดนี้เป็นที่รู้จักกันว่าสาธารณรัฐลัตเวีย, เอสโตเนีย, ลิทัวเนีย, มอลโดวา, เบลารุส, และยูเครน. ในช่วงเดือนนั้น พวกเราประมาณ 7,000 คน รวมทั้งแม่และตัวผมเองถูกเนรเทศไปไซบีเรีย. จู่ ๆ พวกทหารก็มาที่บ้านของเราตอนกลางคืนและนำพวกเราไปยังสถานีรถไฟ. ที่นั่น เขาขังเราให้อยู่ในตู้บรรทุกปศุสัตว์ ประมาณ 50 คนต่อหนึ่งตู้—และกว่าสองสัปดาห์ต่อมา เขาปล่อยพวกเราลง ณ ที่เรียกกันว่า ชาราลี ใกล้ทะเลสาบไบคาลในเมืองอิร์คุตสค์.
การยืนตากหิมะกลางลมหนาวที่เย็นเยือกแถมรายล้อมด้วยทหารติดอาวุธ ผมสงสัยว่ามีอะไรรอเราอยู่. ณ ที่นี่ ผมจะทำอย่างไรเพื่อรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป? พวกเราเริ่มร้องเพลงราชอาณาจักรเพื่อจะไม่นึกถึงความหนาวเหน็บ. ครั้นแล้วพวกผู้จัดการรัฐวิสาหกิจในท้องที่นั้นก็มาถึง. บางคนต้องการผู้ชายทำงานหนัก และบางคนก็ต้องการผู้หญิงไปทำงานอื่น อาทิ งานดูแลสัตว์. ส่วนผมกับแม่เขาได้พาไปที่บริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำตากินสกายา ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการสร้าง.
เมื่อไปถึงที่นั่น เรามองเห็นเรือนไม้เรียงเป็นแถว จัดให้เป็นบ้านพักสำหรับพวกที่ถูกเนรเทศ. ผมได้รับมอบงานเป็นคนขับรถแทรกเตอร์และเป็นช่างไฟฟ้า ส่วนแม่ถูกส่งไปทำงานในฟาร์ม. พวกเราถูกจัดอย่างเป็นทางการให้เป็นพวกผู้ถูกเนรเทศ ไม่ใช่นักโทษ. ดังนั้นเราไปไหนมาไหนได้ในระยะทางสั้น ๆ ไม่ไกลจากสถานีจ่ายไฟฟ้า กระนั้น พวกเราถูกห้ามแวะไปเยี่ยมหมู่คนที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 50 กิโลเมตร. พวกเจ้าหน้าที่กดดันให้พวกเราลงชื่อในใบประกาศที่บอกว่าเราจะอยู่ชั่วชีวิต. นั่นดูเหมือนว่านานเหลือเกินสำหรับผม ซึ่งอายุแค่ 19 ปี ดังนั้น ผมปฏิเสธไม่ลงชื่อ. กระนั้น พวกเราได้อยู่ในแถบนั้นถึง 15 ปี.
ที่ไซบีเรียพรมแดนโปแลนด์นั้นไม่ใช่เพียง 8 กิโลเมตรสำหรับเราอีกต่อไป แต่เป็นระยะทาง 6,000 กว่ากิโลเมตรทีเดียว! พวกเราพยานพระยะโฮวาพยายามจัดการทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อพวกเราจะรวมตัวตั้งเป็นประชาคมขึ้นอีก โดยการแต่งตั้งให้ผู้ชายนำหน้า. ทีแรก เราไม่มีสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล นอกจากหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่พยานฯ บางคนแอบนำติดตัวมาจากยูเครน. หนังสือเหล่านี้เราคัดลอกด้วยมือ และเราได้เวียนส่งต่อให้กันและกัน.
ไม่ช้า เราก็เริ่มจัดการประชุม. เนื่องจากหลายคนในกลุ่มของเราพักอาศัยที่เรือนไม้ เราจึงพบปะกันแทบทุกคืน. ประชาคมของเรามีประมาณ 50 คน ผมได้รับมอบหน้าที่ให้นำส่วนโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า. ในประชาคมของเรามีผู้ชายเพียงไม่กี่คน ดังนั้น ผู้หญิงจึงได้ส่วนนักเรียนบรรยายเช่นกัน ซึ่งมีการนำวิธีการนี้ไปปฏิบัติในประชาคมพยานพระยะโฮวา ณ ที่อื่น ๆ ในปี 1958. ทุกคนต่างก็ทำหน้าที่มอบหมายของตนอย่างจริงจัง โดยมองว่าโรงเรียนเป็นวิธีหนึ่งที่จะสรรเสริญพระยะโฮวาและให้กำลังใจคนอื่น ๆ ในประชาคม.
งานรับใช้ของเราได้รับพระพร
เนื่องจากพวกเราอยู่ในเรือนไม้ร่วมกับคนอื่นที่ไม่ใช่พยานฯ ฉะนั้น แทบจะไม่มีสักวันผ่านไปโดยไม่ได้พูดคุยกับคนอื่นเกี่ยวด้วยความเชื่อของเรา แม้เจ้าหน้าที่ห้าม
ปรามอย่างเข้มงวดก็ตาม. สถานการณ์ดีขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของนายกรัฐมนตรีโจเซฟ สตาลิน ในปี 1953. เราได้รับอนุญาตให้พูดกับคนทั่วไปได้มากขึ้นถึงเรื่องความเชื่อของเราซึ่งยึดหลักคัมภีร์ไบเบิล. จากการติดต่อทางจดหมายกับมิตรสหายในยูเครน เราจึงทราบว่าพยานฯ คนอื่น ๆ อยู่ที่ไหนในพื้นที่ของเรา และจึงติดต่อกับเขา. โดยวิธีนี้เราจึงสามารถจัดรวบรวมประชาคมต่าง ๆ ของเราขึ้นเป็นหมวด.ปี 1954 ผมแต่งงานกับโอลกา ซึ่งถูกเนรเทศมาจากยูเครนเหมือนกัน. ตลอดหลายปีเธอเป็นคนที่เกื้อหนุนผมมากในงานรับใช้พระยะโฮวา. สเตปันพี่ชายโอลกานี้แหละคือคนที่ถูกสังหารตรงชายแดนยูเครนกับโปแลนด์เมื่อปี 1947. ต่อมา เราก็ได้ลูกสาว คือวาเลนตินา.
โอลกากับผมได้รับพระพรมากมายในงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนที่ไซบีเรีย. อย่างเช่น เราได้พบจอร์จ ผู้นำกลุ่มคริสตจักรแบพติสต์. เราไปเยี่ยมเขาเป็นประจำและได้ศึกษาบทความอะไรก็ตามเท่าที่หาได้ในหอสังเกตการณ์. ไม่นานหลังจากนั้นจอร์จหยั่งรู้ว่าสิ่งซึ่งผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสั่งสอนจากคัมภีร์ไบเบิลนั้นเป็นความจริง. เรายังได้เริ่มศึกษากับเพื่อนหลายคนของเขาที่เป็นชาวแบพติสต์ด้วย. พวกเราต่างก็ปลื้มปีติเมื่อจอร์จพร้อมกับเพื่อนของเขาหลายคนได้รับบัพติสมาและกลายเป็นพี่น้องฝ่ายวิญญาณ.
ปี 1956 ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลเดินทาง ซึ่งผมต้องเดินทางเยี่ยมประชาคมหนึ่งในเขตพื้นที่ของเราแต่ละสัปดาห์. ผมจะทำงานตลอดวันแล้วเริ่มออกเดินทางในตอนเย็นโดยรถมอเตอร์ไซค์กลับไปร่วมประชุมกับประชาคม. เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นผมก็กลับมาทำงาน. มีย์ไฮโล เซียร์ดินสกี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยผมในการเดินหมวดประสบอุบัติเหตุบนถนนถึงแก่ชีวิตเมื่อปี 1958. เขาเสียชีวิตวันพุธ แต่เราเลื่อนงานศพไปจนถึงวันอาทิตย์เพื่อพยานฯ จำนวนมากเท่าที่เป็นไปได้จะมีโอกาสร่วมงานนั้น.
เมื่อพวกเรากลุ่มใหญ่เริ่มเดินไปยังสุสาน เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของรัฐก็ได้ตามเราไป. การบรรยายเกี่ยวกับความหวังของเราซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายนั้นนับว่าเสี่ยงต่อการจับกุม. แต่ผมอดไม่ได้ที่จะพูดถึงมีย์ไฮโล และความหวังของเขาในวันข้างหน้าที่วิเศษยิ่ง. แม้ว่าผมใช้คัมภีร์ไบเบิล เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของรัฐก็ไม่ได้จับกุมผม. ดูเหมือนพวกเขาคิดว่าไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด และถึงอย่างไรพวกเขาก็รู้จักผมเป็นอย่างดี เพราะบ่อยครั้งผมเป็น “แขก” ซึ่งถูกพวกเขาสอบสวนที่กองบัญชาการ.
ผู้แจ้งความได้ทรยศ
ในปี 1959 เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของรัฐได้จับกุมพยานพระยะโฮวา 12 คนซึ่งนำหน้าในงานเผยแพร่. บางคนถูกเรียกตัวไปสอบสวน ผมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย. พอถึงเวลาที่ผมถูกสอบสวน ผมสะดุ้งโหยงเมื่อได้ยินเจ้าหน้าที่สาธยายรายละเอียดเกี่ยวกับงานของเราซึ่งเป็นความลับ. พวกเขารู้เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร? เห็นได้
ชัดว่ามีผู้แจ้งความซึ่งเป็นคนที่รู้มากเกี่ยวกับพวกเราและเป็นคนที่ทำงานให้รัฐนานพอสมควร.สิบสองคนที่ถูกจับได้อยู่ในห้องขังติด ๆ กัน และพวกเขาตกลงกันว่าเขาจะไม่ปริปากพูดแม้แต่คำเดียวต่อเจ้าหน้าที่. วิธีนี้ทำให้ผู้แจ้งความต้องไปปรากฏตัว ณ การพิจารณาคดีเพื่อแสดงหลักฐานต่อพวกเขา. แม้ผมไม่ถูกกล่าวหา แต่ผมก็ไปศาลเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น. ผู้พิพากษาได้ซักถามหลายประเด็นปัญหา และสิบสองคนนั้นไม่ตอบ. ครั้นแล้วพยานฯ ชื่อคอนสแตนติน โปลิชชุค ซึ่งผมรู้จักคนนี้มานานหลายปีได้ให้คำให้การต่อสู้ทั้งสิบสองคนนั้น. การพิจารณาคดีสิ้นสุดลงด้วยการตัดสินลงโทษจำคุกพยานฯ บางคน. พอมาที่ถนนนอกศาล ผมกรากเข้าใส่โปลิชชุค.
“ทำไมคุณหักหลังพวกเรา?” ผมถาม.
“เพราะผมเลิกเชื่อแล้วนี่” เขาตอบ.
“คุณเลิกเชื่ออะไรล่ะ?” ผมถาม.
“ผมไม่อาจเชื่อถือคัมภีร์ไบเบิลได้อีกต่อไป” เขาตอบ.
โปลิชชุคจะทรยศผมอีกคนหนึ่งก็ได้ แต่ในคำให้การนั้น เขาไม่เอ่ยชื่อผม. ดังนั้น ผมจึงถามว่าทำไมเขาไม่ได้เอ่ยชื่อผม.
เขาชี้แจงว่า “ผมไม่อยากให้คุณติดคุก ผมยังรู้สึกผิดอยู่เลยเกี่ยวกับสเตปัน พี่ชายภรรยาของคุณ. ผมเป็นต้นคิดที่ส่งเขาข้ามพรมแดนในคืนนั้นที่เขาถูกฆ่า. ผมรู้สึกเสียใจจริง ๆ สำหรับเรื่องนี้.”
คำพูดของเขาทำเอาผมถึงกับมึนงง. สติรู้สึกผิดชอบของเขาปรวนแปรไปเสียแล้ว! เขาเป็นทุกข์เสียใจเนื่องด้วยการตายของสเตปัน มาบัดนี้เขายังทรยศผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอีก. ผมไม่เห็นหน้าโปลิชชุคอีกเลย. เขาเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่กี่เดือน. สำหรับผม เมื่อเห็นบางคนที่ผมไว้ใจนานหลายปีแต่แล้วกลับทรยศพี่น้องของเราเช่นนี้ มันเป็นความเจ็บช้ำที่ฝังใจอยู่ไม่รู้ลืม. กระนั้น ผมได้บทเรียนอันมีค่าจากประสบการณ์ครั้งนั้น: โปลิชชุคขาดความภักดีเพราะเขาละทิ้งการอ่านและเลิกเชื่อถือคัมภีร์ไบเบิล.
แน่นอน เราต้องจดจำบทเรียนนี้ไว้เสมอที่ว่า: หากเราจะคงความภักดีต่อพระยะโฮวาอยู่ต่อไป เราต้องหมั่นศึกษาพระคัมภีร์บริสุทธิ์เป็นประจำ. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “จงป้องกันรักษาหัวใจของเจ้าไว้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นที่ควรปกป้อง เพราะแหล่งแห่งชีวิตเกิดจากหัวใจ.” นอกจากนี้ อัครสาวกเปาโลกำชับคริสเตียนให้เฝ้าระวังตน. ทำไม? “เกรงว่าจะมีผู้ใดผู้หนึ่งในพวกท่านเกิดมีหัวใจชั่ว ซึ่งขาดความเชื่อโดยเอาตัวออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.”—สุภาษิต 4:23, ล.ม.; เฮ็บราย 3:12, ล.ม.
กลับยูเครน
ครั้นการเนรเทศไปไซบีเรียได้จบสิ้นในปี 1966 ผมและโอลกาจึงกลับบ้านที่ยูเครน ไปยังเมืองโซกัลอยู่ห่างจากเมืองเลเวฟประมาณ 80 กิโลเมตร. เรามีงานต้องทำมากมาย เนื่องจากมีพยานฯ เพียง 34 คนในเมืองโซกัลและในเมืองเชอร์โวโนกราดและซอสนิฟกาซึ่งอยู่ใกล้กันนั้น. ปัจจุบันมีถึง 11 ประชาคมในภูมิภาคแถบนี้.
ปี 1993 โอลกาสิ้นชีวิตอย่างคนสัตย์ซื่อ. สามปีต่อมาผมได้แต่งงานกับลิดิยา และนับแต่นั้น เธอกลายเป็นกำลังสำคัญของผม. นอกจากนี้ วาเลนตินาลูกสาวของผม พร้อมด้วยครอบครัวของเธอคงทำงานรับใช้พระยะโฮวาด้วยใจแรงกล้าและเป็นแหล่งที่ให้การหนุนใจเช่นกัน. อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ผมชื่นชมยินดีมากมายมิได้ขาดก็คือผมยังคงภักดีต่อพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงปฏิบัติด้วยความภักดีต่อผู้ที่ภักดี.—2 ซามูเอล 22:26, ล.ม.
อะเลเซ เดวิดยุคสิ้นชีวิตอย่างผู้ภักดีต่อพระยะโฮวาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2000 เมื่อกำลังเตรียมพิมพ์บทความนี้.
[ภาพหน้า 20]
ประชาคมของเราซึ่งได้มาพบปะกันที่เรือนไม้ทางภาคตะวันออกของไซบีเรีย ปี 1952
[ภาพหน้า 23]
โรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าปี 1953 ในไซบีเรีย
[ภาพหน้า 23]
งานศพมีย์ไฮโล เซอร์ดินสกี ในปี 1958
[ภาพหน้า 24]
กับลิดิยา ภรรยาของผม