แผ่นดินโลกเกิดโดยบังเอิญหรือ?
แผ่นดินโลกเกิดโดยบังเอิญหรือ?
โลกจะต้องโคจรในระยะห่างพอดีจากดวงอาทิตย์เพื่อจะไม่ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป. มีการตรวจพบว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นโคจรรอบดาวที่คล้ายดวงอาทิตย์ และถือกันว่าอยู่ใน ‘ข่ายที่พอจะอาศัยอยู่ได้’ กล่าวคือ มันสามารถคงสภาพน้ำให้เป็นของเหลวได้. กระนั้น แม้ดาวเคราะห์ที่ถือกันว่าพอจะอาศัยอยู่ได้นี้ ก็อาจจะยังไม่เหมาะสำหรับชีวิตมนุษย์. มันจะต้องหมุนด้วยความเร็วที่ถูกต้องและมีขนาดที่ถูกต้องด้วย.
ถ้าโลกเล็กกว่าและเบากว่าที่เป็นอยู่นิดเดียว แรงโน้มถ่วงจะอ่อนลงและชั้นบรรยากาศส่วนใหญ่ซึ่งมีค่าแก่แผ่นดินโลกก็จะหลุดลอยไปในอวกาศ. สภาพการณ์เช่นนี้จะเห็นได้จากกรณีของดวงจันทร์และดาวเคราะห์สองดวงคือดาวพุธและดาวอังคาร. เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าและเบากว่าโลก มันจึงมีชั้นบรรยากาศนิดเดียวหรือไม่มีเลย. แต่จะว่าอย่างไรถ้าโลกใหญ่กว่าและหนักกว่าที่เป็นอยู่เล็กน้อย?
ถ้าเป็นอย่างนั้น แรงโน้มถ่วงของโลกจะเพิ่มมากขึ้น และก๊าซน้ำหนักเบา เช่น ไฮโดรเจนและฮีเลียมจะใช้เวลานานขึ้นกว่าจะหลุดลอยไปจากชั้นบรรยากาศ. ตำราวิทยาศาสตร์ชื่อสิ่งแวดล้อมของชีวิต (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “ที่สำคัญกว่านั้น ดุลภาคอันบอบบางระหว่างก๊าซต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศจะเสียหาย.”
หรือไม่ก็ลองพิจารณาออกซิเจน ซึ่งเป็นก๊าซที่กระตุ้นการเผาไหม้. ถ้าปริมาณออกซิเจนเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ ไฟป่าก็จะเกิดถี่ยิ่งขึ้น. ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราจะประสบภาวะแผ่นดินโลกร้อนเกินไป.
แนวโคจรของลูกโลก
ลักษณะที่เหมาะเจาะอีกอย่างหนึ่งคือ แนวโคจรของลูกโลก. ถ้าโลกโคจรเป็นวงรีมากขึ้น เราจะประสบกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือหนาวจัดจนทนไม่ได้. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น แนวโคจรของโลกเกือบจะเป็นวงกลม. แน่ละ สถานการณ์คงจะเปลี่ยนไปถ้าดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ เช่น ดาวพฤหัสบดีผ่านมาใกล้ ๆ. ไม่กี่ปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหลักฐานที่แสดงว่าดาวฤกษ์บางดวงมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่คล้าย ๆ ดาวพฤหัสบดีโคจรอยู่โดยรอบในระยะที่ใกล้มาก. ดาวเคราะห์ที่คล้ายดาวพฤหัสบดีเหล่านี้หลายดวงมีแนวโคจรเป็นวงรี. ดาวเคราะห์ใด ๆ ที่มีลักษณะคล้ายลูกโลกซึ่งอยู่ในระบบเช่นนั้นจะต้องเดือดร้อนแน่ ๆ.
นักดาราศาสตร์ชื่อเจฟฟรีย์ มาร์ซีย์ เทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างระบบดาวเคราะห์อื่น ๆ กับดาวเคราะห์สี่ดวงคือ ดาวพุธ, ดาวศุกร์, โลก, และดาวอังคาร ซึ่งประกอบ
กันเป็นระบบสุริยะชั้นในของเรา. ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง มาร์ซีย์ร้องออกมาว่า “ดูสิ [การจัดระบบ] นี้ช่างสมบูรณ์เพียงไร. มันเหมือนอัญมณีล้ำค่า. ระบบสุริยะของเรามีแนวโคจรเป็นวงกลม. ทั้งหมดอยู่ในระนาบเดียวกัน. ทั้งหมดโคจรไปในทิศทางเดียวกัน. . . . แทบจะพูดได้ว่าลึกลับมหัศจรรย์.” ความบังเอิญสามารถอธิบายสิ่งนี้ได้จริง ๆ ไหม?ระบบสุริยะของเรายังมีลักษณะพิเศษที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่ง. ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ เช่น ดาวพฤหัสบดี, ดาวเสาร์, ดาวมฤตยู (ยูเรนัส), และดาวสมุทร (เนปจูน) โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระยะที่ปลอดภัยสำหรับเรา. แทนที่จะคุกคาม ดาวเคราะห์เหล่านี้กลับมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชีวิต. นักดาราศาสตร์เปรียบดาวเหล่านี้เป็น ‘เครื่องดูดเทห์ฟากฟ้า’ เพราะแรงดึงดูดของมันสามารถดูดดาวตกขนาดใหญ่ ๆ ได้ มิฉะนั้นแล้วอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตบนแผ่นดินโลก. จริง ๆ แล้ว ลูกโลกได้รับการ “วางราก” อย่างดีเยี่ยม. (โยบ 38:4) ทั้งขนาดและตำแหน่งของโลกในระบบสุริยะของเรา พอดิบพอดีจริง ๆ. แต่ยังไม่จบเท่านี้. ลูกโลกยังมีลักษณะเด่นอื่น ๆ ที่ไม่มีใดเหมือนซึ่งจำเป็นยิ่งต่อชีวิตมนุษย์.
ออกซิเจนและการสังเคราะห์แสง
ในน้ำหนักตัวของสิ่งมีชีวิตบนแผ่นดินโลก มีอะตอมออกซิเจนประกอบอยู่ถึง 63 เปอร์เซ็นต์. นอกจากนี้ ออกซิเจนในบรรยากาศชั้นบนยังปกป้องพืชและสัตว์บนโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตของดวงอาทิตย์. แต่ออกซิเจนเป็นธาตุที่ไวต่อการทำปฏิกิริยากับธาตุอื่น ๆ เช่น มันจะทำปฏิกิริยากับเหล็กและเกิดเป็นสนิม. ดังนั้น บรรยากาศทำให้ธาตุซึ่งมีความไวสูงต่อการทำปฏิกิริยานี้ คงระดับอยู่ที่ 21 เปอร์เซ็นต์เสมอ ๆ ได้อย่างไร?
คำตอบคือ การสังเคราะห์แสง—กระบวนการอันน่าทึ่งซึ่งพืชผักต่าง ๆ บนโลกใช้แสงแดดผลิตอาหาร. ผลพลอยได้จากการสังเคราะห์แสงคือออกซิเจน—ซึ่งแต่ละวันมีการปล่อยสู่บรรยากาศมากกว่าหนึ่งพันล้านตัน. สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ อธิบายว่า “หากไม่มีการสังเคราะห์แสง ไม่เพียงแหล่งอาหารพื้นฐานจะร่อยหรอลงเรื่อย ๆ แต่ในที่สุดแผ่นดินโลกจะไม่มีออกซิเจนเหลืออยู่เลย.”
ตำราวิทยาศาสตร์ใช้หลายหน้ากระดาษเพื่ออธิบายขั้นตอนเป็นขั้น ๆ เกี่ยวกับกระบวนการที่เรียกว่า การสังเคราะห์แสง. บางขั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจเต็มที่. นักวิวัฒนาการไม่สามารถอธิบายวิธีที่แต่ละขั้นวิวัฒน์มาจากอะไรบางอย่างที่เรียบง่ายกว่า. จริง ๆ แล้ว แต่ละขั้นดูเหมือนเป็นความซับซ้อนที่ไม่สามารถแยกส่วนได้. สารานุกรม
บริแทนนิกาฉบับใหม่ ยอมรับว่า “ไม่มีความเห็นอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเรื่องต้นกำเนิดของกระบวนการสังเคราะห์แสง.” นักวิวัฒนาการคนหนึ่งเมินเฉยต่อปัญหานี้ โดยกล่าวว่า การสังเคราะห์แสงถูก “ประดิษฐ์คิดค้น” โดย “เซลล์บุกเบิกไม่กี่เซลล์.”แม้คำกล่าวนี้จะไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ก็เผยให้เห็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งเช่นกัน นั่นคือ การสังเคราะห์แสงจำเป็นต้องอาศัยผนังเซลล์ ซึ่งภายในผนังเซลล์นี้กระบวนการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นอย่างปลอดภัย และกระบวนการนี้จะดำเนินต่อไปได้จำต้องอาศัยการแบ่งตัวของเซลล์. ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญใน “เซลล์บุกเบิก” ไม่กี่เซลล์ไหม?
จากเซลล์ที่ถอดแบบตัวเองได้จนเป็นมนุษย์
มีโอกาสมากเท่าไรที่อะตอมจะรวมตัวกันเพื่อเกิดเป็นเซลล์ที่เรียบง่ายที่สุดซึ่งถอดแบบตัวเองได้? นักวิทยาศาสตร์ชื่อ คริสเตียน เดอ ดูวา ผู้ชนะรางวัลโนเบล ยอมรับในหนังสือของเขาชื่อนำเที่ยวเซลล์ชีวิต (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “หากคุณถือว่าโอกาสที่เซลล์แบคทีเรียเซลล์หนึ่งจะเกิดเองกับโอกาสที่ส่วนประกอบของอะตอมจะรวมตัวกันโดยบังเอิญมีความเป็นไปได้พอ ๆ กันแล้วละก็ แม้จะให้เวลาตลอดกาลก็ยังไม่พอที่คุณจะเห็นมันเกิดขึ้น.”
เมื่อพิจารณามาถึงจุดนี้แล้ว ให้เรากระโดดจากเซลล์แบคทีเรียไปยังเซลล์ประสาทนับพัน ๆ ล้านเซลล์ที่พิเศษเฉพาะซึ่งประกอบกันเป็นสมองของมนุษย์. นักวิทยาศาสตร์ถือว่าสมองของมนุษย์เป็นโครงสร้างทางกายภาพที่ซับซ้อนที่สุดในเอกภพเท่าที่รู้จักกัน. สมองโดดเด่นไม่มีใดเหมือนจริง ๆ. ยกตัวอย่าง ส่วนใหญ่ของสมองมนุษย์ถูกเรียกว่าบริเวณสนธิการ (การเกี่ยวโยงของความคิด). บริเวณเหล่านี้วิเคราะห์และแปลข้อมูลที่มาจากสมองส่วนรับความรู้สึก. หนึ่งในบริเวณสนธิการที่อยู่ด้านหลังหน้าผากทำให้คุณไตร่ตรองถึงความมหัศจรรย์ของเอกภพได้. กระบวนการของความบังเอิญสามารถอธิบายการเกิดบริเวณสนธิการได้จริง ๆ ไหม? นักวิวัฒนาการชื่อนายแพทย์ เชอร์วิน นูแลนด์ ยอมรับในหนังสือของเขาชื่อสติปัญญาแห่งร่างกาย (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ส่วนที่โดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ไม่พบในสัตว์อื่นใด.”
นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าสมองของมนุษย์ประมวลผลข้อมูลได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดหลายเท่า. อย่าลืมว่าเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเกิดจากความพยายามของมนุษย์ตลอดหลายทศวรรษ. จะว่าอย่างไรกับสมองของมนุษย์ที่เหนือชั้นกว่า? นักวิทยาศาสตร์สองคนคือ จอห์น แบร์โรว์ และ แฟรงก์ ทิปเลอร์ ยอมรับในหนังสือของเขาชื่อหลักว่าด้วยจักรวาลวิทยาเกี่ยวกับมนุษย์ (ภาษาอังกฤษ) ดังต่อไปนี้: “มีการเห็นพ้องกันโดยทั่วไปในหมู่นักวิวัฒนาการว่า การวิวัฒนาการของชีวิตซึ่งมีเชาวน์ปัญญาพอจะเทียบเคียงได้กับความสามารถเชิงประมวลผลข้อมูลของมนุษย์ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ถึงขนาดที่คงจะไม่มีทางเกิดขึ้นในดาวเคราะห์อื่นใดตลอดทั่วเอกภพที่เห็นได้ด้วยตา.” นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้สรุปว่า การดำรงอยู่ของพวกเราเป็น “ความบังเอิญแบบโชคดีสุด ๆ.”
ทั้งหมดเกิดโดยบังเอิญไหม?
คุณล่ะ ลงความเห็นเช่นไร? เอกภพพร้อมด้วยสิ่งน่าพิศวงทั้งสิ้นสามารถเกิดโดยบังเอิญจริง ๆ หรือ? คุณไม่เห็นพ้องด้วยหรือว่าบทเพลงที่คลาสสิกสุดยอดจะต้องมีผู้แต่งและเครื่องดนตรีที่บรรเลงจะต้องมีการปรับตั้งอย่างละเอียดประณีตเพื่อให้เสียงที่ไพเราะที่สุด? จะว่าอย่างไรกับเอกภพอันน่าเกรงขามของเรา? เดวิด บล็อก ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ ให้ข้อสังเกตว่า “เราอยู่ในเอกภพที่ได้รับการปรับตั้งอย่างละเอียดมาก.” คำสรุปของเขาน่ะหรือ? “เอกภพคือบ้านของเรา. ผมเชื่อว่าได้รับการออกแบบโดยฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า.”
ถ้าคุณลงความเห็นเช่นนี้ ก็เป็นที่แน่นอนว่าคุณจะเห็นพ้องด้วยกับคำพรรณนาของคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงพระยะโฮวา พระผู้สร้าง ดังนี้: “พระองค์ได้สร้างแผ่นดินโลกด้วยฤทธิ์เดชของพระองค์, พระองค์ได้ตั้งประดิษฐานพิภพด้วยปัญญาของพระองค์, แลได้แผ่ฟ้าสวรรค์ออกด้วยความเข้าพระทัยแห่งพระองค์.”—ยิระมะยา 51:15.
[กรอบ/ภาพหน้า 8, 9]
ดาวเคราะห์พิเศษ
“สภาพพิเศษเฉพาะบนแผ่นดินโลกซึ่งเป็นผลมาจากความเหมาะเจาะของขนาด, องค์ประกอบของธาตุ, และแนวโคจรของโลกที่เกือบจะเป็นวงกลม ในระยะห่างพอดิบพอดีจากดวงอาทิตย์ดาวที่มีอายุยาวนาน ทำให้พื้นผิวโลกสามารถสะสมน้ำไว้ได้. ยากแม้แต่จะมโนภาพว่าชีวิตเกิดมาอย่างไร หากปราศจากน้ำ.”—หลักเบ็ดเสร็จว่าด้วยสัตววิทยา (ภาษาอังกฤษ) ฉบับพิมพ์ครั้งที่หก.
[ที่มาของภาพ]
NASA photo
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
ชีวิต—เกิดโดยบังเอิญไหม?
ในปี 1988 หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งพยายามอธิบายวิธีที่ชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ ถูกนำมาวิจารณ์ในวารสารสืบหา (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์. แอล. เอ. เบนเนตต์ นักเขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์พบว่า ในแค่หน้าเดียวของหนังสือนี้มี “คำพูดแบบเดาสุ่มถึง 16 แห่ง แต่ละแห่งก็อาศัยการคาดเดาก่อนหน้ามาเป็นหลักอ้างอิง.” เบนเนตต์ลงความเห็นเช่นไรหลังจากได้อ่านทั้งเล่ม? เขาเขียนว่า “เป็นการง่ายกว่าอย่างลิบลับที่จะยอมรับว่าพระผู้สร้างผู้เปี่ยมด้วยความรักทรงสร้างชีวิตขึ้นมาอย่างฉับพลันทันใด และคอยชี้นำให้เป็นไปตามวิถีทางเชิงอันตวิทยา [แนวทางที่เปี่ยมด้วยจุดมุ่งหมาย] . . . ของชีวิตเหล่านั้น แทนที่จะยอมรับ ‘ความบังเอิญที่ปราศจากความคิดจิตใจ’ นับหมื่นนับแสนครั้งที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนคำอ้างของผู้แต่งหนังสือ.”
[รูปภาพ]
การสังเคราะห์แสงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตอาหารและวัฏจักรของออกซิเจน
อะไรคือที่มาของลักษณะอันเหมาะเจาะอย่างยิ่งบนแผ่นดินโลก ซึ่งจำเป็นต่อการค้ำจุนชีวิตให้อยู่ต่อไปได้?
นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสมองของมนุษย์เป็นโครงสร้างทางกายภาพที่ซับซ้อนที่สุดในเอกภพ. แล้วจะเกิดโดยบังเอิญได้อย่างไร?
[ที่มาของภาพ]
Photo: Zoo de la Casa de Campo, Madrid
Monte Costa, Sea Life Park Hawaii
[ภาพหน้า 8, 9]
ขนาดของดาวเคราะห์ แสดงตามอัตราส่วน
ดวงอาทิตย์
ดาวพุธ
ดาวศุกร์
โลก
ดาวอังคาร
ดาวพฤหัสบดี
ดาวเสาร์
ดาวมฤตยู (ยูเรนัส)
ดาวสมุทร (เนปจูน)
ดาวเกตุ (พลูโต)
[ที่มาของภาพ]
Sun: National Optical Astronomy Observatories; Mercury, Jupiter, and Saturn: Courtesy of NASA/JPL/Caltech/USGS; Venus and Uranus: Courtesy of NASA/JPL/Caltech; Earth: NASA photo; Mars: NASA/JPL; Neptune: JPL; Pluto: A. Stern (SwRI), M. Buie (Lowell Obs.), NASA, ESA