การรักษาด้วยทางเลือกอื่น—เหตุที่หลายคนเลือกใช้
การรักษาด้วยทางเลือกอื่น—เหตุที่หลายคนเลือกใช้
เวชกรรมทางเลือกหรือการรักษาเสริม ครอบคลุมเทคนิคการเยียวยารักษาในขอบข่ายกว้าง. หลายวิธีอาศัยหลักเนทิวโรแพทิ (naturopathy) ซึ่งเป็นระบบการรักษาที่เน้นการใช้ปัจจัยทางธรรมชาติหรือวิธีทางกายภาพเพื่อปรับร่างกายให้รักษาตัวเอง. ในบรรดาการรักษาแบบนี้ มีไม่น้อยที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลายมานับร้อย ๆ ปี แต่ถูกทิ้งหรือไม่ก็ถูกมองข้ามไปนานเพราะมีเวชกรรมสมัยใหม่เข้ามาแทน.
ยกตัวอย่าง วารสารแพทยสมาคมแห่งอเมริกา ฉบับ 27 สิงหาคม 1960 ให้ข้อสังเกตว่า การใช้ความเย็นรักษา
แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกเป็นที่ “รู้จักกันดีในสมัยโบราณ แต่ดูเหมือนถูกมองข้ามทั้งโดยแพทย์และคนทั่วไป. แม้การอ้างอิงเป็นครั้งคราวในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เห็นพ้องด้วยกับการรักษาแบบนี้ แต่ปัจจุบันผู้คนทั่วไปไม่นิยมใช้. จริง ๆ แล้ว แพทย์ส่วนใหญ่พูดว่า ‘ไม่มีใครใช้กันหรอก’ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเพราะเหตุใด.”อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษหลัง ๆ นี้ การใช้น้ำเย็นหรือผ้าเย็นประคบแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้รับการสนับสนุนอีกครั้งโดยเวชกรรมสมัยใหม่. วารสารการบาดเจ็บ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับกันยายน 1963 รายงานว่า “ความสนใจในการใช้น้ำเย็นรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกระยะแรก ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่การรายงานของ ดร. โอเฟกส์สันและนายแพทย์ชูลแมน ในปี 1959 และ 1960. ปีที่ผ่านมาเราได้รักษาคนไข้ด้วยวิธีนี้; ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ.”
การรักษาด้วยน้ำเย็นค่อนข้างจะปลอดภัย และช่วยให้อาการทุเลาได้แน่นอน. ไฮโดรเทราปีหรือธาราบำบัด ซึ่งหมายถึงการใช้น้ำในหลากหลายวิธีเพื่อรักษาโรค ถูกนำมาใช้ในเวชกรรมทางเลือก และปัจจุบันวิธีรักษาซึ่งมีรูปแบบหลากหลายเช่นนี้ก็เป็นที่ยอมรับโดยเวชกรรมสมัยใหม่ด้วย. *
ทำนองคล้ายกัน บ่อยครั้ง นักบำบัดโรคด้วยทางเลือกอื่นมักจะใช้พืชในการรักษาโรค. ในบางส่วนของโลกมีการใช้วิธีนี้มาเป็นเวลาหลายร้อยปี—กระทั่งหลายพันปีด้วยซ้ำ. เพื่อเป็นตัวอย่าง ในอินเดียมีการใช้สมุนไพรเป็นวิธีหลักในการรักษามานานแล้ว. ปัจจุบัน แพทย์หลายคนในแทบจะทุกหนแห่งยอมรับฤทธิ์ในการเยียวยารักษาของพืชบางชนิด.
ประสบการณ์ที่น่าสังเกต
ราว ๆ หนึ่งร้อยปีมาแล้ว ริชาร์ด วิลล์สแททเทอร์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนักศึกษาวิชาชีวเคมีเกี่ยวกับพืช ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนสนิทวัยเยาว์คนหนึ่งชื่อ เซปป์ ชวาบ อายุสิบปี. ขาของเซปป์ติดเชื้ออย่างรุนแรงซึ่งแพทย์บอกว่าจะต้องตัดทิ้งเพื่อรักษาชีวิตไว้ แต่พ่อแม่ของเซปป์ขอเลื่อนการผ่าตัดออกไปเป็นเช้าวันรุ่งขึ้น. ในระหว่างนั้น พวกเขาเสาะหาคนเลี้ยงแกะคนหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการใช้สมุนไพรรักษาโรค. คนเลี้ยงแกะเก็บพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มาจำนวนหนึ่ง แล้วเอามาสับรวมกันจนเละคล้ายผักขมต้ม และเอาไปโปะแผลนั้น.
พอถึงรุ่งเช้า แผลดูดีขึ้น และการผ่าตัดก็เลื่อนออกไปอีกครั้ง. การรักษาด้วยสมุนไพรดำเนินต่อไป และในที่สุดแผลก็หายสนิท. วิลล์สแททเทอร์ทำการศึกษาเรื่องเคมีต่อไปที่มหาวิทยาลัยมิวนิกในเยอรมนี และต่อมาเขาชนะรางวัลโนเบลเนื่องด้วยการค้นพบที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของเขาเรื่องสารสีของพืช โดยเฉพาะคลอโรฟีลล์. น่าสังเกต ราว ๆ 25 เปอร์เซ็นต์ของยารักษาโรคที่ใช้กันในปัจจุบัน มีบางส่วนหรือไม่ก็ทั้งหมดสกัดมาจากสารเคมีธรรมชาติที่อยู่ในพืช.
จำเป็นต้องมีความสมดุล
กระนั้น ควรตระหนักว่าเกี่ยวด้วยการรักษาทางการแพทย์แล้ว สิ่งที่ใช้ได้ผลอย่างน่าทึ่งกับคนหนึ่ง อาจไม่ค่อยได้ผลกับอีกคนหนึ่ง. ประสิทธิผลของการรักษาไม่ว่าแบบใดก็ตามขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งชนิดและความร้ายแรงของโรค ตลอดจนสุขภาพโดยทั่วไปของคนไข้เอง. แม้กระทั่งจังหวะเวลาก็อาจเป็นปัจจัยด้วย.
การรักษาด้วยทางเลือกอื่นมักจะเห็นผลช้ากว่าการใช้วิธีหลัก ดังนั้น โรคที่อาจปัดเป่าได้หากมีการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ อาจกำเริบถึงขั้นที่จำเป็นต้องใช้ยาแรง ๆ—หรืออาจต้องผ่าตัด—เพื่อรักษาชีวิตไว้. ฉะนั้น อาจเป็นการไม่สุขุมที่จะยึดติดกับการรักษาแบบใดแบบหนึ่งเสมือนเป็นวิธีเดียวเท่านั้นในการจัดการกับปัญหาสุขภาพ.
เวชกรรมทางเลือกต่างจากการรักษาด้วยวิธีหลักในแง่ของการจัดการกับสุขภาพ. วิธีรักษามักจะเป็นในเชิงป้องกันมากกว่า และจะเพ่งเล็งไปที่รูปแบบชีวิตของคนนั้นรวมทั้งสภาพแวดล้อมและวิธีที่ปัจจัยเหล่านี้กระทบสุขภาพของเขา. พูดอีกนัยหนึ่ง ผู้ให้การรักษาด้วยทางเลือกอื่นโดยทั่วไปแล้วจะสนใจทั้งตัวบุคคล แทนที่จะเพ่งเล็งแค่อวัยวะที่เป็นโรคหรืออาการของโรค.
ไม่ต้องสงสัย เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เวชกรรมทางเลือกดึงดูดใจผู้คนอย่างมากก็คือการรับรู้ว่าผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้รักษานั้นนิ่มนวลกว่าและอันตรายน้อยกว่าสิ่งที่นำมาใช้ในการรักษาด้วยวิธีหลัก. ฉะนั้น เนื่องจากผู้คนสนใจใคร่รู้มากขึ้นว่าการรักษาแบบใดปลอดภัยและได้ผล จึงขอยกสักสองสามตัวอย่างเกี่ยวกับการรักษาด้วยทางเลือกอื่นในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 โปรดดูตื่นเถิด! ฉบับ 22 มิถุนายน 1988 (ภาษาอังกฤษ) หน้า 25-26.