รูปแบบต่าง ๆ ของการรักษาด้วยทางเลือกอื่น
รูปแบบต่าง ๆ ของการรักษาด้วยทางเลือกอื่น
“การสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการรักษาระหว่างแพทย์และผู้ให้การรักษาด้วยทางเลือกอื่นเป็นสิ่งสำคัญต่อการดูแลสุขภาพที่ดีกว่าสำหรับคนไข้ที่เลือกรับการรักษาด้วยทางเลือกอื่น.”
คำกล่าวนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสารแพทยสมาคมแห่งอเมริกา (เจมา) ฉบับ 11 พฤศจิกายน 1998. บทความนั้นกล่าวว่า “อาจคาดหมายได้ว่าความจำเป็นนี้ [การแลกเปลี่ยนความเห็น] จะเพิ่มมากขึ้นขณะใช้วิธีรักษาด้วยทางเลือกอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทประกันภัยรวมเอาการรักษาแบบนี้เข้าไว้ในกรมธรรม์ที่เขาเสนอให้.”
ผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังใช้ทางเลือกอื่นในการรักษา ขณะเดียวกันก็รับประโยชน์จากรูปแบบต่าง ๆ ของการรักษาที่เป็นตามวิธีหลักมากกว่า. กระนั้น บางคนไม่ได้แจ้งแพทย์ของตนให้รู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร. ฉะนั้น จดหมายข่าวสุขภาพและโภชนาการของมหาวิทยาลัยทัฟต์ (ภาษาอังกฤษ) ประจำเดือนเมษายน 2000 กระตุ้นเตือนว่า “คุณควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับคุณโดยร่วมมือกับ แพทย์ของคุณแทนที่จะทำตามลำพัง.” จดหมายข่าวนี้เสริมว่า “ไม่ว่าแพทย์ของคุณจะเห็นด้วยกับวิธีที่คุณเลือกหรือไม่ คุณก็ยังได้ประโยชน์อยู่ดีจากการให้ข้อมูลดังกล่าว.”
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพเมื่อมีการใช้สมุนไพรบางอย่างควบคู่กับการรักษาตามวิธีหลัก. เนื่องจากตระหนักว่าคนไข้บางคนกำลังรักษาด้วยทางเลือกอื่น แพทย์หลายคนจึงพยายามจะไม่ให้ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการร่วมมือกับนักบำบัดด้วยทางเลือกอื่น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของคนไข้.
เพื่อท่านผู้อ่านจะได้แนวคิดเกี่ยวกับการรักษาด้วยทางเลือกอื่นซึ่งในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากขึ้นในหลายประเทศกำลังใช้อยู่ เราจึงขอพูดถึงวิธีรักษาบางอย่างพอสังเขป. อย่างไรก็ตาม โปรดสังเกตว่าตื่นเถิด! ไม่ได้สนับสนุนวิธีรักษาเหล่านี้หรือนอกเหนือจากนี้ไม่ว่าวิธีใด.
การรักษาด้วยสมุนไพร
วิธีนี้อาจเป็นรูปแบบการรักษาที่พบเห็นมากที่สุดในบรรดาเวชกรรมทางเลือก. แม้มีการใช้สมุนไพรในการรักษามาตลอดหลายศตวรรษ แต่ก็มีพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง. มีพืชและสารสกัดจากพืชจำนวนน้อยกว่านั้นอีกที่ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดถี่ถ้วนจริง ๆ ถึงขั้นที่มีข้อมูลแพร่หลายเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลของมัน. ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับสมุนไพรอาศัยประสบการณ์จากการใช้ที่ผ่าน ๆ มา.
อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีมานี้มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรบางชนิดมีประโยชน์ในการรักษาอาการต่าง ๆ เช่น ความซึมเศร้าอย่างอ่อน, ความจำเสื่อมเพราะอายุมากขึ้น, และอาการต่อมลูกหมากโตแบบไม่ร้ายแรง. สมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัยกันคือ แบล็กโคฮอช ซึ่งบางครั้งเรียกว่า แบล็กสเน็กรูต, บักเบน, หรือ แรตเติลรูต. ชาวอินเดียนแดงต้มรากไม้นี้และใช้เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนและการให้กำเนิดบุตร. ตามรายงานในจดหมายข่าวฮาร์เวิร์ด วูแมนส์ เฮลท์ ว็อช ประจำเดือนเมษายน 2000 บอกว่า การศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า สารสกัดจากแบล็กโคฮอชเชิงพาณิชย์ของเยอรมันที่ทำให้ได้มาตรฐาน อาจใช้ได้ผล “ในการบรรเทาอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับภาวะหมดระดู.”
ดูเหมือนการที่คนส่วนใหญ่ต้องการยาธรรมชาตินี้อาจเป็นเพราะความเข้าใจที่ว่ามันปลอดภัยกว่ายาสังเคราะห์. แม้เรื่องนี้อาจเป็นจริงอยู่บ่อย ๆ แต่สมุนไพรบางชนิดก็มีผลข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่น. ยกตัวอย่าง สมุนไพรชนิดหนึ่งที่ผู้คนกำลังนิยมกันซึ่งมีการโฆษณาว่าเป็นยาลดอาการคัดจมูก
และลดน้ำหนักแบบธรรมชาติ อาจทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นได้.ยังมีสมุนไพรที่จะทำให้เลือดของผู้ป่วยออกมากขึ้นอีกด้วย. ถ้าสมุนไพรเหล่านี้ใช้ร่วมกับยาที่ทำให้ “เลือดลดความข้นเหนียว” อาจเกิดปัญหาร้ายแรงได้. ผู้เป็นโรคเรื้อรังอย่างเช่น เบาหวานหรือความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่กำลังรับการรักษาแบบอื่นควรระมัดระวังเรื่องการใช้สมุนไพรรักษา.—โปรดดูกรอบสี่เหลี่ยมในหน้านี้.
เรื่องน่าห่วงอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการรักษาด้วยสมุนไพรคือ ไม่มีการรับประกันเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย. ไม่กี่ปีมานี้ มีรายงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ปนเปื้อนสารโลหะหนักและสารปนเปื้อนอื่น ๆ. นอกจากนี้ มีการพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรบางอย่างมีส่วนผสมตามที่บอกไว้ในฉลากเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย. ตัวอย่างเหล่านี้เน้นว่า จำเป็นต้องซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรรวมทั้งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่น ๆ จากแหล่งที่มีชื่อและไว้ใจได้.
อาหารเสริม
มีรายงานว่าอาหารเสริมอย่างเช่น วิตามินและเกลือแร่เป็นประโยชน์ในการป้องกันและแก้ปัญหาสุขภาพหลายอย่าง รวมทั้งโรคโลหิตจางและกระดูกพรุน—และกระทั่งป้องกันไม่ให้ทารกเกิดมาไม่สมประกอบ.
ขนาดรับประทานวิตามินและเกลือแร่ในแต่ละวันที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำถือว่าค่อนข้างปลอดภัยและเป็นประโยชน์.ในอีกด้านหนึ่ง การรับประทานวิตามินมาก ๆ ตามที่มีการโฆษณากันว่ารักษาโรคบางอย่างได้นั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ. เป็นไปได้ที่สิ่งเหล่านี้อาจเข้าไปขัดขวางการทำปฏิกิริยาหรือการดูดซึมสารอาหารอื่น และอาจก่อผลข้างเคียงร้ายแรงได้เช่นกัน. ความเป็นไปได้นี้ รวมทั้งการขาดหลักฐานแน่นหนาสนับสนุนเกี่ยวกับการใช้วิตามินมาก ๆ เป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม.
โฮมีโอแพทิ
โฮมีโอแพทิได้รับการพัฒนาขึ้นในศตวรรษที่ 17 เป็นวิธีรักษาในแบบที่กรุณากว่าและนุ่มนวลกว่าวิธีที่ผู้คนนิยมใช้กันในตอนนั้น. โฮมีโอแพทิอาศัยหลักที่ว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” และอาศัยทฤษฎีที่ว่า ให้กินยาน้อยที่สุด. ยาแบบโฮมีโอแพทิได้มาจากการนำยาที่จะรักษามาเจือจางซ้ำหลาย ๆ ครั้ง—บางครั้ง ทำให้เจือจางมากจนโมเลกุลของสารเดิมไม่เหลือแม้แต่โมเลกุลเดียว.
กระนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอกแล้วพบว่าการใช้ยาแบบโฮมีโอแพทิให้ผลบางอย่างในการรักษาอาการต่าง ๆ ได้ เช่น หืด, ภูมิแพ้, และอาการท้องร่วงของเด็ก. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในวิธีโฮมีโอแพทิถือว่าปลอดภัยทีเดียว เพราะถูกทำให้เจือจางมาก. บทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารเจมา ฉบับ 4 มีนาคม 1998 ให้ข้อสังเกตว่า “สำหรับผู้ป่วยหลายคนที่ทนทุกข์จากปัญหาเรื้อรังซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอะไร โฮมีโอแพทิอาจเป็นวิธีรักษาที่สำคัญและเป็นประโยชน์. ถ้าใช้ภายในขอบเขตแล้ว โฮมีโอแพทิสามารถเสริมเข้ากับเวชกรรมสมัยใหม่ในฐานะเป็น ‘เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งในกระเป๋าแพทย์.’ อย่างไรก็ตาม ในภาวะฉุกเฉินที่อาจคุกคามชีวิต คงสุขุมกว่าหากใช้วิธีหลักในการรักษา.
ไคโรแพรกติก
มีการรักษาด้วยทางเลือกอื่นจำนวนหนึ่งที่ใช้มือนวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย. ไคโรแพรกติกจัดอยู่ในบรรดาการรักษาด้วยทางเลือกอื่นซึ่งมีการใช้แพร่หลายที่สุด โดยเฉพาะในสหรัฐ. วิธีนี้อาศัยแนวคิดที่ว่า เมื่อแนวของกระดูกสันหลังที่ผิดรูปได้รับการปรับให้เข้าที่ อาจก่อผลในทางรักษาได้. นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหมอไคโรแพรกติกจึงเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการนวดกระดูกสันหลังเพื่อปรับข้อกระดูกสันหลังให้คนไข้ของตน.
เวชกรรมตามวิธีหลักไม่สามารถบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างได้เสมอไป. ในอีกด้านหนึ่ง คนไข้บางรายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีไคโรแพรกติกรายงานว่าประสบความพึงพอใจอย่างมาก. แทบไม่มีหลักฐานว่ามีการใช้วิธีไคโรแพรกติกเพื่อรักษาอาการอื่นนอกจากการปวดหลัง.
น่าสังเกต มีรายงานไม่มากนักเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาด้วยวิธีไคโรแพรกติกซึ่งทำโดยผู้ชำนาญ. แต่ในเวลาเดียวกันเราควรทราบไว้ว่าการบิดคอเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนร้ายแรงหลายอย่าง รวมถึง
โรคเส้นเลือดสมองและอัมพาต. เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำคนไข้ให้รับการตรวจอย่างละเอียดเสียก่อนเพื่อดูว่าการปฏิบัติแบบใดโดยเฉพาะที่ปลอดภัยสำหรับเขา.การนวด
ประโยชน์ของการนวดเป็นที่ยอมรับกันมานานในเกือบจะทุกวัฒนธรรม. แม้ในคัมภีร์ไบเบิลก็มีบันทึกเกี่ยวกับการนวด. (เอศเธระ 2:12) วารสารบริติช เมดิคัล เจอร์นัล (บีเอ็มเจ) ฉบับ 6 พฤศจิกายน 1999 ให้ข้อสังเกตว่า “เทคนิคการนวดมีบทบาทสำคัญในการรักษาตามแผนโบราณของชาวจีนและอินเดีย. การนวดของชาวยุโรปได้รับการจัดให้เป็นแบบแผนในตอนต้น ๆ ของศตวรรษที่ 19 โดยเพียร์ เฮนริก ลิง ซึ่งได้พัฒนาวิธีที่ในปัจจุบันรู้จักกันว่า การนวดแบบสวีเดน.”
การนวดเป็นที่ยอมรับเพราะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย, ทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น, และช่วยขจัดสารพิษที่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ. ปัจจุบัน แพทย์สั่งให้คนไข้ที่มีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง, ปวดหัว, และระบบย่อยอาหารผิดปกติ เข้ารับการนวด. ผู้คนส่วนใหญ่บอกว่า การนวดทำให้พวกเขารู้สึกสบายอย่างบอกไม่ถูก. ตามคำกล่าวของแพทย์หญิงแซนดรา แมกลานนาฮัน “แปดสิบเปอร์เซ็นต์ของโรคเกี่ยวข้องกับความเครียด และการนวดช่วยลดความเครียด.”
วารสารบีเอ็มเจ รายงานว่า “เทคนิคการนวดส่วนใหญ่ไม่ค่อยเสี่ยงต่อผลกระทบที่เป็นอันตราย. ข้อห้ามในการนวดโดยทั่วไปแล้วอาศัยสามัญสำนึก (ยกตัวอย่าง หลีกเลี่ยงการนวดคลึงบริเวณไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือบริเวณบวมช้ำเนื่องจากเส้นเลือดดำส่วนลึกอุดตันตามแขนขา) . . . ไม่มีหลักฐานแสดงว่าการนวดผู้ที่เป็นโรคมะเร็งจะทำให้เชื้อกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ มากขึ้น.”
อี. ยุสตัน เลอบรัน อดีตประธานสมาคมการบำบัดด้วยการนวดแห่งอเมริกา ให้ข้อสังเกตว่า “เนื่องจากการนวดกลายเป็นกระแสหลักมากขึ้น ผู้บริโภคจึงเป็นห่วงอยากให้หมอนวดมีประกาศนียบัตรรับรอง และพวกเขาควรเป็นห่วง.” วารสารบีเอ็มเจ แนะนำว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการนวดที่ผิดจรรยาบรรณ “คนไข้ควรทำให้แน่ใจว่าหมอนวดได้รับการรับรองจากองค์กรที่กำหนดกฎระเบียบในเรื่องนั้น.” รายงานหนึ่งในปีที่แล้วให้ข้อสังเกตว่า มีหมอนวดได้รับใบอนุญาตใน 28 รัฐของสหรัฐ.
การฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นเทคนิคการรักษาแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากตลอดทั่วโลก. แม้คำ “ฝังเข็ม” จะครอบคลุมเทคนิคต่าง ๆ หลายอย่าง แต่ที่พบเห็นทั่วไป
คือการใช้เข็มเล็กแหลมแทงเข้าไปในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสนองตอบเชิงรักษา. การศึกษาวิจัยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาชี้ว่า ในบางกรณีการฝังเข็มอาจกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเคมีเกี่ยวกับระบบประสาทออกมา เช่น เอนดอร์ฟิน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้.การวิจัยบางรายชี้ว่า การฝังเข็มอาจช่วยรักษาโรคหลายชนิดให้หาย และอาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยแทนการใช้ยาชาหรือยาสลบ. องค์การอนามัยโลกยอมรับการใช้วิธีฝังเข็มเพื่อรักษาอาการป่วยต่าง ๆ 104 ชนิด. และคณะกรรมการหนึ่งซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ อ้างถึงหลักฐานที่ว่า การฝังเข็มเป็นวิธีรักษาแบบหนึ่งที่ยอมรับได้ในการรักษาอาการปวดที่เกิดจากการผ่าตัด, การปวดกล้ามเนื้อ, การเป็นตะคริวในช่วงที่มีประจำเดือน, และการคลื่นไส้อาเจียนอันเนื่องมาจากเคมีบำบัดและการตั้งครรภ์.
แม้ผลข้างเคียงแบบร้ายแรงจากการฝังเข็มจะมีน้อยมาก แต่บางคนก็อาจรู้สึกเจ็บระบม, เกิดอาการชา, หรือไม่ก็เจ็บแปลบ. เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างดีหรือการใช้เข็มแบบใช้แล้วทิ้งสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้. หมอฝังเข็มหลายคนขาดทักษะทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องหรือการแนะนำวิธีรักษาแบบอื่นที่เหมาะสมกว่า. คงไม่สุขุมหากจะมองข้ามการขาดความชำนาญในการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเลือกใช้วิธีฝังเข็มเพื่อช่วยบรรเทาอาการเรื้อรังต่าง ๆ.
ทางเลือกมีมากมาย
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของการรักษาหลายแบบที่ในปัจจุบันมีการอ้างถึงโดยทั่วไปในบางประเทศฐานะเป็นการรักษาด้วยทางเลือกอื่น. ในอนาคต การรักษาดังกล่าวบางวิธี รวมทั้งวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ได้เอ่ยถึง ณ ที่นี้ อาจมีการนำมาใช้เป็นวิธีหลักก็ได้ดังที่มีการทำกันอยู่แล้วในบางส่วนของโลก. แน่ละ บางวิธีอาจต้องเลิกใช้หรืออาจมีชื่อฉาวโฉ่ด้วยซ้ำ.
น่าเศร้า ความเจ็บปวดและโรคภัยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์จนแยกไม่ออก ดังคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “เรารู้ว่าสิ่งทรงสร้างทั้งปวงนั้นเฝ้าแต่คร่ำครวญด้วยกันและตกอยู่ในความเจ็บปวดด้วยกันจนกระทั่งบัดนี้.” (โรม 8:22, ล.ม.) เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะคาดหมายว่ามนุษย์คงแสวงหาการบรรเทา. แต่เราจะใช้วิธีไหนดี? โปรดพิจารณาข้อสังเกตบางประการที่อาจช่วยคุณในการเลือกวิธีรักษา.
[กรอบ/ภาพหน้า 8]
การใช้สมุนไพรร่วมกับยาที่แพทย์สั่งมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
ผู้คนทั่วไปมักได้รับคำเตือนไม่ให้กินยาที่แพทย์สั่งร่วมกับยาอื่น ๆ หรือพร้อม ๆ กับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์. มีอันตรายด้วยไหมในการกินยาสมุนไพรบางอย่างร่วมกับยาที่แพทย์สั่ง? การปฏิบัติดังกล่าวแพร่หลายแค่ไหน?
บทความหนึ่งในวารสารแพทยสมาคมแห่งอเมริกา พูดถึง “การกินยาที่แพทย์สั่งร่วมกับสมุนไพร.” วารสารดังกล่าวให้ข้อสังเกตว่า “ใน 44% ของผู้ใหญ่ที่บอกว่าตนกินยาเป็นประจำตามที่แพทย์สั่งนั้น เกือบ 1 ใน 5 (18.4%) รายงานว่ากินพร้อม ๆ กับยาสมุนไพรอย่างน้อย 1 ชนิด หรือกินพร้อมกับวิตามินจำนวนมาก, หรือทั้งสองอย่าง.” เป็นสิ่งสำคัญที่จะทราบถึงอันตรายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติดังกล่าว.
ผู้ที่กินยาสมุนไพรบางชนิดควรเป็นห่วงด้วยเช่นกันเมื่อจะเข้ารับการผ่าตัดที่จำเป็นต้องวางยาสลบ. นายแพทย์จอห์น นีลด์ ประธานสมาคมวิสัญญีแพทย์แห่งอเมริกา อธิบายว่า “มีรายงานเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้คนที่บอกว่า สมุนไพรบางอย่างที่นิยมกันรวมทั้งโสมและต้นเซนต์จอห์นเวิร์ต อาจทำให้ความดันโลหิตไม่คงที่เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ. นี่อาจเป็นอันตรายอย่างมากระหว่างที่สลบอยู่.”
แพทย์ผู้นี้เสริมว่า “สมุนไพรอื่น ๆ เช่น ใบแปะก๊วย, ขิง, และฟีเวอร์ฟิว (พืชชนิดหนึ่งในวงศ์เบญจมาศ) อาจเข้าไปรบกวนการก่อลิ่มเลือด ซึ่งเป็นอันตรายโดยเฉพาะระหว่างการวางยาสลบที่ฉีดยาเข้าทางไขสันหลัง—ถ้ามีเลือดออกใกล้ ๆ ไขสันหลัง อาจทำให้เป็นอัมพาตได้. ต้นเซนต์จอห์นเวิร์ตอาจทำให้ฤทธิ์ของยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบรุนแรงยิ่งขึ้น.”
เห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกินยาสมุนไพรบางชนิดร่วมกับยาที่แพทย์สั่ง. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และแม่ลูกอ่อนควรทราบว่าการกินยาสมุนไพรบางชนิดร่วมกับยาที่แพทย์สั่งอาจก่อความเสียหายแก่ทารกได้. ฉะนั้น ขอสนับสนุนให้คนไข้พูดคุยกับแพทย์ว่าตนกำลังกินยาอะไรอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยทางเลือกอื่นหรือไม่ก็ตาม.
[ภาพหน้า 7]
สมุนไพรบางชนิดมีประโยชน์ในการรักษาโรค
แบล็กโคฮอช
เซนต์จอห์นเวิร์ต
[ที่มาของภาพ]
© Bill Johnson/Visuals Unlimited
[ภาพหน้า 7]
เพื่อได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาจำเป็นต้องร่วมมือกัน