ทำป่าแอมะซอนให้เขียว
ทำป่าแอมะซอนให้เขียว
โดยผู้เขียน ตื่นเถิด! ในบราซิล
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติรายงานว่า ในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ละปีโลกสูญเสียป่าธรรมชาติไปหลายล้านไร่. เฉพาะในเขตป่าแอมะซอนของบราซิลแห่งเดียว เลื่อยโซ่ที่ดังกระหึ่มและไฟป่าที่ปะทุได้เปลี่ยนพื้นที่บริเวณหนึ่งของป่าดิบซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศเยอรมนีให้กลายเป็นเพียงทุ่งหญ้าไปแล้ว. แทนที่ทัศนียภาพของทิวไม้ซึ่งเคยเป็นผืนไม่ขาดตอน ร่มไม้ของป่าในเวลานี้ถูกแทรกเป็นแห่ง ๆ ด้วยพื้นป่าซึ่งเป็นดินเหนียวแตกระแหง มีวัชพืชคลุมอยู่บาง ๆ และมองเห็นตอไม้ที่โดนแดดแผดเผา.
แม้ว่าการทำลายป่าอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นนี้น่าตกใจ แต่ก็พอจะมองเห็นประกายแห่งความหวัง. โครงการหนึ่งซึ่งมีท่าว่าจะไปได้ดีได้เกิดผลขึ้นมาบ้างแล้ว. โครงการนี้เรียกว่า วนเกษตร (agroforestry) และแหล่งข้อมูลหนึ่งพรรณนาถึงโครงการนี้ว่าเป็น “ระบบซึ่งมีการปลูกต้นไม้ร่วมกับการเพาะปลูกพืชผลหรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในลักษณะที่สอดคล้องกลมกลืนในเชิงนิเวศวิทยา . . . และเพื่อยังชีพ.” วนเกษตรดำเนินงานอย่างไร? โครงการนี้ประสบความสำเร็จเช่นไรบ้าง? อาจคาดหวังอะไรได้ในอนาคตจากโครงการนี้? เพื่อจะได้คำตอบ ตื่นเถิด! ได้ไปเยี่ยมชมสถาบันวิจัยแห่งชาติในลุ่มน้ำแอมะซอน (INPA) ที่มาเนาส์ เมืองหลวงของรัฐอามาโซนัส ประเทศบราซิล.
การหนีที่น่าผิดหวัง
โยฮันเนส ฟาน เลเวน นักวิชาการพืชไร่ชาวดัตช์ประจำกองพืชไร่ของ INPA ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรแถบลุ่มน้ำแอมะซอนในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา. แต่ว่าในตอนแรกเริ่มนั้น เกษตรกรจำนวนมากมาอยู่ในป่าแอมะซอนได้อย่างไร? การทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่โดยอาศัยเครื่องจักรกลในแถบภาคกลางและภาคใต้ของบราซิลเริ่มแย่งที่ดินและตัดหนทางทำมาหากินของเกษตรกรรายย่อย ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นฐาน. ส่วนเกษตรกรที่ปลูกปอกระเจา ซึ่งใช้ในการทอกระสอบ ก็พบว่าอาชีพ
ทำกินของตนสูญสิ้นไปเมื่อถุงที่ทำจากพลาสติกเข้ามาแทนที่กระสอบ. นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกหลายคนซึ่งอาศัยอยู่ในเขตที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงถูกบีบให้ย้ายออกไปแสวงหาที่ดินที่อุดมกว่า. แต่พวกเขาจะไปที่ไหนได้ล่ะ? เมื่อได้ยินคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับที่ดิน, ที่อยู่อาศัย, และดินอันอุดมสมบูรณ์ในแอมะซอน พวกเขาจึงเลือกที่จะเดินในถนนสายใหม่ซึ่งนำไปสู่ป่าดิบ.อย่างไรก็ตาม ไม่ช้าเกษตรกรก็พบว่าพวกเขาได้มาตั้งรกรากในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุก, ความชื้นสูง, ภูมิอากาศร้อน, และดินที่ปลูกพืชได้ไม่ดี. ไม่เกินสองถึงสี่ปี ดินก็จืดไปหมด และปัญหาเดิมก็เกิดขึ้นอีก คือคนยากจนบนผืนดินที่ปลูกพืชได้ไม่ดี. เกษตรกรผู้หมดทางไปแก้ปัญหาด้วยการถางป่ามากขึ้นเพื่อจะมีที่เพาะปลูกต่อไป.
จริงอยู่ เกษตรกรรายย่อยไม่ใช่ตัวการสำคัญที่ทำลายป่าแอมะซอน. ฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่, บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจการเกษตร, การทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมไม้, และโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดการทำลายป่า. ถึงกระนั้น การที่เกษตรกรรายย่อยหลั่งไหลเข้ามาและวิธีที่พวกเขาถางเผาป่าเพื่อการเพาะปลูกก็มีส่วนอยู่ด้วยในการทำลายป่า.
ปรึกษา “ห้องสมุดที่มีชีวิต”
ฟาน เลเวน กล่าวว่า “ไม่ว่าเกษตรกรที่ยากจนเหล่านี้ก่อผลกระทบต่อป่ามากเพียงไร พวกเขาก็อยู่ที่นี่แล้ว
และไม่มีที่จะไป. ดังนั้น เพื่อชะลอการทำลายป่า เราต้องช่วยพวกเขาให้เลี้ยงชีพบนที่ดินของตนได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้น.” ในจุดนี้แหละที่โครงการวนเกษตรเข้ามามีบทบาท โดยสอนวิธีเพาะปลูกแบบที่ลดการสูญเสียหน้าดินและทำให้เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินแปลงเดิมซึ่งถางแล้วได้หลาย ๆ ปี. นักวิจัยได้รายละเอียดต่าง ๆ ที่ใช้ในโครงการนี้มาอย่างไร?ก่อนที่จะเริ่มโครงการวนเกษตรของ INPA ได้มีการสำรวจ, ทำแบบสอบถาม, รวมทั้งเก็บตัวอย่างดินและพืชในพื้นที่สำรวจเป็นเวลาหลายปี. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลอันมีค่าหลายอย่างได้มาจากการสัมภาษณ์ “ห้องสมุดที่มีชีวิต”—คือชาวอินเดียนแดงและชาวคาบอคลุสซึ่งเป็นลูกครึ่งเชื้อสายคนผิวขาว, คนผิวดำ, และอินเดียนแดง ซึ่งบรรดาบรรพบุรุษของพวกเขาตั้งรกรากอยู่ในลุ่มน้ำแอมะซอน.
คนเหล่านี้ที่อาศัยในลุ่มน้ำแอมะซอนมีความรู้เป็นคลังทรัพย์. พวกเขาคุ้นเคยกับภูมิอากาศในท้องถิ่นและชนิดของดิน—ดินดำ, ดินเหนียวสีแดง, ดินเหนียวสีขาว, ดินแดง, และดินเหนียวปนทราย—ตลอดจนรู้จักผลไม้, เครื่องเทศ, และพืชที่ใช้เป็นยาอันเป็นผลผลิตของป่าแห่งนี้. ด้วยการตักตวงประโยชน์จากความรู้เช่นนี้ นักวิชาการพืชไร่และเกษตรกรจึงกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานกันในการวิจัย ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ช่วยปรับปรุงโครงการนี้ให้ดียิ่งขึ้น.
ป่าไม่ใช่เหมือง
โครงการวนเกษตรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป. ในขั้นแรก ได้มีการช่วยให้เกษตรกรสำนึกว่าไม่ควรมองป่าเหมือนกับมองเหมืองแร่—ไปทำงานที่นั่นแล้วหลังจากนั้นก็ทิ้งไป—แต่ให้ถือว่าป่าเป็นทรัพยากรที่สามารถฟื้นฟูขึ้นมาใหม่. ในขั้นต่อมา เกษตรกรก็จะได้รับคำแนะนำให้ปลูกไม่เฉพาะมันสำปะหลัง, กล้วย, ข้าวโพด, ข้าว, ถั่ว, และพืชผลที่โตเร็วอื่น ๆ แต่ให้ปลูกต้นไม้ด้วย. “ต้นไม้รึ?” เกษตรกรถาม. “ทำไมล่ะ?”
เนื่องจากเกษตรกรมักมาจากพื้นที่ซึ่งต้นไม้ไม่ได้มีบทบาทในการเกษตรและเนื่องจากพวกเขาไม่คุ้นเคยกับต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในป่าแอมะซอนด้วย นักวิจัยจึงต้องให้คำอธิบายอย่างละเอียดถึงผลประโยชน์ของการปลูกต้นไม้. พวกเขาอธิบายว่าดินในป่าไม่สามารถเก็บกักสารอาหารที่จำเป็นสำหรับพวกธัญพืช. ก่อนที่สารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าไปในธัญพืชอย่างเช่น ข้าวโพด ฝนจะชะสารอาหารเหล่านี้ไปเสียก่อน. ในทางตรงข้าม ต้นไม้ช่วยซึมซับและสะสมสารอาหารและรักษาความอุดมของดิน. นอกจากนั้น ต้นไม้ให้อาหารและร่มเงาแก่สัตว์ทั้งหลาย. เกษตรกรยังสามารถใช้ต้นไม้เป็นเสารั้วที่มีชีวิตเพื่อแสดงเขตที่ดินของตนได้ด้วย. และแน่นอน ไม้ผลเป็นแหล่งรายได้อีกทางหนึ่งซึ่งให้ทั้งผลไม้และเนื้อไม้.
นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีการสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกต้นไม้หลายชนิดและหลายพันธุ์. ทำไม? เพื่อจะเก็บเกี่ยวผลและตัดไม้ได้หลาย ๆ ชนิด. โดยวิธีนี้ เกษตรกรหลีกเลี่ยงการลงเอยด้วยการเก็บเกี่ยวผลเพียงหนึ่งหรือสองชนิดเป็นปริมาณมาก ๆ ซึ่งเขาต้องขายไปในราคาต่ำ เพราะทุกคนต่างก็ขายผลผลิตอย่างเดียวกันพร้อม ๆ กัน.
โครงการระยะแรกให้ดอกผล
มีการปลูกต้นไม้ชนิดใด? “ในขณะนี้ เราใช้ไม้ผลประมาณ 30 ถึง 40 ชนิดตามที่มีชื่ออยู่ในนี้” นักวิชาการพืชไร่ ฟาน เลเวน กล่าวขณะที่ยื่นรายชื่อต้นไม้ซึ่งมีชื่อแปลก ๆ ทั้งหมด 65 ชื่อให้เรา. เพื่อแสดงว่าโครงการนี้ได้ผล ฟาน เลเวนให้เราดูภาพถ่ายของป่าที่ถูกถางแล้วแปลงเดียวกันแต่ถ่ายในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน.—โปรดดูในกรอบ “วิธีที่จะทำให้ป่าฟื้นตัว.”
การไปชมตลาดในเมืองมาเนาส์ทำให้เห็นได้ว่าโครงการวนเกษตรในระยะแรกนี้กำลังเกิดดอกออกผล. ในตลาดเหล่านี้ มีผลไม้ที่ปลูกในท้องถิ่นขายมากกว่า 60 ชนิดแล้ว. สำหรับในอนาคตนั้น นักวิชาการพืชไร่หวังไว้ว่า ยิ่งวนเกษตรประสบผลสำเร็จมากเท่าไร การทำลายป่าก็จะยิ่งช้าลงเท่านั้น. ที่จริง เมื่อเกษตรกรได้เรียนรู้แล้วเกี่ยวกับวิธีปลูกพืชซ้ำในไร่เดิม เขาอาจเลิกตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่ในที่ใหม่.
ความพยายามที่น่าชมเชยดังกล่าวคงไม่อาจขจัดภัยคุกคามที่มีต่อสภาพทางนิเวศวิทยาของแผ่นดินโลกให้หมดไป. แต่ความพยายามเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่อาจทำได้ เมื่อมีการปฏิบัติต่อทรัพยากรอันมีค่าด้วยความนับถือ.
[กรอบ/ภาพหน้า 24]
ส้มและอะเซโรลาต้องหลบให้
ส้ม สัญลักษณ์อันเป็นที่รู้จักกันดีของวิตามินซี หมองไปถนัดตาเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดหนึ่งซึ่งยกย่องกันว่าเป็น “ราชินีองค์ใหม่แห่งวิตามินซี.” แม้แต่อะเซโรลาซึ่งครองความยิ่งใหญ่ในหมู่ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซีก็ยังต้องยอมรับความพ่ายแพ้. ผู้ครองบัลลังก์องค์ใหม่คือใคร? ผลไม้เล็ก ๆ แต่มีสีม่วงสด ขนาดประมาณผลองุ่น และเติบโตตามธรรมชาติในที่ราบน้ำท่วมถึงของแอมะซอน. ชื่อของมันคืออะไร? คามู-คามู. ผลไม้นี้สมควรได้ครองบัลลังก์ไหม? วารสารฉบับหนึ่งในบราซิลชี้ว่า ส้ม 100 กรัม มีวิตามินซี 41 มิลลิกรัม ส่วนอะเซโรลา 100 กรัม มีวิตามินซี 1,790 มิลลิกรัม. ทว่า คามู-คามู ในปริมาณเท่ากันมีวิตามินซีมากถึง 2,880 มิลลิกรัม—70 เท่าของส้ม!
[ที่มาของภาพ]
Acerola and camu-camu: Silvestre Silva/Reflexo
[กรอบ/ภาพหน้า 25]
ศิลปะในการปลูกต้นไม้เป็นชั้น ๆ
หลังจากที่เกษตรกรตอบรับโครงการวนเกษตรไปบางส่วนแล้ว โยฮันเนส ฟาน เลเวน นักวิชาการพืชไร่ก็สามารถยื่นข้อเสนอที่ละเอียดยิ่งขึ้นแก่พวกเขา—โครงงานเกี่ยวกับสวนต้นไม้ของพวกเขาในอนาคต. แทนที่จะเลือกปลูกต้นอะไรก็ได้คละปนกันไป ได้มีการจำลองระบบเกษตรนิเวศโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยกำหนดว่าควรปลูกพืชชนิดใดบ้างและควรจัดเรียงอย่างไร. การปลูกต้นไม้เป็นชั้น ๆ หรือการจัดต้นไม้ขนาดเล็ก, ขนาดกลาง, และขนาดใหญ่ให้เติบโตด้วยกันเป็นกลุ่ม ๆ ต้องใช้ศิลปะ.
ยกตัวอย่าง กลุ่มแรกซึ่งประกอบไปด้วยฝรั่ง, กัวรานา, และคูปัวซู (พืชสกุลเดียวกับต้นโกโก้) จะปลูกไว้ชิด ๆ กัน. ต้นไม้เหล่านี้ต้นไม่สูงใหญ่และให้ดอกผลเร็ว. กลุ่มที่สอง ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดกลางอย่างเช่น บิริบา, อะโวคาโด, และปาล์มมูรูมูรู ต้องการระยะห่างระหว่างต้นมากกว่า. ต้นไม้ในกลุ่มนี้ โดยทั่วไปให้ผลช้ากว่ากลุ่มแรก. กลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นพวกต้นไม้ใหญ่อย่างเช่น บราซิลนัต, พีเคีย, และมะฮอกกานี ต้องการระยะห่างระหว่างต้นมากขึ้นไปอีก. ต้นไม้บางชนิดในกลุ่มสุดท้ายนี้ให้ผล, บางชนิดให้ไม้ราคาดี, และบางชนิดให้ผลผลิตทั้งสองอย่าง. เมื่อต้นไม้ทั้งสามกลุ่มนี้เติบโตขึ้นด้วยกัน ไร่ก็จะละม้ายคล้ายคลึงกับป่าธรรมชาติ.
[ภาพหน้า 25]
โยฮันเนส ฟาน เลเวน (ขวาสุด)
ตลาดในเมืองมาเนาส์ขายผลไม้ที่ปลูกในท้องถิ่น
[ที่มาของภาพ]
J. van Leeuwen, INPA, Manaus, Brazil
[กรอบ/ภาพหน้า 26]
วิธีที่จะทำให้ป่าฟื้นตัว
1. กุมภาพันธ์ 1993—ที่ดินแปลงนี้ในป่าแอมะซอนกลางถูกถางเผาในเดือนกันยายน 1992. ในเดือนมกราคม 1993 มีการปลูกสับปะรด. หนึ่งเดือนต่อมา ได้มีการปลูกไม้ผลด้วย.
2. มีนาคม 1994—สับปะรดโตแล้ว และไม้ผลที่ปลูกไว้ก็เริ่มมองเห็นได้ชัดขึ้น. หลักไม้ติดป้ายเล็ก ๆ ที่ปักไว้ข้าง ๆ ต้นบอกให้ทราบว่าต้นไม้เหล่านี้คือต้น อะบิว, บราซิลนัต, พีชปาล์ม ฯ ลฯ. การกำจัดวัชพืชที่เกษตรกรทำรอบ ๆ พืชผลให้ประโยชน์แก่ต้นไม้ด้วย. ราวกับจะแสดงความขอบคุณ ต้นไม้เริ่มช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน.
3. เมษายน 1995—พืชผลที่โตเร็วถูกเก็บเกี่ยว นำไปรับประทาน หรือขาย แต่ไม้ผลซึ่งมีหลากชนิดยังคงเติบโตต่อไป.
[ที่มาของภาพ]
Pictures 1-3: J. van Leeuwen, INPA-CPCA, Manaus, Brazil