ยูคาลิปตัสมีประโยชน์อย่างไร?
ยูคาลิปตัสมีประโยชน์อย่างไร?
โดยผู้เขียน ตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
ต้นไม้นี้บางชนิดสูงใหญ่มาก—สูงกว่า 90 เมตร—ติดอันดับโลกในจำพวกต้นไม้ที่สูงมาก ๆ. บางชนิดเตี้ยและบิดตัวทอดต่ำลงมาจนแทบจะติดพื้นดินที่แห้งผาก. ใบของต้นไม้พวกนี้เป็นผลงานการออกแบบที่น่าพิศวง และดอกของมันก็ก่อความยินดีแก่ผู้ที่ได้พบเห็น. คุณเองคงเคยใช้บางส่วนของต้นไม้นี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง.
ยูคาลิปตัสบางชนิดมีชื่อที่ฟังมีระดับ เช่น อัลไพน์ แอช และแทสเมเนียน โอ๊ก แต่ยูคาลิปตัสส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป (ในภาษาอังกฤษ) ในนาม กัม ทรี (ต้นยาง). อย่างไรก็ตาม อันที่จริงยางไม้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ซึ่งประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต และไม่มียูคาลิปตัสชนิดไหนที่ให้สารแบบนี้. ดังนั้น กัม ทรี จึงเป็นชื่อที่ตั้งผิด. นับว่าถูกต้องกว่าที่จะจัดต้นไม้พวกนี้ไว้ในไม้สกุลยูคาลิปตัส และมีสมาชิกในวงศ์เดียวกันนี้มากกว่า 600 ชนิดซึ่งเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของออสเตรเลีย.
ยูคาลิปตัสเติบโตได้ดีในภูมิอากาศเขตร้อนแถบนอร์ทเทิร์นแทร์ริทอรีของออสเตรเลีย รวมทั้งบริเวณที่ราบอันแห้งแล้งในเขตชนบททุรกันดาร. แต่ต้นไม้ชนิดนี้ยังเติบโตได้ดีด้วยในเกาะแทสเมเนียตอนใต้ซึ่งมีลมหนาวจากทวีปแอนตาร์กติก และในสภาพภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาติดชายฝั่งทะเลซึ่งมีหมอกปกคลุม. ต้นไม้นี้มีอยู่ทั่วทุกหนแห่งจนนักสำรวจและนักสัตววิทยาคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 19 โอดครวญว่า “คงไม่มีทางที่เราจะหนีให้พ้นกัม ทรี พวกนี้ซึ่งดูราวกับไม่มีที่สิ้นสุด: ไม่ว่าจะเดินไปกี่กิโลเมตร ก็ไม่มีใบไม้ชนิดอื่นให้เห็นแม้แต่น้อย.”
นับตั้งแต่ที่ชาวยุโรปหลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากในออสเตรเลียเมื่อศตวรรษที่ 19 ยูคาลิปตัสได้ถูกทำลายไปอย่างมาก. ต้นไม้พวกนี้ในพื้นที่ประมาณ 300,000 ตารางกิโลเมตรถูกถอนทิ้ง เพราะถูกมองว่ากีดขวางความก้าวหน้า. อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะมองไม่เห็นคุณประโยชน์ของทรัพยากรอันมีค่านี้. ระหว่างศตวรรษที่ 19 ต้นไม้ในวงศ์ยูคาลิปตัสได้เริ่มพิชิตใจคนทั่วโลก.
จักรพรรดิและด็อกเตอร์
ในทศวรรษ 1880 จักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 แห่งอะบิสซิเนีย ซึ่งก็คือประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน ต้องการต้นไม้ที่ให้ร่มเงาและเนื้อไม้ซึ่งใช้เป็นฟืนได้สำหรับกรุงแอดดิส อาบาบา ราชธานีแห่งใหม่ซึ่งแห้งแล้งมาก. ไม่มีต้นไม้พื้นเมืองชนิดใดในแอฟริกาที่เหมาะสำหรับพื้นที่นี้ซึ่งถูกทำลายจนหมดสภาพ. ผู้ชำนาญการของจักรพรรดิจึงมองหาต้นไม้จากที่อื่นซึ่งเติบโตได้ดีภายใต้แสงแดดที่แผดกล้าอย่างน้อยก็พอ ๆ กับแดดในเอธิโอเปีย. “แอดดิส อาบาบา” มีความหมายว่า “ดอกไม้ใหม่” และชื่อนี้อาจตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ยูคาลิปตัส ต้นไม้นำเข้าที่มีประโยชน์มากซึ่งได้กลายเป็นต้นไม้ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของเอธิโอเปีย.
อีกบุคคลหนึ่งซึ่งมีส่วนในการย้ายถิ่นฐานของยูคาลิปตัสในสมัยปัจจุบันได้แก่ดร. เอดมุนดู นาวาร์รู เดอ อังดราดี. ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะฟื้นฟูป่าของบราซิลซึ่งกำลังลดลงอย่างฮวบฮาบ ในปี 1910 เขาได้เริ่มนำยูคาลิปตัสจากออสเตรเลียเข้ามาปลูก. เขาดูแลรับผิดชอบการปลูกยูคาลิปตัส 38 ล้านต้น. ปัจจุบัน
มียูคาลิปตัสมากกว่าสองพันล้านต้นที่ปลูกในบราซิล.ด้วยเหตุนั้น นอกเหนือจากป่าดิบที่มีอยู่แล้ว บราซิลยังอ้างว่ามีต้นยูคาลิปตัสมากที่สุดหากไม่นับออสเตรเลีย. ผลประโยชน์ที่มีต่อเศรษฐกิจของบราซิลนั้นมีมากอย่างยิ่งจนทำให้ ดร. นาวาร์รูได้รับเหรียญประกาศเกียรติคุณพิเศษในฐานะบุคคลดีเด่นที่ทำประโยชน์แก่สังคม จากการที่เขาริเริ่มนำทรัพยากรอันมีค่านี้เข้ามาปลูกในประเทศ.
ต้นไม้แห่งชีวิต
ยูคาลิปตัสบางชนิด เช่น ยูคาลิปตัสพันธุ์เตี้ย ใช้ประโยชน์มากที่สุดจากดินที่แห้งจนแตกระแหงด้วยการเก็บน้ำปริมาณมากไว้ที่รากของมัน. ชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลียและนักสำรวจยุคแรกรอดชีวิตในชนบททุรกันดารโดยอาศัย ‘ขวดน้ำ’ ใต้ดินนี้เอง. รากส่วนที่อยู่ใกล้ผิวดินถูกขุดขึ้นมาและหักเป็นท่อนสั้น ๆ. เมื่อเป่าลมเข้าไปในท่อนนี้ น้ำเลี้ยงสีน้ำตาลอ่อน ๆ ก็จะหยดออกมา. แม้ว่าไม่ใช่น้ำที่น่าดื่มเท่าใดนัก แต่รากที่ยาวเก้าเมตรสามารถให้ของเหลวที่ช่วยชีวิตนี้ได้ประมาณ 1.5 ลิตร.
สมาชิกอื่นในวงศ์ยูคาลิปตัสเติบโตได้ดีในที่ลุ่มชื้นแฉะ และดูดน้ำจากดินที่เปียกชุ่มได้ดีมาก. ชาวอิตาเลียนใช้ประโยชน์จากความสามารถพิเศษนี้โดยปลูกยูคาลิปตัสชนิดนี้เพื่อช่วยดูดน้ำจากที่ลุ่มชื้นแฉะปอนตีเนซึ่งเมื่อก่อนมียุงชุม. ปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นที่ดินอันมีค่าทางการเกษตร.
ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 50 ประเทศทั่วทวีปแอฟริกา, อเมริกา, เอเชีย, และยุโรปต่างก็ยอมรับคุณค่าของยูคาลิปตัสในด้านการค้าและความงาม. ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ยกย่องไม้ยูคาลิปตัสซึ่งมีสีแดงเข้มสดและสีอำพันว่าเป็นไม้ที่มีค่ามาก. แหล่งข้อมูลหนึ่งบอกว่า “ไม้ยูคาลิปตัสเป็นไม้ที่หนักที่สุด, แข็งที่สุด, และทนทานที่สุดเท่าที่เคยรู้จักกัน. คุณภาพของไม้ ประกอบกับอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว . . . ทำให้ต้นไม้สกุลนี้เป็นแหล่งของไม้เนื้อแข็งที่มีค่าที่สุดในโลก.”
ไม้ที่กันน้ำได้ของยูคาลิปตัสบางพันธุ์ใช้ในการสร้างเรือ, ท่าเทียบเรือเดินสมุทร, เสาโทรศัพท์, รั้ว, และแผ่นทางเท้า. นอกจากนั้น ดอกอันสวยงามของพันธุ์ที่ชื่อเยลโลว์ บอกซ์ และไอออน บาร์ก มีน้ำหวานซึ่งผึ้งจะ
เปลี่ยนให้เป็นน้ำผึ้งที่มีรสชาติอร่อยเป็นพิเศษ. ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีการส่งออกไม้ยูคาลิปตัสชิ้นเล็ก ๆ จากออสเตรเลีย 4.5 ล้านตัน ทำรายได้ให้ปีละ 250 ล้านดอลลาร์.คีโน, น้ำมัน, และแทนนิน
สารสีแดงเข้มคล้ายยางไม้ที่เรียกว่า คีโน จะไหลเยิ้มออกมาจากเปลือกและเนื้อไม้ของยูคาลิปตัส. คีโนบางชนิดใช้ในการป้องกันเนื้อไม้จากเพรียง. นอกจากนี้ คีโนยังใช้เป็นยาห้ามเลือดได้ด้วย. เปลือกของยูคาลิปตัสชนิดอื่นมีสารแทนนินซึ่งใช้สำหรับฟอกหนังและย้อมเส้นใย.
ใบของมันเป็นผลงานการออกแบบที่น่าพิศวงและเป็นที่เก็บน้ำมันอันมีค่า. ใบจะลู่ลง ดูราวกับนิ้วมือที่อ่อนปวกเปียก โดยปลายใบจะชี้ไปที่โคนต้น. การออกแบบเช่นนี้ช่วยให้ใบทำหน้าที่คล้ายกับกรวยขนาดใหญ่. ความชื้นอันมีค่าจับตัวอยู่บนผิวใบ แล้วก็หยดเป็นน้ำจากปลายใบที่เหนียวและแข็งลงไปสู่ระบบรากที่รออยู่.
น้ำมันยูคาลิปตัสซึ่งมีกลิ่นหอมแรงและทำให้กระปรี้กระเปร่าถูกสกัดจากใบด้วยวิธีอบไอน้ำและกลั่น. มีการนำน้ำมันนี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง เช่น ในน้ำหอม, สบู่, ยา, ลูกกวาด, และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด. โดยธรรมชาติแล้ว น้ำมันของยูคาลิปตัสจะระเหยจากใบและทำให้อากาศเต็มไปด้วยละอองน้ำมันขนาดจิ๋วซึ่งทำให้เกิดการหักเหของแสง ยังผลให้ป่ายูคาลิปตัสเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีสันที่โดดเด่นไม่เหมือนป่าอื่นใด. เทือกเขาบลูเมาน์เทน (ภูเขาสีน้ำเงิน) ซึ่งตั้งอยู่ตรงสุดเขตแดนด้านตะวันตกของกรุงซิดนีย์ ถูกเรียกขานด้วยชื่อที่ไม่ธรรมดาเช่นนั้นเนื่องด้วยปรากฏการณ์นี้เอง.
ที่อยู่ของนักกินผู้พิถีพิถัน
สัตว์ที่มีชื่อเสียงที่สุดซึ่งอาศัยในป่ายูคาลิปตัสได้แก่สัตว์ที่น่ารักตัวกลม ๆ มีขนปุกปุยซึ่งเรียกกันว่า โคอาลา. สัตว์กินพืชที่ช่างเลือกชนิดนี้ชอบกินแต่ส่วนปลายใบยูคาลิปตัส 12 พันธุ์หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย. การเลือกกินอาหารเฉพาะอย่างเช่นนี้คงก่อผลเสียหายร้ายแรงถึงตายสำหรับสัตว์ส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่โคอาลา. เพราะเหตุใด?
ที่เป็นอย่างนี้เพราะระบบย่อยอาหารของโคอาลาที่ออกแบบไว้เป็นพิเศษ ซึ่งรวมถึงไส้ติ่งที่ยาวหนึ่งถึงสองเมตร. เมื่อเทียบกัน ไส้ติ่งของมนุษย์ยาวเพียง 8 ถึง 15 เซนติเมตร. ไส้ติ่งที่ยาวเป็นพิเศษของโคอาลาทำให้สัตว์ตัวน้อย ๆ นี้สามารถสกัดเอาโปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, และไขมันทั้งหมดที่มันจำเป็นต้องได้รับ จากอาหารพิเศษที่มันกิน.
สัตว์พื้นเมืองของออสเตรเลียที่รู้จักกันน้อยกว่า ซึ่งเลือกกินเฉพาะใบยูคาลิปตัสเช่นเดียวกับโคอาลา ได้แก่โอพอสซัมชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งกระโจนร่อนได้. สัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องไว้เลี้ยงลูกและมีขนปุกปุยชนิดนี้มีขนาดพอ ๆ กับแมวบ้าน. มันมีหางซึ่งมีขนหยาบหนาเป็นปึกยาวประมาณ 40 เซนติเมตรและมีแผ่นหนังที่ยืดออกได้เชื่อมระหว่างอุ้งเท้าหน้ากับอุ้งเท้าหลัง. โดยใช้ปีกที่เป็นแผ่นหนังดังกล่าว โอพอสซัมจะกระโจนจากกิ่งไม้กิ่งหนึ่ง ร่อนไปได้ไกลถึง 100 เมตร หักเลี้ยว 90 องศากลางอากาศ แล้วก็คว้าจับกิ่งไม้ถัดไปไว้ได้อย่างปลอดภัย.
ไฟป่าและการฟื้นตัว
ไฟป่าเป็นภัยที่คุกคามป่ายูคาลิปตัส. ถึงกระนั้น ต้นไม้ชนิดนี้ถูกออกแบบไว้ให้รอดจากไฟป่าได้. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
ตามลำต้นและกิ่งของยูคาลิปตัสมีตาใบซ่อนอยู่ โดยฝังตัวใต้ชั้นเปลือกไม้. เมื่อยูคาลิปตัสถูกไฟป่าเผาเปลือกและใบไปหมด ตาเหล่านี้ก็จะแตกใบ. ตาที่แตกใบอ่อนเหล่านี้จะคลุมลำต้นที่ดำเป็นตอตะโกเหมือนสวมด้วยเสื้อคลุม. ผลคือ ต้นหลักสามารถรอดชีวิตอยู่ต่อไป. นอกจากนั้น เมล็ดของต้นไม้ชนิดนี้ซึ่งพักตัวอยู่ที่พื้นดินมักฉวยโอกาสนี้งอกขึ้น ทำให้เกิดมีต้นใหม่เติบโตขึ้นมา.
ต้นไม้ที่น่าขอบคุณ
คุณเคยบรรเทาอาการเจ็บคอด้วยยาที่สกัดจากยูคาลิปตัส หรือลิ้มรสลูกอมรสน้ำผึ้งที่ได้จากดอกต้นยูคาลิปตัสไหม? คุณเคยโดยสารไปกับเรือที่ต่อโดยใช้ไม้ยูคาลิปตัส หรืออยู่ในบ้านที่สร้างขึ้นและใช้ฟืนจากไม้ยูคาลิปตัสไหม? เป็นไปได้มากทีเดียวว่าคุณเคยได้รับประโยชน์บางอย่างจากต้นไม้ที่น่าทึ่งนี้. ดังนั้น คราวต่อไปที่คุณเห็นเจ้าโคอาลาขนปุกปุย—หรือชมจากภาพถ่าย—ขอให้นึกถึงการออกแบบอันน่าอัศจรรย์ของต้นยูคาลิปตัสซึ่งเป็นที่อยู่ของมัน.
จริงทีเดียว ยูคาลิปตัสเป็นต้นไม้สารพัดประโยชน์และทนทานซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก.
[ภาพหน้า 16, 17]
ต้นยูคาลิปตัสติดอันดับโลกในจำพวกต้นไม้ที่สูงมาก ๆ
[ภาพหน้า 17]
ผึ้งใช้น้ำหวานของยูคาลิปตัสในการผลิตน้ำผึ้งรสเยี่ยม
[ภาพหน้า 18]
ไม้ยูคาลิปตัส “เป็นไม้ที่หนักที่สุด, แข็งที่สุด, และทนทานที่สุดเท่าที่เคยรู้จักกัน”
[ภาพหน้า 18]
โคอาลา (รูปซ้าย) และโอพอสซัมขนาดใหญ่ซึ่งกระโจนร่อนได้ (รูปบน) กินใบยูคาลิปตัสเป็นอาหาร
[ที่มาของภาพ]
© Alan Root/Okapia/PR
[ที่มาของภาพหน้า 16]
Geoff Law/The Wilderness Society
[ที่มาของภาพหน้า 17]
Courtesy of the Mount Annan Botanic Gardens