อาวุธปืนเล็กแต่สร้างปัญหาใหญ่
อาวุธปืนเล็กแต่สร้างปัญหาใหญ่
สิบเป็นเวลาหลายสิบปีที่การเจรจาควบคุมอาวุธเพ่งเล็งเฉพาะแต่อาวุธนิวเคลียร์. เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเลย เนื่องจากระเบิดนิวเคลียร์เพียงลูกเดียวสามารถทำลายทั้งเมืองได้. กระนั้น ไม่มีการใช้อาวุธที่มีอานุภาพสูงนี้ในสงครามมานานกว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งไม่เหมือนกับอาวุธขนาดเล็กกว่า.
จอห์น คีแกน นักประวัติศาสตร์ทางทหารซึ่งได้รับความนับถือ เขียนว่า “นับตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 1945 อาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้สังหารใครเลย. คน 50,000,000 คนที่เสียชีวิตในสงครามตั้งแต่วันนั้น ส่วนใหญ่ถูกสังหารด้วยอาวุธราคาถูกซึ่งผลิตเป็นจำนวนมากและกระสุนขนาดเล็ก ราคาแพงกว่าวิทยุทรานซิสเตอร์กับถ่านไฟฉายเพียงเล็กน้อย ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกัน. เนื่องจากอาวุธราคาถูกได้ทำลายชีวิตคนน้อยมากในโลกที่พัฒนาแล้ว นอกจากท้องที่ซึ่งมีการค้ายาเสพย์ติดและการก่อการร้ายอย่างมากมาย ประชากรในประเทศที่ร่ำรวยจึงไม่ค่อยตระหนักถึงผลกระทบอันน่าสยดสยองของการใช้อาวุธชนิดนี้.”
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามีอาวุธปืนเล็กหมุนเวียนอยู่มากเท่าไรในปัจจุบัน แต่ผู้เชี่ยวชาญกะประมาณว่าอาวุธยิงแบบที่ใช้ในกองทัพอาจมีประมาณ 500 ล้านกระบอก. นอกจากนั้น มีปืนเล็กยาวและปืนพกแบบที่พลเรือนใช้กันหลายสิบล้านกระบอกอยู่ในการครอบครองของประชาชน. ยิ่งกว่านั้น มีการผลิตอาวุธชนิดใหม่ ๆ ออกมาและป้อนเข้าสู่ตลาดในแต่ละปี.
อาวุธที่นิยมกัน
ทำไมคนจึงนิยมใช้อาวุธปืนเล็กกันในสงครามช่วงหลัง ๆ นี้? เหตุผลส่วนหนึ่งอยู่ที่ความเกี่ยวข้องระหว่างสงครามกับความยากจน. สงครามส่วนใหญ่ในทศวรรษ 1990 เกิดขึ้นในประเทศที่ยากจน—ยากจนเกินกว่าจะซื้ออาวุธที่สลับซับซ้อนได้. อาวุธปืนเล็กและอาวุธเบามีราคาไม่แพงนัก. ตัวอย่างเช่น เงิน 50 ล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นราคาโดยประมาณของเครื่องบินขับไล่ไอพ่นรุ่นใหม่หนึ่งลำ สามารถจัดหาปืนเล็กยาวชนิดจู่โจมให้กองทัพได้ 200,000 กระบอก.
บางครั้งอาวุธปืนเล็กและอาวุธเบามีราคาถูกกว่านั้นมาก. กองทัพที่กำลังลดขนาดลงได้ให้อาวุธเหล่านี้จำนวนนับไม่ถ้วนไปเปล่า ๆ หรือไม่ก็มีการนำอาวุธเหล่านี้มาจากสงครามหนึ่งไปใช้ในอีกแห่งหนึ่ง. ในบางดินแดนมีปืนเล็กยาวชนิดจู่โจมมากถึงขนาดที่ขายกันถูก ๆ เพียงหกดอลลาร์ (ประมาณ 260 บาท) หรือสามารถนำไปแลกกับแพะสักตัว, ไก่สักตัว, หรือเสื้อผ้าเก่า ๆ สักถุงหนึ่ง.
กระนั้น นอกจากราคาถูกและมีอยู่มากมายแล้ว มีเหตุผลอื่น ๆ อีกที่ว่าทำไมอาวุธขนาดเล็กจึงเป็นที่นิยมกัน. อาวุธพวกนี้มีอานุภาพสูง. ปืนเล็กยาวชนิดยิงเร็วกระบอกเดียวสามารถยิงได้ถึง 300 นัดต่อนาที. อาวุธพวกนี้ใช้งานและเก็บรักษาได้ง่ายด้วย. เด็กวัยสิบปีสามารถเรียนวิธีถอดและประกอบปืนเล็กยาวชนิดจู่โจมแบบทั่วไปได้. เด็ก ๆ ยังเรียนรู้ได้เร็วในการเล็งปืนและยิงเข้าไปในฝูงคน.
อีกเหตุผลหนึ่งที่ปืนเป็นที่นิยมกันคือมันทนทานและอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หลายปี. ปืนเล็กยาว เช่น เอเค-47 และเอ็ม 16 ซึ่งทหารใช้กันในสงครามเวียดนามยังคงมีใช้กันอยู่ในสงครามสมัยนี้. ปืนเล็กยาวบางกระบอกที่ใช้กันในแอฟริกามีอายุย้อนไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 1. นอกจากนั้น ปืนยังขนย้ายและซ่อนได้ง่ายด้วย. ม้าหนึ่งตัวสามารถขนปืนเล็กยาวสิบสองกระบอกไปให้กองกำลังกึ่งทหารซึ่งอยู่ในป่าทึบหรือเขตภูเขาอันห่างไกล. ม้าขบวนหนึ่งอาจขนปืนเล็กยาวได้มากเพียงพอสำหรับกองทัพเล็ก ๆ.
ปืน, ยาเสพย์ติด, และเพชร
การค้าปืนในระดับโลกมีความสลับซับซ้อน. มีการขนย้ายปืนเป็นจำนวนมากจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งอย่างถูกกฎหมาย. หลังยุคสงครามเย็น กองทัพทั้งฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตกต่างก็ลดกำลังพลลง และรัฐบาลก็ขายหรือให้อุปกรณ์ที่เหลือแก่พันธมิตรไปเปล่า ๆ. ตามการชี้แจงของนักเขียนคนหนึ่งจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ตั้งแต่ปี 1995 สหรัฐประเทศเดียวได้ให้ปืนเล็กยาว, ปืนพก, ปืนกล,
และเครื่องยิงลูกระเบิดไปเปล่า ๆ กว่า 300,000 กระบอก. มีการให้เหตุผลว่าการให้อาวุธเหล่านั้นไปเปล่า ๆ ประหยัดกว่าการถอดเป็นชิ้น ๆ หรือการเก็บและเฝ้ารักษาไว้. นักวิเคราะห์บางคนกะประมาณว่าอาจมีอาวุธปืนเล็กและอาวุธเบามูลค่าถึงสามพันล้านดอลลาร์ถูกขนย้ายข้ามพรมแดนประเทศอย่างถูกกฎหมายในแต่ละปี.อย่างไรก็ตาม การค้าอาวุธผิดกฎหมายนั้นอาจมีขอบข่ายใหญ่กว่านั้นมาก. อาวุธในตลาดมืดมักต้องมีการซื้อหา. ในสงครามแถบแอฟริกาบางแห่ง กองกำลังกึ่งทหารต่าง ๆ ซื้ออาวุธปืนเล็กมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ไม่ใช่ด้วยเงิน แต่ด้วยเพชรซึ่งยึดมาจากพื้นที่ที่มีการทำเหมืองเพชร. หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ให้ความเห็นว่า “เมื่อรัฐบาลทุจริต พวกกบฏไม่มีความปรานีและพรมแดนลักลอบเข้าออกได้ง่าย . . . หินที่มีประกายแวววาวนี้กลายเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้แรงงานทาส, การฆาตกรรม, การทำให้พิการ, การไร้ที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมากและการล่มสลายของเศรษฐกิจโดยรวม.” น่าแปลกที่เพชรซึ่งถูกนำไปใช้ซื้อปืนนั้น ภายหลังจะขายกันในร้านเครื่องประดับที่หรูหราเป็นสัญลักษณ์อันล้ำค่าของความรักอมตะ!
อาวุธยังเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพย์ติดที่ผิดกฎหมายอีกด้วย. ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่องค์การอาชญากรรมจะใช้เส้นทางเดียวกันในการลักลอบขนอาวุธไปทางหนึ่งและขนยาเสพย์ติดไปอีกทางหนึ่ง. อาวุธจึงเปรียบเสมือนเงินตรา โดยใช้แลกเปลี่ยนกับยาเสพย์ติด.
หลังจากเสียงปืนแห่งสงครามสงบลง
เมื่อสงครามยุติลง ปืนที่ใช้ในสงครามเหล่านั้นมักตกไปอยู่ในมือของเหล่าอาชญากร. ลองพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งทางใต้ของแอฟริกาซึ่งเคยประสบความรุนแรงทางการเมืองแต่ได้เปลี่ยนมาเป็นความรุนแรงทางอาชญากรรม. ความรุนแรงทางการเมืองที่นั่นผลาญชีวิตประชาชนไปประมาณ 10,000 คนภายในระยะเวลาเพียงสามปี. เมื่อการต่อสู้ยุติลง ความรุนแรงทางอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว. การต่อสู้ระหว่างคนขับแท็กซี่ทำให้เกิด “สงครามรถแท็กซี่” ซึ่งมีการจ้างคนร้ายให้ยิงผู้โดยสารและคนขับแท็กซี่ของบริษัทคู่แข่ง. มีการใช้ปืนเล็กยาวชนิดจู่โจมแบบทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการปล้นจี้และอาชญากรรมประเภทอื่น ๆ. การฆาตกรรมด้วยปืนสูงถึง 11,000 รายภายในปีหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลกในบรรดาประเทศที่ไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม.
การรู้ว่าพวกอาชญากรมีอาวุธและเป็นอันตรายสร้างความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัย. ใน
ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศ พวกคนรวยอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งเป็นเหมือนป้อมปราการ ล้อมรอบด้วยกำแพงและรั้วไฟฟ้าซึ่งมียามเฝ้าทั้งวันทั้งคืน. ประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งก็ระวังตัวเช่นกัน. เรื่องนี้เป็นจริงแม้แต่ในที่ซึ่งไม่มีการต่อสู้กันภายในประเทศ.ดังนั้น ปืนมีส่วนทำให้ขาดเสถียรภาพทั้งในดินแดนที่มีสงครามและในดินแดนที่มี “สันติภาพ.” ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถประเมินผลกระทบอันร้ายกาจของปืนได้; อีกทั้งเราไม่อาจนับจำนวนผู้เสียชีวิต, ผู้บาดเจ็บ, ผู้สูญเสียคนที่ตนรัก, และชีวิตที่ถูกทำลายอย่างย่อยยับ. กระนั้น เรารู้ว่าโลกมีอาวุธอยู่ดาษดื่นและกำลังเพิ่มมากขึ้น. มีคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เรียกร้องให้ทำอะไรบางอย่าง. แต่จะทำอะไรได้? จะมีการทำอะไร? เราจะพิจารณาคำถามเหล่านี้ในบทความถัดไป.
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
อดีตนักรบคนหนึ่งรู้สึกว่าตน “โง่สิ้นดี”
ทหารเด็กคนหนึ่งซึ่งสู้รบในสงครามเดียวกับสงครามที่ทำให้ผู้ลี้ภัยซึ่งกล่าวถึงในบทความแรกหนีมานั้นได้กลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรจะทำและสิ้นเนื้อประดาตัวอยู่ในเมืองที่เขาช่วยยึดมา. เขาพูดด้วยความขมขื่นที่เห็นลูกชายหัวหน้าของเขาขี่มอเตอร์ไซค์คันงามไปรอบ ๆ เมืองและพวกอดีตผู้บังคับบัญชากำลังดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและแข่งขันกันเพื่อได้รับความนับถือ. นักรบคนนี้บอกว่า “เมื่อผมคิดถึงเวลาห้าปีที่ผมอยู่ในป่า ทั้งฆ่าคนอื่นและถูกคนอื่นยิง ผมรู้สึกว่าตัวเองโง่สิ้นดี. เราอุทิศชีวิตของเราให้แก่คนซึ่งวันพรุ่งนี้จะลืมว่าตัวเองขึ้นมาอยู่ในฐานะนี้ได้อย่างไร.”
[ที่มาของภาพ]
COVER and page 7: Boy soldier: Nanzer/Sipa Press
[กรอบ/ภาพหน้า 8]
“ไม่มีที่ที่จะหลบซ่อน”
ปืนเล็กยาวชนิดจู่โจมสมัยใหม่ถึงจะมีอานุภาพสูงแต่ก็มีขีดจำกัด. ปืนชนิดนี้ยิงได้เฉพาะลูกกระสุน. ปืนนี้ไม่สามารถฆ่าคนที่ซ่อนอยู่หลังกำแพงที่แข็งแรงหรือหลังเครื่องกำบังได้. เมื่ออยู่ในช่วงจู่โจมอันน่าตื่นตระหนก ทหารอาจเล็งเป้าได้ไม่นิ่ง. การยิงปืนด้วยมือแม้แต่ในสภาพที่เอื้ออำนวยก็แม่นยำแค่ภายในระยะ 500 หลาเท่านั้น.
กองทัพสหรัฐมีทางแก้สำหรับ “ปัญหา” นี้—ปืนเล็กยาวเอนกประสงค์รุ่นใหม่ซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมีชื่อว่า ออบเจกทิฟ อินดิวิดิวอัล คอมแบต เวพพัน (โอไอซีดับเบิลยู). ด้วยน้ำหนักเบาพอที่จะถือด้วยทหารคนเดียวได้ โอไอซีดับเบิลยูจะยิงได้ไม่เพียงลูกกระสุน แต่ยังสามารถยิงลูกระเบิดขนาด 20 มิลลิเมตรได้อีกด้วย. ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ มันสามารถฆ่าศัตรูซึ่งแอบอยู่หลังเครื่องกำบังได้. ทหารเพียงแค่เล็งปืนนี้ไปที่จุดหนึ่งที่สูงกว่าหรือข้าง ๆ เป้าหมายที่ต้องการเล็กน้อย. ปืนจะคำนวณระยะห่างของเป้าหมายและตั้งชนวนอิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ ในลูกระเบิดให้มันระเบิดตรงระยะที่พอเหมาะพอดี ซึ่งเหยื่อก็จะโดนกระหน่ำด้วยสะเก็ดระเบิดแบบเจาะเกราะ. ตัวแทนบริษัทที่ค้นคว้าอาวุธชนิดนี้กล่าวว่า “ความสามารถอันโดดเด่นของมันจะช่วยให้กองทหารจู่โจมของสหรัฐแทบจะยิงอ้อมหลังกำแพงได้ทีเดียว.” กล้องเล็งอินฟราเรดทำให้อาวุธนี้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้แต่ในความมืด.
ผู้ผลิตปืนนี้อวดอ้างว่า “ไม่มีที่ที่จะหลบซ่อน” จากปืนนี้ พวกเขายังอ้างด้วยว่าอาวุธนี้จะมีอานุภาพมากกว่าปืนเอ็ม 16 และเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 203 ถึงห้าเท่าและมีระยะที่ไกลกว่าสองเท่า. ทหารซึ่งใช้อาวุธชนิดนี้ไม่ต้องกลัวเรื่องการเล็งให้ตรงเป้า; พวกเขาเพียงแต่ต้องมองผ่านกล้องเล็งและเหนี่ยวไกเพื่อยิงลูกกระสุนหรือลูกระเบิดออกไปเป็นชุด ๆ. ถ้าการพัฒนาดำเนินไปตามกำหนด ทหารหน่วยแรกจะมีโอไอซีดับเบิลยูใช้ในปี 2007.
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์กำลังตั้งคำถาม: จะใช้ปืนนี้อย่างไรเมื่อทหารลาดตระเวนพื้นที่ซึ่งมีคนอยู่หนาแน่น ซึ่งนักรบฝ่ายศัตรูคงจะอยู่ปะปนกับพลเรือนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโอไอซีดับเบิลยูถูกขายให้กับกองทหารทั่วโลกซึ่งอาจถูกนำมาใช้ต่อสู้กับประชาชนของพวกเขาเอง? และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าอาวุธชนิดนี้ตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายและอาชญากร?
[ที่มาของภาพ
Alliant Techsystems
[ภาพหน้า 6]
อาวุธปืนเล็กและอาวุธเบามักถูกแลกเปลี่ยนกับเพชรและยาเสพย์ติด