ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

วาดภาพด้วยถ้อยคำ

วาดภาพด้วยถ้อยคำ

วาด​ภาพ​ด้วย​ถ้อย​คำ

กวี​คือ​ผู้​ที่​เป็น​ทั้ง​ช่าง​ศิลป์​และ​นัก​ประพันธ์​เพลง. งาน​เขียน​ของ​พวก​เขา​เกิด​จาก​แรง​กระตุ้น​จาก​หัวใจ​มาก​พอ ๆ กับ​จาก​ความ​คิด. ด้วย​เหตุ​นี้ บท​กวี​ที่​แต่ง​ได้​อย่าง​ไพเราะ​จึง​สามารถ​กระตุ้น​ใจ​คุณ. บท​กวี​เหล่า​นี้​ยัง​ทำ​ให้​คุณ​คิด, หัวเราะ, หรือ​ร้องไห้. หนังสือ​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​มี​ถ้อย​คำ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “บ่อย​ครั้ง บท​กวี​ก็​เป็น​เพียง​แต่​การ​นำ​ถ้อย​คำ​มา​ประกอบ​เข้า​ด้วย​กัน​เพื่อ​ให้​กระทบ​ความ​รู้สึก​อย่าง​แรง​ใน​ฉับพลัน. นั่น​จึง​เป็น​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​บท​กวี​ที่​มี​ชื่อเสียง . . . เป็น​สิ่ง​ซึ่ง​ไม่​สามารถ​ลืม​เลือน​ได้​เลย.”

บท​กวี​อัน​ไพเราะ​มัก​ไม่​ใช่​ผล​งาน​ที่​เกิด​จาก​ความ​คิด​ตื้น ๆ. บท​กวี​มี​ความ​สัมพันธ์​อัน​ยาว​นาน​กับ​เรื่อง​สำคัญ ๆ ใน​ชีวิต—เช่น สัมพันธภาพ, ความ​รัก, ทัศนะ​ทาง​ศาสนา, ธรรมชาติ และ​ความ​หมาย​ของ​ชีวิต. ดัง​นั้น ไม่​แปลก​ที่​บท​กวี​เป็น​ศิลปะ​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​รูป​แบบ​หนึ่ง. เมื่อ​เทียบ​บท​กวี​กับ​ร้อย​แก้ว (ข้อ​ความ​ที่​เขียน​ด้วย​ภาษา​ธรรมดา) กวี​ที่​มี​ชื่อเสียง​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า ถ้า​ทั้ง​บท​กวี​กับ​ร้อย​แก้ว​ต่าง​ก็​พรรณนา​ถึง​สิ่ง​เดียว​กัน​และ​เขียน​ได้​ดี​พอ ๆ กัน “ร้อย​กรอง​จะ​ถูก​นำ​มา​อ่าน​ร้อย​ครั้ง​ขณะ​ที่​จะ​มี​การ​อ่าน​ร้อย​แก้ว​เพียง​ครั้ง​เดียว.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดัง​ที่​คุณ​อาจ​ได้​สังเกต บท​กวี​มี​หลาก​หลาย​รูป​แบบ. อาจ​สัมผัส​หรือ​ไม่​สัมผัส​กัน​ก็​ได้. บาง​ครั้ง​บท​กวี​แทบ​จะ​เหมือน​กับ​ร้อย​แก้ว​เลย​ด้วย​ซ้ำ. ดัง​นั้น จริง ๆ แล้ว​บท​กวี​คือ​อะไร?

บท​กวี​คือ​อะไร?

เมอร์คิวรี ดิกชันนารี นิยาม​คำ​บท​กวี​ว่า​เป็น “ศิลปะ​ใน​การ​เรียบเรียง​ถ้อย​คำ​อย่าง​มี​จังหวะ​จะ​โคน ไม่​ว่า​จะ​โดย​การ​เขียน​หรือ​การ​พูด เพื่อ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​เพลิดเพลิน​ด้วย​ความ​คิด​ที่​สูง​ส่ง, ดี​งาม, และ​สร้าง​สรรค์” เป็น “งาน​เขียน​ตาม​แบบ​ที่​มี​กำหนด​ไว้​ใน​การ​แต่ง​บท​กวี; ร้อย​กรอง.” โปรด​สังเกต​ลักษณะ​สำคัญ​สอง​ประการ​ของ​บท​กวี นั่น​คือ​จังหวะ และ​มาตรา. จังหวะ​เป็น​ส่วน​ของ​โลก​ที่​อยู่​รอบ​ตัว​เรา. เรา​มอง​เห็น​จังหวะ​ใน​การ​ขึ้น​ลง​ของ​น้ำ​ใน​มหาสมุทร, ใน​ฤดู​กาล​ต่าง ๆ, และ​แม้​แต่​ใน​การ​เต้น​ของ​หัวใจ​ของ​เรา. ใน​ร้อย​กรอง จังหวะ​คือ​ท่วง​ทำนอง​ที่​เกิด​จาก​ภาษา​ที่​ใช้; เรา​เข้าใจ​สิ่ง​ที่​มี​การ​กล่าว​ซ้ำ ๆ ขณะ​ที่​เรา​อ่าน. มาตรา​คือ​แบบ​แผน​ของ​จังหวะ​หรือ​ท่วง​ทำนอง ซึ่ง​อาจ​มี​รูป​แบบ​แตกต่าง​กัน​ไป​ใน​แต่​ละ​บท​กวี. กลวิธี​อัน​เป็น​ที่​นิยม​กัน​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​แต่ง​บท​กวี​คือ การ​สัมผัส. ตาม​ปกติ​แล้ว​คำ​ที่​สัมผัส​กัน​มัก​เป็น​คำ​สุด​ท้าย​ของ​บาท. แน่​ละ แบบ​แผน​ของ​การ​สัมผัส​อาจ​แตกต่าง​กัน​ไป. บาง​ครั้ง​อาจ​มี​การ​สัมผัส​ใน​บาท​ที่​ตาม​หลัง​มา​ทันที หรือ​ไม่​ก็​อาจ​สัมผัส​ใน​บาท​ที่​อยู่​ถัด​ไป​อีก.

โดย​ไม่​ได้​พึ่ง​อาศัย​การ​สัมผัส บท​กวี​ไฮกุ​ของ​ชาว​ญี่ปุ่น​มี​ชื่อเสียง​เนื่อง​จาก​การ​เชื่อม​โยง​ความ​คิด​อัน​งดงาม​เข้า​กับ​ความ​สั้น​อย่าง​น่า​ทึ่ง. บท​กวี​ไฮกุ​นี้​ย่อ​ความ​คิด​ลง​เหลือ​แค่​สาม​บาท ซึ่ง​มี 17 พยางค์—5 พยางค์​ใน​บาท​ที่​หนึ่ง​และ​บาท​ที่​สาม และ 7 พยางค์​ใน​บาท​ที่​สอง. * ความ​ไพเราะ​และ​ความ​ง่าย​ของ​บท​กวี​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​ไฮกุ​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ชัก​นำ​หลาย​คน​ให้​มา​ชื่น​ชอบ​บท​กวี แม้​แต่​เด็ก​อนุบาล.

ถือ​กัน​ว่า บท​กวี​มี​ชื่อเสียง​เนื่อง​จาก​การ​ย่อ​ความ​คิด​มาก​มาย​ลง​ไป​ใน​ถ้อย​คำ​เพียง​ไม่​กี่​คำ. สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก กล่าว​ว่า ถ้อย​คำ​ที่​เป็น​บท​กวี “ชวน​ให้​คิด​เกิน​กว่า​ถ้อย​คำ​ที่​กล่าว​ออก​มา. ถ้อย​คำ​เหล่า​นั้น​กระตุ้น​ให้​เกิด​จินตนาการ . . . ภาษา​ของ​บท​กวี​อัด​แน่น​ด้วย​ความ​หมาย และ​ความ​หมาย​ของ​คำ ๆ เดียว​อาจ​จุด​ชนวน​ความ​คิด ทำ​ให้​บท​กวี​ทั้ง​หมด​นั้น​กระจ่าง​ชัด​ขึ้น​มา​ทันที​ใน​จินตนาการ​ของ​คุณ.” แน่​ละ คุณ​อาจ​ต้อง​อ่าน​บท​กวี​บาง​บท​หลาย​ครั้ง​ก่อน​ที่​มัน​จะ “ส่อง​ประกาย​เจิดจ้า” ใน​ความ​คิด​ของ​คุณ ทำ​ให้​คุณ​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​บท​กวี​บท​นั้น.

เพื่อ​จะ​สร้าง​ผล​กระทบ​ดัง​ที่​มุ่ง​หมาย​ไว้ กวี​เลือก​เฟ้น​ถ้อย​คำ​เหมือน​อย่าง​ที่​ช่าง​ทำ​เครื่อง​ประดับ​เลือก​อัญมณี. กษัตริย์​ซะโลโม​แห่ง​ชาติ​ยิศราเอล ผู้​แต่ง​สุภาษิต​และ​เพลง “ได้​ไตร่ตรอง​และ​ทำ​การ​ค้นคว้า​อย่าง​ละเอียด​ถี่ถ้วน” เพื่อ​เสาะ​หา “ถ้อย​คำ​ที่​หวาน​หู” และ “ถ้อย​คำ​อัน​ถูก​ต้อง​แห่ง​ความ​จริง.”—ท่าน​ผู้​ประกาศ 12:9, 10, ล.ม.; 1 กษัตริย์ 4:32.

ซะโลโม​และ​ดาวิด บิดา​ของ​ท่าน เขียน​บท​กลอน​ตาม​แบบ​แผน​ของ​ชาว​ฮีบรู​ใน​สมัย​ของ​ท่าน. บท​ร้อย​กรอง​ของ​ชาว​ฮีบรู​ซึ่ง​มัก​ร้อง​ประกอบ​ดนตรี ไม่​ได้​อาศัย​การ​สัมผัส. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น บท​ร้อย​กรอง​ประเภท​นี้​โดด​เด่น​เนื่อง​จาก​จังหวะ​ความ​คิด—แบบ​ของ​การ​ประพันธ์​ที่​เรียก​ว่า​กลอน​เปรียบ. บาท​ต่าง ๆ อาจ​ถ่ายทอด​แนว​คิด​ที่​เหมือน​กัน​หรือ​ให้​แนว​คิด​ที่​ตรง​กัน​ข้าม​กัน. (บทเพลง​สรรเสริญ 37:6, 9) บาท​ที่​สอง​มัก​จะ​ขยาย​แนว​คิด​ของ​บาท​แรก​โดย​เพิ่ม​แนว​คิด​ใหม่​เข้า​ไป. ลอง​สังเกต​ว่า​มี​การ​ทำ​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ 119:1, ล.ม.:

ความ​สุข​มี​แก่​คน​ที่​ปราศจาก​ผิด​ใน​แนว​ทาง​ของ​เขา

คือ​ผู้​ที่​ดำเนิน​ใน​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา.

สังเกต​ว่า​บาท​ที่​สอง​เผย​ให้​ทราบ​ว่า​การ​ปราศจาก​ผิด​หมาย​ความ​เช่น​ไร ซึ่ง​ก็​คือ การ​ดำเนิน​ใน​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา. เนื่อง​จาก​ภาษา​ฮีบรู​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​กลอน​เปรียบ หรือ​จังหวะ​ความ​คิด​แทน​ที่​จะ​ใช้​การ​สัมผัส จึง​ช่วย​ให้​การ​แปล​ทำ​ได้​สะดวก​ขึ้น. *

สื่อ​กลาง​สำหรับ​ทุก​อารมณ์​ความ​รู้สึก

คล้าย​กัน​กับ​เพลง บท​กวี​เป็น​สื่อ​ชั้น​ยอด​ที่​ช่วย​ถ่ายทอด​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ได้​อย่าง​เต็ม​ขนาด. ขอ​ให้​สังเกต​ความ​ปีติ​ยินดี​อย่าง​เหลือ​ล้น​ระคน​กับ​ความ​รู้สึก​อัน​เกิด​จาก​การ​ได้​รับ​บำเหน็จ​แห่ง​ความ​เพียร​ซึ่ง​สะท้อน​ให้​เห็น​ใน​ถ้อย​คำ​ที่​อาดาม​พูด​ออก​มา​ตอน​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​ฮาวา​ให้​เขา​ใน​สวน​เอเดน:

นี่​แหละ​กระดูก​จาก​กระดูก​ของ​เรา

เนื้อ​จาก​เนื้อ​ของ​เรา

จะ​ต้อง​เรียก​ว่า​หญิง

เพราะ​หญิง​นี้​ออก​มา​จาก​ชาย.

เยเนซิศ 2:23, ฉบับ​แปล​ใหม่.

สิ่ง​ที่​โดด​เด่น​อย่าง​แท้​จริง​เกี่ยว​กับ​ข้อ​ความ​นี้​ก็​คือ ข้อ​ความ​นี้​ถ่ายทอด​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ออก​มา​ได้​มาก​มาย​สัก​เพียง​ไร​โดย​ใช้​ถ้อย​คำ​ธรรมดา ๆ เพียง​แค่​ไม่​กี่​บรรทัด—เป็น​การ​ประหยัด​ถ้อย​คำ​ซึ่ง​เห็น​ได้​ชัด​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ภาษา​ดั้งเดิม. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน พระ​ธรรม​โยบ, บทเพลง​สรรเสริญ, สุภาษิต, และ​บทเพลง​ร้อง​ทุกข์​ของ​ยิระมะยา ซึ่ง​เขียน​ใน​ลักษณะ​บท​กวี​ก็​สะท้อน​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ที่​น่า​ประทับใจ​หลาย​หลาก นอก​จาก​การ​สอน​ความ​จริง​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​อัน​สำคัญ​ยิ่ง. ที่​จริง ใน​ภาษา​ฮีบรู​ดั้งเดิม​นั้น บทเพลง​สรรเสริญ​บท​แรก​เลย​ขึ้น​ต้น​ด้วย​คำ “ความ​สุข” หรือ “ได้​รับ​พระ​พร.” คุณ​จะ​พรรณนา​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​ประพันธ์​ถ้อย​คำ​ต่อ​ไป​นี้​ใน​พระ​ธรรม​บทเพลง​สรรเสริญ 63:1 (ฉบับ​แปล​ใหม่) อย่าง​ไร? ขอ​ให้​สังเกต​สำนวน​ภาษา​ที่​ช่วย​ให้​เห็น​ภาพ​และ​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​หมาย​ซึ่ง​เป็น​ลักษณะ​ที่​โดด​เด่น​ของ​โคลง​กลอน​ฮีบรู.

ข้า​แต่​พระเจ้า พระองค์​ทรง​เป็น​พระเจ้า​ของ​ข้า​พระองค์​ข้า​พระองค์​แสวง​พระองค์

จิตวิญญาณ​ของ​ข้า​พระองค์​กระหาย​หา​พระองค์

เนื้อหนัง​ของ​ข้า​พระองค์​กระเสือกกระสน​หา​พระองค์

ใน​ดินแดน​ที่​แห้ง​และ​อ่อน​โหย​ที่​ที่​ไม่​มี​น้ำ.

ส่วน​พระ​ธรรม​บทเพลง​ร้อง​ทุกข์​ของ​ยิระมะยา​ก็​ให้​อารมณ์​ความ​รู้สึก​อีก​แบบ​หนึ่ง. ใน​พระ​ธรรม​นี้ ยิระมะยา​คร่ำ​ครวญ​ถึง​โศกนาฏกรรม​ที่​เกิด​แก่​กรุง​ยะรูซาเลม​คราว​ที่​ตก​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ครอบครอง​ของ​ชาว​บาบูโลน​ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. ท่าน​เผย​ความ​รู้สึก​จาก​ใจ​ของ​ท่าน​ใน​บทเพลง​คร่ำ​ครวญ​ห้า​เพลง​ซึ่ง​แสดง​ออก​ถึง​ความ​โศก​เศร้า​ของ​ผู้​พยากรณ์​ท่าน​นี้ กระนั้น ยัง​แสดง​ออก​ถึง​ความ​รู้​สำนึก​ของ​ท่าน​ใน​เรื่อง​การ​ดำเนิน​การ​ตาม​ความ​ยุติธรรม​ของ​พระเจ้า​ด้วย.

บท​กวี​ช่วย​ใน​การ​จด​จำ

เนื่อง​จาก​ลักษณะ​เฉพาะ​ตัว​ของ​บท​กวี บ่อย​ครั้ง​บท​กวี​นั้น​จึง​เหมาะ​แก่​การ​ท่อง​จำเป็น​อย่าง​มาก. มหา​กาพย์​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​ชาว​กรีก​ที่​ยัง​หลง​เหลือ​อยู่​เรื่อง อีเลียด และ​ออดีซี ถูก​นำ​มา​ขับ​ร้อง​กัน​สด ๆ ใน​เทศกาล​ต่าง ๆ ของ​ชาว​กรีก—นับ​ว่า​น่า​ทึ่ง​จริง ๆ เมื่อ​คำนึง​ถึง​ความ​ยาว​เป็น​พิเศษ​ของ​มหา​กาพย์​เหล่า​นี้! เห็น​ได้​ชัด​ว่า บทเพลง​สรรเสริญ​หลาย​บทเพลง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​มี​การ​ท่อง​จำ​เช่น​กัน. ลอง​สังเกต​วิธี​ที่​มี​การ​ถ่ายทอด​ถ้อย​คำ​ใน​แบบ​ที่​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ, ความ​ชัดเจน, และ​เหตุ​ผล​ที่​ไม่​สามารถ​โต้​แย้ง​ได้ โดย​ใช้​จังหวะ​และ​ท่วง​ทำนอง​ใน​บาท​ต่าง ๆ ต่อ​ไป​นี้ ใน​บทเพลง​สรรเสริญ 115:4-8 ที่​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​ความ​โง่​เขลา​ใน​การ​นมัสการ​รูป​เคารพ:

รูป​เคารพ​ของ​ชน​เหล่า​นั้น​เป็น​แต่​เงิน​และ​ทอง

เป็น​รูป​ที่​มือ​มนุษย์​ได้​กระทำ​ไว้.

มี​ปาก, แต่​พูด​ไม่​ออก;

มี​ตา, แต่​มอง​ไม่​เห็น;

มี​หู, แต่​ยิน​ไม่​ได้;

มี​จมูก, แต่​จะ​ดม​กลิ่น​ไม่​ได้;

มี​มือ, แต่​จับ​คลำ​มิ​ได้;

มี​เท้า, แต่​มิ​เดิน​เลย;

ตาม​ลำคอ​ของ​รูป​นั้น​เสียง​พูด​ไม่​มี.

คน​ทั้ง​หลาย​ที่​กระทำ​รูป​เคารพ;

เออ, ทุก​คน​ที่​วางใจ​พึ่ง​ใน​รูป, ก็​จะ​เป็น​เหมือน​รูป​นั้น.

ไม่​มี​ข้อ​สงสัย ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​คง​รู้สึก​ว่า​ไม่​ยาก​ที่​จะ​ท่อง​จำ​ข้อ​ความ​ที่​ชัด​แจ้ง และ​เปี่ยม​ด้วย​พลัง​เช่น​นี้.

คุณ​อยาก​เขียน​บท​กวี​ไหม?

จาก​โคลง​กล่อม​เด็ก​ไป​จน​ถึง​การ​ใช้​ถ้อย​คำ​ซ้ำ ๆ ใน​การ​โฆษณา บท​กวี​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​เรา. ด้วย​เหตุ​นี้ อย่าง​น้อย​ที่​สุด​ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​ก็​คุ้น​เคย​กับ​แนว​คิด​พื้น​ฐาน​ของ​บท​ร้อย​กรอง. แต่​ถ้า​คุณ​อยาก​แต่ง​บท​กวี​ด้วย​ตัว​คุณ​เอง ประการ​แรก คุณ​อาจ​ต้องการ​อ่าน​บท​ร้อย​กรอง​ที่​มี​การ​คัด​สรร​กัน​มา​แล้ว. สิ่ง​นี้​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​เข้าใจ​หลัก​ต่าง ๆ ใน​การ​แต่ง​ประโยค นอก​เหนือ​จาก​การ​ขยาย​ขอบ​เขต​คำ​ศัพท์​ของ​คุณ. แน่​ละ คุณ​จำ​ต้อง​เลือก​เฟ้น เพื่อ​คุณ​เอง​จะ​ไม่​รับ​เอา​สิ่ง​ที่​ไม่​ดี​งาม​หรือ​น่า​รังเกียจ. (ฟิลิปปอย 4:8, 9) โดย​ปกติ​แล้ว วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​หัด​แต่ง​บท​ร้อย​กรอง​คือ การ​นั่ง​ลง​พร้อม​ด้วย​กระดาษ ดินสอ และ​เขียน.

ต่อ​มา คุณ​อาจ​ถึง​กับ​สามารถ​แต่ง​บท​กวี​ที่​ก่อ​ความ​เพลิดเพลิน​แก่​ครอบครัว​และ​เพื่อน​ฝูง. ทำไม​ไม่​ลอง​เรียบเรียง​ความ​คิด​ออก​มา​เป็น​บท​กวี​เมื่อ​คุณ​เขียน​บัตร​อวย​พร​หรือ​บัตร​แสดง​ความ​ขอบคุณ​ส่ง​ให้​ใคร​บาง​คน​ดู​ล่ะ? บท​กวี​ของ​คุณ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ยาว​หรือ​เลอเลิศ. เพียง​แต่​เขียน​สัก​สอง​สาม​บรรทัด​ถึง​สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​หัวใจ​คุณ. งาน​ที่​ท้าทาย​นี้​จะ​ไม่​เพียง​แต่​ทำ​ให้​คุณ​เพลิดเพลิน​หรือ​รู้สึก​พึง​พอ​ใจ​เท่า​นั้น แต่​ให้​ความ​ปีติ​ยินดี​แก่​ผู้​รับ​ด้วย​อย่าง​แน่นอน เมื่อ​เขา​เห็น​ความ​พยายาม​ของ​คุณ​ใน​การ​เรียบเรียง​ความ​คิด​ใน​แบบ​ที่​มี​จินตนาการ​และ​กลั่น​ออก​มา​จาก​หัวใจ.

คุณ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​มี​พรสวรรค์​ใน​เรื่อง​ถ้อย​คำ​เพื่อ​จะ​แต่ง​บท​กวี​ได้ เช่น​เดียว​กับ​ที่​คุณ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​พ่อ​ครัว​ใหญ่​เพื่อ​จะ​ทำ​อาหาร​ได้​สัก​มื้อ. ส่วน​ผสม​ที่​พอ​เหมาะ​พอ​ดี​ของ​ความ​ปรารถนา, จินตนาการ, ความ​พยายาม และ​ความ​มุ​มานะ​ด้วย​ศักยภาพ​ที่​จะ​เป็น​กวี​ใน​ตัว​คุณ ตลอด​จน​การ​วาด​ภาพ​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​คุณ​ปรุง​แต่ง​ขึ้น​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​ประหลาด​ใจ​และ​ชื่นชม​ยินดี.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 สำหรับ​การ​พิจารณา​เรื่อง​ไฮกุ โปรด​ดู​ตื่นเถิด! ฉบับ 8 มกราคม 1989 (ภาษา​อังกฤษ).

^ วรรค 13 ตื่นเถิด! ได้​รับ​การ​แปล​ใน 83 ภาษา. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​เลือก​ใช้​บท​กวี​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ตัว​อย่าง​ใน​บทความ​นี้ แทน​ที่​จะ​ใช้​บท​กวี​จาก​แหล่ง​อื่น.

[ภาพ​หน้า 21]

พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ส่วน​ใหญ่​ประกอบ​ด้วย​บท​กวี